"...ทั้ง 3 เหตุการณ์เป็นเพียงตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า เราอยู่บนโลกของความไม่แน่นอนมากขึ้นและต้องรับมือโดยไม่มีโอกาสตั้งตัวมาก่อน ดังนั้น การตั้งสติที่เรียกว่า “ไม่เต้น แต่ไม่นิ่ง” หาหนทางแก้ไข พยายามคิดอย่างรอบด้าน ถือเป็นหัวใจสำคัญในการตอบโจทย์ได้อย่างตรงจุด..."
สวัสดีครับ
การทำงานกับแบงก์ชาติมายาวนานถึง 35 ปีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 ทำให้ผมมีโอกาสทำงานในช่วงเวลาที่ครบเครื่องทุกรสชาติ ผ่านรอบวัฏจักรทางเศรษฐกิจ ฝ่ามรสุมวิกฤติต้มยำกุ้ง รวมทั้งวิกฤติสถาบันการเงินในต่างประเทศ จนล่าสุดเหตุการณ์การระบาดของโรคโควิดที่สร้างความปั่นป่วนไปทั่วทุกหย่อมหญ้า ทำให้สภาพการทำงานเต็มไปด้วยความตื่นเต้นและท้าทายสารพัดนึก ช่วยฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ จนมาถึงวันนี้ แต่หลายเหตุการณ์ไม่นึกไม่ฝันว่าจะเกิดขึ้นได้ สร้างความลุ้นระทึก และบางเหตุการณ์ได้เปลี่ยนวิถีการทำงานของแบงก์ชาติตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา
เหตุการณ์แรกเกิดขึ้นเมื่อผมย้ายไปอยู่ฝ่ายตรวจสอบสถาบันการเงินได้เพียง 3 ปี เพราะในปี พ.ศ. 2543 (ค.ศ. 2000) มีคนคิดขึ้นมาได้ว่า วิศวกรคอมพิวเตอร์กำหนดรหัสสองหลักหลังสำหรับปี “19” เช่น ปี 1970 ไว้เพียง “70” เพื่อจะใช้พื้นที่หน่วยความจำในเครื่องคอมพิวเตอร์ได้มากขึ้น แต่ลืมนึกคิดไปว่า เมื่อใกล้ถึงปี 2000 คอมพิวเตอร์อาจไม่ตีความ “00” เป็นปี 2000 แต่เป็นปี 1900 แทนที่วันปีใหม่จะเป็นวันที่ 1 มกราคม 2000 คอมพิวเตอร์อาจตีความผิดกลายเป็นวันที่ 1 มกราคม 1900 ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง งานเข้าแน่ ๆ จึงเกิดความหวาดกลัวไปในทุกภาคส่วนว่า จะเป็นวันสิ้นโลกหรือไม่ มโนกันตั้งแต่เครื่องบินจะบินอยู่รอดปลอดภัยหรือไม่ในช่วงเที่ยงคืนสิ้นปีเก่าต้อนรับปี 2000 เครื่องมือทางการแพทย์จะรวนระหว่างการผ่าตัดหรือไม่ ไปจนถึงภาคการเงินอาจกระทบต่อลูกหนี้ เช่น แทนที่ธนาคารจะคำนวณอัตราดอกเบี้ยในหนึ่งวัน คอมพิวเตอร์อาจจะคำนวณอัตราดอกเบี้ยรวมกันเกือบ 100 ปี เป็นต้น
