"...การชื่นชม พล.อ.ประวิตรและการถูกกล่าวหาถึงความไม่โปร่งใสในการใช้เงินบริจาค จนนำไปสู่การขุดคุ้ยและต่อต้านเขาด้วยพลังของโซเชียลมีเดีย โดยคนกลุ่มใหญ่ ที่เกิดขึ้นและขยายตัวอย่างรวดเร็ว ด้วยวิธีตอบโต้เชิงลบที่เขาเองอาจคาดไม่ถึง บนแนวคิดที่ต้องการรักษาความถูกต้องทางศีลธรรมและมีการเชื่อมโยงเข้ากับการเมืองจึงไม่ต่างจากการถูกลงโทษทางสังคมที่เรียกกันว่า “คว่ำบาตรออนไลน์” (Cancel culture) ซึ่งผู้ถูกกระทำไม่มีโอกาสที่จะตอบโต้ต่อข้อกล่าวหานั้นได้เลย แม้แต่แฟนคลับที่ยังศรัทธาในตัวเขาก็คงตกอยู่ในความกลัวทัวร์ลงจนไม่มีใครอยากเสี่ยงเอาตัวเองและชื่อเสียงเข้าไปแลกกับความร้อนแรงของโลกโซเชียลในเวลานั้น..."
ผู้เขียนไม่เคยทราบเลยว่า คุณ ฌอน บูรณะหิรัญ เป็นใครมาจากไหน แม้แต่ชื่อของเขาก็ยังไม่เคยได้ยินมาก่อน แต่ทราบภายหลังจากการรายงานของสื่อต่างๆอย่างครึกโครมเมื่อ 4 ปีก่อนว่า เขาเป็นไลฟ์โค้ช หรือ นักคิดที่ถ่ายทอดความคิดตัวเองสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นที่โด่งดังในโลกโซเชียลและเคยมีผู้ติดตามโซเชียลของเขาหลายล้านคน อาทิ เฟซบุ๊กมีคนกดติดตามกว่า 3.4 ล้านคน (อ้างอิง 1)
ชีวิตของ ฌอน เปลี่ยนไปชั่วข้ามคืน เพราะการรับงาน “อีเว้นต์” ปลูกป่าและทำคลิป “รักลุงป้อม” ชื่นชม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น การโพสคลิปสั้นที่ชื่นชม พล.อ.ประวิตร ส่งผลกระทบย้อนกลับมาสู่เขาอย่างรุนแรง จนทำให้ชาวเน็ตแห่ขุดคุ้ยประวัติไลฟ์โค้ชคนดังและกลายเป็นคนที่ถูกสังคมตั้งข้อสงสัยในพฤติกรรม โดยเฉพาะ ปมเงินขอรับบริจาคเพื่อช่วยดับไฟป่าดอยสุเทพ อันเป็นที่มาของคดี เปิดรับเงินบริจาคช่วยดับไฟป่า (อ้างอิง 1) และมีการนำคดีฟ้องร้องต่อศาล โดยคดีนี้มีผู้เสียหาย 5 ราย วงเงินบริจาคกว่า 1.3 ล้านบาท มี ฌอนเป็นจำเลยคนเดียว ภายหลังอัยการยื่นฟ้อง ศาลนัดสืบพยานโจทก์ครั้งแรกวันที่ 10-12 ตุลาคม 2566 (อ้างอิง2) และในที่สุดศาลได้พิจารณาตัดสินยกฟ้องเขาทุกข้อหา
ความเป็นคนดังของ ฌอน บนโลกออนไลน์ส่งผลกระทบต่อตัวเขาเองอย่างหนัก เขาถูกตั้งข้อสงสัยจากผู้คนที่เป็นแฟนคลับจนทำให้ผู้ติดตามเขาลดลงอย่างฮวบฮาบ เพจดังบางเพจเริ่มขุดคุ้ยอดีตของเขาตั้งแต่การเรียนไฮสคูลในสหรัฐอเมริกา กิจกรรมการเป็นไลฟ์โค้ช จนถึงกิจกรรมการปลูกป่าที่เขาได้เผชิญกับข้อกล่าวหาอยู่ รวมถึง แฮชแท็ก #ฌอน บูรณะหิรัญ ได้ขึ้นเทรนด์อันดับหนึ่งทวิตเตอร์ไทยแลนด์ในตอนนั้น
เมื่อการบอกรักถูกคว่ำบาตร
ลำพังการบอกรักใครสักคนซึ่งเป็นผู้ใหญ่กว่าควรเป็นเรื่องดีและไม่ควรถูกตำหนิใดๆเลย แต่คลิปชื่นชม พล.อ. ประวิตร ซึ่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีกลับทำให้ ฌอนกลายเป็นเป้าหมายทางการเมืองไปในทันทีจากเสียงของคนกลุ่มหนึ่งซึ่งคาดว่ามีความศรัทธาในตัวเขามากและเกลียด พล.อ. ประวิตรเป็นทุนเดิมอยู่แล้วหรือยืนอยู่ตรงข้ามกับรัฐบาลและกำลังอยู่ในอารมณ์โกรธ ต่อการกระทำของเขา จนลามไปสู่การหาเบาะแสของการบริจาคที่เชื่อกันว่าไม่สุจริตและนำไปสู่คดีฟ้องร้องในเวลาต่อมา
