"...หัวใจสำคัญคือสามารถนำมาปรับปรุงการทำงาน ถอดบทเรียนที่พบเห็น อะไรที่เราทำได้แล้วจะจดจำไว้ ตรงไหนที่ทำได้ไม่ดีเอามาทำให้ดีขึ้นในครั้งหน้า แล้วใช้เป็น “เข็มทิศของตัวเราเอง เพื่อไม่ให้เราหลงทาง” เพราะบางครั้งการทำตามความรู้สึกของคนอื่น โดยไม่ได้ยึดหลักการจะทำให้เราไขว้เขวได้ง่าย เช่น เราเตรียมบรรยายมาอย่างดี คิดอย่างครบถ้วน แต่เราไม่มีทางทราบว่า คนฟังวันนั้นจะมีอารมณ์พร้อมรับฟังมากน้อยแค่ไหน แต่เรารับรู้และมั่นใจได้ว่าเราเตรียมตัวมาดีแล้ว..."
สวัสดีครับ
ย้อนหลังไป 4 ปีที่แล้วเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2563 ผมได้ต้อนรับเพื่อนร่วมงานคนใหม่มานั่งทำงานที่ห้องตรงข้ามกัน เรียกว่า ถ้าเปิดประตูพร้อมกันจะเกิดการประจันหน้าแบบหลบไม่ทัน เพื่อนร่วมงานคนใหม่นี้ไม่ใช่คนอื่นไกล คือ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ (ผู้ว่านก) ผู้ว่าการแบงก์ชาติคนปัจจุบัน ผมรู้จักท่านมาตั้งแต่เป็นเพื่อนร่วมรุ่นอบรมหลักสูตร “ธนาคารคู่บ้านคู่เมือง” ในปี 2527 ซึ่งตอนนั้นเรายังอยู่ในวัยละอ่อนเรียนปริญญาตรีปี 3 ที่สหรัฐฯ และกลับมาประเทศไทยในช่วงปิดเทอม
เข้าอบรมหลักสูตร
ธนาคารคู่บ้านคู่เมืองรุ่นที่ 4 ร่วมกัน
ตลอดเวลาที่ทำงานด้วยกัน เราจะเดินเข้าออกสลับห้องกันหารือ ใช้เวลาในห้องประชุมที่อยู่ด้านข้างแบบเช้าจรดบ่าย และเจอะเจอกันตรงหน้าห้องแทบทุกวัน เรียกได้ว่าสนทนากันทั้งเรื่องงานที่ค่อนข้างเคร่งเครียด ไปจนถึงได้พูดคุยกันในเรื่องอื่น ๆ อย่างออกอรรถรสและเป็นกันเอง หลายคนอาจจะมองผู้ว่านกว่ามีมาดนักเรียนนอก เคร่งขรึม เอาจริงเอาจัง พูดจาแบบตรง ๆ ไม่อ้อมค้อม ทุ่มเทกับภารกิจและงานที่รับผิดชอบ ดูผิวเผินจะคิดว่าเป็นคนเข้าถึงยาก แต่ผมกลับสัมผัสได้ว่าท่านมีมุมที่น่ารักและจริงใจ มีความ caring ตรงไปตรงมา และใส่ใจในรายละเอียดของงานในทุกแง่มุม
ที่ทำงานของผู้ว่านกและผม
บนชั้น 5 อาคาร 1
ทุกคนได้ค้นพบตัวตนของท่านมากขึ้นในช่วง Press Trip เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว เพราะท่านได้แปลงร่างเป็นจิตรกรตาม theme งาน “อาชีพในฝัน” แต่ที่แปลกใจผู้เข้าร่วมงานมากกว่านั้นคือ ในช่วงพักเบรก ได้ตั้งโต๊ะชงกาแฟ นำกระเป๋าที่มีทุกอย่างพร้อมสรรพ ตั้งแต่เครื่องชง เครื่องบด เครื่องชั่งน้ำหนัก ไปจนถึงเมล็ดกาแฟที่คัดสรรมาชงให้ดื่ม ทำให้หลายคนทึ่งไปตาม ๆ กัน ถือว่าชีวิตของผู้ว่านกไม่ธรรมดา มีมิติมากกว่าที่หลายคนคิด ทั้งกิจกรรมและงานอดิเรกที่รักและผูกผันมาตั้งแต่วัยเด็ก
ผู้ว่านกให้เกียรติถ่ายรูปร่วมกัน