พอมีคนเอ๊ะ! ทำให้ทั่วโลกต่างตื่นตระหนกกันถ้วนหน้า เป็นกระแสเหตุการณ์ที่เรียกว่า “Y2K” ย่อมาจากคำว่า Year, 2 และ Kilo ซึ่งในภาษาละตินหมายถึง “1000” ดังนั้น เมื่อรวมกับคำว่า “Year” และตัวเลขจึงกลายเป็นคำว่า “Year 2000” หรือ “ปี 2000” นั่นเอง ความวิตกกังวลนี้แผ่ลามมาถึงเมืองไทยอย่างรวดเร็ว จุดกระแสความวิตกกังวลในวงกว้าง แม้จะมีการเร่งแก้ไขแบบง่าย ๆ ด้วยการขยายปีให้เป็นตัวเลขสี่หลัก แต่หลายภาคส่วนยังมีความกังวลอยู่ดี สายการบินหลายสายยกเลิกเที่ยวบินในช่วงข้ามเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 31 ธันวาคม 1999 สำหรับธนาคาพาณิชย์ไทยไม่พ้นที่ต้องมีการเตรียมการเช่นกัน เร่งแก้ไขข้อบกพร่องและจัดหาโปรแกรมที่เป็นไปตามมาตรฐาน Y2K มีการจัดตั้งคณะทำงานกันเป็นเรื่องเป็นราว แบงก์ชาติเข้าไปหารือกับธนาคารแต่ละแห่งเพื่อประเมินสถานการณ์ จัดทำแผนฉุกเฉินต่าง ๆ พร้อมจัดห้องวอร์รูม (war room) เพื่อรองรับสถานการณ์
โดยปกติวันขึ้นปีใหม่พวกเราจะเฉลิมฉลองกัน แต่ในคืนนั้นจำได้ว่า ต้องขนหมอน ผ้าห่มมานอนเฝ้าติดตามเหตุการณ์กันถึงที่ทำงาน เฝ้ารออย่างลุ้นระทึก จนกระทั่งเข็มวินาทีผ่านเวลาเที่ยงคืน ก่อนที่ทุกคนกระโดดคว้าโทรศัพท์เพื่อโทรไปหาแต่ละธนาคารที่ตนเองรับผิดชอบ ซึ่งได้รับรายงานว่า การประมวลผลคอมพิวเตอร์เป็นปกติสามารถระบุได้ว่าเป็นวันที่ 1 มกราคม 2000 สร้างความโล่งใจกันไปถ้วนหน้า แต่มาถึงจุดนี้แล้ว ทุกคนตัดสินใจนอนค้างกันที่ทำงานก่อนกลับในช่วงรุ่งเช้า เรียกว่า เป็นครั้งแรกที่ได้นอนกันที่ทำงาน พร้อมทิ้งปริศนาว่า งานนี้เป็นเรื่อง ลับ ลวง พราง ระดับโลกหรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ บริษัทคอมพิวเตอร์ที่มาช่วยแก้ไขระบบคอมพิวเตอร์ได้รับผลประโยชน์ไปเต็ม ๆ
เหตุการณ์ Y2K ในปี พ.ศ. 2543
เหตุการณ์ที่สองเป็นเหตุการณ์มหาอุทกภัยในปี พ.ศ. 2554 ที่ไม่มีใครคาดคิดว่า มวลน้ำจะสามารถรวมตัวกันสร้างความเสียหายได้มากถึง 74 จัวหวัด ถือเป็นครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 70 ปี ที่สำคัญคือ น้ำท่วมเข้ามาถึงกรุงเทพฯ และปริมณฑล เรียกว่า มีเพียงพื้นที่บริเวณรอบในพระนครเท่านั้นที่รอดพ้นมาได้ ด้วยเป็นสถานการณ์ที่แต่ละคนตั้งตัวไม่ติด จนได้พบเห็นแนวทางการป้องกันความเสียหายต่อทรัพย์สินกันในหลายรูปแบบ แปลกแหวกแนว ตั้งแต่ครอบรถด้วยถุงพลาสติกจนลอยไปกับกระแสน้ำ กระสอบยักษ์กั้นน้ำที่ไม่ได้ช่วยสกัดมวลน้ำที่ไหลมามากนัก บ้านที่ติดกาวทั่วทั้งหลังราวกับเป็นบ้านเลโก้จนสร้างความปวดหัวตอนทำความสะอาดหลังน้ำลด ถุงทรายขายดิบขายดีแทบหมดชายหาดเมืองไทย รวมทั้งขับรถไปจอดทิ้งไว้ตามที่สูง (แม้แต่บนสะพานลอยก็ไม่เว้น) เรียกว่า อยู่อาศัยร่วมกับ “น้องน้ำ” กว่า 1 เดือน ส่งผลต่อการเข้ามาทำงานในที่ทำงาน และถือเป็นครั้งแรกที่มีการอนุญาตให้พนักงานทำงานที่บ้านได้ และคำว่า work from home น่าจะเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น
