"...จะวิธีใดก็ตาม “ผู้กระทำล้วนหวังกดดัน - แทรกแซงให้เกิดระบบหรือช่องทางโกงกิน สร้างอำนาจเหนือตลาดที่ไม่เป็นธรรม” สภาพเช่นนี้ทำให้ง่ายต่อการเกิดคอร์รัปชันเชิงนโยบาย การจะซื้อจะจ้าง จะให้สัมปทาน หรือทำให้ใครร่ำรวยล้นฟ้าหรือขึ้นแท่นเป็น “ทุนผูกขาด” ที่ส่งผลให้ประชาชนในฐานะผู้บริโภคไม่มีอำนาจต่อรอง สุดท้ายคุณภาพชีวิตก็แย่ลง..."
ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งอธิบายว่า “ผู้ที่รู้จักคนมีอำนาจบังคับใช้กฎหมาย คือผู้ได้รับประโยชน์จากกฎหมาย” แปลง่ายๆ คือ กติกาของกฎหมายใช้ไม่ได้จริงกับนายทุนและผู้ถืออำนาจรัฐ แม้ฟังดูขัดแย้งกับหลักนิติธรรม (Rule of Law) เหลือเกิน แต่นี่คือคำตอบว่าทำไมนายทุนมักได้สิ่งที่อยากได้จากผู้มีอำนาจรัฐทุกยุคทุกสมัย
เขามีวิธีอย่างไรเพื่อให้รู้จักและครอบงำเจ้าหน้าที่รัฐ ภายใต้ระบบราชการและการเมืองที่อ่อนแอนี้
1. จ้างข้าราชการระดับสูงที่เกษียณอายุราชการแล้วให้เป็นที่ปรึกษาบริษัท
2. ให้เงินอุดหนุนพรรคการเมือง เพื่อสร้างอิทธิพลเหนือกลไกรัฐและราชการ
3. ใช้อิทธิพลที่มีเหนือนักการเมืองและข้าราชการใหญ่ เพื่อวางคน วางงาน ปกป้องผลประโยชน์
4. แทรกแซงองค์กรขนาดใหญ่ของรัฐที่มีอิทธิพลสูงในการให้คุณให้โทษ เช่น องค์กรอิสระฯ องค์กรในกระบวนการยุติธรรม องค์กรที่มีอำนาจกำกับเฉพาะด้าน เช่น ด้านการสื่อสาร ด้านพลังงาน การคมนาคมขนส่งและขนส่งมวลชน ฯลฯ
เหตุผลของข้อแรก การที่เอกชนลงทุนจ้างก็เพราะอดีตข้าราชการเหล่านี้เป็นผู้รู้ระบบ รู้จักบุคคลและข้อมูลทั้งปวงของหน่วยราชการเป็นอย่างดี ข้าราชการที่ยังทำงานอยู่ให้ความเกรงใจต่อที่ปรึกษาเหล่านี้ และเกรงใจเอกชนผู้เป็นนายจ้างด้วยเพราะบางคนหวังจะได้มากินเงินเดือนแบบนี้บ้างเมื่อเกษียณอายุแล้ว
ส่วนข้อที่สี่ นอกจากทำเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของพวกตนแล้ว คอนเน็คชันนี้ยังสามารถให้คุณให้โทษกับเจ้าหน้าที่รัฐได้เมื่อเกิดปัญหา ซึ่งเท่ากับเพิ่มบารมีให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องยำเกรง
ในบางกรณีผู้บริหารประเทศเองเป็นฝ่ายหยิบยื่นผลประโยชน์ของรัฐให้เอกชน เพื่อแลกกับการสนับสนุนทางการเมือง หรือเพื่อลดแรงกดดันจากกลุ่มผลประโยชน์ ขณะที่เอกชนกลุ่มนั้น ก็จะมีทางถอยแบบดูดีว่าเป็นการให้ความร่วมมือในภารกิจของรัฐบาล
บ่อยครั้งสิ่งที่เอกชนอยากได้ก็ต้อง “ซื้อด้วยเงิน” อาจทำด้วยตนเอง ใช้ล็อบบี้ยิสต์ หรือตัวแทนเช่น บริษัทบัญชี ทนายความ บริษัทที่ปรึกษา แม้รู้ดีว่ามีต้นทุนสูงและเสี่ยงถูกดำเนินคดีหากถูกเปิดโปงหรือหักหลัง
ทุกวันนี้ทั้งเอกชน นักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ ต่างนิยมสร้างเครือข่ายที่กว้างและเร็วโดยการเข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารที่มีอยู่มากมายด้วยวัตถุประสงค์แตกต่างกัน
จะวิธีใดก็ตาม “ผู้กระทำล้วนหวังกดดัน - แทรกแซงให้เกิดระบบหรือช่องทางโกงกิน สร้างอำนาจเหนือตลาดที่ไม่เป็นธรรม” สภาพเช่นนี้ทำให้ง่ายต่อการเกิดคอร์รัปชันเชิงนโยบาย การจะซื้อจะจ้าง จะให้สัมปทาน หรือทำให้ใครร่ำรวยล้นฟ้าหรือขึ้นแท่นเป็น “ทุนผูกขาด” ที่ส่งผลให้ประชาชนในฐานะผู้บริโภคไม่มีอำนาจต่อรอง สุดท้ายคุณภาพชีวิตก็แย่ลง
ความเสื่อมโทรมของสังคมไทยวันนี้กลายเป็นว่า นายทุนและคนมีอำนาจอยากได้อะไรก็ได้ เรื่องผิดกลับเป็นถูก เรื่องไร้จริยธรรมในสายตาประชาชนกลายเป็นเรื่องถูกด้วยเหลี่ยมคมนักกฎหมาย ระบบอุปถัมภ์และคอร์รัปชันโกงกินระบาดทั่วสังคมไทย... มันเป็นไปได้อย่างไรกัน
คำถามตัวโตๆ คือ.. ปัญหายากอย่างนี้เราจะหยุดมันได้อย่างไร ถ้าไม่ใช่คนไทยทุกภาคส่วนร่วมมือกัน แต่ใครจะเริ่มต้นครับ!
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
25 มิถุนายน 2567