ในงานเลี้ยงพนักงานเกษียณ
ผมและน้อง ๆ หน้าห้องได้มีโอกาสพูดคุยกับท่านถึงกิจกรรมและงานอดิเรกในช่วงชีวิตที่ผ่านมา อย่างเป็นกันเองเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว ท่านเริ่มเกริ่นนำว่า ด้วยความเป็นลูกชายนักการทูต จึงเติบโตมาท่ามกลาง “การเดินทาง” ไม่ค่อยมีเพื่อนสนิท เพราะต้องย้ายไปอยู่ต่างประเทศตามภารกิจของคุณพ่อ แต่วิกฤติได้กลายเป็นโอกาสเพราะทำให้ได้มีเพี่อนที่หลากลาย1/ ได้มีโอกาสเรียนรู้ ปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมใหม่ตลอดเวลา และช่วยให้อยากลองทำในสิ่งแปลกใหม่ โดยเฉพาะการได้ไปอยู่ในประเทศที่รอบล้อมไปด้วยกลิ่นอายธรรมชาติ อย่างประเทศออสเตรเลียและประเทศในแถบทวีปยุโรป ทำให้ถูกปลูกฝังให้เป็นคนรักธรรมชาติ และรักสัตว์มาตั้งแต่เด็ก เมื่อเห็นสัตว์เลี้ยงจะอดไม่ได้ที่จะเดินเข้าไปหา และได้เลี้ยงกระต่ายคู่เพศผู้เพศเมียตอนที่ครอบครัวอยู่ที่อินเดีย จนทำให้ได้เลี้ยงกระต่ายเป็นฝูงสมใจ แต่เมื่อย้ายบ้านจำใจต้องให้คนอื่นดูแลแทน จากนั้นจึงได้เลี้ยงสุนัขและแมว ตอนทำงานที่ธนาคารโลก กรุงวอชิงตัน ดีซี ได้เลี้ยงแมว 2 ตัว สุนัข 1 ตัว ที่นำไปด้วยทุกที่ มีความรักความผูกพันกับสัตว์ทุกตัวที่ได้เลี้ยงดู จดจำชื่อได้หมดจนถึงทุกวันนี้ แม้จะลาจากกันไปแล้ว โดยเฉพาะโครน่า คาลัว สุนัขพันธุ์บีเกิ้ล และเเมววิเชียรมาศ ที่เพิ่งสูญเสียไป
วาดภาพกับชมรมศิลปะ ธปท.
วันวาเลนไทนท์ 14 กุมภาพันธ์ 2567
ปัจจุบัน ผู้ว่านกเลี้ยงสุนัขไร้บ้านที่รับมาจากสถานสงเคราะห์สัตว์ ซึ่งกว่าจะได้รับเลี้ยงสุนัขมีขั้นตอนสัมภาษณ์ท่านและภรรยา ในตอนแรกจะขอรับมาเลี้ยงเพียงตัวเดียวแต่เมื่อสถานสงเคราะห์ทราบว่า ที่บ้านไม่มีคนคอยดูแลในช่วงกลางวัน จึงขอให้รับมาเลี้ยง 2 ตัว เพื่อที่จะได้เป็นเพื่อนกัน พร้อมตั้งชื่อว่า เฉาก๊วย และเต้าฮวย ถือเป็นครั้งแรกที่เลี้ยงสุนัขพร้อมกัน 2 ตัว จนเห็นว่าการที่สุนัขอยู่ด้วยกันทำให้ไม่โดดเดี่ยว วิ่งเล่นกันสนุกสนานรอบบ้าน เรียกว่ากลับจากที่ทำงานได้มาเล่นกับเฉาก๊วยและเต้าฮวยช่วยให้หายเหนื่อยและคลายเครียดได้เป็นอย่างดี
ภาพวาดซุ้มประตูนครวัดนครธม
นอกจากนิสัยรักสัตว์แล้ว ท่านยังได้รับการปลูกฝังให้รักการวาดรูป ซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากญาติฝั่งคุณแม่ (นามสกุลเดิม “สถาปิตานนท์”) โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากญาติคือ คุณนิธิ สถาปิตานนท์ ที่เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะสถาปัตยกรรม ผู้ว่านกเริ่มต้นวาดภาพจากหนังสือการ์ตูน