"...ทั้งการตัดสินของศาลที่ให้ความรับรองคุ้มกันต่อทรัมป์ก็ดีและการให้เอกสิทธิ์ต่อบุคคลวีไอพีบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียด้วยมาตรการปกป้องคุ้มกันก็ดี ย่อมแสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าจะอยู่ในโลกแห่งความจริงหรือโลกเสมือนและไม่ว่าจะอยู่ในประเทศเผด็จการเต็มรูปแบบหรือประเทศที่ยึดถือความเป็นประชาธิปไตยเข้มข้นอย่างสหรัฐอเมริกาก็ตาม การกระทำใดๆของผู้กุมอำนาจทางการเมืองย่อมมีข้อยกเว้นและได้เปรียบคนอื่นๆเสมอเพราะพวกเขามักได้รับการคุ้มครองและมีเอกสิทธิ์ผ่านช่องทางต่างๆที่เหนือกว่าคนธรรมดา..."
วันที่ 6 มกราคม 2564 เมื่อเกือบสี่ปีที่ผ่านมาเป็นวันที่เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้คนอเมริกันทั้งประเทศต้องตกตะลึงและเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ช็อคโลก เมื่อกลุ่มผู้ประท้วงหัวรุนแรงที่สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นับร้อยคนได้บุกเข้าไปในอาคารรัฐสภาของสหรัฐ ด้วยความพยายามที่ต้องการพลิกผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2563 โดยบุกเข้าไปในรัฐสภาอเมริกันและขัดขวางการนับคะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งระหว่างการประชุมร่วมของรัฐสภาและเพื่อขัดขวางกระบวนการรับรองชัยชนะของว่าที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน อย่างเป็นทางการ
เหตุการณ์ความวุ่นวายในครั้งนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตไปถึง 9 คนและบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินมูลค่าราวสอง ล้าน เจ็ดแสนเหรียญดอลลาร์อเมริกัน แต่ที่สำคัญคือเป็นเหตุการณ์ที่ท้าทายความเป็นประชาธิปไตยของคนอเมริกันอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในฐานะหนึ่งในประเทศที่ถือว่ามีประชาธิปไตยที่งดงามของโลก
การบุกเข้าอาคารรัฐสภาสหรัฐอเมริกาได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เป็นต้นว่า เป็น การกบฏ การก่อการกำเริบ การปลุกปั่นให้ขัดขืนอำนาจปกครอง การก่อการร้ายในประเทศ และความพยายามของทรัมป์ที่จะก่อรัฐประหารตัวเองหรือก่อรัฐประหาร เพื่อต่อต้านฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งมีอำนาจเท่าเทียมกันและรองหัวหน้าฝ่ายบริหารของเขาเอง ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงทั้งสิ้น
นอกจากนี้ผลการหยั่งความคิดเห็นในภายหลังแสดงให้เห็นว่าชาวอเมริกันส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการบุกเข้าอาคารรัฐสภาและไม่เห็นด้วยกับการกระทำของทรัมป์ที่นำไปสู่เหตุการณ์ดังกล่าว ในขณะที่ผู้สนับสนุนพรรคริพับลิกันบางคนสนับสนุนการโจมตีหรือไม่เห็นว่าทรัมป์เป็นต้นเหตุและหนึ่งสัปดาห์หลังจากเหตุจลาจล สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐลงมติฟ้องให้ขับทรัมป์ออกจากตำแหน่งในข้อหา "ยุยงให้ก่อการกำเริบ" ทำให้เขากลายเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนแรกที่ถูกฟ้องร้องถึงสองครั้ง(อ้างอิง 1)
เอกสิทธิ์ใน “โลกแห่งความจริง”
