"...กรณีของโดมิงกูส เขาได้ติดกับดักคอนเทนต์ของนักการเมืองฝ่ายขวาจัดของบราซิลจนโงหัวไม่ขึ้นและกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่การเมืองกลายเป็นชีวิตจิตใจของเขาและเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองกับผู้สนับสนุนฝ่ายขวาเสมอ ซึ่งคงไม่แตกต่างจากเยาวชนคนอื่นที่เพิ่งพ้นจากวัยเด็กและสัมผัสกับประสบการณ์ทางการเมืองเป็นครั้งแรกโดยคิดว่าการเมืองคือสิ่งที่ได้เห็นจากยูทูปและนึกไม่ถึงว่าการเมืองยังมีความสลับซับซ้อนมากกว่าสิ่งที่ยูทูปและนักการเมืองหยิบยื่นให้มากนัก เพราะการเมืองบนโซเชียลมีเดียคือ การโฆษณาชวนเชื่อ การสร้างกระแสความนิยมและภาพลวงตา ทั้งจากมนุษย์และบอท(Bot) เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง..."
หลายต่อหลายครั้งที่ผู้เขียน ล็อกอิน เพื่อเข้าใช้งานแพลตฟอร์ม LinkedIn(ลิงค์-อิน หรือ ลิงค์-ทิน) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มยอดนิยมของบุคคลอาชีพต่างๆทั่วโลก ผู้เขียนมักจะเห็นชื่อ Pita Limjaroenrat ซึ่งเข้าใจว่าเป็นชื่อของ คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นักการเมืองของไทย ปรากฏบนหน้าจออยู่บ่อยครั้งจนผิดสังเกต พร้อมมีการเชิญชวนให้ติดตาม(Follow) คุณพิธา ทั้งๆที่ผู้เขียนไม่ได้เป็นด้อมของคุณพิธาบนแพลตฟอร์มใดเลย แม้แต่บน YouTube ก็ยังมีคลิปพูดภาษาอังกฤษของคุณพิธาโผล่ขึ้นมาให้เห็นเป็นประจำทั้งๆที่ไม่เคยกดไลค์หรือแชร์หรือแม้แต่จะตั้งใจดูคลิปใดๆของคุณพิธาเลย
การที่ชื่อของคุณพิธา ปรากฏอยู่เสมอๆบนหน้าจอของผู้เขียนหรือใครบางคนอยู่เสมอๆตามแพลตฟอร์มต่างๆ แสดงว่า อัลกอริทึม ของ แพลตฟอร์มนั้น จัดลำดับให้ชื่อของคุณพิธาอยู่ในความนิยมอันดับต้นๆ ทั้งที่นักการเมืองบ้านเรามีอยู่นับร้อยนับพัน แต่ชื่อของคุณพิธากลับโดดเด่นกว่าใครบนโลกโซเชียล ซึ่งแปลว่า เครื่องช่วยแนะนำ(Recommendation engine) หรือ อัลกอริทึมช่วยแนะนำ(Recommendation algorithm) ของแพลตฟอร์มคือแรงดึงดูดสำคัญที่ทำให้คุณพิธา เป็นที่รู้จักหรือปรากฏตัวบนโซเชียลมีเดียมากกว่านักการเมืองคนอื่นๆและทำให้คุณพิธามีโอกาสดีกว่าใคร ในการสร้าง การมีส่วนร่วม(Engagement) กับผู้คนบนโลกออนไลน์โดยอาศัยกลไกของแพลตฟอร์ม ด้วยการพยายามดึงใครก็ตามที่ใช้โซเชียลมีเดียเข้าไปสู่ความสัมพันธ์กับคุณพิธาซึ่งเป็นคนที่มีผู้ติดตามมากและมีอิทธิพลต่อคนกลุ่มหนึ่งโดยที่ ใครคนนั้นอาจไม่ได้มีความสัมพันธ์ใดๆโดยตรงกับคุณพิธาเลย แต่อาจมีความสัมพันธ์ทางอ้อมทางใดทางหนึ่งหรืออาจพูดได้ว่า ปฏิกิริยาโครงข่าย(Network effect) ของโซเชียลมีเดีย ทำให้คุณพิธาเอาชนะคนอื่นๆได้ ซึ่งหมายความว่า แต่ละคนในโลกโซเชียลไม่มีวันจะมีเสียงดังเท่าเทียมหรือเสมอภาคกัน
เครื่องช่วยแนะนำ(Recommendation engine)
มนุษย์มักแสวงหาคำแนะนำจากคนรอบข้างเพื่อหาทางออกให้กับตัวเองอยู่เสมอ แต่เทคโนโลยีดิจิทัลได้ทำให้มนุษย์ได้ปรับเปลี่ยนวิธีค้นหาคำแนะนำแบบดั้งเดิมมาใช้ “เครื่องช่วยแนะนำ” อันทรงพลังแทนการพึ่งพาคำแนะนำจากมนุษย์ด้วยกันเอง เครื่องช่วยแนะนำจึงเป็นเหมือนการปฏิวัติ “การเลือก” ครั้งใหญ่ที่สุดของมนุษย์ก็ว่าได้