สำหรับผมเองต้องมาอาศัยนอนอยู่โรงแรมใกล้แบงก์ชาติ พอช่วงเสาร์อาทิตย์ก็ไปอยู่บ้านพ่อแม่ที่นครปฐม เรียกว่า ทุลักทุเลพอสมควร ถือเป็นประสบการณ์ที่ยากจะลืม
เหตุการณ์มหาอุทกภัยในปี พ.ศ. 2554
เหตุการณ์สุดท้ายเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์การเมืองในปี พ.ศ. 2557 ครั้งนี้ไม่ใช่มวลน้ำแต่เป็นมวลมหาประชาชนที่ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ตั้งเวทีปราศรัยไปทั่วกรุงเทพฯ 7 แห่ง พร้อมยุทธศาสตร์ “Shutdown กรุงเทพฯ” เรียกร้องให้หน่วยงานราชการหยุดปฏิบัติงานและมีการปิดยึดสถานที่ราชการบางแห่ง
ด้วยสถาบันการเงินต้องให้บริการกับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง แบงก์ชาติจึงต้องหาวิธีการทำงานที่ไม่ให้สะดุดเช่นกัน สำหรับงานที่มีนัยสำคัญได้ให้พนักงานเข้ามาทำงานในสถานที่ทำงานสำรองที่จัดเตรียมไว้ แต่สำหรับพนักงานในฝ่ายงานอื่น ๆ อนุญาตให้ทำงานที่บ้าน แต่ในยุคสมัยนั้น เทคโนโลยียังไม่ตอบโจทย์ให้ประชุมแบบออนไลน์กันได้ จึงต้องนัดไปเจอกันตามสถานที่ต่าง ๆ ตั้งแต่ใต้ถุนคอนโดฯ ไปจนถึงล็อบบี้โรงแรม แต่พอสถานการณ์ยืดเยื้อ การทำงานเริ่มไม่ราบรื่น จึงเป็นที่มาของการไปขอใช้พื้นที่สโมสรทหารบก (ส่วนกลาง) เทเวศร์ ตรงข้ามหอสมุดแห่งชาติ เพื่อใช้เป็นสถานที่ทำงานชั่วคราวของฝ่ายตรวจสอบสถาบันการเงิน (ปัจจุบันสโมสรฯ ย้ายไปตั้งอยู่ที่ถนนวิภาวดี-รังสิต)
ยุทธศาสตร์ “Shutdown กรุงเทพฯ ปี พ.ศ. 2557
เรียกว่า แปลงห้องอาหารของสโมสรฯ ให้เป็นที่ทำงาน แบ่งโต๊ะออกเป็นส่วน ๆ ขนเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องถ่ายเอกสารจากแบงก์ชาติมาตั้งไว้ที่นี่ผู้ตรวจสอบฯ เข้ามาทำงานกันแบบเงียบ ๆ ไม่กระโตกกระตาก อาศัยทานข้าวกลางวันที่สโมสรฯ ไปด้วย เรียกว่า มีทุกสรรพสิ่งและอยู่กันร่วมเดือนจนสถานการณ์สงบ ถือเป็นความคิดนอกกรอบจากสถานการณ์ที่นำพาไป
ทั้ง 3 เหตุการณ์เป็นเพียงตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า เราอยู่บนโลกของความไม่แน่นอนมากขึ้นและต้องรับมือโดยไม่มีโอกาสตั้งตัวมาก่อน ดังนั้น การตั้งสติที่เรียกว่า “ไม่เต้น แต่ไม่นิ่ง” หาหนทางแก้ไข พยายามคิดอย่างรอบด้าน ถือเป็นหัวใจสำคัญในการตอบโจทย์ได้อย่างตรงจุด
รณดล นุ่มนนท์
2 กันยายน 2567