ที่ผ่านมาอาจารย์อุดม รัฐอมฤต เขาก็เคยถามผมว่าระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญกับที่ ป.ป.ช.อยู่ที่ไหนดี ผมก็บอกว่าคุณก็รู้ว่าอยู่ที่ ป.ป.ช.คุณทำงานหนักแน่ ไม่รู้ว่าผมพูดถูกพูดผิด เพราะอยู่ศาลรัฐธรรมนูญ ท่านก็งานหนัก ต้องทำหน้าที่เกี่ยวกับคดียุบพรรคต่างๆ แต่ผมคิดว่าที่ศาลรัฐธรรมนูญก็ยังน่าไปทำมากกว่าที่ ป.ป.ช.
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org): เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 สํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดประชุมโครงการเสวนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับ การสรรหาและคุณสมบัติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ณ ห้องประชุมแมกโนเลีย 2-3 ชั้น 4 โรงแรม ทีเค. พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้แทนขององค์กรอิสระ หน่วยงานใน กระบวนการยุติธรรม หน่วยงานของรัฐ นักวิชาการและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับประเด็น (1) การกําหนดคุณสมบัติ ของผู้เข้ารับการสรรหาให้ดํารงตําแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. (2) การกําหนดองค์ประกอบและคุณสมบัติของ คณะกรรมการสรรหา (3) การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหา เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาเสนอร่าง กฎหมายหรือแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญต่อไป ซึ่งการจัดเสวนาฯ ในครั้งนี้ยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ยุทธศาสตร์ที่ 6 ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 4.6 : ภาครัฐมี ความโปร่งใส ปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบทุกภาคส่วนร่วมต่อต้านการทุจริต
การเสวนาดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมประกอบด้วย นายกล้านรงค์ จันทิก ประธานคณะกรรมาธิการ กิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ (วุฒิสภา), นายสมคิด เลิศไพฑูรย์อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2550, รองศาสตราจารย์ ดร. มานิตย์ จุมปา รองศาสตราจารย์ประจําคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย และนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล
นายกล้านรงค์กล่าวตอนหนึ่งว่า การที่รัฐธรรมนุญปี 2560 ระบุรายละเอียดผู้สมัครเข้าเป็นกรรมการ ป.ป.ช.จะต้องดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้า หรืออธิบดีไม่น้อยกว่า 5 ปี ตรงนี้นั้นทำให้เกิดปัญหา จริงๆส่วนตัวความเห็นก็คือว่าการกำหนดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ในเรื่องการสรรหา ป.ป.ช.นั้นเหมาะสมแล้ว โดย โดยเฉพาะในด้านการเอาผิดกับนักการเมือง
แต่ปัญหาก็คือแม้ว่าอธิบดีที่มีประสบการณ์ 5 ปีจะมีไม่น้อย และสามารถสมัครเป็นกรรมการองค์กรอิสระได้ แต่ส่วนใหญ่คนเหล่านี้ก็ไม่ค่อยอยากมาด้วยสองเหตุผล คือ 1.ค่าตอบแทนที่ค่อนข้างน้อย และ 2.ความรับผิดชอบในหน้าที่การงาน อีกทั้งที่จะมาเป็นองค์กรอิสระจะถูกตรวจสอบ บางทีก็ถูกร้องเรียนในเรื่องที่เกิดขึ้นในปี 2520 กว่าๆ ดังนั้นส่่วนตัวคิดว่าถ้าตัดเรื่องคุณสมบัติว่าต้องเป็นอธิบดี 5 ปีออกไป แล้วให้คุณสมบัติในการสมัครเป็นกรรมการ ป.ป.ช.เหมือนกับในรัฐธรรมนูญปี 2540 ตรงนี้ก็น่าจะเหมาะสม
