"..ด้วยความสำเร็จและความอัจฉริยะของเธอ ในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ กรุงโตเกียว 2020 ทุกคนจึงคาดหวังว่าเธอจะมาสร้างตำนาน บทใหม่อย่างแน่นอน ด้วยการกวาดเหรียญทองครบ 6 เหรียญ ซึ่งจะทำให้เธอกลายเป็นสุดยอดนักยิมนาสติกที่เก่งกาจที่สุดตลอดกาลเพียงคนเดียวอย่างแท้จริง (GOAT: The Greatest Of All Time)..."
นับถอยหลังไปอีกเพียง 4 วัน กีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 33 กีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ จะเปิดฉากขึ้น ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นการแข่งขันฉลองครบรอบ 100 ปีกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนและฤดูหนาว ปี 1924 ที่เคยจัดขึ้นที่ประเทศฝรั่งเศส พร้อมกับการสร้างโฉมใหม่ของการแข่งขัน เริ่มต้นจากพิธีเปิดการแข่งขันแบบฉีกกรอบ ด้วยการเชิญให้นักกีฬาที่เข้าร่วม 10,500 คน กว่า 200 ประเทศ ลงเรือล่องแม่น้ำแซนผ่านกลางกรุงปารีส ให้ผู้ชมทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำได้มีส่วนร่วม แทนพิธีเปิดในสนามแข่งขัน ในขณะที่จำนวนนักกีฬาชายและหญิงจะมีจำนวนเท่ากัน ต่างกับการแข่งขันในครั้งที่ผ่าน ๆ มา
การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกถือเป็นความใฝ่ฝันอันสูงสุดของบรรดานักกีฬาทั่วโลกที่ต้องการเข้าร่วมแข่งขัน แต่ต้องผ่านด่านการคัดตัวหลายรอบกว่าฝันจะเป็นจริง โดยในส่วนของนักกีฬาไทย มีนักกีฬาได้สิทธิ์เข้าร่วมเพียง 51 คน หนึ่งในนั้นคือน้องวารีรยา สุขเกษม นักกีฬาสเกตบอร์ด ด้วยวัยเพียง 12 ปี
สำหรับนักกีฬาชาติอื่น ๆ ก็เช่นกัน ต้องฟันฝ่าอุปสรรคและความมุมานะกว่าจะได้เป็นตัวแทนทีมชาติ อาทิ กรณีของแมท ดอว์สัน (Matt Dawson) นักกีฬาฮอกกี้ ทีมชาติออสเตรเลีย ที่ตัดสินใจให้คุณหมอตัดส่วนบนของนิ้วนางด้านขวาแทนการใส่เฝือก เพื่อเข้าร่วมการแข่งขันได้ทัน แต่สำหรับ ซิโมน ไบลส์ (Simone Biles) ชาวสหรัฐฯ ราชินียิมนาสติก ผู้เคยกวาดแชมป์ในการแข่งขันชิงแชมป์โลกมาได้ถึง 19 เหรียญทอง เป็นเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก 4 เหรียญ การเข้าร่วมแข่งขันในครั้งนี้เป็นเรื่องที่เหลือเชื่อ เพราะเธอต้องเอาชนะบาดแผลทางใจ สูญเสียความเชื่อมั่นจากการตัดสินใจถอนตัวในระหว่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ กรุงโตเกียว 2020