Amazon ใช้เครื่องช่วยแนะนำซึ่งทุ่นแรงในการคัดกรองหนังสือ ประเภทที่มีความคล้ายคลึงหรืออยู่ในกลุ่มเดียวกัน นับล้านๆเล่มให้อยู่ในจำนวนที่สามารถค้นหาได้ง่ายขึ้นภายในเวลาชั่วอึดใจ
YouTube ใช้ ประวัติ ระยะเวลา วัน-เวลา และสถานที่ (ประเทศ) ของการดูคอนเทนต์ในการพยากรณ์เพื่อเลือกคอนเทนต์ที่คิดว่าผู้ใช้ YouTube จะชื่นชอบเพียงได้เสี้ยวนาที
Netflix ใช้หลักการที่เรียกว่า Artwork personalization โดยการใช้ภาพที่น่าดึงดูดใจในภาพยนตร์แต่ละเรื่องเพื่อแนะนำภาพยนตร์ให้กับสมาชิก จากพฤติกรรมการดูภาพยนตร์ของสมาชิกเอง
ผลการสำรวจเมื่อปี 2019 พบว่าการแนะนำสินค้าให้กับผู้คนเฉพาะตัว สร้างรายได้แก่ผู้ประกอบการมากถึง 31 เปอร์เซ็นต์ของอุตสาหกรรม e-commerce ทั้งโลก ความสำเร็จของการใช้เครื่องช่วยแนะนำ สินค้า บริการ บุคคล ฯลฯ จึงเป็นความสำเร็จที่เกิดจาก “ความเชื่อใจ” ของมนุษย์ต่อเครื่องจักร ซึ่งเป็นการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจากพฤติกรรมของมนุษย์นั่นเอง
จากการศึกษาของ Netflix พบว่า มากถึง 75 เปอร์เซ็นต์ของคอนเทนต์ที่ผู้คนได้ดูและได้รับความสนใจเกิดจากเครื่องช่วยแนะนำ เครื่องช่วยแนะนำจึงเป็นเรือธงในการทำธุรกิจของบรรดาแพลตฟอร์มดิจิทัลทั้งหลายและเป็นเครื่องจักรที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจในการเลือกของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน
คำแนะนำดี vs คำแนะนำเลว
แม้ว่าเครื่องช่วยแนะนำจะช่วยให้ทางเลือกของผู้คนแคบลงและสามารถทำให้การตัดสินใจในการเลือก สินค้า บริการหรือเลือกที่จะคบกับใครบนโลกออนไลน์ได้ง่ายขึ้น ผู้คนจึงคาดหวังว่าจะได้รับคำแนะนำที่ดีจากเครื่องแนะนำและมักเชื่อในศักยภาพของเครื่องแนะนำเสมอ
แต่ในทางกลับกันผลข้างเคียงของ คำแนะนำหรือคอนเทนต์ที่คนบางคนได้รับจากเครื่องช่วยแนะนำกลับสร้างปัญหาทางสังคมอย่างที่คาดไม่ถึง ผลลัพธ์บางอย่างจากเครื่องแนะนำจึงกลายเป็นยาพิษแก่ผู้คนจำนวนไม่น้อย เหตุการณ์หลายเหตุการณ์ที่เกิดจาก แรงจูงใจทางการเมือง ความเกลียดชังทางด้าน เชื้อชาติ-ศาสนา ข่าวลวง ข่าวปลอม ภาพลามกอนาจาร มิจฉาชีพ ขายอาวุธ ฯลฯ ที่ถูกป้อนให้ผู้ใช้โซเชียลมีเดียโดย เครื่องแนะนำ ได้นำไปสู่ความเข้าใจผิดและเกิดโศกนาฏกรรมอย่างน่าสลดใจหลายต่อหลายกรณีอย่างคาดไม่ถึง โดย แพลตฟอร์มเองจะเป็นผู้รับประโยชน์ทั้งขึ้นและล่อง เพราะเป้าหมายแรกที่บรรดาแพลตฟอร์มต่างๆต้องการคือ การสร้างการมีส่วนร่วมของผู้คน เพื่อหวังผลทางธุรกิจ มากกว่าคุณภาพของคอนเทนต์ที่นำเสนอ
ประชาธิปไตยภายใต้อัลกอริทึม – บทเรียนจากบราซิล
