"...คนจำนวนหนึ่งโกหกเพราะเป็นสัญชาตญาณที่ยังไม่ได้ถูกขัดเกลาด้วยศีลธรรมและการหล่อหลอมทางสังคมหรืออาจโกหกด้วยความพลั้งเผลอหรือเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ ฯลฯ ขณะที่คนในสังคมที่มีความเข้มงวดทางจริยธรรมเห็นว่าการตั้งใจโกหกคือการทำลายความน่าเชื่อถือที่เลวร้ายที่สุด นอกจากมนุษย์จะสามารถโกหกผู้อื่นเพื่อหวังผลบางอย่างแล้วหลายต่อหลายครั้งมนุษย์ยังโกหกตัวเองได้อย่างไร้ความรู้สึกละอายใดๆอีกด้วย..."
“การมุสาหรือการโกหกพกลม ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ทำลายความเชื่อถือของผู้อื่นให้ขาดสะบั้นลงอย่างไม่มีดี ถึงแม้เดรัจฉานก็ไม่พอใจในคำหลอกลวง จึงไม่สมควรโกหก ทำให้ผู้อื่นเสียหาย”
คำอธิบายเหตุผลที่ต้องรักษาศีลห้าในพุทธศาสนา
มิใช่เฉพาะศีลห้าในพุทธศาสนาเท่านั้นที่กล่าวถึงข้อห้ามของการโกหก นักปราชญ์ทั่วโลกซึ่งมีชีวิตอยู่นับร้อยนับพันปีมาแล้วก็กล่าวถึงเรื่องของการโกหกเอาไว้มากมาย ซึ่งแต่ละเรื่องล้วนยังเป็นที่จดจำและสามารถนำมาเป็นบทเรียนในชีวิตประจำวันในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี เพราะทุกคนรู้ว่าความจริงเท่านั้นที่จะจรรโลงโลกนี้เอาไว้ได้และการแสวงหาความจริงคือการพยุงสังคมเอาไว้ไม่ให้เข้าสู่ภาวะกลียุคนั่นเอง
เกออร์ค วิลเฮ็ล์ม ฟรีดริช เฮเกิล (Georg Wilhelm Friedrich Hegel) นักปรัชญาชาวเยอรมันในยุคศตวรรษที่ 19 เคยกล่าวว่า “ความจริงที่แท้จริงมีอยู่เสมอ แต่ไม่เสมอไปที่จะหาความจริงนั้นพบ” เมื่อเข้าสู่ยุคอินเทอร์เน็ต แม้อินเทอร์เน็ตจะช่วยให้ความเท็จสามารถแพร่กระจายได้ ง่าย รวดเร็วและกว้างขวาง กว่าความจริง แต่ในทางกลับกันอินเทอร์เน็ตกลับกลายเป็นเครื่องมือจับโกหกที่ทรงพลังเช่นกัน ด้วยการทำหน้าที่อย่างแข็งขันของนักสืบโซเชียล จนทำให้ใครต่อใครหลายคนที่ชอบพูดโกหกถูกจับไต๋ได้ในทันที สิ่งที่เคยพูดหรือกระทำไว้ในอดีตจึงมักกลับมาหลอกหลอนคนที่พูดเท็จเสมอไม่วันใดก็วันหนึ่งและมักจะมาในวันสำคัญของคนคนนั้นเสียด้วย อินเทอร์เน็ตจึงคล้ายกับเครื่องจับเท็จสาธารณะที่ใครๆก็สามารถนำไปใช้จับโกหกคนบางคนได้ตลอดเวลา
มนุษย์และสัตว์ต่างชอบโกหก
ฌ็อง ปียาแฌ (Jean Piaget) นักชีววิทยาและนักจิตวิทยาเด็กชาวสวิสเซอร์แลนด์ กล่าวไว้ตั้งแต่ปี 1932 ว่า “การโกหกเป็นเรื่องของธรรมชาติ เกิดขึ้นเองและเกิดขึ้นได้ทุกหนทุกแห่ง” หรืออีกนัยหนึ่งอาจพูดได้ว่า การโกหกคือสัญชาตญาณของมนุษย์ที่อยู่ในสายเลือดตลอดมาไม่ว่าจะอยู่ในยุคใดก็ตาม แม้กระทั่งเด็กเล็กก็ยังพัฒนาความสามารถในการโกหกได้ขณะกำลังเรียนรู้ภาษาและการใช้เหตุผล มนุษย์จึงสามารถโกหกได้ตั้งแต่เด็กจนโต
