"...โดยสรุป ทั้งภาคการผลิตและภาคบริการของจีนจะถูกกระทบมากน้อยเพียงใด #ใครต้องทนเจ็บ #ใครจะได้ประโยชน์ ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะและโครงสร้างของแต่ละอุตสาหกรรม และความสามารถในการปรับตัวเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่..."
คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 20 ได้จัดการประชุมใหญ่ที่เรียกว่า 3rd plenum ซึ่งจัดขึ้นทุก 5 ปี เพื่อวางแผนกำหนดทิศทางจีน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ท่ามกลางบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่อึมครึมซึมเซาในประเทศจีน หลายคนอาจจะคาดหวังว่า การประชุมสำคัญในรอบนี้ จีนจะมีการออกมาตรการขนานใหญ่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง ถ้าเป็นเพียงแค่คาดหวังผลระยะสั้น อาจจะดูเหมือนไม่มีอะไรใหม่ที่เป็นข่าวดี เนื่องจากการประชุม 3rd plenum เน้นวางแผนระยะยาวเชิงยุทธศาสตร์ ไม่ใช่เพียงแค่การซื้อเวลาไปวันๆ ด้วยการทุ่มละเลงงบกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น
บทความนี้ วิเคราะห์ทิศทางจีนในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจีนขนานใหญ่ จากเอกสารสำคัญที่เรียกว่า 3rd Plenum Communique อีก 5 ปีจากนี้ #จีนจะไปทางไหน และจะมีผลกระทบอย่างไร ใครบ้างที่ต้องทนเจ็บในระยะสั้น ใครบ้างจะได้รับประโยชน์ในระยะยาว
ประเด็นแรก จีนจะไปทางไหน
เอกสาร Communique จากการประชุม 3rd plenum ครั้งนี้ เน้นการปฏิรูปเศรษฐกิจจีนอย่างครอบคลุมและสร้างความทันสมัยแบบจีน โดยใช้คำว่า Comprehensive Reform และ Chinese Modernization และมีแผนการใหญ่เพื่อปรับโครงสร้างเชิงระบบ ตั้งเป้าหมายให้สำเร็จภายใน 5 ปี สะท้อนทิศทางจีนและเป้าหมายสำคัญ 6 ด้าน ดังนี้
(1) มุ่งเน้น"พลังการผลิตที่มีคุณภาพใหม่" (New Quality Productive Forces) สร้างภาคการผลิตที่มี“สามสูง” คือ มีคุณภาพสูง มีเทคโนโลยีระดับสูง และมีประสิทธิภาพในระดับสูง (High Quality, High Technology, High Efficiency) ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม ไม่ใช่เพียงแค่การผลิตสินค้าเชิงปริมาณที่ไร้คุณภาพเหมือนในอดีต สร้างความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และอัพเกรดอุตสาหกรรมดั้งเดิมให้มีความทันสมัย โดยมีอุตสาหกรรม “สามใหม่” (New Three industries) เป็นเป้าหมายหลัก ได้แก่ (1) รถยนต์ไฟฟ้า EV (2) แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน และ (3) เซลล์แสงอาทิตย์ (solar photovoltaic)
(2) เพิ่มการบริโภคภายในประเทศ ปรับโมเดลใหม่ใช้พลังการบริโภคขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน (consumption-driven economy) อย่างจริงจัง ส่งเสริมให้ชาวจีนใช้จ่ายมากขึ้น และช่วยสร้างงานใหม่ เพื่อให้ชาวจีนมีรายได้มากขึ้น รวมทั้งภาครัฐจะปฏิรูประบบประกันสังคม ปรับโครงสร้างภาษี และผ่อนคลายด้านสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของครัวเรือน เป็นต้น
(3) เน้นการพึ่งพาตนเอง (Self-Reliance) ลดการพึ่งพาต่างประเทศ จากการกีดกันจีนในรูปแบบต่างๆ ของประเทศตะวันตก โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี ทำให้จำเป็นต้องพัฒนาเทคโนโลยีของจีนเอง เน้นเทคโนโลยีแห่งอนาคต และเทคโนโลยีพลังงานสะอาด
(4) ปรับสมดุลการลงทุนภาครัฐ ลดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่มากเกินไป เพื่อปรับไปลงทุนด้านสังคมให้มากขึ้น เช่น ด้านสวัสดิการสังคม การศึกษา การวิจัยและพัฒนา และสร้างแรงงานทักษะสูง เพื่อรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เป็นต้น
(5) ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจจีน (SOE) ปรับโครงสร้างรัฐวิสาหกิจขนานใหญ่ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่เป็นซอมบี้ หรือมีการผลิตแบบดั้งเดิม จะถูกกดดันให้ต้องปรับตัว เพื่อให้สามารถแข่งขันได้มากขึ้น จำเป็นต้องมีการแปรรูป นำกลไกตลาดมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจจีนที่ล้าหลังเหล่านั้น
