"...การรวมตัวจำนวนมากของผู้คนบนโซเชียลมีเดีย ด้วยพลังของอินฟลูเอนเซอร์และอัลกอริทึม สามารถสร้างพลังต่อรองหรือกำหนดทิศทางและความเชื่อแก่สังคมได้ แม้สิ่งที่รับรู้กันในกลุ่มนั้นอาจเป็นแค่ความเชื่อและความเห็น แต่ด้วยพลังของ อินฟลูเอนเซอร์ อัลกอริทึมและฝูงชนคือตัวเร่งและตอกย้ำให้ความเห็นนั้นกลายเป็น ความจริง แต่เป็นความจริงที่ถูกแต่งทรงให้ถูกรสนิยมของคนบางกลุ่ม (Bespoke reality) เท่านั้น จนดูเหมือนว่าเรากำลังอยู่ในสังคมที่รับรู้ความจริงคนละเวอร์ชันกัน..."
“เมื่อคำโกหกถูกเผยแพร่ออกไปจนมากพอ ผู้คนจะชาชินและหยุดค้นหาความจริง” จากหนังสือ Big Lies
ข่าวบันเทิงช่วงปลายเดือน มิถุนายน ที่ผ่านมา คงไม่มีข่าวไหนที่ผู้คนให้ความสนใจมากเท่ากับข่าวของ “ลิซ่า” เพราะทันทีที่ เอ็มวี ใหม่ของเธอถูกปล่อยออกมาบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย กระแสตอบรับของคนไทยเกิดขึ้นอย่างล้นหลามและได้รับ ยอดวิวสูง ถึง 100 ล้านวิว ภายใน 13 วัน 21 ชั่วโมง ทำสถิติโลกแซงหน้าอินฟลูเอนเซอร์คนดังระดับโลกหลายคน แต่กลายเป็นว่าในช่วงหนึ่งบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กคนไทยถูกบล็อกเมื่อมีการแชร์เอ็มวีของเธอ ทำเอาแฟนคลับชาวไทยต่างหงุดหงิดและวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างเผ็ดร้อนด้วยความสงสัยว่าเหตุใดเมื่อแชร์คลิปคนดังอย่างลิซ่าแล้วบัญชีจึงถูกบล็อก
เมื่อความเห็นมีอิทธิพลเหนือความจริง
ความเห็นและความเชื่อ ที่โพสต์กันบนโซเชียลมีเดียในช่วงเวลานั้นจึงเต็มไปด้วย อารมณ์ ความรู้สึกในทางลบและการคาดเดาแทบทั้งสิ้น เป็นต้นว่า เนื้อหาการแสดงของลิซ่าในเอ็มวีไม่เหมาะสมจนต้องถูกบล็อก หรือ ลิซ่าดังจนเป็นที่อิจฉาของคนดังระดับโลกคนอื่นๆจนทำให้การแชร์ถูกบล็อกและที่แชร์กันเกลื่อนในกลุ่มไลน์จนถึงขั้นเขียนพล็อตเรื่องจับแพะชนแกะทำนองว่า เอ็มวี ของลิซ่าได้ออกมาปลุกจิตสำนึกของความภาคภูมิใจในการเป็นคนไทย ซึ่งขัดกับแผนการยึดประเทศไทยของมหาอำนาจที่จะไม่ให้ไทยสามารถพึ่งพาตัวเองได้ จนเฟซบุ๊กต้องบล็อกโพสต์เกี่ยวกับเธอและห้ามแชร์โดยอ้างว่าเป็น สแปมและขัดกับกฎของเฟซบุ๊ก แถมยังมีข้อความสำทับ อ้างด้วยว่า สิ่งที่นำมาโพสต์คือ “ความจริง ไม่ใช่ทฤษฎีสมคบคิด”
ทั้งที่สาเหตุที่บัญชีของผู้ใช้ เฟซบุ๊กถูกบล็อกสามารถอธิบายความเป็นไปได้ทางเทคนิคด้วยภาษาที่คนทั่วไปเข้าใจได้ง่ายๆว่า การที่บัญชียูทูปของลิซ่ามี ยอดคนดูและมียอดไลค์ ยอดแชร์มากอย่างถล่มทลาย จนทำให้ทราฟฟิกของบัญชีนั้นสูงเกินกว่าค่าทราฟฟิกต่อนาทีหรือต่อชั่วโมงที่ตั้งเอาไว้ ซึ่งหมายความว่าบัญชีนั้นมีระดับ การมีส่วนร่วมของผู้คน(Engagement) สูง เกินกว่าค่าที่แพลตฟอร์มกำหนด กลไกสำหรับรายงานความผิดปกติของแพลตฟอร์ม จึงทำงาน และระบบอาจบล็อกบัญชีของผู้ใช้ที่เข้ามามีส่วนร่วมหรือแชร์เอ็มวีของลิซ่าได้