คนจำนวนหนึ่งโกหกเพราะเป็นสัญชาตญาณที่ยังไม่ได้ถูกขัดเกลาด้วยศีลธรรมและการหล่อหลอมทางสังคมหรืออาจโกหกด้วยความพลั้งเผลอหรือเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ ฯลฯ ขณะที่คนในสังคมที่มีความเข้มงวดทางจริยธรรมเห็นว่าการตั้งใจโกหกคือการทำลายความน่าเชื่อถือที่เลวร้ายที่สุด นอกจากมนุษย์จะสามารถโกหกผู้อื่นเพื่อหวังผลบางอย่างแล้วหลายต่อหลายครั้งมนุษย์ยังโกหกตัวเองได้อย่างไร้ความรู้สึกละอายใดๆอีกด้วย
ดังนั้นเพื่อไม่ให้โลกนี้ตกอยู่ในความวุ่นวายจากความเท็จ มนุษย์จึงถูกสอนให้พูดความจริงเสมอซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก ไม่เฉพาะมนุษย์เท่านั้นที่มีสัญชาตญาณในการโกหก สัตว์หลายชนิด เช่น สุนัขจิ้งจอก อีกา ฯลฯ ต่างมีทักษะในการโกหก หลอกลวงและมีจุดประสงค์ในการโกหกต่างๆกัน แต่สัตว์เหล่านั้นมีความสามารถในการโกหกต่างชั้นกับมนุษย์มากนัก เพราะมนุษย์มีการพัฒนาทักษะในการสื่อสารโดยใช้ภาษาตั้งแต่ การพูด การเขียน ฯลฯ รวมทั้งการส่งสัญญาณต่างๆและยังใช้เทคโนโลยีเข้ามาเสริม ทำให้การโกหกของมนุษย์สามารถทำได้หลายช่องทางและบางครั้งแนบเนียนจนยากที่จะจับได้ไล่ทัน
สาเหตุของการโกหก
การโกหกมักมีแรงจูงใจจากเหตุใดเหตุหนึ่งเสมอ มนุษย์จึงมีเหตุผลในการโกหกได้ต่างๆนานาแล้วแต่จุดประสงค์และสถานการณ์ พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ ได้เขียนบทความเกี่ยวกับการโกหกเอาไว้ ตอนหนึ่งของบทความได้ขยายความถึงสาเหตุของการโกหกของมนุษย์ไว้ 9 ประการ ซึ่งน่าจะครอบคลุมสาเหตุการโกหกไว้ครบถ้วน (อ้างอิง6)
1.การโกหกเพื่อรักษาน้ำใจ หรือ “White Lies” หรือ “โกหกสีขาว” หมายถึง โกหกด้วยเจตนาถนอมความรู้สึกคนอื่น เกรงว่าถ้าบอกความจริงไป คนฟังโดยเฉพาะคู่รักหรือภรรยาอาจรับไม่ได้ แล้ว จะเสียใจหรือพาลโกรธไปเลย
2.การโกหกเพื่อปกป้องตนเอง เพื่อเอาตัวรอด เช่น กลัวความผิด กลัวถูกทอดทิ้ง กลัวเสียเกียรติ กลัวการเผชิญหน้า กลัวความผิดหวัง เป็นต้น
3.โกหกเพื่อหลีกเลี่ยงความลำบาก ความเดือดร้อน หรือคนอื่นมาขอความช่วยเหลือ
4.โกหกเพื่อหลีกเลี่ยงการสนทนาที่ยาวนาน บางครั้งไม่อยากไปฟังคนมานั่งวิพากษ์วิจารณ์กัน
5.โกหกเพื่อเข้าสังคม เพื่อยกระดับฐานะตนเองให้คนในสังคมยอมรับ
6.โกหกเพื่อหวังผลประโยชน์ เพื่อให้ตนเองได้รับการยอมรับ หรือได้รับความไว้วางใจ รักษาประโยชน์ตนเองไว้ ให้ได้งาน ได้ธุรกิจ
7.โกหกเพื่อโน้มน้าวใจคน เป็นคำโกหก ที่เรียงร้อยมาอย่างดี ทำให้ผู้ฟังเกิดการคล้อยตามเพื่อหวังผลประโยชน์ตนเอง
8.โกหกเพื่อยืนยันความคิดของตนเอง บางคนปักใจเชื่อความคิดตนเองว่าถูกต้อง มีความยึดมั่นในความคิดตนเองมากเกินไป เลยสรรหาคำพูดมาสนับสนุนความคิดตนเอง ไม่ยอมรับความผิดพลาด
9.โกหกตนเอง ส่วนใหญ่คนจะโกหกตนเองก่อนโกหกคนอื่น หมายถึง หลอกตนเอง เช่น สูญเสียคนรักไป โกหกตนเองว่ายังไม่สูญเสีย สิ่งที่เกิดขึ้นไม่จริง เพื่อหวังคลายความทุกข์ไปชั่วขณะ ก็เลยโกหกตนเอง สุดท้ายก็โทษตนเอง
ทฤษฎีของการโกหก
