"...ขอเรียกร้องให้รัฐบาลถอนร่างงบประมาณรายจ่ายดังกล่าว ออกไปก่อน และขอเสนอ 3 ทางออก เพื่อผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเลต ให้สามารถดำเนินการ แจกเงินให้ถึงมือพี่น้องประชาชนได้โดยไม่ต้อง แบกรับภาระความเสี่ยง..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เมื่อวันที่ 17 ก.ค.2567 นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย อภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2567 เพื่อขออนุมัติงบประมาณวงเงิน 1.22 แสนล้านบาท เพื่อนำไปทำโครงการดิจิทัลวอลเลต แจก 10,000 บาท โดยเสนอ 3 ทางออก บริหารงบปี 2567 ปรับงบ 2568 ดึงรายได้แผ่นดิน เดินหน้าโครงการโดยไม่ต้องสุ่มเสี่ยงขัดกฎหมาย
***********
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวสุ่มเสี่ยงที่จะขัดต่อกฎหมาย พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ ปี 2561 ในมาตรา 21 ระบุชัดว่าการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ให้กระทำได้เมื่อมีเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องใช้เงินระหว่างปีงบประมาณ "โดยไม่สามารถรองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไปได้" รวมถึงอาจขาดต่อพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณปี 2561 มาตราที่ 10 ที่ระบุว่างบประมาณประจำปีที่เสนอต่อรัฐสภาอย่างน้อยต้องมีเอกสารประกอบซึ่ง (8) ระบุถึงผลการดำเนินงานและการใช้จ่ายงบประมาณของปีงบประมาณที่ล่วงมาแล้ว
ขอเรียกร้องให้รัฐบาลถอนร่างงบประมาณรายจ่ายดังกล่าว ออกไปก่อน และขอเสนอ 3 ทางออก เพื่อผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเลต ให้สามารถดำเนินการ แจกเงินให้ถึงมือพี่น้องประชาชนได้โดยไม่ต้อง แบกรับภาระความเสี่ยง ทั้งในแง่ของกฎหมายและงบประมาณ ด้วย 3 ทางออก ดังต่อไปนี้
1) บริหารจัดการงบประมาณปี 2567 โดยใช้งบกลางที่รัฐบาลกันไว้ 4.3 หมื่นล้านบาทสำหรับดิจิทัลวอลเลต รวมกับบริหารงบที่ก่อหนี้ผูกพันไม่ทันจากกระทรวงต่าง ๆ อีก 5.7 หมื่นล้าน รวมเป็น 100,000 ล้านบาท
2) ปรับงบประมาณปี 2568 โดยใช้งบกลาง เพื่อทำ ดิจิทัลวอลเลต 1.527แสนล้านบาท รวมกับ งบในส่วนที่กรรมาธิการวิสามัญปรับลดอีกประมาณ 70,000 ล้านบาท รวมเป็น 2.2 แสนล้านบาท
3) ดึงเงินรายได้แผ่นดินที่รอนำส่งคลังจาก กสทช.1.32 แสนล้านบาท มาใช้ซึ่งงบจากทั้ง 3 ส่วนจะรวมเป็น 4.5 แสนล้านบาท
นายฐากร ยังกล่าวถึงการตั้ง 7 คำถาม ซึ่งเป็นเสียงสะท้อนจากประชาชน ไปถึงโครงการดิจิทัลวอลเลตด้วย เช่น จะมาตรการในการป้องกันการทุจริตหรือไม่ และได้มีแผนหรือเตรียมการรับมืออย่างไรบ้าง และโครงการนี้จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจของประชาชนได้มากน้อยเพียงใด จะเป็นพายุหมุนได้หรือไม่ ควรมีรายงานศึกษาผลกระทบในภาพรวมของเศรษฐกิจออกมาเผยแพร่ เป็นต้น