ก่อนการเลือกตั้งที่จะมาถึงในเดือนพฤศจิกายนปีนี้และการดีเบตระหว่างประธานาธิบดี โจ ไบเดน กับอดีตประธานาธิบดี ทรัมป์ เพื่อการเลือกตั้งครั้งหน้าผ่านไปเพียงไม่กี่วัน ศาลสูงของสหรัฐอเมริกาได้ตัดสินรับรองคุ้มกันอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ โดยอาจส่งผลให้ไม่ถูกดำเนินคดีอาญา นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่การก่อตั้งประเทศของสหรัฐอเมริกาที่ศาลสูงรับรองความคุ้มกันดังกล่าว โดยผู้พิพากษามีมติ 6 ต่อ 3 เสียง รับรองความคุ้มกันต่อผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา มีผลให้การกระทำของ โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ที่อยู่ภายใต้ขอบเขตของรัฐธรรมนูญ จะไม่สามารถถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้ (อ้างอิง2)
แม้ว่าคำตัดสินของศาลสูงไม่ได้ยุติการดำเนินคดีต่อทรัมป์และถึงแม้ทรัมป์จะไม่ได้รับการคุ้มครองครอบคลุมตามที่เขาและทนายความของเขาต้องการ แต่คำตัดสินนี้ก็มากพอที่จะช่วยบรรลุเป้าหมายของทรัมป์ในการเลื่อนการพิจารณาคดีต่างๆ ที่เขากำลังเผชิญอยู่ ไปจนถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึง (อ้างอิง 3)
คำตัดสินของศาลดังกล่าวสร้างความสั่นสะเทือนต่อสังคมอเมริกันและสร้างความแปลกใจต่อโลกอยู่ไม่น้อย ผู้พิพากษาเสียงส่วนน้อยบางคนถึงกับตำหนิผลของคำตัดสินอย่างรุนแรงว่า “ประธานาธิบดีอเมริกันกลายเป็นกษัตริย์ ผู้อยู่เหนือกฎหมาย” และหวั่นเกรงถึงการล่มสลายของความเป็นประชาธิปไตยของคนอเมริกัน ในขณะที่ฝ่ายตรงข้ามทรัมป์บางคนกล่าวว่า การตัดสินในครั้งนี้ไม่ต่างจากการ ”มอบกุญแจเผด็จการให้กับทรัมป์” นั่นเอง
ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้กล่าวถึงคำตัดสินของศาลสูงสหรัฐที่ให้สิทธิ์คุ้มครองทรัมป์จากการดำเนินคดีอาญาว่าเป็นบรรทัดฐานที่อันตรายและยังบ่อนทำลายหลักนิติธรรมของสหรัฐ ประเทศนี้ก่อตั้งขึ้นบนหลักการที่ว่า ไม่มีกษัตริย์ในอเมริกา เราแต่ละคนเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย แม้แต่ประธานาธิบดีสหรัฐ(อ้างอิง3)
แต่ความรู้สึกของ ทรัมป์ กลับตรงกันข้ามกับความเห็นทั้งปวงที่วิพากษ์วิจารณ์ต่อคำตัดสิน ทันทีที่ทรัมป์รับรู้ถึงผลการตัดสินของศาลสูง เขาได้โพสต์ข้อความลงบน Truth social ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของเขาเองในทันทีว่า นี่คือ “ชัยชนะของรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยของเรา”(อ้างอิง4)
การตัดสินที่เป็นคุณต่ออดีตประธานาธิบดีทรัมป์ที่ถูกสังคมอเมริกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากฝ่ายตรงข้ามของเขา รวมทั้งผู้คนทั่วโลกที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางนั้น แสดงให้เห็นว่าความมีอำนาจทางการเมืองและการมีตำแหน่งในสังคมอเมริกันมีความได้เปรียบกว่าคนทั่วไปไม่ต่างจากสังคมของประเทศอื่นในโลกและกลายเป็น ปรากฏการณ์การปกป้องคุ้มกัน(Shielding effect) ที่ยกเว้นให้เฉพาะตัวบุคคลและไม่อาจนำมาใช้กับคนทั่วไปได้ คำตัดสินดังกล่าวจึงสร้างความสั่นคลอนต่อสังคมอเมริกันที่เชิดชูความเท่าเทียมอย่างออกนอกหน้าอย่างรุนแรง