ซิโมน ไบลส์ เกิดในครอบครัวลูกครึ่งเบลีซ อเมริกัน ครอบครัวแตกแยก แม่ผู้ให้กำเนิดมีปัญหาเรื่องการใช้สารเสพติด ถูกส่งตัวไปอยู่บ้านเด็กอุปถัมภ์ จนคุณตาแท้ ๆ ทนไม่ไหวต้องรับมาเป็นบุตรบุญธรรมตั้งแต่อายุ 3 ขวบ ไบลส์ฉายแววเป็นนักยิมนาสติกอัจฉริยะตั้งแต่อายุ 6 ขวบ และติดทีมชาติชุดใหญ่เมื่ออายุเพียง 16 ปี ก่อนเข้าร่วมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ นครรีโอเดจาเนโร ในปี 2016 กวาดเหรียญทอง ทั้งหมด 4 ประเภท นอกจากนั้น ไบลส์ยังครองแชมป์โลกในทุกสมัยที่เธอเข้าร่วม ถือเป็นนักยิมนาสติกที่มีพรสวรรค์ แม้เธอจะมีส่วนสูงเพียง 142 เซ็นติเมตร แต่เธอสามารถกระโดดลอยขึ้นไปได้ถึง 365 เซนติเมตร ในขณะที่เธอสามารถทำท่าที่อัศจรรย์เหนือนักกีฬาคนอื่น เช่น ในอุปกรณ์ประเภท ม้ากระโดด (Vault) ที่เธอสามารถลอยขึ้นไปตีลังกากลับหลัง พร้อมหมุนตัว สองรอบครึ่งก่อนเท้าลงบนพื้นเบาะอย่างนิ่มนวล จนกลายเป็นท่าที่ถูกขนานนามว่า “Biles II” เป็นคะแนนสูงสุดที่นักยิมนาสติกสามารถทำได้
ด้วยความสำเร็จและความอัจฉริยะของเธอ ในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ กรุงโตเกียว 2020 ทุกคนจึงคาดหวังว่าเธอจะมาสร้างตำนาน บทใหม่อย่างแน่นอน ด้วยการกวาดเหรียญทองครบ 6 เหรียญ ซึ่งจะทำให้เธอกลายเป็นสุดยอดนักยิมนาสติกที่เก่งกาจที่สุดตลอดกาลเพียงคนเดียวอย่างแท้จริง (GOAT: The Greatest Of All Time) อย่างไรก็ดี สัญญาณบ่งบอกว่า เส้นทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เกิดขึ้นตั้งแต่ไบลส์ เดินทางถึงกรุงโตเกียว นักกีฬาแต่ละคนต้องถูกกักตัวอยู่ในบริเวณห้องพัก และเจอกันเฉพาะในช่วงการฝึกซ้อมตามกฎกติกาของการแข่งขันในช่วงที่โควิดยังคงระบาด ทำให้ต้องอยู่กับตัวเองด้วยบรรยากาศที่ดูอึดอัด ไม่สามารถระบายความรู้สึกที่กดดันให้กับคนอื่นได้ ในขณะที่บรรยากาศการแข่งขันว้าเหว่ เงียบเหงา เพราะอนุญาตให้มีผู้เข้าชมในสนามได้เพียงบางส่วน และเป็นครั้งแรกที่พ่อและแม่ของเธอไม่สามารถมาร่วมให้กำลังใจข้างสนามได้
สัญญาณที่แสดงให้เห็นปัญหาที่ซุกซ่อนไว้เริ่มปรากฎออกมาในช่วงวอร์มอัพ และฝึกซ้อมอุปกรณ์ม้ากระโดด เมื่อเธอเริ่มถีบตัวขึ้นไป ปรากฏว่าเธอหมุนตัวได้เพียงหนึ่งรอบครึ่ง เธอดูเครียดอย่างเห็นได้ชัด พร้อมเสียงบ่นพึมพำตลอดเวลา และเมื่อการแข่งขันเริ่มต้น เธอชูมือทั้งสองขึ้นก่อนวิ่งไปหาอุปกรณ์ม้ากระโดด พร้อมลอยตัวขึ้น ตีลังกากลับหลัง แต่เธอก็ยังคงหมุนได้เพียงหนึ่งรอบครึ่งแถมลงมาที่พื้นเบาะแทบยืนทรงตัวไม่ได้ เกือบหลุดไปจากพื้นสนาม ท่ามกลางความเงียบสงัดและนักพากย์หลุดปากพูดว่า “Oh Boy”1/ และทุกคนในสนามรู้ทันทีว่านี่ไม่ใช่ “Biles II” ท่าที่สร้างให้เธอดังกระฉ่อนก้องโลก และแล้วเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นเมื่อเธอหันไปบอกกับผู้ฝึกสอนว่า “ฉันไม่ต้องการลงแข่ง ฉันพอแล้ว” ก่อนที่จะหันไปขอโทษเพื่อนร่วมทีมทุกคน สวมกอดให้กำลังใจ แต่ยังอยู่ในสนามเพื่อเชียร์เพื่อนต่อไป2/ เป็นการถอนตัวจากการแข่งขันที่เหลือทั้งหมด เป็นข่าวดังทั่วโลก มีทั้งที่เข้ามาให้กำลังใจเธอ และวิพากษ์วิจารณ์ตำหนิเธอว่า ไม่มีสปิริตนักกีฬาปล่อยให้เพื่อน ๆ ในทีมต้องแข่งขันตามลำพัง
