"...ถามว่าเห็นชื่อคนหรือไม่ ไม่เห็น เห็นเฉพาะประเด็น ว่ามีประเด็นอะไรบ้างที่ต้องพิจารณา ไม่ได้ลงไปในรายละเอียด เพราะถ้าต้องดูลงลึกลงไปจะต้องมีข้อเท็จจริงมาก เพราะถ้ามีการร้องเรียนไปยัง ป.ป.ช.แล้ว และ ป.ป.ช.อยู่ระหว่างการไต่สวน ยังไม่มีการชี้แจง จะไปตัดสินว่ามีความผิดไม่ได้ รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้ถึงขั้นนั้น เพราะอยู่ในระหว่างถูกกล่าวหา สอง ความยุติธรรมวางหลักไว้ว่า ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า เป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิด จึงต้องดูข้อเท็จจริงและรายละเอียดเป็นกรณีๆไป..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เมื่อวันที่ 3 ก.ย.2567 นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงการตรวจสอบประวัติบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี แพทองธาร 1 ว่า ตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว
"สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ตั้งประเด็นถามและส่งเรื่องมายังคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยประเด็นที่ตั้งถามมาเพื่อให้วินิจฉัยว่า ขัดรัฐธรรมนูญว่าด้วยคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีหรือไม่ประมาณ 10 ประเด็น เช่น มีการฟ้องร้องกันและอยู่ระหว่างดำเนินคดีของพนักงานอัยการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช) หรือ ศาล โดยกฤษฎีกาได้ให้ความเห็นกลับไปยัง สลค.แล้ว"
"ถามว่าเห็นชื่อคนหรือไม่ ไม่เห็น เห็นเฉพาะประเด็น ว่ามีประเด็นอะไรบ้างที่ต้องพิจารณา ไม่ได้ลงไปในรายละเอียด เพราะถ้าต้องดูลงลึกลงไปจะต้องมีข้อเท็จจริงมาก เพราะถ้ามีการร้องเรียนไปยัง ป.ป.ช.แล้ว และ ป.ป.ช.อยู่ระหว่างการไต่สวน ยังไม่มีการชี้แจง จะไปตัดสินว่ามีความผิดไม่ได้ รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้ถึงขั้นนั้น เพราะอยู่ในระหว่างถูกกล่าวหา สอง ความยุติธรรมวางหลักไว้ว่า ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า เป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิด จึงต้องดูข้อเท็จจริงและรายละเอียดเป็นกรณีๆไป”นายปกรณ์กล่าว
เมื่อถามว่า การตรวจสอบเพียงประเด็น แต่ไม่ได้ตรวจสอบเป็นรายบุคคลจะเกิดปัญหาในอนาคตหรือไม่ นายปกรณ์กล่าวว่า การให้ความเห็นของกฤษฎีกา หากไปดูคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะเห็นว่า เขียนไว้ชัดว่า การวินิจฉัยเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ความเห็นของกฤษฎีกาเป็นความเห็นประกอบการใช้ดุลพินิจของนายกรัฐมนตรี ว่านายกรัฐมนตรีจะใช้ดุลพินิจอย่างไร
“ต้องพิจารณาลงไปในรายละเอียดแต่ละเรื่อง ไม่มี one size fit all มันบอกไม่ได้ จะเหมาว่า ถูกร้อง ป.ป.ช.แล้ว ถือว่า มีมลทิน อาจจะไม่แฟร์ เพราะบางเรื่องที่ร้องไป ป.ป.ช.ไม่ชี้มูลก็มี”
เมื่อถามว่า กฤษฎีกาไม่ได้วินิจฉัยว่า เป็นรัฐมนตรีได้หรือไม่ได้ใช่หรือไม่ นายปกรณ์กล่าวว่า ไม่ได้บอกว่า ได้ หรือ ไม่ได้ แต่ระบุไว้เพียงว่า เป็นกรณีที่ต้องพิจารณาตามกฎหมาย เป็นประเด็นไว้เท่านั้น
เมื่อถามว่าก็ยังมีความเสี่ยงที่ถูกนำไปร้องในอนาคตใช่หรือไม่ นายปกรณ์กล่าวว่า เรื่องการนำเรื่องไปร้องเรียน บ้านเราร้องง่ายอยู่แล้ว ร้องได้ตลอดเวลา ไม่ต้องเป็นห่วง จนกว่าที่ศาลจะวินิจฉัยถึงจะเป็นที่ยุติ
“ผมคิดว่า ไม่ต้องกลัวการร้อง การบริหารราชการแผ่นดิน หลักการ คือ เราซื่อสัตย์สุจริต ก็จะไม่มีปัญหา”
เมื่อถามว่า จะไม่ซ้ำรอยกรณีของนายพิชิต ชื่นบาน อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีใช่หรือไม่ นายปกรณ์กล่าวว่า “ถามศาลดีกว่า”