ด้านนายสมคิดกล่าวว่า ป.ป.ช.ถูกตั้งตั้งแต่ปี 2540 เรื่องปัญหาของคุณสมบัติของ ป.ป.ช. ตอนนี้ในกฎหมายของ ป.ป.ช. ไปกำหนดว่าต้องจบในกฎหมายด้านไหนมา อาทิจบบัญชี เศรษฐศาสตร์ แต่อย่างไรก็ตามเขาอาจจะจบจริง แต่ก็ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการปราบปรามการทุจริต
คุณสมบัติเฉพาะของ ป.ป.ช.นั้น มีการกำหนดเอาไว้ในกฎหมายมาตรา 232 ระบุถึงกลุ่มที่ 1 ว่าต้องเป็นผู้พิพากษาระดับอัยการ ระดับอธิบดีดำรงตำแหน่ง 5 ปี ต้องบอกว่ากลุ่มนี้แม้จะดูเหมือนไม่มีปัญหา แต่จริงๆก็มี เพราะ ป.ป.ช.กำหนดคุณสมบัติของคณะกรรมการเอาไว้ว่าต้องมีอายุไม่เกิน 70 ปี แต่ประเด็นคือทุกวันนี้ผู้พิพากษาก็สามารถเป็นได้จนถึงอายุ 70 ปีเช่นกัน แล้วสามารถทำหน้าที่ได้โดยไม่ถูกฟ้อง ได้รับความปลอดภัยในเรื่องต่างๆ ดังนั้นพอเราไปกำหนดลักษณะกรรมการ ป.ป.ช.อายุไม่เกิน 70 ปี ตรงนี้ก็ไม่มีใครอยากมา และถ้าเทียบกับศาลรัฐธรรมนูญ ตอนนี้ก็มีการขยายช่วงอายุตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไปที่ 75 ปีแล้ว เพราะเขารู้ว่าถ้าไม่เอา 75 ปี ก็ไม่มีใครจากศาลมาเลย
อีกทั้งเราไม่มีข้อมูลว่าตั้งแต่ปี 2561 ถึงปัจจุบันเราไม่มีข้อมูลว่าใครบ้างมาสมัครเป็นกรรมการ ป.ป.ช. เพราะถ้าหากมีตัวเลขตรงนี้มันจะทำให้เห็นว่าองค์ประกอบที่มานั้นเป็นอย่างไร ซึ่งส่วนตัวแล้วเห็นว่ามีคนที่มาสมัครเป็นกรรมการ ป.ป.ช.ก็มาจากคนที่ทำงานใน ป.ป.ช.ด้วยกันเอง เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องดีเลย เพราะทำให้ตัวกรรมการขาดความหลากหลาย
เรื่องที่ 2 คือเรื่องเกี่ยวกับคุณสมบัติกรรมการ ป.ป.ช.ว่าต้องเป็นอธิบดีมาแล้ว 5 ปีนั้น เอาจริงๆตรงนี้ต้องขอไม่เห็นด้วยบางส่วนกับท่านกล้าณรงค์ เพราะจริงๆแล้ว อธิบดีที่อยู่ในตำแหน่ง 5 ปี นั้นน้อยมาก จะมีกระทรวงที่มีผู้ขึ้นตำแหน่งอธิบดีได้เร็วมากก็ได้แก่กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง แต่คนที่อยู่กระทรวงเหล่านี้เขาก็เลือกไปอยู่ที่อื่นเพราะค่าตอบแทนน่าจะดีกว่า เช่นเดียวกับผู้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ต่างๆ เขาก็เลือกไม่มาตรงนี้เหมือนกัน
“ที่ผ่านมาอาจารย์อุดม รัฐอมฤต เขาก็เคยถามผมว่าระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญกับที่ ป.ป.ช.อยู่ที่ไหนดี ผมก็บอกว่าคุณก็รู้ว่าอยู่ที่ ป.ป.ช.คุณทำงานหนักแน่ ไม่รู้ว่าผมพูดถูกพูดผิด เพราะอยู่ศาลรัฐธรรมนูญ ท่านก็งานหนัก ต้องทำหน้าที่เกี่ยวกับคดียุบพรรคต่างๆ แต่ผมคิดว่าที่ศาลรัฐธรรมนูญก็ยังน่าไปทำมากกว่าที่ ป.ป.ช.” นายสมคิดกล่าว
ส่วนซีอีโอบริษัทมหาชน กลุ่มวิชาชีพ ตรงนี้เราไม่มีข้อมูล แต่เข้าใจว่ากลุ่มนี้เข้ามาเป็นสมัครเป็น กรรมการ ป.ป.ช.น้อยมาก
ดังนั้นสรุปก็คือว่าเราได้คนให้มาเลือกน้อย เพราะว่างานนี้มันเป็นงานที่เหนื่อยและหนัก ค่าตอบแทนน้อย ทั้งๆที่จริงๆคนทำหน้าที่ตรวจสอบและอยู่ได้แค่สมัยเดียวควรจะได้มากกว่านี้
ส่วนนายมานิตกล่าวว่าในส่วนของ ป.ป.ช. นั้น ส่วนตัวมองว่าเรามีกรรมการสรรหา ถ้าเราพอไว้ใจกรรมการสรรหา เราอาจจะต้องขยายวงผู้ที่จะเข้าข่ายมีคุณสมบัติและสนใจที่จะมาสมัคร เพราะว่าถ้าใช้กติกาเรื่อง 5 ปี ข้อเท็จจริงที่ปรากฎคือมีคนมาค่อนข้างน้อย การเลือกจึงถูกจำกัด ดังนั้นถ้าจะมองถึงวัตถุประสงค์คือต้องการประสบการณ์ ถามว่าถ้ากลับไปเป็นหลักเกณฑ์ 3 ปี หรือแม้กระทั่ง 2 ปีจะเหมาะหรือไม่ ถามว่าทำไมยังต้องล็อกจำนวนปีอยู่ เพราะการเป็นตำแหน่งอธิบดีปีแรก มันอาจจะเหมือนต้องฝึกงาน ปีต่อมาก็เหมือนจะต้องรู้งานแล้ว ดังนั้นส่วนตัวคิดว่า 2 ปีก็โอเค