มัทเธอุส โดมิงกูส (Matheus Dominguez) มีชีวิตไม่ต่างจากเยาวชนวัย 16 ปีคนอื่นๆ เขากับเพื่อนๆวัยเดียวกันร่วมกันตั้งวงดนตรีเล็กๆเพื่อเล่นในเมืองบ้านเกิด สิ่งที่ โดมิงกูส ต้องเรียนรู้และฝึกฝนคือ การเล่นกีตาร์ ซึ่งเขาสามารถหาบทเรียนได้อย่างง่ายดายผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ วันหนึ่งโซเชียลมีเดียแนะนำเขาเข้าไปเจอกับครูสอนดนตรี ผู้ซึ่งชอบโพสต์คอนเทนต์ดนตรีตามสไตล์ของเขา คอนเทนต์ที่มักพ่วงมากับบทเรียนดนตรีมักจะเป็นคอนเทนต์แนวการเมืองที่เขาคลั่งไคล้
ความมีสีสันของคลิปจากครูสอนดนตรีคนดังกล่าวทำให้ โดมิงกูส ติดกับดักคอนเทนต์เหล่านั้นในทันทีและด้วยธรรมชาติของมนุษย์ หากเขาเริ่มติดกับดักและเชื่อในคอนเทนต์เหล่านั้น เขาก็จะดูเฉพาะคอนเทนต์ที่ตรงกับความเชื่อของเขาซ้ำๆกัน ที่เรียกกันว่า Confirmation bias เมื่อเขายิ่งดูคลิปต่างๆ “เครื่องแนะนำ” ของแพลตฟอร์มยูทูปก็จะเลือกส่งคอนเทนต์ที่เขาชอบมาให้เขาแทบตลอดเวลาจนแทบไม่มีโอกาสเห็นคอนเทนต์อื่นและดูเหมือนว่าเขากำลังติดอยู่ในห้องเสียงสะท้อน(Echo chamber) ร่วมกับคนในอุดมการณ์เดียวกันไปแล้ว
กรณีของโดมิงกูส เขาได้ติดกับดักคอนเทนต์ของนักการเมืองฝ่ายขวาจัดของบราซิลจนโงหัวไม่ขึ้นและกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่การเมืองกลายเป็นชีวิตจิตใจของเขาและเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองกับผู้สนับสนุนฝ่ายขวาเสมอ ซึ่งคงไม่แตกต่างจากเยาวชนคนอื่นที่เพิ่งพ้นจากวัยเด็กและสัมผัสกับประสบการณ์ทางการเมืองเป็นครั้งแรกโดยคิดว่าการเมืองคือสิ่งที่ได้เห็นจากยูทูปและนึกไม่ถึงว่าการเมืองยังมีความสลับซับซ้อนมากกว่าสิ่งที่ยูทูปและนักการเมืองหยิบยื่นให้มากนัก เพราะการเมืองบนโซเชียลมีเดียคือ การโฆษณาชวนเชื่อ การสร้างกระแสความนิยมและภาพลวงตา ทั้งจากมนุษย์และบอท(Bot) เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง
หลังจากการอัปเกรดอัลกอริทึมของยูทูปในปี 2016 นักวิชาการในบราซิลพบว่าช่องการเมืองฝ่ายขวาบนยูทูปมีจำนวนผู้ดูเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและสามารถยึดครองพื้นที่ทางการเมืองบนยูทูปไว้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ ซึ่งแปลว่า อัลกอริทึม ของโซเชียลมีเดีย มีบทบาทอย่างยิ่งในการสร้างกระแสความนิยมและกลายเป็นเครื่องมือสำคัญทางการเมืองสำหรับฝ่ายขวาในบราซิลและส่งผลให้ ชาอีร์ โบลโซนาโร (Jair Bolsonaro) อดีตประธานาธิบดีบราซิลซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2019 ถึง 2022 ได้รับการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นจากการใช้โซเชียลมีเดียในการหาเสียงเพื่อก้าวสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีบราซิลซึ่งพลิกโฉมการหาเสียงทางการเมืองจากการใช้สื่อโทรทัศน์สู่การใช้ ยูทูป เฟซบุ๊กและWhatsApp
โบลโซนาโร เป็นนักการเมืองฝ่ายขวาจัดและมักแสดงความเห็นและท่าทีไม่แยแสต่อความถูกต้องทางการเมือง จนถูกตราหน้าว่าเป็นผู้ที่มีความคิด เหยียดเชื้อชาติ เกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันและผู้หญิง ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่เจ้าตัวปฏิเสธ เขามักได้รับฉายาว่า ทรัมป์-ดูเตอร์เต แห่งบราซิลหรือนักการเมืองบางคนเรียกเขาว่า"ฮิตเลอร์แห่งเมืองร้อน"