เอกสิทธิ์ใน “โลกเสมือน”
การได้รับการปกป้องคุ้มกันเป็นกรณีเฉพาะ มิได้ถูกใช้เฉพาะโลกแห่งความจริงเท่านั้น แต่เอกสิทธิ์นี้ยังคืบคลานเข้าไปในโลกเสมือนผ่านโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่างๆด้วยเช่นกัน เพราะไม่ว่าจะเกลียดจะโกรธหรือยืนอยู่ตรงข้ามกันในทางการเมืองมากเพียงใดก็ตามแต่เพื่อความราบรื่นของการทำธุรกิจ บรรดาเจ้าของแพลตฟอร์มต่างๆรู้ตัวดีว่าการสร้างปัญหากับผู้กุมอำนาจในรัฐบาลเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำเพราะเมื่อใดก็ตามที่เกิดความขัดแย้งกับผู้กุมอำนาจปัญหาก็จะเกิดกับแพลตฟอร์มของพวกเขาไม่มากก็น้อย
การเอาใจผู้มีอำนาจในรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลของสหรัฐอเมริกาหรือรัฐบาลประเทศอื่นๆแม้แต่ประเทศที่พวกเข่าเรียกกันว่าประเทศเผด็จการก็ตามผู้บริหารแพลตฟอร์มมักจะยอมศิโรราบหรือหลีกเลี่ยงที่จะไม่สร้างความขัดแย้งระหว่างพวกเขาเองกับผู้มีอำนาจของประเทศนั้นๆเสมอ
แต่บางกรณีบรรดาแพลตฟอร์มไม่มีทางเลือกและภูมิคุ้มกันของแพลตฟอร์มไม่อาจคุ้มกันบรรดาวีไอพีเหล่านี้ได้ จากความรุนแรงที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตและทรัพย์สินที่เกินกว่าจะควบคุมได้ เพราะหลังจากวันจลาจลของผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์บุกรัฐสภา ผ่านไปสองวัน บัญชีโซเชียลมีเดียของทรัมป์บนแพลตฟอร์ม ทวีตเตอร์(X) เฟซบุ๊ก และยูทูป ของทรัมป์ ต้องถูกระงับการใช้งาน จากมาตรการฉุกเฉิน(Breaking the glass)ของบรรดาแพลตฟอร์มต่างๆ แต่กว่าจะถึงจุดนี้ได้ต้องผ่านการพิจารณาจากเจ้าหน้าที่ลำดับต่างๆอย่างเข้มข้นจนเข้าไปสู่ขั้นตอนการตัดสินใจของผู้บริหารสูงสุดซึ่งได้แก่ซีอีโอของแพลตฟอร์มทุกแพลตฟอร์มและใช้เวลาถึงสองวันจึงทำให้มาตรการฉุกเฉินเพื่อหยุดข้อความที่ยั่วยุและกระตุ้นความรุนแรงสัมฤทธิ์ผล ซึ่งหมายความว่า แม้ว่าจะมีความเกรงใจต่อผู้มีอำนาจมากเพียงใดก็ตามแต่แรงกดดันทางสังคมและความรุนแรงที่เกิดขึ้นทำให้บรรดาแพลตฟอร์มไม่มีทางเลือกจนต้องระงับการใช้บัญชีของทรัมป์และพลพรรคที่สนับสนุนเขา แต่พวกเขาก็ไม่ละความพยายามและหันไปใช้แพลตฟอร์มอื่นที่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้ส่งเสียงและแสดงออกในทางการเมืองต่อไป เช่น Parler Telegram Signal และ WhatsApp เป็นต้น รวมทั้งยังมีการสร้างแพลตฟอร์ม Truth Social ขึ้นมาเองเพื่อเป็นกระบอกเสียงของทรัมป์และแนวร่วมทางการเมืองของเขา
แม้ว่าฝ่ายสนับสนุนทรัมป์และพรรครีพับริกันมักอ้างอยู่บ่อยๆว่า แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียปฏิบัติต่อพวกเขาด้วยความไม่เป็นธรรมเมื่อเทียบกับฝ่ายตรงข้าม แต่สำหรับบุคคล วีไอพี ที่มีอำนาจทางการเมืองและเป็นผู้กุมนโยบายของประเทศ รวมทั้งผู้มีชื่อเสียงจะได้รับเอกสิทธิ์และข้อยกเว้นต่างๆจากแพลตฟอร์มอยู่เสมอไม่ว่าผู้มีอำนาจนั้นจะอยู่ฝ่ายการเมืองใดก็ตามและทรัมป์เองก็อยู่ในข่ายบุคคลพิเศษนั้นด้วยเช่นกัน เพราะแพลตฟอร์มแต่ละแพลตฟอร์มจะมีทีมงานดูแลบุคคลเหล่านี้เป็นพิเศษและคนกลุ่มนี้จะมีเอกสิทธิ์ที่แพลตฟอร์มมอบให้เหนือกว่าบัญชีของคนทั่วๆไป
อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ถือว่าเป็นนักการเมืองที่มีสีสันและเป็นบุคคลวีไอพี ระดับโลกที่ความเคลื่อนไหวของเขาต้องตกเป็นข่าวและถูกจับตามองอยู่เสมอ เขาใช้บัญชีโซเชียลมีเดียหลากหลายในการสื่อความทางการเมือง ดังนั้นบัญชีของเขาบนแพลตฟอร์มทุกแพลตฟอร์มจึงได้รับการปกป้องดูแลเป็นพิเศษ การจะปฏิบัติการใดๆต่อบัญชีของเขาจึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะบัญชีของทรัมป์มีเกราะกำบังหลายชั้นจากกลไกและการตัดสินใจของผู้บริหารในแต่ละระดับของแพลตฟอร์มตามโครงสร้างของแต่ละบริษัท ภายใต้ “แนวคิดการปกป้องคุ้มกัน” (Concept of shielding) หรือที่เรียกกันว่า X Check(ครอส เช็ค) ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าทุกแพลตฟอร์มจะต้องใช้กลไกของ X Check กับบุคคล วีไอพี ทุกคน และเมื่อใดที่เกิดปัญหากับบัญชีบุคคลวีไอพีจะต้องมีการยกประเด็นปัญหาเหล่านี้ส่งผ่านขึ้นไปพิจารณาตามลำดับชั้น
ในกรณีที่ต้องใช้มาตรการฉุกเฉิน เช่น กรณีการก่อจลาจลบุกรัฐสภาอเมริกันจากฝ่ายสนับสนุนทรัมป์ ท่ามกลางการปลุกระดมอย่างดุเดือดบนโซเชียลมีเดียซึ่งการตัดสินใจระงับหรือไม่ระงับบัญชีโซเชียลมีเดียของทรัมป์ในวันนั้นค่อนข้างซับซ้อนเพราะต้องส่งเรื่องผ่านไปถึงมือของ มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก (ผู้บริหารสูงสุดของ เฟซบุ๊ก) หรือ แจ็ค ดอร์ซี (ผู้บริหารสูงสุดของทวิตเตอร์ในขณะนั้น) รวมทั้งผู้บริหารแพลตฟอร์มอื่นๆเพื่อให้ตัดสินใจขั้นสุดท้าย ดังนั้นการปิดปากผู้มีอำนาจทางการเมืองบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียจึงเป็นความอ่อนไหวและท้าทายต่ออุดมการณ์ของแพลตฟอร์มเองและความเป็นประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกาอยู่ไม่น้อยและเชื่อว่าไม่มีแพลตฟอร์มใดอยากปิดปากบุคคลวีไอพี เว้นแต่ว่าพวกเขาไม่มีทางเลือกอื่นจริงๆ
ทั้งการตัดสินของศาลที่ให้ความรับรองคุ้มกันต่อทรัมป์ก็ดีและการให้เอกสิทธิ์ต่อบุคคลวีไอพีบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียด้วยมาตรการปกป้องคุ้มกันก็ดี ย่อมแสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าจะอยู่ในโลกแห่งความจริงหรือโลกเสมือนและไม่ว่าจะอยู่ในประเทศเผด็จการเต็มรูปแบบหรือประเทศที่ยึดถือความเป็นประชาธิปไตยเข้มข้นอย่างสหรัฐอเมริกาก็ตาม การกระทำใดๆของผู้กุมอำนาจทางการเมืองย่อมมีข้อยกเว้นและได้เปรียบคนอื่นๆเสมอเพราะพวกเขามักได้รับการคุ้มครองและมีเอกสิทธิ์ผ่านช่องทางต่างๆที่เหนือกว่าคนธรรมดา
โดย พันธ์ศักดิ์ อาภาขจร
อ้างอิง :
1. การบุกเข้าอาคารรัฐสภาสหรัฐ พ.ศ. 2564 : วิกิพีเดีย
2. https://www.thaipbs.or.th/news/content/341590
3. https://www.matichon.co.th/foreign/news_4658765
4. https://www.bbc.com/news/articles/czrrv8yg3nvo
5. Broken Code โดย Jeff Horwitz
ภาพประกอบ :
https://aldailynews.com/trump-wins-south-carolina-but-haley-vows-to-continue/