นอกจากการโกหกแล้วสังคมมนุษย์ยังเต็มไปด้วย การพูดจาไร้สาระ เพ้อเจ้อ เท็จปนจริงหาความน่าเชื่อถือไม่ได้ ที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า “บูลชิท” (Bullshit) ผ่านทางภาษาพูดและภาษาเขียน ซึ่งปรากฏอยู่ดาษดื่นทั่วไปทั้งในโลกแห่งความจริงและโลกออนไลน์ คำโกหกกับ บูลชิท จึงมักปรากฏอยู่คู่กันเสมอๆทุกยุคทุกสมัยและในหลายสถานการณ์
เมื่อปี ค.ศ. 1710 โจนาธาน สวิฟท์ (Jonathan Swift) นักเขียนคนสำคัญชาวไอริช ได้สะท้อนถึงอิทธิพลของ การโกหก ไว้ว่า “เมื่อคำโกหกปลิวว่อน ความจริงที่ไร้พลัง จึงค่อยปรากฏขึ้นในภายหลัง” แม้ว่าเวลาผ่านมาถึงสามร้อยปีเศษ คำพูดของโจนาธาน สวิฟท์ ยังสามารถนำมาใช้กับโลกยุคปัจจุบันภายใต้อิทธิพลของอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียที่สามารถเผยแพร่ความเท็จได้เป็นอย่างดี ความเท็จกับความจริงจึงอยู่คู่กับโลกเสมอมาขึ้นอยู่กับว่าเราจะผดุงรักษาความจริงเอาไว้หรือจะยอมอยู่ใต้อิทธิพลของความเท็จ
มิใช่ โจนาธาน สวิฟท์ เท่านั้นที่กล่าวถึงพิษภัยของความเท็จที่เกิดขึ้นในสังคมมนุษย์ ผู้คนในยุคหลังต่างมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน แม้ว่าพวกเขาจะเกิดที่หลัง โจนาธาน สวิฟท์ เกือบสามร้อยปี เมื่อปี 2014 อัลเบอร์โต แบรนโดลินี(Alberto Brandolini) วิศวกรซอฟแวร์ชาวอีตาลี ได้สรุปถึง การพูดจาไร้สาระ เพ้อเจ้อ เท็จปนจริงหาความน่าเชื่อถือไม่ได้หรือบูลชิท เอาไว้ว่า “ การหักล้างบูลชิท ต้องใช้พลังงานที่มากกว่าพลังงานที่สร้างบูลชิทหลายเท่าตัว” ข้อสังเกตของ อัลเบอร์โต แบรนโดลินี จึงกลายเป็นหลักการที่เรียกว่า “ หลักการของ แบรนโดนิลี” (Brandolini’s principle) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการสร้างความเพ้อเจ้อ ไร้สาระนั้น ง่ายและมีต้นทุนต่ำโดยไม่ต้องใช้ความพยายามมากนัก ต่างจากการลบล้างซึ่งยากที่จะทำได้และต้องใช้ความพยายามมากกว่าการสร้างความไร้สาระหลายเท่าตัวหรืออาจเป็นไปไม่ได้เลยก็เป็นได้
ทั้งคำพูดของ โจนาธาน สวิฟท์และหลักการของ แบรนโดนีลี พิสูจน์ให้เห็นว่า ความเท็จ ความเพ้อเจ้อ ความไร้สาระ การหลอกลวงและข่าวปลอม เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาทั้งในยุคที่เทคโนโลยีที่ยังมีข้อจำกัดและในยุคที่เทคโนโลยีเอื้ออำนวยให้ผู้คนสามารถเผยแพร่สิ่งเหล่านี้ได้ภายในเสี้ยววินาที ทำให้ได้ข้อสรุปว่า
๏ ความเท็จและบูลชิท สร้างง่ายกว่าการหักล้าง
๏ ความเท็จและบูลชิท ไม่ต้องใช้สติปัญญาในการสร้างมากนัก แต่ต้องใช้สติปัญญามากกว่าในการเก็บกวาด ความเท็จและบูลชิทที่มีผู้สร้างขึ้น
๏ ความเท็จและบูลชิท แพร่ได้เร็วกว่าเวลาในการพยายามในการปัดกวาดความเท็จและบูลชิทให้หมดไป
เราจึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ความเท็จ ความเพ้อเจ้อ ความไร้สาระและการหลอกลวง ที่มีอยู่ทั่วไปรอบตัวเราได้ถูกเผยแพร่ออกไปจนยากที่จะต้านทาน ด้วยอิทธิพลของโซเชียลมีเดีย ผ่านโทรศัพท์มือถือนั่นเอง
การโกหกโดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่
(1) การโกหกระหว่างบุคคล (Personal lies) ซึ่งได้แก่ การโกหกระหว่าง เพื่อน ครอบครัว ครู หัวหน้า เพื่อนบ้าน ฯลฯ
(2) การโกหกต่อสาธารณะ (Public lies) ซึ่งได้แก่ การโกหกของรัฐบาล การโกหกเพื่อการเคลื่อนไหวทางการเมือง ฯลฯ
การโกหกประเภทหลังเป็นการโกหกที่มีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างและเกิดขึ้นจากแรงจูงใจหลายแบบ เช่น หลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ เพื่อเอาชนะเลือกตั้ง เพื่อปกปิดเจตนาบางอย่าง เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากผู้คน เพื่อต้องการเปลี่ยนการรับรู้ความจริงของผู้คน เพื่อสร้างความโกลาหลและเพื่อแสวงหาอำนาจและความมั่งคั่ง เป็นต้น
ในยุคปัจจุบันคงไม่มีสื่อใดเผยแพร่คำโกหกได้มีประสิทธิภาพเท่ากับโซเชียลมีเดีย เพราะโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือที่นำทางให้มนุษย์เข้าไปสู่ “การโกหกยุคใหม่” (New age of lying) ได้ง่ายขึ้นกว่าเทคโนโลยีแบบเดิม
การโกหกต่อสาธารณะที่เป็นอันตรายต่อสังคมมากที่สุดคือการโกหกของนักการเมือง เพราะการโกหกประเภทนี้มักมีวาระทางการเมืองซ่อนเร้นอยู่เสมอและสามารถสั่นคลอนความเชื่อมั่นทางการเมืองและนโยบายสาธารณะได้ไม่มากก็น้อย
การโกหกมีแรงจูงใจที่หลากหลาย ซึ่งเราสามารถค้นหาแรงจูงใจของการโกหกนั้นๆได้ จากปัจจัย 4 อย่าง คือ
- สภาวะในใจของผู้พูดโกหก (State of Mind) ได้แก่ A. ตั้งใจโกหก B.พูดเพราะการไม่ไตร่ตรอง C.พูดโดยพลั้งเผลอ D.พูดด้วยความมีเหตุผลแต่เกิดผิดพลาด
- ระดับความเสียหายของการโกหก (Magnitude of Harm) ซึ่งได้แก่ A. ร้ายแรง B.ปานกลาง C.เล็กน้อย D.ไม่เสียหายเลย
- ความเป็นไปได้ของความเสียหาย (Likelihood of Harm) ซึ่งได้แก่ A. เกิดขึ้นแน่นอน B.อาจเกิดขึ้นได้ C.ไม่น่าเกิดขึ้นได้ D.ไม่มีทางเกิดขึ้นเลย
- ระยะเวลาที่จะทำให้เกิดความเสียหาย (Timing of Harm) ได้แก่ A. เกิดขึ้นในทันที B.เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ C.เกิดขึ้นในไม่ช้า(Soon) D. อีกนานกว่าจะเกิดขึ้น
การวิเคราะห์ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เราพอจะรู้ถึงสาเหตุของการพูดโกหกของใครก็ตามได้ในระดับหนึ่งและสามารถพิจารณาได้ว่าคำพูดที่พูดออกมานั้นมีน้ำหนักและเหตุผลพอที่จะเป็นที่ยอมรับจนสามารถผ่อนปรนความผิดบางอย่างให้ได้หรือไม่หากไม่มีประเด็นทางกฎหมายมาเกี่ยวข้องและอาจใช้เป็นบรรทัดฐานพิจารณาลงโทษหนักเบาของการโกหกได้ เช่นกัน
นักการเมืองกับการโกหก