โดยปกติแล้วบัญชีของบุคคล วีไอพี ซึ่งเป็นอินฟลูเอนเซอร์ระดับโลกจะไม่ถูกลดระดับความสำคัญหรือทำให้เกิดปัญหาใดได้ง่ายๆ เพราะ บัญชีของแต่ละคนจะได้รับการดูแลเป็นพิเศษและถูกปกป้องไว้ราวกับไข่ในหินด้วยมาตรการที่เรียกว่า “ครอส เช็ค” (X Check) ซึ่งคนดังของโลก เช่น อดีตประธานาธิบดี ทรัมป์ และ เนย์มาร์ นักเตะชื่อดังของโลก รวมทั้งอินฟลูเอนเซอร์คนอื่นๆ ล้วนได้รับการปกป้องเป็นพิเศษและเข้าใจว่าบัญชีของลิซ่าคงอยู่ในข่ายบุคคลเหล่านั้นเช่นกันและเหตุการณ์การเช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในหลายกรณีจากการทำงานอย่างรวดเร็วของอัลกอริทึมจนเกิดปัญหาจนทำให้ผู้คนตีความไปคนละทิศละทางและทำให้โลกโซเชียลร้อนระอุไปพักใหญ่
ไม่ว่าข้อความที่แชร์กันหลังจากบัญชีเฟซบุ๊กถูกบล็อกจะเกิดจาก จินตนาการ บทตลกหักมุมหรือข้อเขียนทีเล่นทีจริงของใครบางคนก็ตาม แต่ต้องไม่ลืมว่าด้วย ความง่าย สะดวก ต้นทุนต่ำ ของเทคโนโลยยีดิจิทัล เมื่อใดก็ตามข้อความเหล่านี้เข้าไปอยู่บนโลกโซเชียล ย่อมมีการ ตัดต่อ ขยายความ แชร์และตีความกันไปต่างๆนานา ซึ่งลำพังเนื้อหาของเรื่องที่แชร์กันอาจไม่น่าสนใจเท่าที่ควรและแวบแรกอาจมองเป็น เรื่องไร้สาระที่ควรลบทิ้งด้วยซ้ำ
แต่ทันทีที่มีการเน้นข้อความเริ่มต้นว่า “ควรอ่าน” เพราะเป็น “เรื่องจริง ไม่ใช่ทฤษฎีสมคบคิด” และเป็นเนื้อหาที่เข้ากับ เอ็มวีของลิซ่าที่คนกำลังให้ความสนใจ ย่อมกระตุ้นความอยากรู้ให้กับคนอ่านจนไม่อาจปล่อยผ่านไป แถมยังส่งมาจากคนรู้จัก ยิ่งทำให้ข้อความมีน้ำหนักพอที่จะทำให้ผู้รับข่าวสารต้องอ่านและบางคนมีความโน้มเอียงที่จะเชื่อว่าสิ่งที่ได้อ่านเป็นเรื่องจริง จากความเอนเองที่จะเชื่อซึ่งอยู่ในใจของผู้รับข่าวสารอยู่แล้ว(Truth bias) ทั้งๆที่พล็อตเรื่องแบบนี้เข้าข่าย ทฤษฎีสมคบคิดชัดๆ เรื่องที่ควรจะถกกันสนุกๆเฉพาะในวงเหล้า วงข้าว จึงกลายเป็นเรื่องที่นำมาถกกันในสังคมอย่างกว้างขวาง ไม่ต่างจากความเชื่อเรื่อง โลกแบน สัญญาณ 5G แพร่เชื้อโควิด วัคซีนทำให้เกิดโรคออทิสติก และ QAnon ที่โยงเรื่องราวสารพัดเข้าด้วยกันโดยไม่มีหลักฐานพิสูจน์ แต่คนกลุ่มหนึ่งก็ยังเชื่อในทฤษฎีสมคบคิดเหล่านี้อยู่