ก่อนมาวาดภาพลายเส้นขาวดำ ทั้งภาพคน ทิวทัศน์และธรรมชาติ และเมื่อเห็นภาพวาดแกะสลักซุ้มประตูนครวัดนครธม พวกเราได้เข้าถึงอารมณ์ความเป็นจิตรกร และไม่แปลกใจที่เป็นอาชีพในฝันของท่านอย่างไรก็ดี ผู้ว่านกยอมรับว่าในช่วงรับตำแหน่งผู้ว่าการแบงก์ชาติ ไม่มีเวลาวาดรูปเหมือนแต่ก่อน เพิ่งได้มีโอกาสวาดรูปธรรมชาติ ช่วงไปร่วมงานสัมมนาวิชาการที่สำนักงานภาคเหนือเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา
เฉาก๊วย และเต้าฮวย
สุนัขเลี้ยงตัวโปรด
นอกเหนือจากการเลี้ยงสัตว์และการวาดรูปที่เป็นกิจกรรมที่โปรดปรานแล้ว ท่านยังชอบเล่นกีฬาตั้งแต่เด็ก หัดเล่นกีฬาทุกชนิดที่ใช้มือและลูก สมัยเรียนที่อินเดีย ติดทีมโรงเรียนแข่งเบสบอล และเทนนิส ด้วยเป็นคนถนัดมือซ้าย จึงทำให้คู่ต่อสู้จับทางลำบาก ปัจจุบันยังคงเล่นเทนนิสทุกสัปดาห์ เพราะสามารถช่วยให้ผ่อนคลายความเครียดได้ดีที่สุด เนื่องจากต้องใช้สมาธิจดจ่ออยู่กับการตี และที่ไม่ธรรมดาคือยังจ้างโค้ชสอน โดยมีโรเจอร์ เฟเดอเรอร์ เป็นไอดอล2/
แต่กิจกรรมที่ถือว่าแอบชอบมานานตั้งแต่วัยเยาว์ คือการต่อโมเดลรถ โดยเฉพาะต่อโมเดลรถ Tamiya เพราะถือเป็นการฝึกฝนทั้ง art and craft ต้องวางแผนการประกอบทีละส่วน พ่นสีให้กลมกลืนกัน เรียกได้ว่ามีอุปกรณ์ในการต่อครบครัน เมื่อเริ่มต่อแล้วจะลืมทุกสิ่ง ใจจดจ่ออยู่กับสิ่งประดิษฐ์ที่อยู่ตรงหน้า ต่อได้เป็นชั่วโมง ๆ แม้ตอนนี้ไม่ได้มีโอกาสได้ต่อแล้ว แต่ยังชอบที่จะซื้อโมเดลมาสะสมไว้ โดยหวังว่าช่วงหลังเกษียณจะได้นำมาต่อ ตอนนี้ก็ได้เพียงแต่พินิจพิเคราะห์โมเดลที่เคยต่อไว้สังเกตในส่วนที่เห็นว่าจะนำไปปรับปรุงสำหรับโมเดลคันต่อ ๆ ไป
Press Trip ปี 2567
สำหรับเรื่องกาแฟ ไม่ต้องพรรณนามาก เพราะหลงรักเสน่ห์ในรสชาติและและกลิ่นหอมกรุ่นของกาแฟมานานแล้ว จนเกือบตัดสินใจจะยึดอาชีพเป็นบาริสต้า ศึกษาอย่างจริงจังถึงกาแฟพันธุ์ต่าง ๆ วิธีการชงที่ทำให้รสชาติแตกต่างกัน แม้ว่าจะเป็นเมล็ดกาแฟสายพันธุ์เดียวกัน โดยเฉพาะการ drip เพราะการชงมีหลากหลายวิธี บดกาแฟให้ละเอียดพอดี ชั่งน้ำหนักผงกาแฟให้ตรงมาตรวัด รวมทั้งอุณหภูมิของน้ำร้อนที่ผิดไม่ได้แม้องศาเดียว ซึ่งผู้ว่านกยังบ่นเสียดายว่า ตอนไป Press Trip อุณหภูมิในกระติกน้ำร้อนไม่คงที่ รสชาติจึงไม่เป็นไปตามที่ตั้งใจไว้ นอกจากกาแฟที่เป็นเครื่องดื่มที่โปรดปรานแล้ว ท่านยังมีความสนใจในเรื่องราวของเครื่องดื่มอย่างวิสกี้และไวน์ ที่มีเสน่ห์และเอกลักษณ์ในตัวเอง และมีประวัติความเป็นมายาวนานไม่ต่างจากกาแฟ
ซ้อมเทนนิสที่ สอบ. ธปท.
