"...นักรัฐศาสตร์ยุคปัจจุบัน นอกจากยอมรับการมีอยู่ของ “มุ้ง” แล้ว ยังมองว่า “พลวัต” (dynamics) เป็นลักษณะสำคัญที่สุดของ “มุ้ง” แต่ปัญหาต่อมา คือ การมีอยู่ของ “มุ้ง” มันเกิดผลดี-ผลเสียอย่างไร?? ปัญหานี้ เบลโลนีและเบลเลอร์ (Belloni & Beller, 1978) จัดวางคำอธิบายพื้นฐานเอาไว้ ซึ่งเป็นคำอธิบายที่ถูกนำไปประยุกต์ใช้ในการศึกษาวิจัยอย่างกว้างขวาง..."
ปรากฏการณ์การตั้งครม.ใหม่ของไทย –คนตีความต่าง ๆ นานา แนวหนึ่งที่ใช้มาก คือ วงศ์วารการเมือง (political clan) แนวนี้วิเคราะห์ว่าเป็นการสร้างทายาทการเมือง แต่อีกแนวหนึ่งที่คนไทยรู้จักกันดีและดูเหมือนจะลึกและตรงกว่า คือ “political factions” หรือคนไทยเรียกว่า “มุ้งการเมือง” ทางทฤษฎีคำนี้ใช้เพื่ออธิบายกลุ่มที่เป็นปรปักษ์กันที่แข่งขันกันในระบอบการปกครอง เช่น กลุ่มวิกส์ (Whigs) กับทอรีส์ (Tories) ในอังกฤษในศตวรรษที่ 18 หรือกลุ่มจาโคแปง (Jacobins) กับจิรองแดง (Girondins) ในการปฏิวัติฝรั่งเศส หรือกลุ่มแฮมิลตัน (Hamilton) กับกลุ่มเมดิสัน (Madison) ตอนตั้งสหรัฐอเมริกา นักคิดทางการเมืองสมัยก่อนมอง “มุ้งการเมือง” ในแง่ลบ ว่าทำลายสปิริตการเมืองหรือเป็นอุปสรรคต่อเสียงข้างมาก เช่น เมดิสันเห็นว่า “มุ้ง” ทำให้เกิดความแตกแยกและเป็นอันตรายต่อระบอบการปกครองของสหพันธรัฐ
แต่ต่อมา กลางศตวรรษที่ 20 กลับปรากฏว่าเกิด “มุ้ง” อย่างแพร่หลาย นอกจากมี “มุ้ง” หลายมุ้งแล้ว ยังมีการมุด “มุ้ง” คนอื่นด้วย สถานการณ์เช่นนี้นำไปสู่ยุคการมีหลายมุ้ง (multi-factionalism) ดังตัวอย่างเช่นที่เกิดในสหรัฐอเมริกาในทศวรรษ 1940 ด้านนักวิชาการยังคงมอง “มุ้ง” แง่ลบอยู่เหมือนเดิม เช่น วี โอ คีย์ (V. O. Key) มองว่า “มุ้ง” ก่อให้เกิดระบบการเล่นพรรคเล่นพวก (favoritism) และติดสินบน ส.ส. ในสภา และเป็นการแข่งขันที่บีบให้ “คนจน” เสียเปรียบ “คนรวย” คือ คนรวย--พวกมะรึง ไปเล่นอะไรกันใน “มุ้ง” โดยคนจน--ไม่มีโอกาสได้เล่นด้วยเลย!!
กระนั้นภายหลังทางวิชาการเริ่มยอมรับว่า “มุ้ง” คือความจริงทางการเมือง และมีการศึกษา “มุ้ง” กันแพร่หลาย สำหรับทางรัฐศาสตร์ การศึกษา “มุ้ง” ยุคแรกยึดแนวสถาบันหรือทฤษฎีองค์การ มอง “มุ้ง” มีตัวตนและคงที่หรือค่อนข้างคงที่และไม่ค่อยมองบริบทและการเปลี่ยนแปลงตามบริบทมากนัก ตอนหลังเริ่มมอง “มุ้ง” เป็นพลวัต เพราะ “มุ้ง” เปลี่ยนแปลงได้จากบริบท จาก “มุ้งที่สู้รบกัน” (warring factions) กลายมาเป็น “คนที่อยู่ต่างมุ้งกันหันมาจูบกัน” (actors in different groups engage in kissing each other) บางมุ้งยังมี “มุ้งเล็กมุ้งย่อย” บางที “มุ้งใหญ่” ไปสู่ขอ “มุ้งเล็ก แต่บางที “มุ้งเล็ก” กลับไปขอมุด “มุ้งใหญ่” หรือบางทีคนที่เคยเป็น “มุ้งใหญ่” กลายเป็น “มุ้งเล็ก” โดยฉับพลันทันด่วน!!!