เทรนด์จากทวิตเตอร์และความเห็นมากมายบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่พุ่งเป้าไปยัง ฌอน จนกลายเป็นไวรัลบนโลกออนไลน์และขยายความด้วยสื่อหลัก เชื่อว่าส่งผลกระทบทางใจและก่อความทุกข์ รวมทั้งกระทบต่ออาชีพที่กำลังรุ่งเรืองของเขาอยู่ไม่น้อย
นักวิจารณ์บางคนเห็นว่าการเลือกเข้าไปพัวพันกับการเมืองทำให้เขาถึงจุดจบในอาชีพไลฟ์โค้ชเพราะแฟนคลับไม่ชอบ ในขณะที่เสียงส่วนหนึ่งเห็นว่าการบอกรักใครไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะเป็นเสรีภาพที่จะชื่นชมใครสักคนและบางความเห็นตัดพ้อว่าเรากำลังอยู่ในโลกที่ไร้อิสรภาพที่แท้จริง ฯลฯ
การชื่นชม พล.อ.ประวิตรและการถูกกล่าวหาถึงความไม่โปร่งใสในการใช้เงินบริจาค จนนำไปสู่การขุดคุ้ยและต่อต้านเขาด้วยพลังของโซเชียลมีเดีย โดยคนกลุ่มใหญ่ ที่เกิดขึ้นและขยายตัวอย่างรวดเร็ว ด้วยวิธีตอบโต้เชิงลบที่เขาเองอาจคาดไม่ถึง บนแนวคิดที่ต้องการรักษาความถูกต้องทางศีลธรรมและมีการเชื่อมโยงเข้ากับการเมืองจึงไม่ต่างจากการถูกลงโทษทางสังคมที่เรียกกันว่า “คว่ำบาตรออนไลน์” (Cancel culture) ซึ่งผู้ถูกกระทำไม่มีโอกาสที่จะตอบโต้ต่อข้อกล่าวหานั้นได้เลย แม้แต่แฟนคลับที่ยังศรัทธาในตัวเขาก็คงตกอยู่ในความกลัวทัวร์ลงจนไม่มีใครอยากเสี่ยงเอาตัวเองและชื่อเสียงเข้าไปแลกกับความร้อนแรงของโลกโซเชียลในเวลานั้น
ฌอน จึงกลายเป็นหนึ่งในเหยื่อของวัฒนธรรมการคว่ำบาตรออนไลน์ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เหมือนกับการรุมประชาทัณฑ์ใครก็ตามโดยอาศัยเสียงของคนส่วนมากผ่านโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือ ดังเช่นหลายต่อหลายคนที่ถูกกระทำในลักษณะเดียวกันจนชีวิตต้องพังพินาศภายในเวลาข้ามคืนโดยไม่มีใครรับผิดชอบและเป็นพฤติกรรมที่ไม่ต่างจากการล่าแม่มดในคริสต์ศตวรรษที่ 15 การทำลายล้างอย่างรุนแรง(Pogrom) และการรุมประชาทัณฑ์ผู้คนในเหตุการณ์ต่างๆในอดีต ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าพฤติกรรมของมนุษย์ในยุคก่อนกับมนุษย์ในยุคปัจจุบันไม่ได้แตกต่างกันเลยเพียงแต่ใช้เครื่องมือต่างชนิดกันเท่านั้นเอง
การรวมตัวของฝูงนก vs การรวมตัวของฝูงชน
นกมักมีพฤติกรรมชอบเลียนแบบนกตัวอื่นโดยนกแต่ละตัวจะสังเกตพฤติกรรมของนกที่อยู่ใกล้กับตัวเอง หากนกที่อยู่ใกล้ตัวบินไปทางซ้าย ตัวเองก็จะบินไปทางซ้ายตาม หากนกที่อยู่ใกล้ตัวจิกหัวลงไปทางด้านขวานกตัวนั้นก็จะทำตามเช่นกัน
พฤติกรรมของนกกับพฤติกรรมการรวมฝูงของคนแทบไม่ต่างกัน เพราะธรรมชาติของมนุษย์ย่อมชอบในสิ่งที่เหมือนๆกับที่ตัวเองชอบหรือที่เรียกในกันทฤษฎีโครงข่ายว่า โฮโมฟิลี(Homophily) ซึ่งในภาษากรีกหมายถึง ชอบในสิ่งเดียวกันหรือหนึ่งในประโยคที่พูดกันเสมอคือนกชนิดเดียวกันมักอยู่รวมฝูงกัน (Birds of a feather flock together)และในยุคนี้ไม่มีพื้นที่ไหนที่สามารถทำให้คนฝูงชนที่ชอบในสิ่งเดียวกันมารวมตัวกันได้ สะดวก รวดเร็วและมากได้เท่ากับโซเชียลมีเดีย