(6) ปฏิรูประบบสวัสดิการด้านต่างๆ (Social Safety Net) เช่น เงินบำนาญและการดูแลสุขภาพ เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ขึ้นของชาวจีน และสร้างความมั่นใจให้ชาวจีนมากขึ้น ภาครัฐจะช่วยดูแลด้านสวัสดิการให้เต็มที่ คนจีนจะได้เก็บออมน้อยลงและกล้าใช้จ่ายมากขึ้น กล้าใช้เงินเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งจะสอดคล้องกับโมเดลใหม่ที่ใช้พลังการบริโภคเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน
โดยสรุป ทิศทางจีนในยุคสีจิ้นผิง อีก 5 ปีจากนี้ ยังคงยืนหยัดตามแนวทาง”โมเดลเศรษฐกิจสีจิ้นผิง” #Xinomics ที่มุ่งปรับโครงสร้างเชิงระบบ ขจัดจุดอ่อนของโมเดลจีนแบบเดิม เพื่อพลิกโฉมเศรษฐกิจจีนให้แข็งแกร่งและยั่งยืน ลดการพึ่งพาภาคต่างประเทศ และเติบโตในเชิงคุณภาพ ไม่ใช่เชิงปริมาณเหมือนที่ผ่านมา แต่แน่นอนว่า ในช่วงเปลี่ยนผ่าน หลายภาคส่วนในจีนจะต้องยอมทนเจ็บในระยะสั้น เพื่อสร้างความแข็งแกร่ง และเพื่อสิ่งที่ดีกว่าในระยะยาว
ประเด็นที่สอง กลุ่มไหนต้องทนเจ็บในระยะสั้น? กลุ่มไหนจะได้รับประโยชน์ในระยะยาว?
(1) อุตสาหกรรมใดที่จะได้ผลกระทบเชิงลบ และต้องปรับตัวขนานใหญ่ จากการปรับโครงสร้างเพื่อพลิกโฉมเศรษฐกิจจีน ตามเป้าหมายของผลการประชุม 3rd Plenum ของจีนในครั้งนี้
ทิศทางจีนมุ่งสร้างพลังการผลิตแบบใหม่ "New Quality Productive Forces" เน้นการผลิตที่มีคุณภาพสูง ย่อมจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะการผลิตระดับล่างที่ใช้แรงงานแบบเข้มข้น เช่น โรงงานเสื้อผ้า ของเล่น และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์พื้นฐานราคาถูก เป็นต้น รวมทั้งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตที่สร้างมลพิษสูง ทิศทางจีนมุ่งเพื่อ Green Transition เน้นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีกฎระเบียบในด้านนี้ที่เข้มงวดขึ้น ดังนั้น อุตสาหกรรมที่สร้างมลพิษ เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน จะมีค่าใช้จ่ายในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่สูงขึ้นจากการที่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้น
ในแง่ผลกระทบต่อรัฐวิสาหกิจจีน ถ้าหากเป็นรัฐวิสาหกิจซอมบี้ รัฐวิสาหกิจในอุตสาหกรรมแบบเก่าที่ไม่ยั่งยืน มีประสิทธิภาพต่ำ หรือมีกำลังการผลิตล้นเกิน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหนักบางประเภท เช่น เหมืองถ่านหิน เหล็ก ก็ต้องเผชิญกับแรงกดดันให้ปรับโครงสร้างใหม่ เพื่อความอยู่รอด หรืออาจจะถูกยุบรวม ปรับโครงสร้างขนานใหญ่
นอกจากนี้ หลายอุตสาหกรรมของจีนต้องเผชิญกับการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น เช่น กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่อาจจะต้องแข่งขันกับสินค้านำเข้ามากขึ้น ผลจากการที่รัฐบาลปรับมาเน้นภาคการบริโภคมากขึ้น เป็นปัจจัยเอื้อให้มีสินค้านำเข้ามีโอกาสเข้ามาแข่งกับกับสินค้าของบริษัทจีนมากขึ้นเช่นกัน
สำหรับผลกระทบต่อภาคบริการในจีน เช่น ธุรกิจผู้ให้บริการต้นทุนต่ำ (low-cost service providers) จะถูกกดดันให้อัพเกรดปรับคุณภาพให้สูงขึ้น เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ เช่น ธุรกิจด้านการท่องเที่ยว การศึกษา และการดูแลสุขภาพ
โดยสรุป ธุรกิจในหลายภาคส่วนของจีนจะต้องทนเจ็บ ต้องเผชิญกับความท้าทายในช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยเฉพาะผู้ผลิตที่มีต้นทุนต่ำแบบดั้งเดิม จำเป็นต้องปรับตัวและวางตำแหน่งสินค้าของตัวเองใหม่ เน้นสินค้าคุณภาพระดับสูงไม่ใช่เน้นเชิงปริมาณแบบเดิม เพื่อใช้ประโยชน์จากโอกาสที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงโมเดลเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของจีน
(2) อุตสาหกรรมใดที่จะได้รับผลกระทบเชิงบวก จากการปรับโครงสร้างเพื่อพลิกโฉมเศรษฐกิจจีน ตามเป้าหมายใหญ่ในรอบ 5 ปีครั้งนี้
ทิศทางจีนเน้นอุตสาหกรรมการผลิตที่มีคุณภาพสูง จะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทที่สามารถสร้างสรรค์และผลิตสินค้าระดับไฮเอนด์ เช่น การผลิตเครื่องจักรอัจฉริยะ การผลิตที่มีความแม่นยำ การผลิตวัสดุขั้นสูง รวมทั้งด้านวิศวกรรมการบินและอวกาศ เป็นต้น รวมทั้งในแง่ของเทคโนโลยีและนวัตกรรม ภาครัฐและเอกชนจีนจะทุ่มลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา (R&D) ในสาขาต่างๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และพลังงานสะอาด ดังนั้น บริษัทและสถาบันวิจัยที่เกี่ยวข้องในส่วนนี้ จะมีโอกาสได้รับเงินทุนและโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น
นอกจากนี้ ทิศทางจีนที่เน้นสร้างพลังการบริโภคภายในประเทศ จะสร้างโอกาสให้กับกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่ตอบสนองความต้องการของชาวจีนยุคใหม่ที่มีรายได้มากขึ้น เช่น สินค้าประเภทอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องแต่งกาย เครื่องใช้ในบ้าน และผลิตภัณฑ์เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น สะดวกสบายขึ้น เป็นต้น
สำหรับภาคบริการ หากจีนสามารถปรับโมเดลมาเน้นสร้างพลังการบริโภคได้สำเร็จ เศรษฐกิจจีนกลับมาคึกคักอีกครั้ง ผู้คนจะกล้าใช้จ่ายในภาคบริการมากขึ้นตามไปด้วย เช่น ด้านการท่องเที่ยวและความบันเทิงจะมีโอกาสได้รับประโยชน์ตามไปด้วย ทั้งธุรกิจโรงแรม บริษัทตัวแทนท่องเที่ยว สวนสนุก และแพลตฟอร์มความบันเทิงออนไลน์
รวมทั้งธุรกิจด้านสุขภาพและการศึกษา และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการสังคม ภาครัฐและเอกชนจีนมีแนวโน้มเพิ่มการลงทุน เพื่อดูแลสุขภาพและการศึกษามากขึ้น เป็นโอกาสของบริษัทที่จัดหาอุปกรณ์ดูแลสุขภาพ เภสัชภัณฑ์ และสินค้าทางการศึกษา เป็นต้น
สำหรับภาคส่วนอื่นๆ ที่มีโอกาสจะได้รับผลประโยชน์ เช่น ด้านการเกษตรทันสมัย ชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น จะมีความต้องการอาหารที่คุณภาพสูงมากขึ้น เช่น สินค้าออร์แกนิก และสินค้าเกษตรที่ยั่งยืน
รวมทั้งด้านเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม การผลักดันเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของจีนจะสร้างโอกาสให้กับบริษัทต่างๆ ที่นำเสนอโซลูชั่นพลังงานสะอาด เทคโนโลยีการควบคุมมลพิษ ตลอดจนบริการด้านการจัดการของเหลือทิ้ง (waste management) เป็นต้น
โดยสรุป ทั้งภาคการผลิตและภาคบริการของจีนจะถูกกระทบมากน้อยเพียงใด #ใครต้องทนเจ็บ #ใครจะได้ประโยชน์ ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะและโครงสร้างของแต่ละอุตสาหกรรม และความสามารถในการปรับตัวเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่
แน่นอนว่า ภาคการผลิตดั้งเดิมต้องเจ็บตัวในระยะสั้น โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจจีนที่เป็นซอมบี้ต้องปรับโครงสร้างใหม่ให้มีประสิทธิภาพ และแข่งขันได้มากขึ้น รวมทั้งผู้ผลิตระดับล่างต้องถูกกดดันให้เปลี่ยนไปผลิตสินค้าคุณภาพและสินค้าที่มีนวัตกรรม เพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ๆ และช่องทางใหม่ๆ สำหรับการเติบโต จากการพลิกโฉมเศรษฐกิจจีนตามเป้าหมายของการประชุม 3rd Plenum ในครั้งนี้
จากที่กล่าวมา สะท้อนกรอบทิศทางการเปลี่ยนแปลงของจีนที่เป็นผลจากการประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในครั้งนี้ แต่จะสำเร็จได้จริงตามเป้าหมายภายใน 5 ปีที่วางไว้หรือไม่ จำเป็นต้องติดตามรายละเอียดของมาตรการที่จะนำมาใช้และลำดับเวลาในการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมของรัฐบาลจีนต่อไป
อ่านบทความเต็มได้จาก The Standard โดยดร.อักษรศรี พานิชสาส์น https://thestandard.co/author/aksornsri/
โดย ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น