19 ธันวาคม 2563
ท้ายสุด ความชอบของผู้ว่านกคงหนีไม่พ้นการเป็นหนอนหนังสือ นอกจากหนังสือด้านวิชาการแล้ว ยังชอบหนังสือประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะมีจุดพลิกผันในหลายช่วงเวลา ที่มีผลต่อเหตุการณ์ในตอนจบ เช่น ยุทธการที่เดิงแกร์ก (Battle of Dunkirk) ที่นาซีเยอรมันไม่เผด็จศึก ปล่อยให้ทหารอังกฤษหนีจากชายฝั่งทะเลฝรั่งเศสลงเรือข้ามกลับไปยังเกาะอังกฤษ นอกจากนั้น ยังชอบอ่านหนังสือแบบ hard copy ที่ได้อรรถรสกว่าการอ่านผ่าน e-book และจะสั่งหนังสือจากสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งในอังกฤษที่ใช้กระดาษที่มีคุณภาพ ถนอมสายตา มีกลิ่นหอม และการออกแบบปกที่สวยงาม ทำให้เพลิดเพลินไปกับการอ่าน
ถ่ายรูปร่วมกับน้องทีมงานสัมภาษณ์ น้องฉัตรลดา น้องสุกฤตา
และน้องชนิดาภา (จากซ้ายไปขวา)
จากกิจกรรมของผู้ว่านกที่หลากหลายไล่เรียงตั้งแต่เลี้ยงสัตว์ เล่นเทนนิส จิตรกร หนอนหนังสือ จนถึงมือดริปกาแฟ ทำให้ผมหยอดคำถามว่า “ผู้ว่าทำเพื่ออะไร” ท่านนิ่งไปพักหนึ่ง ก่อนตอบกลับว่า การทำกิจกรรมและงานอดิเรกทั้งหมดคือ ความสุขทางใจ ที่ได้เห็นการพัฒนาตนเอง เช่น การชงกาแฟ การวาดรูป การต่อโมเดลรถ ล้วนแล้วแต่ทำให้เห็นถึงจุดที่ต้องทำให้ดีขึ้นไปเรื่อย ๆ อย่างการต่อโมเดลรถ จะหยิบรถที่ต่อเสร็จแล้วขึ้นมาดู พร้อมสังเกตถึงจุดไหนที่ทำได้ดีแล้ว และจุดไหนยังทำไม่ได้ดี ดังนั้น “เราทำอะไรแล้วดีขึ้น พัฒนาได้ เป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างมาก”
หัวใจสำคัญคือสามารถนำมาปรับปรุงการทำงาน ถอดบทเรียนที่พบเห็น อะไรที่เราทำได้แล้วจะจดจำไว้ ตรงไหนที่ทำได้ไม่ดีเอามาทำให้ดีขึ้นในครั้งหน้า แล้วใช้เป็น “เข็มทิศของตัวเราเอง เพื่อไม่ให้เราหลงทาง” เพราะบางครั้งการทำตามความรู้สึกของคนอื่น โดยไม่ได้ยึดหลักการจะทำให้เราไขว้เขวได้ง่าย เช่น เราเตรียมบรรยายมาอย่างดี คิดอย่างครบถ้วน แต่เราไม่มีทางทราบว่า คนฟังวันนั้นจะมีอารมณ์พร้อมรับฟังมากน้อยแค่ไหน แต่เรารับรู้และมั่นใจได้ว่าเราเตรียมตัวมาดีแล้ว
กิจกรรมและงานอดิเรกข้างต้นเป็นมุมหนึ่งที่ไม่ลับของผู้ว่าการ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ สะท้อนถึงความใส่ใจในทุก ๆ เรื่องที่รักและผูกพัน ถือเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่นบ่งบอกถึงตัวตนของท่านได้อย่างชัดเจน
รณดล นุ่มนนท์
9 กันยายน 2567
แหล่งที่มา:
1/ "ผมถูกจ้างมาให้กังวล" ตัวตนผู้ว่าแบงก์ชาติ "เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ" Thai PBS, 5 พ.ค. 67 เวลา 14:14 https://www.thaipbs.or.th/news/content/339698
2/ มาทำความรู้จักกับ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คนที่ 21
https://www.bot.or.th/th/research-and-publications/articles-and-publications/bot-magazine/256305SpecialScoop.html
หมายเหตุ:
ขอขอบคุณ น้องชนิดาภา ศุภนิตย์ น้องฉัตรลดา โชตนาการ และน้องสุกฤตา สงวนพันธุ์ ผู้ช่วยงานบริหาร ประจำผู้ว่าการ (ทีมงานหน้าห้องผู้ว่าการและรองผู้ว่าการ) ที่ร่วมสัมภาษณ์และให้ข้อมูลเพิ่มเติมในการเขียน Weekly Mail ฉบับนี้