คำว่าโกหกกับนักการเมืองมักเป็นคำที่อยู่คู่กันเสมอไม่ว่ายุคใดสมัยใดหรือไม่ว่าจะอยู่ในประเทศที่มีการพัฒนาประชาธิปไตยจนถึงที่สุดแล้วหรือประเทศที่ยังหาคำว่าประชาธิปไตยไม่พบและสามารถใช้ได้กับนักการเมืองทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองที่เรียกตัวเองว่า ฝ่ายประชาธิปไตย ฝ่ายเผด็จการ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมหรือฝ่ายเสรีนิยม ก็ตาม
เมื่อถึงเวลาใกล้เลือกตั้งคราวใด คำพูด การปราศรัยและนโยบายของนักการเมืองจึงถูกจับตามองเป็นพิเศษ เพราะเป็นช่วงเวลาทดสอบความจริงและการจับโกหกครั้งใหญ่ทางการเมืองและหากนักการเมืองสามารถหลุดรอดจากการถูกจับผิดจากสายตาคนส่วนใหญ่ไปได้ นักการเมืองผู้นั้นก็จะมีโอกาส ก้าวสู่ความยิ่งใหญ่ทางการเมืองได้ไม่ยาก
นักการเมืองคือผู้ที่ประชาชนลงคะแนนให้ด้วยความเชื่อว่าเขาเหล่านั้นเป็นคนดีและน่าเชื่อถือในสายตาของผู้ลงคะแนน ในสังคมที่ยึดถือความสูงส่งทางจริยธรรม หากนักการเมืองคนใดพูดโกหก นักการเมืองคนนั้นมักไม่สามารถยืนอยู่ในสังคมนั้นได้อีกต่อไป เพราะการโกหกคือการดูหมิ่นประชาชนอย่างรุนแรงและผู้คนจะรู้สึกได้ในทันทีว่า ถ้านักการเมืองโกหกเมื่อใดพวกเขาซึ่งเป็นประชาชนที่ลงคะแนนเสียงกำลังกลายเป็นแค่เครื่องมือที่นักการเมืองใช้เพื่อเป็นบันไดสู่อำนาจเท่านั้น คนในสังคมเหล่านั้นจึงมักเป็นเดือดเป็นแค้นเสมอหากพบว่านักการเมืองโกหกพวกเขา
ในขณะที่สังคมที่หย่อนยานทางจริยธรรม ผู้คนมักมองข้ามสิ่งเหล่านี้ไปและไม่แยแสต่อการโกหกของนักการเมืองเพราะยึดมั่นแต่อุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคและตัวบุคคลหรือมองว่าถูกกลั่นแกล้งเตะตัดขากันมากกว่าจะสนใจเรื่องความผิดความถูก
ในประวัติศาสตร์การโกหกทางการเมือง มีการสรุปหลักการโกหกของนักการเมืองเอาไว้ 2 แบบ
หลักการที่ (1) ยิ่งโกหกคำใหญ่ ยิ่งดึงดูดความสนใจจากผู้คนได้มากและจะมีคนเชื่อคำโกหกนั้นมาก การลบล้างคำโกหกประเภทนี้จึงเป็นไปได้ยาก อาจใช้เวลานานหรืออาจไม่ถูกลบล้างเลยก็ได้ แม้ว่าจะมีหลักฐานปรากฏในภายหลังอย่างชัดแจ้งก็ตาม
หลักการที่ (2) ยิ่งโกหกซ้ำ ยิ่งทำให้คนเชื่อมาก ซึ่งงานวิจัยพิสูจน์แล้วว่า การพูดเท็จซ้ำๆกันหลายครั้งจะทำให้ความเท็จนั้นกลายเป็นความจริงในที่สุด
ในยุคที่โซเชียลมีเดียครองโลก การกล่าวความเท็จซ้ำกันนับล้านๆครั้งในแต่ละวัน ความเท็จนั้นจะกลายเป็นความจริงที่มีน้ำหนักมากจนยากที่จะหักล้างได้และเมื่อใดที่การโกหกกลายเป็นความจริง ความชั่ว ความบาป รวมทั้งอาชญากรรม ทั้งหลายก็จะถูกปกคลุมด้วยความเท็จจนแทบไม่เห็นความจริงที่แท้จริง
หลักการโกหกของนักการเมืองทั้งสองแบบใช้ได้ผลมาแล้วในทุกยุคทุกสมัยและน่าจะเป็นหลักการที่ยังใช้ได้ผลในปัจจุบันตราบใดที่โลกนี้ยังมีนักการเมืองอยู่
พินอคคิโอกับการโกหก
พินอคคิโอ เป็นวรรณกรรมเยาวชนภาษาอิตาเลียนถูกแต่งขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีเศษมาแล้ว นิทานเรื่องนี้ผู้แต่งได้ให้ตัวเอกของเรื่องมีลักษณะที่ค่อนข้างไร้ความรู้สึกและมีเจตนาร้าย โดยนำมาจากบุคลิกของคนจริงๆ ที่ถูกสร้างมาจากทัศนคติของเขา ต่อการต่อต้านประเพณีนิยมในสังคมอิตาลี พินอคคิโอ ถูกสร้างขึ้นมาให้เป็นหุ่นเด็กผู้ชายแต่มีนิสัยเหมือนกับเด็กทารกคือ ขาดสิ่งชี้นำทางศีลธรรม