แม้ว่าภายหลังความสงสัยได้คลี่คลายลงระดับหนึ่งเมื่อสื่อหลายสำนักได้ออกมาไขข้อข้องใจจากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญว่าสาเหตุที่บัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กถูกบล็อกเมื่อมีการแชร์เอ็มวีของลิซ่าว่าเพราะระบบอาจคิดว่าเอ็มวีของลิซ่าเป็นสแปม(Spam) จากการทำงานของระบบก็ตาม ก็ไม่ง่ายที่จะลบล้างความเชื่อของผู้คนที่รับข่าวสารจากการแชร์ในกลุ่มหลายต่อหลายกลุ่มตั้งแต่แรกได้
ใครคือผู้กำหนดความจริง
ข้อมูลข่าวสารและข่าวลือที่เกิดขึ้นอย่างมากมายบนโซเชียลมีเดียภายหลัง ผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กถูกบล็อกจากการแชร์เอ็มวีของลิซ่า ล้วนเกิดจากความเห็นหรือการมโนที่พรั่งพรูออกมาจากคนทั่วไปและเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ทุกยุคทุกสมัย แต่มนุษย์ยุคปัจจุบันสามารถถูกดึงเข้ามาเชื่อมต่อซึ่งกันและกันด้วยโซเชียลมีเดียและสามารถขยายขอบเขตออกไปอย่างแทบไร้ขีดจำกัด จนกลายเป็นว่าสังคมไทยในบางช่วงเวลากำลังตกอยู่ใต้อิทธิพลของความเห็นอันหลากหลายมากกว่าความจริงและเมื่อใดก็ตามที่ความเห็นนั้นมาจากจากอินฟลูเอนเซอร์หรือบุคคลมีชื่อเสียงย่อมจะสร้างแรงกระเพื่อมกว่าความเห็นจากคนทั่วๆไป จนทำให้คนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าความเห็นเหล่านั้นคือความจริงโดยสนิทใจโดยไม่ได้แยกแยะและไม่จำเป็นต้องแสวงหาความจริงเพิ่มเติม
การเชื่อของมนุษย์ในสิ่งที่ได้เห็นบนโลกออนไลน์ในทันทีโดยไม่ได้พิจารณาอย่างรอบคอบเกิดจาก การขาดสิ่งที่เรียกว่า การคิดเชิงวิเคราะห์และแยกแยะ(Critical thinking)และเคยชินต่อการใช้สมองส่วนคิดเร็ว(Fast thinking)หรือสมองระบบที่ 1(System 1) ซึ่งเป็นสมองส่วนที่คิดและตัดสินใจอย่างอัตโนมัติโดยอาศัย ความชำนาญ สัญชาตญาณและข้อมูลในอดีต โดยไม่ได้เอะใจหรือหาข้อมูลเพิ่มเติมจากสิ่งที่อ่านบนจอ เพราะสมองส่วนคิดเร็วทำงานได้ดีกับโลกดิจิทัลและทำงานสัมพันธ์กับฟังก์ชันของโซเชียลมีเดียอย่างลงตัว
อินฟลูเอนเซอร์ – อัลกอริทึม- ฝูงชน : พลังสามประสาน
อินฟลูเอนเซอร์ในโลกออนไลน์ ซึ่งมีบุคลิก ดึงดูดใจ มีเสน่ห์ มีอารมณ์ขัน มีพลัง มีสีสันและเป็นนักเล่าเรื่องที่สนุกสนาน ได้กลายเป็นผู้ที่คนในสังคมบางกลุ่มต้องเอาอย่าง ทั้งจาก การใช้สินค้า การใช้บริการ การต้องรับฟังความเห็นหรือแม้แต่การเลียนแบบ ทั้งเสื้อผ้าและภาษาแปลกๆที่อินฟลูเอนเซอร์พูดในคลิปก็ถูกนำมาพูดจนกลายเป็นคำฮิตไปทั่ว
สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักคือ อินฟลูเอนเซอร์บางคนสามารถสร้างและนำเสนอข่าวสารที่เป็นได้ทั้ง “ ความจริง” “ความเห็น” หรือแม้แต่ “ ความเท็จ” ด้วยตัวเองผ่านโซเชียลมีเดียโดยแทบไม่มีข้อจำกัดเพื่อวัตถุประสงค์ของตัวเอง แทนที่สื่ออาชีพที่ถูกลดบทบาทลงไปทุกวันทั้งรายได้จากการโฆษณาและจำนวนผู้เสพข่าวสาร
