"...นายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้งนายทวี เป็นรัฐมนตรีอีกครั้ง ซึ่งนายทวีเคยอำนวยความสะดวกให้กับนายทักษิณเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงเป็นการกระทำที่ขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ตามมาตรฐานทางจริยธรรมในหมวด 2 ข้อ 11 ซึ่งกรณีนี้ถือว่าร้ายแรงเพราะมาจากเหตุการณ์ที่กระทบถึงความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศ..."
นายทักษิณ ชินวัตร ในฐานะผู้ต้องขังหรือนักโทษที่ต้องถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำ แต่ไม่ต้องอยู่ในเรือนจำแม้แต่คืนเดียว ได้ถูกนำตัวออกไปจากเรือนจำตั้งแต่ยังไม่ทันข้ามคืนของวันแรก เพื่อไปพักอย่างสุขสบายที่ห้องพิเศษ ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ตลอดระยะเวลาที่ต้องโทษจำคุกหลังจากได้รับพระราชทานอภัยลดโทษคงเหลือ 6 เดือน น่าจะได้มีการติดต่อประสานงานกันระหว่างนายทักษิณกับรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมที่กำกับดูแลกรมราชทัณฑ์ไว้ก่อนแล้ว ซึ่งในวันแรกที่นายทักษิณเดินทางกลับมาประเทศไทยและถูกส่งตัวไปที่เรือนจำในช่วงสาย ๆ ของวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ปรากฏเป็นข่าวว่านายวิษณุ เครืองาม รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้น แทนนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ที่ลาออกไป ได้เข้าไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
เมื่อนายทักษิณไปถึงเรือนจำแล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พรรคเพื่อไทยกำลังจัดตั้งรัฐบาลในฐานะพรรคแกนนำ เมื่อรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน จัดตั้งรัฐบาลเสร็จ นายทวี สอดส่อง จึงเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
การที่นายวิษณุในฐานะรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้เข้าไปที่เรือนจำขณะที่นายทักษิณไปถึงเรือนจำได้ไม่นาน แสดงให้เห็นว่านายทักษิณจะได้รับการดูแลอย่างดีจากกระทรวงยุติธรรม ที่กำกับดูแลกรมราชทัณฑ์ และจะต่อเนื่องไปจนถึงเมื่อนายทวีเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี เพื่อให้เป็นไปตามที่นายทักษิณได้เคยพูดไว้ว่า จะกลับมาเมืองไทยอย่างเท่ ๆ ซึ่งหมายถึง จะกลับมาเมืองไทยโดยไม่ถูกจำคุกแม้จะมีโทษจำคุกถึง 10 ปี ก็ตาม ซึ่งความเท่นั้นก็ได้ปรากฏให้คนไทยทั้งประเทศได้เห็นแล้ว
ความเท่ของนายทักษิณ 181 วัน บนห้องพักพิเศษ ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ เป็นความเท่ที่ประชาชนเกือบทั้งประเทศยอมรับไม่ได้ และเห็นว่าเป็นความเสียหายรุนแรงต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศอย่างที่ไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน จึงได้มีผู้ยื่นร้องไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. เพื่อตรวจสอบในฐานะองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่เป็นองค์กรสูงสุดมีหน้าที่โดยตรงทางด้านสิทธิมนุษยชน โดย กสม.ได้แถลงข่าวผลการตรวจสอบต่อสื่อมวลชนแล้ว เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2567
กสม.สรุปผลการตรวจสอบว่า มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นจริงบนชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ระหว่างวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ถึงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นเวลาต่อเนื่อง 181 วัน
เรื่องราวที่เกิดขึ้นบนชั้น 14 จะสร้างความเดือดร้อนให้กับนายทวี สอดส่อง และนางสาวแพทองธาร ชินวัตร อย่างมากในเวลานี้ โดยลำดับเหตุการณ์ได้ ดังนี้
• คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และเป็นองค์กรสูงสุดทางด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศ ผลการตรวจสอบของ กสม.ทางด้านสิทธิมนุษยชนย่อมมีความน่าเชื่อถือ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องใช้เป็นฐานในการปฏิบัติงาน
• กสม. สรุปผลการตรวจสอบ เรื่องการพักรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ของนายทักษิณ ชินวัตร แยกเป็น 2 ประเด็น คือ
1) ประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน กสม.สรุปผลว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 วรรคสาม (เป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของ กสม.)