พินอคคิโอ จึงเป็นเด็กที่ขาด ความเคารพผู้อื่น เห็นแก่ตัว และไม่มีความเห็นใจ และเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น พินอคคิโอ มีลักษณะเด่นที่รู้จักกันดี คือ เมื่อพูดโกหก จมูกของเขาจะยาวขึ้นทุกครั้ง เมื่อมนุษย์พูดถึงเรื่องของการโกหกคราวใด ชื่อของพินอคคิโอ หุ่นเด็กแสนซนจึงมักถูกหยิบมาใช้อ้างอิงเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการโกหกทางการเมืองหรือการโกหกทั่วไปและจมูกของ พินอคคิโอ มักถูกนำมาเป็นสเกลวัดระดับของความโกหกของผู้คนอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำโกหกทางการเมือง เช่น ฉันชนะการเลือกตั้ง ฉันถูกปล้นชัยชนะการเลือกตั้ง ฯลฯ มักติดอยู่ปลายจมูกของ พินอคคิโอ อยู่มิได้ขาด
ทีมตรวจสอบความจริง(Fact checker) ของสื่อวอชิงตันโพส เคยตรวจสอบคำพูดของ อดีต ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา โดยพบว่าตลอดระยะเวลา 4 ปีที่อยู่ในตำแหน่ง อดีต ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ให้ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงหรือชักนำไปในทางที่ผิด(Misleading) มากถึง 30,573 ข้อความ รวมทั้งการให้ข้อมูลเท็จอีกจำนวน 503 ข้อความ ก่อนการเลือกตั้งในเดือน พฤศจิกายน ปี 2020 ลองจินตนาการดูว่าจำนวนการโกหกที่มากมายขนาดนี้ จมูกของ พินอคคิโอ จะยาวขึ้นมากมายขนาดไหน
สังคมใดมีการโกหกมากผู้คนก็ยิ่งชาชินกับความโกหกเหล่านั้นและมักจะหยุดแสวงหาความจริงเพราะเชื่อไปแล้วว่าว่าคำโกหกต่างๆที่ถูกบอกเล่าต่อๆกันมาคือความจริงและคงไม่มีประชาธิปไตยที่งดงามใดๆในโลกที่อิงอยู่กับความเท็จ เพราะประชาธิปไตยที่ยืนอยู่ข้างความเท็จโดยปราศจากการค้นหาความจริง คงเป็นแค่ประชาธิปไตยแต่เปลือกนอกเท่านั้นและสังคมคงจะตกอยู่ในวงจรของความเท็จและความวุ่นวายไม่รู้จบ
อ้างอิง
1. Big Lies โดย Mark Kurlansky
2. Liars โดย Cass R.Sunstein
3. Calling Bullshit โดย Carl T. Bergstrom และ Jevin D.West
4. โซเชียลมีเดีย : สื่อไร้หัวใจ https://www.isranews.org/article/isranews-article/91477-pansuk.html
5. ศีลห้า https://www.sanook.com/horoscope/98197/
6. สาเหตุของการโกหก https://kalyanamitra.org/th/article_detail.php?i=20040
7. https://bigthink.com/neuropsych/repetition-lie-truth-propaganda/
8. https://m.se-ed.com/Detail/%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%84%E0%B8%84%E0%B8%B4%E0%B9%82%E0%B8%AD/9786162562808
ภาพประกอบ
https://www.bbc.co.uk/teach/school-radio/dance-ks1-time-to-move-pinocchio-index/zdv77nb