เทรนด์อันดับหนึ่งบนทวิตเตอร์เมืองไทยที่รุมโจมตี ฌอน ในครั้งนั้น เป็นเสมือนการรวมตัวของฝูงชนอารมณ์เดียวกันและถูกกระตุ้นด้วยการกลไกของอัลกอริทึมซึ่งสามารถทำให้คอนเทนต์และแฮชแท็กบนทวิตเตอร์ ขยายความสู่ประเด็นร้อนแรงทางการเมืองและนำไปสู่การคว่ำบาตรเขาในที่สุด
หลายปีก่อน อิเลียส คาเน็ตติ (Elias Canetti) นักเขียนชาวบัลแกเรีย ผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรมได้อธิบายถึง จิตวิทยาการรวมตัวของฝูงชน(Crowd psychology) โดยเขาแบ่งการรวมตัวฝูงชนออกเป็น 2 ประเภท คือ การรวมตัวแบบปิด(Closed crowds) เช่น การรวมตัวเพื่อ กิจกรรมในโบสถ์ สโมสรโรตารีหรือชุมชนต่างๆที่รวมตัวกันด้วยวัตถุประสงค์เดียวกัน มีมุมมองต่อโลกในทางเดียวกัน มีอัตตลักษณ์คล้ายกันและมีความเหนียวแน่นในการเป็นสมาชิก ซึ่งการรวมตัวกันด้วยความสงบในลักษณะนี้มักทำให้เกิดการพัฒนาความเข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ การรวมตัวแบบเปิด(Open crowds) มักเกิดขึ้นด้วยตัวเอง จากสภาวะการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและรุนแรงที่เรียกกันว่า ดิสรัปชั่น (Disruption) และเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วโดยการดึงผู้คนเข้ามามีส่วนร่วม ด้วยพลังของความสนใจสิ่งใดสิ่งหนึ่งของผู้คน การรวมตัวลักษณะนี้สมาชิกจะไม่เหนียวแน่นเหมือนการรวมตัวแบบปิดและรวมตัวกันด้วยเหตุผลที่ไม่ชัดเจนนักและมักเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความไม่พอใจหรือความโกรธโดยจะไม่สลายตัวไปเอง จนกว่าอารมณ์บางอย่างได้ถูกปล่อยออกมาซึ่งมีแนวโน้มนำไปสู่ความวุ่นวายและรุนแรงได้
จิตวิทยาของฝูงชนของ อิเลียส คาเน็ตติ สามารถนำมาอธิบายถึงการรวมตัวของฝูงชนบนโซเชียลมีเดียในยุคนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะ ทั้งแพลตฟอร์ม เฟซบุ๊ก WhatsApp ไลน์ ฯลฯ ต่างเป็นการรวมตัวของฝูงชนที่สอดคล้องกับ การรวมตัวแบบปิด ซึ่งผู้คนรู้จักซึ่งกันและกัน สามารถพูดคุยในเรื่องเดียวกัน ชอบในสิ่งที่เหมือนๆกัน มีความเหนียวแน่นในการร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มและไว้เนื้อเชื่อใจกันระดับหนึ่ง
ในขณะที่ ทวิตเตอร์(X) มีลักษณะที่ต่างออกไปเพราะเป็น การรวมตัวแบบเปิด ซึ่งเป็นพื้นที่คนไม่รู้จักสามารถที่จะมารวมกันเพื่อวัตถุประสงค์ใดวัตถุประสงค์หนึ่งเป็นการเฉพาะ การเป็นชุมชนออนไลน์บนพื้นที่เปิดทำให้ผู้ไร้ตัวตนทุกหนทุกแห่งสามารถเข้ามาร่วมวงส่งเสียงได้อย่างเสรี ภายใต้อิทธิพลของ แฮชแท็ก (Hashtag)และม็อบโซเชียล จนกลายเป็นสนามต่อสู้บนโลกออนไลน์ที่ใช้เสียงของผู้คนบนแพลตฟอร์มทำลายเป้าหมาย จนไม่มีโอกาสในการแก้ต่างและหากมีการตอบโต้หรือชี้แจงก็ยิ่งเป็นเหมือนเอาน้ำมันราดบนกองไฟให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก ผู้ถูกกระทำจำนวนไม่น้อยจึงต้องก้มหน้ารับความทุกข์จนกว่าเวลาและกระบวนการยุติธรรมจะพิสูจน์ความจริงในภายหลัง จิตวิทยาการรวมตัวของฝูงชนจึงสามารถอธิบายปรากฏการณ์บนทวิตเตอร์ที่รุมกระหน่ำ ฌอนได้เป็นอย่างดี
คำตัดสินของศาลควรเป็นที่ยุติ ?