นักรัฐศาสตร์ยุคปัจจุบัน นอกจากยอมรับการมีอยู่ของ “มุ้ง” แล้ว ยังมองว่า “พลวัต” (dynamics) เป็นลักษณะสำคัญที่สุดของ “มุ้ง” แต่ปัญหาต่อมา คือ การมีอยู่ของ “มุ้ง” มันเกิดผลดี-ผลเสียอย่างไร?? ปัญหานี้ เบลโลนีและเบลเลอร์ (Belloni & Beller, 1978) จัดวางคำอธิบายพื้นฐานเอาไว้ ซึ่งเป็นคำอธิบายที่ถูกนำไปประยุกต์ใช้ในการศึกษาวิจัยอย่างกว้างขวาง
นักวิชาการทั้งสองแบ่ง “มุ้ง” เป็นสามประเภท เรียงจากดีไปร้าย คือ
ประเภทแรก เป็นมุ้งความร่วมมือกัน (cooperative factions) มีลักษณะสำคัญ คือ (1) ร่วมกันภายใต้แรงจูงใจที่จะเข้าสู่ศูนย์กลางของอำนาจ (2) มุ้งอยู่แยกกัน (3) มุ่งเปลี่ยนแปลงการเมืองไปสู่ประชาธิปไตย (4) มุ้งทำหน้าที่สร้างสมานฉันท์ โดยพยายามรวมกลุ่มที่แยกกันเข้าด้วยกัน (5) ทำให้เกิดความกลมเกลียวกันในพรรค ตัวอย่างเช่น พรรคคริสเตียนดีโมแครตของอิตาลี ช่วง ค.ศ. 1940-1950 พรรคเสรีประชาธิปไตยของญี่ปุ่น ช่วง ค.ศ. 1955-กลางทศวรรษ 1970 และพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศสช่วงทศวรรษ 1970
ประเภทที่สอง เป็นมุ้งที่แข่งขันกัน (competitive factions) มีลักษณะสำคัญ คือ (1) แยกออกจากกันจากแรงผลักดันของศูนย์อำนาจส่วนกลาง (2) มุ้งเป็นขั้วตรงกันข้ามกัน (3) ทำให้เกิดความขัดแย้งภายในพรรค และความเห็นของพรรคแบ่งออกเป็นสองขั้ว (4) ความขัดแย้งภายในกระจายไปทั่วพรรค (5) มีประชาธิปไตยในพรรคปานกลาง มีความสมดุลทางอำนาจปานกลาง และมีการเปลี่ยนแปลงพรรคระดับปานกลาง ตัวอย่างเช่น พรรคคริสเตียนดีโมแครตของอิตาลี ช่วงทศวรรษ 1960-1970 พรรคเสรีประชาธิปไตยของญี่ปุ่นช่วงกลางทศวรรษ 1970 และพรรคแรงงานของอังกฤษช่วงทศวรรษ 1970-1980
ประเภทที่สาม เป็นมุ้งที่เสื่อมโทรม (degenerative factions) มีลักษณะสำคัญ คือ (1) เป็นมุ้งที่แตกแยกแบ่งพรรคออกเป็นส่วน ๆ จากการมุ่งผลประโยชน์ของแต่ละมุ้งมากเกินไป (2) มุ่งผลประโยชน์ส่วนตัว (3) เป็นระบบอุปถัมภ์ (4) ส่งเสริมการคอร์รัปชันและซื้อเสียง (5) มีการยึดกันเป็นมุ้ง จนไม่มีเสถียรภาพ พรรคไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้เลย ใช้ทรัพยากรสาธารณะอย่างสิ้นเปลือง คอร์รัปชันและทำลายแบรนด์พรรค พรรคมีโอกาสแตกหรือล่มสลาย ตัวอย่าง คือ ปรากฏการณ์พรรคแตกของพรรค คริสเตียนดีโมแครตของอิตาลี ตั้งแต่เริ่มช่วงปลายทศวรรษ 1970 จนถึงค.ศ. 1994