2) ประเด็นความผิดอาญา กสม.มีความเห็นว่าเข้าข่ายทุจริตต่อหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้อง (ไม่ใช่อำนาจหน้าที่โดยตรงของ กสม.จึงส่งเรื่องให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการต่อไป)
• เฉพาะประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่ยุติแล้วว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในหมวดสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 27 วรรคสาม จึงกระทบต่อการดำรงตำแหน่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
• การตรวจสอบของ กสม.อ้างถึง กฎกระทรวง การส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ข้อ 7 (3) กรณีผู้ต้องขังพักรักษาตัวเกินกว่า 120 วัน ให้ผู้บัญชาการเรือนจำมีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดี พร้อมกับความเห็นแพทย์และหลักฐาน และรายงานให้รัฐมนตรีทราบ
• เฉพาะการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎกระทรวง รัฐมนตรีต้องรับทราบเมื่อเกิน 120 วัน แต่ในด้านการกำกับดูแลหน่วยงานในสังกัด และเมื่อผู้ต้องขังเป็นบุคคลสำคัญซึ่งสาธารณชนให้ความสนใจ รัฐมนตรีย่อมต้องรับทราบตั้งแต่วันแรก
• กรณีเกิน 120 วัน ซึ่งมีรายงานมาถึงรัฐมนตรี หากเห็นว่าเป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง รัฐมนตรีย่อมมีหน้าที่จะต้องสั่งการให้เปลี่ยนแปลงการปฏิบัติเป็นอย่างอื่นเพื่อให้ถูกต้อง เช่น มีคำสั่งให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์รับตัวนายทักษิณ ชินวัตร กลับไปยังเรือนจำหรือทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์
• เมื่อรัฐมนตรีไม่ได้สั่งการใด ๆ จึงแสดงว่ารู้เห็นหรือยินยอมให้มีการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องเช่นนั้น
• เมื่อ กสม.สรุปผลการตรวจสอบว่า เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร กับโรงพยาบาลตำรวจ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมจึงเป็นผู้กระทำการร่วมกับผู้เกี่ยวข้องรายอื่นในการละเมิดสิทธิมนุษยชน
• นายทวี สอดส่อง ที่ทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้น จึงเป็นบุคคลหนึ่งที่ถูกชี้มูลโดยองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่มีหน้าที่โดยตรงทางด้านสิทธิมนุษยชน ว่าได้กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน และขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยเป็นข้อเท็จจริงที่ยุติแล้ว
• ถึงขั้นตอนนี้ยังไม่เกี่ยวกับการชี้มูลความผิดทางอาญาของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่อาจจะมีต่อไป
• เฉพาะการกระทำละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 วรรคสาม แสดงถึงการไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ เพราะเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายสูงสุดของประเทศ จึงขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) ต้องมีความซื่อสุตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
• การไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต (โดยไม่ถึงขั้นต้องเป็นที่ประจักษ์) เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ หมวด 1 ข้อ 8
• การมีพฤติกรรมฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ทำให้ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5) ต้องไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
• นายกรัฐมนตรีผู้ที่เสนอแต่งตั้ง จึงเป็นผู้ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงไปด้วย และทำให้นายกรัฐมนตรี ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และ (5) เช่นกัน (ตามแนวการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องที่ 17/2567)
• นายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้งนายทวี เป็นรัฐมนตรีอีกครั้ง ซึ่งนายทวีเคยอำนวยความสะดวกให้กับนายทักษิณเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงเป็นการกระทำที่ขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ตามมาตรฐานทางจริยธรรมในหมวด 2 ข้อ 11 ซึ่งกรณีนี้ถือว่าร้ายแรงเพราะมาจากเหตุการณ์ที่กระทบถึงความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศ
• การขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และ (5) ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และนายกรัฐมนตรี ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของทั้งสองคนสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4)
• เป็นอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ที่จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรี
จึงต้องติดตามดูว่า ความเท่ของ “ทักษิณ” จะจบลงยังไง ???