“อินฟลูเอนเซอร์” สามารถดึงดูดผู้คนกลุ่มใหญ่เข้าไปอยู่ร่วมกันได้ผ่านแพลตฟอร์มและเมื่อใดก็ตามที่อินฟลูเอนเซอร์สามารถปลูกฝังความเชื่อหรือชักจูงคนกลุ่มนั้นไปในทางที่ผิดหรือบิดเบือนความจริงจนผู้ติดตามจำนวนนับแสนนับล้านคนเข้าใจว่าทุกอย่างที่อินฟลูเอนเซอร์สื่อสารออกมานั้นคือ “ความจริง” เพียงเพื่อประโยชน์ของตนเอง หายนะก็จะเกิดขึ้นกับสังคมนั้นอย่างไม่ต้องสงสัย
นอกจากอินฟลูเอนเซอร์ซึ่งกลายเป็นผู้มีอำนาจชี้นำสังคมแล้ว “อัลกอริทึม” ในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ยังเป็นผู้เล่นสำคัญที่ส่งเสริมให้นักสร้างคอนเทนต์กลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลในสังคมขึ้นมาในทันที การแพร่กระจายของคอนเทนต์ที่สร้างสรรค์ก็ดีหรือทฤษฎีสมคบคิดที่ปราศจากมูลความจริงจนกลายเป็นไวรัลก็ดี เกิดจากกลไกของ “อัลกอริทึม” จากกระบวนการที่เรียกกันว่า โค้ดดิง (Coding) ด้วยฝีมือของนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล(Data scientist) ที่กระจายตัวอยู่ในบริษัทแพลตฟอร์มต่างๆและอัลกอริทึมเหล่านี้คือ เครื่องช่วยแนะนำ(Recommendation engine) ที่ชักจูงให้ผู้คนมีส่วนร่วม(Engagement)กับแพลตฟอร์มนั้น จนทำให้เราต้องคลิก ต้องอ่านและส่งต่อให้คนอื่นๆได้เห็นในสิ่งที่เราได้รับรู้ในทันทีและทุกการคลิกเหล่านี้คือแหล่งรายได้หลักของแพลตฟอร์มนั่นเอง การโต้ตอบระหว่างอัลกอริทึมกับผู้สร้างคอนเทนต์จึงเหมือนกับการ รับ-ส่ง ลูกในเกมฟุตบอลที่เอาใจผู้ดูที่เป็นคนกลุ่มใหญ่และส่งเสียงเชียร์ดังพอที่จะทำให้ข้อมูลจากอินฟลูเอนเซอร์แพร่กระจายออกไปอย่างรวดเร็วและเข้าถึงตัวผู้คนมากกว่าในสื่อยุคเดิมหลายเท่าตัว
ประมาณการกันว่า บัญชีของผู้ใช้โซเชียลมีเดียทั่วไป(Typical users)มีโอกาสที่จะมีจำนวนเพื่อนของเพื่อน(Friends of friends) ได้ราว 40,000 คน ในขณะที่บัญชีที่มีอิทธิพลต่อผู้คน(Power user) อาจมีจำนวนเพื่อนของเพื่อนได้มากถึง 800,000 คน ดังนั้นฟังก์ชันที่เรียกว่า “คนที่คุณอาจรู้จัก” (People You May Know :PYMK) ของเฟซบุ๊ก จึงถูกสร้างขึ้นเพื่อโน้มน้าวให้ใครก็ตามมีโอกาสเชื่อมต่อกับเพื่อนของเพื่อนที่อัลกอริทึมแนะนำมาให้นอกจากเพื่อนที่ตัวเองรู้จักอยู่แล้ว ผู้ออกแบบระบบรู้ดีว่า เมื่อใดที่แพลตฟอร์มมีผู้ใช้งานมากขึ้นย่อมต้องมีการติดต่อระหว่างกันมากขึ้นซึ่งจะทวีความมีคุณค่าของแพลตฟอร์มยิ่งขึ้นอันเป็นผลจาก “ปฏิกิริยาโครงข่าย” (Network effect)
ความจริง ใต้อิทธิพลของ อินฟลูเอนเซอร์ อัลกอริทึม และ ฝูงชน