ก่อนเลือกตั้งผู้คนคาดหวังว่าเขาจะพ่ายแพ้ แต่เขากลับเอาชนะการเลือกตั้งมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ เขาก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำบราซิลได้ด้วยเหตุผล 2 ประการคือ ความผิดพลาดของการบริหารของรัฐบาลฝ่ายซ้าย แต่เหตุผลสำคัญคือการใช้โซเชียลมีเดียในการสร้างความนิยมในการหาเสียงเลือกตั้งโดยผู้คนแทบไม่รู้ที่ไปที่มาของเขาเลย ซึ่งสะท้อนถึงความเป็นประชาธิปไตยสมัยใหม่ภายใต้การบงการของอัลกอริทึมที่สร้างกระแสการเมืองโดยอาศัยความได้เปรียบจากเทคโนโลยีเป็นสำคัญ
โซเชียลมีเดียกับการแทรกแซงการเลือกตั้ง-บทเรียนจากสหรัฐอเมริกา
ผลการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2016 สร้างความประหลาดใจให้กับคนอเมริกันและคนทั้งโลกอยู่ไม่น้อย เพราะก่อนการเลือกตั้งโพล แทบทุกสำนักให้ ฮิลลารี เป็นต่อ ทรัมป์ ด้วยกันทั้งสิ้น ยกเว้นศาสตราจารย์ อัลลัล เจลิชท์แมนจาก American University ที่มีความเห็นสวนกระแสโดยพยากรณ์ว่า ทรัมป์ จะเป็นผู้มีชัยในการเลือกตั้ง เป็นการพยากรณ์ที่ไม่เคยพลาดมาตลอด 30 ปี โดยใช้หลักการพยากรณ์อ้างอิงประวัติศาสตร์ (Historically based prediction system) และในที่สุดทรัมป์ก็ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งด้วยคะแนนเฉียดคู่แข่งนิดเดียวและกลายเป็นประธานาธิบดีคนที่45 ของอเมริกาจริงๆ
การเลือกตั้งในครั้งนั้นมีการตรวจพบในภายหลังว่าเกิดการแทรกแซงจากองค์กรของรัสเซียผ่านโซเชียลมีเดีย ด้วย การสร้างข่าวปลอม(Fake news) ผ่านบัญชีเฟซบุ๊ก เข้าถึงคนอเมริกันอย่างน้อยที่สุด 126 ล้านคน โดยได้รับยอดไลค์ คอมเมนต์ ฯลฯจำนวน 76 ล้านครั้งและการแทรกแซงเดียวกันนี้สามารถเข้าถึงคนอเมริกันบนอินสตาแกรมจำนวน 20 ล้านคนและยังได้รับยอดไลค์ คอมเมนต์ ฯลฯ มากถึง 187 ล้านครั้งและยังมีการส่งข่าวปลอมจากรัสเซียผ่านบัญชีทวิตเตอร์(X) ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 6 ล้านคนอย่างน้อยที่สุด 10 ล้านทวีตเพื่อหวังให้คนอเมริกันได้เห็นข่าวปลอมที่จงใจสร้างขึ้นเพื่อหวังผลทางการเมืองหรือสร้างความปั่นป่วนให้กับการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาครั้งนั้น นอกจากนี้ยังพบว่ารัสเซียจ่ายเงินถึง 100,000 เหรียญสหรัฐเพื่อซื้อโฆษณาการเลือกตั้ง บน เฟซบุ๊กจนทำให้คอนเทนต์จากรัสเซียสามารถเข้าถึงคนอเมริกันได้อย่างกว้างขวางอีกด้วย
ผู้บริหารเฟซบุ๊กรู้อยู่แก่ใจดีว่า ชัยชนะของ ทรัมป์ ท่ามกลางการแทรกแซงของรัสเซียก็ดีหรือการที่ข้อมูลส่วนตัวจากผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กถึง 87 ล้านบัญชีรั่วไหลและถูกนำไปใช้เพื่อหวังผลทางการเมืองโดยไม่ได้รับการยินยอมก็ดี อาจมีผลต่อการเบี่ยงเบนผลของการเลือกตั้งและเป็นวิธีทำลายประชาธิปไตยในรูปแบบใหม่
ความพยายามแทรกแซงการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกาจากรัสเซียในครั้งนั้นไม่มีใครบอกได้ว่าทำให้คนอเมริกันจำนวนเท่าใดติดกับดักข่าวปลอมจากรัสเซียและเทใจให้กับทรัมป์หรือเปลี่ยนใจจากการเลือกพรรคเดโมแครตไปเลือกพรรครีพับลิกัน แต่กลยุทธ์การส่งข่าวปลอมผ่านโซเชียลมีเดียไปยังเป้าหมายในรัฐที่ คะแนนเสียงแปรเปลี่ยนได้ง่าย(Swing state) เช่น ฟลอริดา โอไฮโอ เพนซิลวาเนีย และมิชิแกน ฯลฯ น่าเชื่อได้ว่าจะทำให้คนในรัฐเหล่านี้เปลี่ยนใจหรือตัดสินใจเลือกหรือไม่เลือกพรรคใดพรรคหนึ่งไม่มากก็น้อย ปฏิบัติการเหล่านี้คือสงครามที่มองไม่เห็นที่สร้างความปั่นป่วนในการเลือกตั้งและเป็นวิชามารข้ามชาติที่ทำลายประชาธิปไตยของคนอเมริกันไปพร้อมๆกัน โซเชียลมีเดียจึงมักถูกตั้งคำถามถึงความโปร่งใสต่อความเป็นประชาธิปไตยเสมอเมื่อถูกนำไปใช้ในการเลือกตั้งของประเทศต่างๆทั่วโลก
หาเสียง บิดเบือน/โจมตี - บทเรียนจากฟิลิปปินส์
ก่อนหน้าการเลือกตั้งที่อดีตประธานาธิบดี ทรัมป์ คว้าชัยชนะในสหรัฐอเมริกาในปี 2016 ประเทศฟิลิปปินส์มีการเลือกตั้งทั่วไปเช่นกัน การเลือกตั้งครั้งนั้น โรดรีโก ดูเตอร์เต นักกฎหมาย อดีตนายกเทศมนตรีเมือง ดาเวา จากเกาะมินดาเนา ทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ ได้ลงชิงชัยเพื่อรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีและได้รับชัยชนะด้วยคะแนนเสียง 13.2 ล้านเสียง เขาประกาศที่จะใช้นโยบายขั้นรุนแรงในการกวาดล้างอาชญากรรมให้หมดไปจากฟิลิปปินส์ภายใน 6 เดือน และตั้งเป้าหมายจะสังหารอาชญากรในฟิลิปปินส์ให้ถึงหนึ่งแสนคน
ฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กจำนวนมาก ก่อนเลือกตั้งปี 2016 ประชากรฟิลิปปินส์ที่ใช้อินเทอร์เน็ตมากถึง 97 เปอร์เซ็นต์ใช้ เฟซบุ๊กในการสื่อสารและแสดงตัวตน มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก เคยพูดติดตลกว่า “อีกสามเปอร์เซ็นต์หายไปอยู่ที่ไหน” การที่เฟซบุ๊กเป็นที่นิยมในฟิลิปปินส์ทำให้ ดูเตอร์เต ฉวยโอกาสใช้โซเชียลมีเดียในการรณรงค์หาเสียงอย่างจริงจัง เขาใช้เฟซบุ๊กเพื่อความได้เปรียบทางการเมืองด้วยการโจมตีคู่แข่งด้วยการปล่อยข้อมูลเท็จทำลายฝ่ายตรงข้าม รวมทั้งสร้างความเข้าใจผิดๆให้คนฟิลิปปินส์ต่อสถานการณ์ในประเทศ จนตัวเองสามารถคว้าชัยจากการเลือกตั้งครั้งนั้นมาได้
นอกจากตัวของ ดูเตอร์เต เองที่มักปล่อยข่าวในทางลบต่อฝ่ายตรงข้ามแล้ว ผู้สนับสนุนเขาที่เรียกกันว่า “กองทัพโซเชียลมีเดีย” (Social Media Army) จำนวนมากก็ใช้วิธีการเดียวกัน โดยใช้เฟซบุ๊กปล่อยข่าวและโพสต์คอนเทนต์โจมตีคู่แข่งโดยอาศัยกลไกการสร้างไวรัลจาก News Feed ของเฟซบุ๊กเอง ในระยะแรกผู้บริหารเฟซบุ๊กไม่ได้ให้ความสนใจต่อการรณรงค์หาเสียงของ ดูเตอร์เต มากนักเพราะถือว่าธุระไม่ใช่ แต่รายงาน(Report) มากมาย ทั้งเรื่อง บัญชีปลอม ข้อความเท็จ การคุกคามต่างๆ ฯลฯ ที่ เฟซบุ๊กได้รับระหว่างการรณรงค์หาเสียง