หลังคำตัดสินของศาล ฌอน ได้โพสต์ ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กว่า
“…วันนี้ที่ผมอดทนรอคอยมาตลอด 4 ปี ศาลนนทบุรีพิพากษายกฟ้อง จากความเป็นจริง คือ ผมได้นำเงินทุกบาททุกสตางค์ที่ได้รับมาจากการบริจาคของทุกท่านไปช่วยเรื่องไฟป่าแล้วอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ด้วยความเคารพต่อศาล 4 ปีที่ผ่านมาท้าทายมากๆ สำหรับผม และ ครอบครัว ขอบคุณทุกกำลังใจ ครอบครัว เพื่อน แฟนๆ ที่ไม่แม้แต่สงสัยในตัวผม ทุกคนเชื่อมั่นในตัวผม อยู่เคียงข้างผมมาตลอด ขอบคุณทนาย และ ที่ปรึกษาทุกท่านที่เมตตาเอ็นดูผม ที่สุดคือคำพิพากษาของศาลว่า ผมไม่มีความผิดตื่นเต้นและรอคอยที่จะได้แชร์เรื่องราวให้ทุกคนฟังนะครับ…” (อ้างอิง6)
โพสต์ของเขาถูกนำเสนอผ่านสื่อสำนักต่างๆรวมทั้งโซเชียลมีเดียหลายคนบนโลกโซเชียลแสดงความยินดีกับเขาที่พ้นมลทินจากการต่อสู้คดียาวนานถึง 4 ปี
แม้คำตัดสินของศาลควรถือเป็นข้อยุติ แต่มีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังแคลงใจและติดใจต่อการกระทำของเขาและยังกล่าวหาเขาต่อมาบนกระดานข่าวหลังคำตัดสินของศาล เป็นต้นว่า เป็นคนเส้นใหญ่ คนมีเงินไม่มีความผิด ส่งอิโมจิแสดงความผิดหวัง ฯลฯ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า คำตัดสินของศาลไม่สามารถหักล้าง ความเชื่อที่ถูกประทับตราไปแล้วแต่แรกในใจของคนบางกลุ่มได้
การถูกคว่ำบาตรออนไลน์กรณีของ ฌอน จึงเป็นการยื่นตราบาปให้กับเขา จากมือที่มองไม่เห็น เพราะคำตัดสินของศาลโซเชียลได้ตัดสินเขาไปแล้วตั้งแต่เมื่อสี่ปีก่อนซึ่งนานมากจนไม่มีใครให้ความสนใจมากเท่ากับตอนที่เขาตกเป็นจำเลยสังคมและคงไม่มีใครอยากเสียเวลาย้อนกลับไปนึกถึงความหลังนั้นอีก
เรื่องของ คุณ ฌอน บูรณะหิรัญไม่ต่างจากคนในโลกอีกมากมายที่ถูกเสียงของคนกลุ่มหนึ่งในโลกโซเชียลรุมถล่มจนชื่อเสียงย่อยยับ โดยไม่อาจเรียกศรัทธากลับคืนมาได้ดังเดิมและควรเป็นบทเรียนที่คนไทยต้องเรียนรู้ถึงความรุนแรงของวัฒนธรรมการคว่ำบาตรออนไลน์จากม็อบโซเชียลที่สามารถทำลายชีวิตใครต่อใครได้เพียงชั่วพริบตาโดยไม่ต้องมีคนรับผิดชอบ
อ้างอิง
1. https://mgronline.com/politics/detail/9660000092026
2. https://thestandard.co/the-court-dismissed-all-charges-against-sean/
3. https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000065557
4. Invisible Rulers โดย Renee DiResta
5. https://www.isranews.org/article/isranews-article/130169-lisa.html
6. https://www.dailynews.co.th/news/3690379/
ภาพประกอบ