นอกจาก “อินฟลูเอนเซอร์” และ“อัลกอริทึม”แล้ว เสียงจาก “ฝูงชน”(Crowd) ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ข้อมูลจากโซเชียลมีเดียกลายเป็นความจริงที่ชี้นำสังคมได้ เพราะธรรมชาติของมนุษย์ย่อมชอบในสิ่งที่เหมือนๆกับที่ตัวเองชอบหรือที่เรียกในกันทฤษฎีโครงข่ายว่า โฮโมฟิลี(Homophily) ซึ่งในภาษากรีกหมายถึง ชอบในสิ่งเดียวกัน(Love of the same)หรือหนึ่งในประโยคที่พูดกันเสมอคือนกชนิดเดียวกันมักอยู่รวมฝูงกัน (Birds of a feather flock together)
นกมักมีพฤติกรรมชอบเลียนแบบนกตัวอื่นโดยนกแต่ละตัวจะสังเกตพฤติกรรมของนกที่อยู่ใกล้กับตัวเอง หากนกที่อยู่ใกล้ตัวบินไปทางซ้าย ตัวเองก็จะบินไปทางซ้ายตาม หากนกที่อยู่ใกล้ตัวจิกหัวลงไปทางด้านขวานกตัวนั้นก็จะทำตามเช่นกัน พฤติกรรมของนกกับพฤติกรรมการรวมฝูงของคนจึงแทบไม่ต่างกันและในยุคนี้ไม่มีพื้นที่ไหนที่สามารถทำให้คนส่วนใหญ่ที่ชอบในสิ่งเดียวกันมารวมตัวกันได้ สะดวก รวดเร็วและมากได้เท่ากับโซเชียลมีเดีย
ความจริงคนละเวอร์ชัน
การรวมตัวจำนวนมากของผู้คนบนโซเชียลมีเดีย ด้วยพลังของอินฟลูเอนเซอร์และอัลกอริทึม สามารถสร้างพลังต่อรองหรือกำหนดทิศทางและความเชื่อแก่สังคมได้ แม้สิ่งที่รับรู้กันในกลุ่มนั้นอาจเป็นแค่ความเชื่อและความเห็น แต่ด้วยพลังของ อินฟลูเอนเซอร์ อัลกอริทึมและฝูงชนคือตัวเร่งและตอกย้ำให้ความเห็นนั้นกลายเป็น ความจริง แต่เป็นความจริงที่ถูกแต่งทรงให้ถูกรสนิยมของคนบางกลุ่ม (Bespoke reality) เท่านั้น จนดูเหมือนว่าเรากำลังอยู่ในสังคมที่รับรู้ความจริงคนละเวอร์ชันกัน
ผู้ที่มีอิทธิพลต่อการเผยแพร่ความจริงและชี้นำสังคมในยุคปัจจุบัน จึงกลายเป็น อินฟลูเอนเซอร์ อัลกอริทึมและฝูงชน ในขณะที่สื่ออาชีพที่มีความน่าเชื่อถือพอที่จะพึ่งพาได้กลับถูกอิทธิพลของโซเชียลมีเดียบดบังไปจนเกือบหมดสิ้น คำพูดที่ว่า “ถ้าใครสามารถสร้างเทรนด์ได้ ผู้นั้นก็สามารถกำหนดความจริงได้” จึงกลายเป็นความจริงในยุคที่โซเชียลมีเดียกำลังครองโลก
ความเห็น ความเชื่อ การคาดเดาต่างๆนานาที่ถูกเผยแพร่ หลังจาก เอ็มวี ของลิซ่าถูกปล่อยออกมาและบัญชีของผู้ใช้เฟซบุ๊กจำนวนมากถูกบล็อกโดยยังไม่รู้สาเหตุ จึงทำให้คนจำนวนไม่น้อยเชื่อในความเห็นเลื่อนลอยที่ส่งต่อกันมาและตกเป็นเหยื่อของ นักทฤษฎีสมคบคิดและนักโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งถือโอกาสเกาะกระแสความดังปั้นน้ำเป็นตัวผ่านโซเชียลมีเดียได้ อย่างง่ายดาย ในยุคที่สังคมตัดสิน ความจริง กันด้วย ความนิยมของ ยอดวิว ยอดไลค์และยอดแชร์ บนโซเชียลมีเดีย
อ้างอิง
1. https://mgronline.com/entertainment/detail/9670000059257
2. Invisible Rulers โดย Renee DiResta