ทำให้เฟซบุ๊กไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าแพลตฟอร์มของตัวเองเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมให้มีการเผยแพร่ความเท็จเพื่อโจมตีทางการเมืองจนดูเตอร์เตได้รับการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเทคนิคที่ไม่ต่างจากวิธีที่ ทรัมป์ โบลโซนาโร หรือแม้แต่ นเรนทรา โมดิ แห่งอินเดียคว้าชัยชนะด้วยโซเชียลมีเดีย ประชาธิปไตยของฟิลิปปินส์จากการเลือกตั้งครั้งนั้นจึงถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เพราะผู้คนถูกบิดเบือนความจริงด้วยโซเชียลมีเดียของ ดูเตอร์เต จนเขาได้ชื่อว่า “ประธานาธิบดีโซเชียลมีเดีย” (Social Media President) คนแรกของฟิลิปปินส์
สามเหลี่ยมดินแดง-ฝันร้ายของคนกรุงเทพฯ
การชุมนุมที่สามเหลี่ยมดินแดงและถนนวิภาวดีเมื่อปี 2564 เป็นเหมือนฝันร้ายของคนกรุงเทพฯ ต่อเนื่องนานเกือบ 4 เดือน เป็นเหตุการณ์ที่สื่อและนักวิชาการเรียกว่า "สมรภูมิดินแดง" และยังมีการกลับมาชุมนุมอีกครั้งในปี 2565 หลังจากว่างเว้นไปเป็นเวลา 7 เดือน(อ้างอิง 8) รูปแบบโครงสร้างการชุมนุมที่ดินแดงมีลักษณะไร้แกนนำของกลุ่มขนาดเล็กที่เป็นอิสระจากกันจำนวนมากที่มารวมตัวกันแบบหลวมๆ จนกลายเป็นมวลชนดินแดง(อ้างอิง 9 )
การเคลื่อนไหวของม็อบดินแดงมีความแตกต่างจากกลุ่มเยาวชนปี 2563 เนื่องจากพวกเขาเน้นการสื่อสารแบบม็อบออฟไลน์ในการระดมผู้เข้าร่วมการชุมนุมและการสื่อสารภายใน โดยแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง TikTok และ เฟซบุ๊ก ทำหน้าที่เพียงกระตุ้นความสนใจทางการเมืองและใช้ในการติดตามข้อมูลขณะมีการชุมนุม(อ้างอิง 9)
จากการสัมภาษณ์ ผู้ให้ข้อมูลที่มีอายุมากกว่า 20 ปีส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับ เฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นช่องทางที่สำคัญที่ผู้เข้าร่วมการชุมนุมใช้ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับการชุมนุม ในขณะที่ผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่ที่อายุต่ำกว่า 20 ปีเน้นให้ความสำคัญกับ TikTok เป็นช่องทางสำคัญ ส่วนหนึ่งเนื่องจาก TikTok เป็นช่องทางในการติดตามความบันเทิงของพวกเขาอยู่แล้ว
เมื่อการเคลื่อนไหวขยายตัวและดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง หลายคนเล่าถึงคลิปแรกที่ดูผ่าน TikTok แล้วทำให้หันมาสนใจและตัดสินใจเข้าร่วมการชุมนุม นอกจากนั้นผู้เข้าร่วมการชุมนุมยังคงใช้ TikTok เป็นช่องทางหนึ่งในการสื่อสารและติดตามสถานการณ์ในที่ชุมนุม หลายคนเริ่มทำหน้าที่ถ่ายทอดสดการชุมนุม ส่งคลิปวีดีโอเหตุการณ์สำคัญๆ ในแต่ละวัน โดยเฉพาะการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่และการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่บน TikTok ผู้ชุมนุมชายเล่าว่า TikTok เป็นสื่อชนิดหนึ่งที่ทำให้เขารู้เหตุการณ์ทางการเมือง รวมทั้งผู้ให้ข้อมูลเพศหญิงที่บอกว่าตัดสินใจมาม็อบเพราะเห็นภาพความรุนแรงที่ตำรวจกระทำต่อผู้ชุมนุมผ่าน TikTok (อ้างอิง 9)