ตาม “มุ้ง” ทั้งสามประเภทที่เบลโลนีและเบลเลอร์ (Belloni & Beller, 1978) อธิบายมา สามารถนำมาวิเคราะห์กรณีมุ้งของไทยในปัจจุบันได้ไม่มากก็น้อย ขอยกตัวอย่างเพียงสองพรรค คือ พรรค ป.1 กับพรรค ป. 2 พรรคป. 1 มี “ลุงไม้ เสียงนุ่ม” เป็นหลัก ส่วนพรรค ป.2 เป็น “ลุงสะหยุม เสียงสะอื้น” เป็นผู้นำ
ด้านพรรค ป.1 “ลุงไม้ เสียงนุ่ม” ถูกเถ้าแก่ยึดพรรค จนถูกเบียดขับไปอยู่ปลายนาเหมือนเงาะป่ากลายเป็นคนส่วนน้อย ทว่าเสียงนุ่มของลุงไม้ที่ใครเคยปรามาส เริ่มกรีดร้องและบาดลึก ร้าวจาก แผ่นหลังตรงข้ามกับสะดือไปจนถึงปลายเท้า ถ้าดูตามประเภทมุ้งแล้ว พรรคป.1 น่าจะเป็นประเภทมุ้งที่มีการแข่งขันกันตามประเภทที่สองมากกว่าประเภทอื่น แม้ว่าอาจมีส่วนผสมของประเภทที่สามอยู่ด้วย เช่น แบรนด์พรรคตกต่ำอย่างหนัก หรือการเข้าร่วมรัฐบาลไม่สมเหตุสมผล พวกเถ้าแก่ไม่ใช่คนรุ่นใหม่อะไรอย่างที่อ้าง ความคิดเก่ากะโหลกกะลากว่าลุงไม้ด้วยซ้ำ แล้วก็การอ้างว่าเข้าร่วมกับเขาเพราะแพ้เขา นี่ถ้าเป็นหนังจีนประเภทกำลังภายใน!! มันต้องเอาไปประหารอย่างเดียว!! --นอกจากนั้นเห็นชัดว่าพวกเถ้าแก่น่าจะมุ่งแสวงหาอำนาจและอาจจะส่งเสริมให้เกิดการคอร์รัปชันในอนาคต ที่สำคัญคือไม่ได้คำนึงถึงเสียงฐานสนับสนุนในวงกว้าง เชื่อมั่นเฉพาะกลุ่มหัวคะแนนเท่าที่เคยมี อย่างไรก็ตาม หลายคนก็เชื่อว่าพรรคป.1 ไม่สูญพันธุ์ คะแนนเวทนา สงสาร-แอนด์--น่าดีโตน!! –จากคนใต้ คนกรุงเทพฯ และคนอีสานยังพอมี โดยเฉพาะคนที่พร้อมเช็ดน้ำตาให้ลุงไม้ แต่ปัญหา คือ คะแนนความนิยมพรรคในครั้งต่อไปจะมาจากลุงไม้เป็นหลัก ปัจจุบันลุงไม้กลับเป็นแค่ “ชาวเกาะ” แต่ก็เชื่อว่าใกล้เลือกตั้งพรรคคงตั้งตำแหน่งอะไรให้สักอย่างแก่ลุงไม้ แล้วกลับลำมาเชิดชูประสานักการเมืองพรรคป.1 !!! พอเข้าร่วมรัฐบาลก็อ้างว่าสู้กับเขามาหลายปีไม่ชนะ จึงจำเป็นต้องยอมแพ้ ครั้นพอถึงหน้าเลือกตั้งก็คงเปลี่ยนใหม่ว่า “ยึดมั่นในอุดมการณ์พรรคป.1” มิเสื่อมคลาย—โอ้ยจะกะล่อนไปถึงไหนกัน...!!!