“พอเราไปล็อกเรื่อง 5 ปี จำนวนคนที่จะเข้าสู่การสรรหาก็จะเริ่มน้อยลง ไม่นับปัจจัยอื่นที่เขาอาจจะยังไม่อยากเข้า ดังนั้นผมคิดว่าควรจะแก้ให้เหลือ 2 ปี และถ้ามีประเด็นปัญหาเรื่องอธิบดี ก็แก้เฉพาะอธิบดี ไม่ต้องไปยุ่งกับศาสตราจารย์หรืออะไร แต่การจะปรับแก้ตรงนี้ ป.ป.ช.ต้องสนับสนุนข้อมูลด้วยว่าปัจจุบันนั้นมีอธิบดีที่คุณสมบัติ 5 ปี มีกี่คน ถ้ามีจำนวนไม่เยอะมันจะเป็นเหตุผลสนับสนุนให้ปรับลดหลักเกณฑ์จาก 5 ปีเหลือ 2 ปีได้อย่างมีน้ำหนัก” นายมานิตกล่าว
ขณะที่นายพริษฐ์กล่าวว่าขอเทียบตัวอย่าง โดยถ้าหากดูเรื่องดัชนีการต่อต้านทุจริต(CPI)ของประเทศอินโดนีเซีย จะเห็นว่าจนถึงปี 2562 CPI ของอินโดนีเซียมีคะแนนที่ดีขึ้นอย่างชัดเจนแต่พอหลังจากนั้น มีการปรับแก้กฎหมาย ป.ป.ช.หรือว่า KPK ที่อินโดนีเซีย ก็เกิดปรากฎการณ์ที่ประชาชนออกมาปกป้อง KPK นี่ก็แสดงให้เห็นปรากฎการณ์ที่ประชาชนประเทศเขามีความไว้วางใจต่อการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช.ที่นั่น เพราะหลังจากที่กฎหมายดังกล่าวมันผ่านออกไปและมันไปลดความเป็นอิสระและการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช.ก็จะเห็นได้ว่าดัชนี CPI ของอินโดนีเซียมีการลดลงอย่างต่อเนื่อง
สส.พรรคก้าวไกลกล่าวต่อไปว่าตอนนี้เราก็มีความหวังว่าเราจะเข้าสู่กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในเร็วๆนี้ ดังนั้นนี่จึงเป็นจังหวะที่ดีในการนำเรื่องนี้มาพูดกัน ในเรื่องคุณสมบัติของ ป.ป.ช.ทางพรรคก้าวไกลเองก็มีจุดยืนว่าจะได้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งเพื่อจะได้มีความแตกต่างหลากหลาย แต่แน่นอน สสร.ก็จะได้ประโยชน์จากการรวบรวมความเห็นไว้ล่วงหน้าว่าถ้าจะมีการเขียนเกี่ยวกับเรื่ององค์กรอิสระอย่าง ป.ป.ช. ประชาชนหรือภาคส่วนต่างๆมีความเห็นอย่างไรบ้างเกี่ยวกับปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ผ่านมา แน่นอนว่าการสร้างความไว้วางใจให้กับประชาชนต่อ ป.ป.ช.ไม่ได้จำกัดแค่เรื่องการได้มาของกรรมการเท่านั้น มันมีเรื่องของอำนาจหน้าที่ กลไกการตรวจสอบถ่วงดุล
แต่ว่าส่วนของการได้มาของกรรมการก็เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ ป.ป.ช.มีประสิทธิพาพและได้รับความไว้วางใจ จากกระบวนการต้นน้ำถึงปลายน้ำตั้งแต่การเสนอชื่อ การสรรหา การรับรอง ทั้งหมดมีอยู่ 3 หลักคือเราอยากเห็นกรรมการ ป.ป.ช.หน้าตาอย่างไร กระบวนการออกแบบเป็นอย่างไร อย่างที่หนึ่งนั้น เราอยากเห็นกรรมการ ป.ป.ช.มีความกว้างขึ้นทั้งในเรื่องการเปิดแข่งขัน ความหลากหลายด้านความเชื่ยวชาญ มีความยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น ผมคิดว่าองค์กรต่อต้านการทุจริตที่ประชาชนไว้ใจ ก็คือองค์กรที่ประชาชนมั่นใจว่าไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลก็ตาม ป.ป.ช.จะตรวจสอบอย่างเข้มข้นและเท่าเทียมกัน
“อีกประเด็นคือเรื่องอายุ ผมคิดอีกมุมว่าอายุขั้นต่ำในการสมัครเป็นกรรมการ ป.ป.ช.คือ 45 ปีนั้นจำเป็นหรือไม่ เพราะว่าความจริงเราดูในแวดวงอื่น เราก็เห็นธุรกิจหลายแห่งที่ประสบความสำเร็จจากการมีผู้บริหารที่อายุน้อย ไม่ได้บอกว่ารุ่นไหนดีกว่ารุ่นไหน แต่บอกว่าแต่ละคนเกิดมาในโลกที่มันแตกต่างกัน ดังนั้นแต่ละรุ่นก็จะมีความเชี่ยวชาญในมุมมองต่อโลกที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นจึงไม่ควรทบทวนที่อายุขั้นสูงเท่านั้นแต่คิดถึงอายุขั้นต่ำด้วย ” นายพริษฐ์กล่าว