ที่น่าสนใจคือผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ไม่เคยมีประสบการณ์การเข้าร่วมและการจัดการชุมนุม การชุมนุมครั้งนี้จึงเป็นการชุมนุมทางการเมืองครั้งแรกของพวกเขา จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้ชุมนุม 30 คนพบว่า ผู้เข้าร่วมการชุมนุมกว่าร้อยละ 40 เป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี เยาวชนที่อายุน้อยที่สุดคือ 13 ปี นอกจากเยาวชนแล้ว ผู้เข้าร่วมในวัยระหว่าง 21 - 24 ปีมีจำนวนมากเป็นอันดับสองคือ ร้อยละ 34 และอายุมากกว่า 25 ปี มีจำนวนน้อยที่สุด
ผู้เข้าชุมนุมส่วนใหญ่จึงจัดอยู่ในกลุ่มคนใน เจนเนอเรชัน Z (เกิดระหว่าง พ.ศ. 2538-2555) หรือที่รู้จักกันในชื่อซูมเมอร์(Zoomer) ซึ่งมีอายุราว 12 ปี จนถึง 29 ปี คนใน เจน Z ถือเป็นกลุ่มคนที่ใช้ชีวิตช่วงวัยเจริญพันธุ์ท่ามกลาง สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และโซเชียลมีเดีย และคนกลุ่มนี้เองที่มีวิถีชีวิตที่ต่างออกไปจากผู้คนในเจนเนอเรชันก่อนหน้า เพราะพวกเขาใช้เวลาปฏิสัมพันธ์กับคนในโลกออนไลน์ซึ่งเป็นโลกที่ไร้ภูมิคุ้มกันใดๆ มากกว่าการปฏิสัมพันธ์กับคนในโลกแห่งความจริงเสียอีก จึงไม่แปลกที่การรับรู้ความเป็นไปของเหตุการณ์ต่างๆในชีวิตประจำวันของพวกเขาจึงมักอาศัยสมาร์ทโฟนและโซเชียลมีเดียเป็นหลักและเป็นไปได้ที่บทเรียนทางการเมืองบทเรียนแรกของพวกเขามาจากโซเชียลมีเดีย ซึ่งคงไม่ต่างจาก มัทเธอุส โดมิงกูส เยาวชน อายุ 16 ปี แห่งบราซิล ซึ่งเป็นเยาวชนที่อยู่ในเจนเนอเรชันเดียวกันกับผู้ชุมนุมที่สามเหลี่ยมดินแดงและได้เรียนรู้บทเรียนแรกทางการเมืองและการชุมนุมทางการเมืองผ่านโซเชียลมีเดียเช่นกัน
การชุมนุมที่สามเหลี่ยมดินแดง แม้ว่าจะเป็นเสียงเรียกร้องบริสุทธิ์จากเยาวชนกลุ่มหนึ่ง แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่ได้เป็นไปด้วยความสงบเพราะมีคนจำนวนหนึ่งใช้ความรุนแรงด้วยอาวุธและสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้คนในบริเวณนั้นอย่างยิ่ง
จากข้อมูลของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำการจับกุมผู้ต้องหา 2 รายที่ก่อเหตุปาระเบิดใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำหน้าที่ ผบ.หมู่ บก.อคฝ. ได้รับบาดเจ็บสาหัสที่บริเวณแยกดินแดงในการชุมนุม พบว่าผู้ก่อเหตุได้มีการประกอบวัตถุระเบิดเพื่อใช้ในการก่อเหตุในการร่วมกิจกรรมชุมนุมที่แยกสามเหลี่ยมดินแดง โดยจัดซื้อและหาวัตถุระเบิดจากการซื้อสินค้าทางออนไลน์มาประกอบเอง ก่อนนำไปใช้ และทำร้ายเจ้าหน้าที่หลายครั้งและนำไปแจกจ่ายให้กับผู้ร่วมชุมนุม ทั้งนี้มีแรงจูงใจจากการติดตามการชุมนุมผ่านโซเชียลมีเดียก่อนลอกเลียนแบบแล้วนำมาปฏิบัติเพื่อให้เกิดการยอมรับ(อ้างอิง 10)