ส่วนพรรคป.2 มี “ลุงสะหยุม เสียงสะอื้น” เคยเป็นใหญ่ มี “ลูกรัก” เป็นมือไม้ให้ ไม่รู้สาเหตุอะไร จู่ ๆ ลูกรักแตกออกเป็นพรรค ป.3 และหันไปขอมุดมุ้งรัฐบาล แถมไปนั่งอยู่ซีกเดียวกับรัฐบาล ทั้ง ๆ ที่สถานะของพรรคตัวเองในพรรคป.2 เป็นฝ่ายค้าน ฝ่ายพรรค ป.3 ก็เคยบีบหลังบีบไหล่ให้ลุงสะหยุม จะอ้างว่าไม่ใช่ลูกรักอีกคนก็คงไม่ได้ มุ้งของพรรค ป.2 จึงน่ากลัวกว่าพรรค ป.1 มาก บางคนบอกกินเหล้าใช้เงินลุง พอเมาแล้วมาเตะลุง –ฝ่ายลูกรักแย้งว่า ตรงกันข้ามเลย –ผมนี่แหละซื้อเหล้าให้ลุง!! ลุงต่างหากเมาแล้วมาเตะผม ผมแค่ยกแขนบัง --ลุงดันหกล้มเอง!! ปัญหาใหญ่ของพรรค ป.2 อยู่ที่ self-serving คือคนมุ่งผลประโยชน์ส่วนตัวมากเกินไป แถมยังมีข่าวพัวพันกับธุรกิจสีเทา (หมายถึงการค้าปูนซีเมนต์) นอกจากจะทำลายแบรนด์พรรคไม่แพ้พรรค ป.1 แล้ว พรรคป. 2 ยังไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้ มติพรรคเหมือน “เสียงเป่าสากกะเบือ” ไม่ปรากฏเป็นเสียงดังอะไร แนวโน้มที่พรรคจะแตกจึงสูงมาก ส่วนคนที่รองมือรองไม้ลุงสะหยุมก็ขี้เหนียว--เก็บอย่างเดียว ส่วนคนที่เคยจ่ายก็เริ่มเข็ดขยาย ยิ่งไปดึงเอา “ลูกปลาฉลาม” มาคุมกรุงเทพฯ ก็ยิ่งไม่เห็นแววว่าจะมีอะไรมาซื้อใจคนกรุงฯ เพราะลูกปลาฉลามไม่ใช่สัญลักษณ์ของนักต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพอะไร—“ตัวปลาฉลาม” ก็มีชื่อเสียงมาจากการไล่งับคนอื่น!!!
ส่วนมุ้งอื่น ๆ ก็เช่นกัน มุ้งในรัฐบาลก็มีส่วนอยู่ในประเภทที่สามด้วยกันหลายพรรค เพราะการมุ่งผลประโยชน์ของแต่ละมุ้งมากเกินไปนี่เอง—คนที่จะดึงเอาทุกมุ้งมารวมกันได้ –จึงหนีไม่พ้น “อาเตี่ย” ซึ่งต้องเจือจานผลประโยชน์กันอย่างทั่วไปถึง การตั้งรัฐบาลจึงเปรียบเหมือน “การกินเลี้ยงวงแชร์”— “วันนี้มะรึงเปียได้ก็เลี้ยงพรรคพวกสิ” --คนนี้เป็นแล้ว ก็เปลี่ยนเป็นคนนั้น คนนั้นเป็นไม่ได้ก็เอาน้องเอาลูกมาเป็น...สมบัติผลัดกันชม มันจะจึงแฮปปี้ด้วยกัน...ส่วนคนจนค่อยหาทางว่ากันทีหลัง--
การเป็นวงศ์วารเป็นส่วนปลายยอดของภูเขาน้ำแข็ง ปัญหาการเมืองไทยจริง ๆ อยู่ที่เราไม่ได้มีมุ้งประเภทร่วมมือกันเพื่อเปลี่ยนประเทศไปสู่ประชาธิปไตยและหลอมรวมผลประโยชน์ของกลุ่มที่แตกแยกกันเข้าเป็นผลประโยชน์ของส่วนรวม ไม่มีกระบวนการสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับพรรคการเมืองในระยะยาว
ข้อสำคัญที่สุด คือ นักการเมืองมีความคิดที่เป็นอุปสรรคต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย นอกจากไม่ได้คิดถึงกระบวนการประชาธิปไตยแล้ว ยังคิดถึงเฉพาะการมีอำนาจ และหวังว่าเมื่อมีอำนาจแล้ว มันจะไปกลบคดีความและเรื่องราว --แค่ให้ข้าราชการมาวิ่งขอตำแหน่งก็สะใจแล้ว!!
นักวิชาการฝรั่งยอมรับว่า “มุ้ง” มีพลวัต คือ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ --แต่การเปลี่ยนมุ้งของการเมืองไทยน่าจะทำให้เขาตกใจอย่างมาก --ได้ยินเสียงเขาอุทานว่า!! พวกมะรึง--จะเปลี่ยนขั้วอะไรกันเร็ว หนักหนา ช้า ๆ หน่อยได้ไหม?? กูคิดทฤษฎีตามไม่ทัน!!!
เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