สภาพที่เกิดขึ้นกับเธอนั้น เป็นปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นแบบกะทันหันซึ่งนักยิมนาสติกเรียกว่า Twisties เป็นภาวะที่ร่างกายและจิตใจไม่ตรงกัน ทำให้เมื่อเธอลอยตัวอยู่กลางอากาศ สมองเธอไม่สั่งการร่างกายได้เลยไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร ไม่สามารถตีลังกา หมุนตัวได้เหมือนกับที่เคยฝึกมา เป็นปัญหาที่สะสมมาแต่เพิ่งจะปะทุในการแข่งขันครั้งนี้ “ฉันไม่เชื่อตัวเองมากเท่าที่ฉันเคยเชื่อ ฉันไม่รู้ว่ามันเป็นเพราะอายุหรือเปล่า ฉันรู้สึกประหม่ามากขึ้นเมื่อลงแข่งยิมนาสติก ฉันรู้สึกว่าฉันไม่สนุกกับมันอย่างที่ฉันเคยเป็น” ไบลส์กล่าว3/
สาหตุที่แท้จริงเกิดจากการผสมผสานระหว่างความบอบช้ำที่เกิดจากการล่วงละเมิดของเธอด้วยน้ำมือของแลร์รี นาสซาร์ (Larry Nassar) อดีตแพทย์ประจำทีมของสหรัฐฯ ความโดดเดี่ยวจากโควิด ความรู้สึกเหมือนแบกโลกทั้งใบไว้บนบ่า รวมทั้งการต้องรับมือกับโรคสมาธิสั้นตั้งแต่เด็ก
ไบลส์ให้สัมภาษณ์ในภายหลังว่า “การแข่งขันโอลิมปิกครั้งนั้นคือสิ่งที่ฉันหวังเอาไว้ว่าจะทำเพื่อตัวเอง แต่เมื่อมาถึงแล้วฉันกลับรู้สึกว่าฉันกำลังทำเพื่อคนอื่นอยู่ มันทำให้ฉันรู้สึกว่าสิ่งที่ฉันทำด้วยความรักถูกพรากออกไปเพื่อทำให้ทุกคนพอใจ”
นักกีฬาส่วนใหญ่ที่เจอสถานการณ์ข้างต้นคงถอดใจและเลิกเล่นไปแล้ว แต่สำหรับไบลส์ที่สามารถก้าวข้ามเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดในชีวิต พร้อมกลับมาเป็นหนึ่งในนักกีฬายิมนาสติกตัวแทนทีมชาติสหรัฐฯ พร้อมลงแข่งขันในโอลิมปิกเกมส์ กรุงปารีส 2024 ไบสส์ทำได้อย่างไร จะได้ขยายความใน Weekly Mail สัปดาห์หน้าครับ
รณดล นุ่มนนท์
23 กรกฎาคม 2567
แหล่งที่มา:
1/ กรณีศึกษา:"ซิโมน ไบล์ส" ภาวะทางจิตกับความกดดันของสังคมต่อนักกีฬา, Sanook.com, 7 สิงหาคม 2564 เวลา 15:15 น. https://www.sanook.com/sport/1294114/
2/ Scott Bregman, WHY SIMONE BILES' JOURNEY TO PARIS 2024 HAS BEEN TOUGHEST TASK YET, 19 July 2024
https://olympics.com/en/news/why-simone-biles-journey-to-paris-2024-has-been-toughest-task-yet
3/ เมธา พันธุ์วราทร, ซิโมน ไบลส์ ราชินียิมนาสติกผู้ขอปกป้องหัวใจตัวเองมากกว่าเหรียญโอลิมปิก,
The Standard, July 28, 2024 https://thestandard.co/olympic-tokyo-2020-simone-biles-gymnastics/
หมายเหตุ: ขอขอบคุณ น้องฉัตรลดา โชตนาการ ผู้ช่วยงานบริหาร ประจำผู้ว่าการ ที่แนะนำให้นำเรื่องนี้มาเขียนใน Weekly Mail