โซเชียลมีเดียจึงเป็นแหล่งข้อมูลที่สนับสนุนการชุมนุม ทั้งการสร้างแรงจูงใจทางการเมือง การเกาะติดเหตุการณ์ชุมนุม รวมทั้งการซื้อหาอาวุธเพื่อใช้ในการชุมนุม ซึ่งสามารถทำได้ครบวงจรบนโลกออนไลน์ทั้งช่วงเวลาปกติและช่วงเวลาในการชุมนุมและเชื่อได้ว่าทั้งคอนเทนต์ ของการชุมนุมและคอนเทนต์เกี่ยวกับอาวุธทางออนไลน์ที่นำไปสู่ความรุนแรงต่างๆเกิดจากการสนับสนุนด้วยกลไกของอัลกอริทึมที่แนะนำสิ่งเหล่านี้มาให้เยาวชนผู้ชุมนุม โดยที่แพลตฟอร์มเองไม่สามารถจัดการกับคอนเทนต์ที่เสี่ยงต่อการผิดกฎหมายได้ จนกว่าจะเกิดเหตุหรือตรวจพบในภายหลังและหลายครั้งมักอ้างว่าคอนเทนต์ที่กำลังมีปัญหาไม่ได้ละเมิดกฎของแพลตฟอร์ม ที่น่าตกใจคือจากการตรวจสอบของสำนักข่าวบางแห่งเมื่อไม่นานมานี้ พบว่า อาชีพ มือปืนรับจ้าง รับจ้างตบคน รับจ้างยิงคน ซุ้มมือปืน ปรากฏอยู่ดาษดื่นและมีช่องทางติดต่อบนเว็บไซต์จำนวนมาก อีกทั้งยังทิ้งช่องทางติดต่อกลับอย่างเปิดเผยอีกด้วย(อ้างอิง 11) จึงอาจพูดได้เต็มปากว่าโลกออนไลน์เต็มไปด้วยภัยทุกรูปแบบโดยกลไกในการปกป้องผู้ใช้โซเชียลจากภัยออนไลน์ทั้งปวงของแพลตฟอร์มต่างๆยังมี ช่องว่าง ปัญหาและความท้าทายมากมายที่รอการปรับปรุงแก้ไข
เทคโนโลยีมักมาพร้อมกับผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์เสมอ แม้ว่าอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียซึ่งถือว่าเป็น “เทคโนโลยีแห่งเสรีภาพ” ได้ถูกนำไปใช้ในการสื่อสารเพื่อ ปลดปล่อยพันธนาการทางความคิด สร้างสันติภาพ ประชาธิปไตยและสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแต่เครื่องมือชนิดเดียวกันนี้กลับมีผู้ฉวยโอกาสนำไปใช้ สร้างพันธนาการทางความคิด ปลูกฝังความเชื่อในทางที่ผิด เผยแพร่ทฤษฎีสมคบคิด สร้างความปั่นป่วนต่อสังคมอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งนำไปใช้หาผลประโยชน์ทางการเมืองจนสามารถกัดกร่อนประชาธิปไตยได้อย่างง่ายดายดังตัวอย่างจากบทเรียนข้างต้นและยังแสดงให้เห็นว่า กระบวนการของ Digital Transformation ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะวงการธุรกิจเท่านั้น แต่ได้ถูกนำมาใช้ในทางการเมืองในหลากหลายรูปแบบแล้วเช่นกัน
อ้างอิง :
1. Recommendation engines โดย Michael Schrage
2. https://pyimagesearch.com/2023/07/03/netflix-movies-and-series-recommendation-systems/
3. มองการเมืองไทยแล้วหันไปมองบราซิล https://isranews.org/article/isranews-article/120737-Pansak-html
4. การพ่ายแพ้ของฮิลลารีคลินตัน : บทเรียนจากการใช้ข้อมูลhttps://www.isranews.org/content-page/item/51691-a-51691.html
5. The Hype Machine โดย Sinan Aral
6. Broken Code โดย Jeff Horwitz
7. Facebook โดย Steven Levy
8. การชุมนุมที่ดินแดง https://www.bbc.com/thai/thailand-61775028
9. “การก่อตัว พัฒนาการ และพลวัตการชุมนุมบริเวณแยกดินแดงช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2564” https://www.the101.world/wp-content/uploads/2021/10/Preliminary-report-Kanokrat-25102021.pdf
10. ผู้ต้องหาปาระเบิด https://www.thaipost.net/main/detail/118496
11.อาชีพมือปืนในโลกออนไลน์ https://www.dailynews.co.th/news/3498882/
ภาพประกอบ :
https://www.khaosod.co.th/wpapp/uploads/2021/08/เดือดไม่หยุด.jpg