"...การบุกรุกป่าคราวละนับร้อยนับพันไร่ยังคงเกิดขึ้นตลอดเวลาโดยอาศัยหน่วยงานรัฐคือ ส.ป.ก. และสหกรณ์นิคมเป็นเครื่องมือ จนหลายคนบอกว่า “เราสูญเสียป่าไม้ไปมากจนไม่อาจหวนคืนได้แล้ว” คงเป็นเรื่องเพ้อฝันเกินไปหากคนไทยยังฝากความหวังให้เจ้าหน้าที่รัฐคอยปกป้องผืนป่าแต่ฝ่ายเดียว โดยไม่มีการแก้ปัญหาที่ต้นตอ ไม่มีการรวมศูนย์ข้อมูลแล้วเปิดเผยประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการผืนป่า และเป็นไปไม่ได้เลยหากเจ้าหน้าที่รัฐไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่ ไม่ซื่อสัตย์ต่อแผ่นดินเกิดของตัวเอง..."
รุกป่า โกงที่ ส.ป.ก. (ตอนที่สอง) : เหตุและปัจจัย
เพราะประเทศของเรามีที่ดินอย่างจำกัด ขณะที่มูลค่าทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง จึงจูงใจให้คนทำสิ่งที่ตนรู้อยู่ว่าผิด ฉวยโอกาสบุกรุกที่ดินสาธารณะ ทั้งคนรวย นักการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ รวมถึงชาวบ้าน ปัญหายิ่งเลวร้ายลงรวดเร็วจากระบบราชการที่อ่อนแอและเจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับที่คอร์รัปชัน
ระบบที่อ่อนแอในการบริหารจัดการที่ดินของรัฐ
มีหลายสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่า เพราะภาครัฐขาดประสิทธิภาพการดูแลที่ดินเมื่อบวกกับเจ้าหน้าที่คอร์รัปชัน คนที่จ้องฮุบที่ดินหลวงจึงหาช่องทางได้ไม่ยาก
1. มีหน่วยงานรัฐที่มีที่ดินอยู่ในความดูแลมากถึง 10 หน่วยงาน ต่างก็มีอำนาจและผลประโยชน์ของตนตามกฎหมาย 12 ฉบับ ดังนั้นใครที่มีช่องทาง มีโอกาส มีอำนาจที่ไหน ก็ไปวิ่งเต้นเส้นสายที่นั่น หน่วยงานที่กล่าวถึงได้แก่ (มาตรการป้องกันการทุจริตเพื่อแก้ไขปัญหาการออกเอกสารสิทธิในที่ดินโดยมิชอบ, ป.ป.ช.)
1.1 กรมที่ดิน เช่น ที่ดินมีโฉนด, น.ส.3, น.ส.3 ก., ใบจอง, น.ส.ล.
1.2 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เช่น อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธ์สัตว์
1.3 กรมธนารักษ์ เช่น ที่ดินทหาร ที่ดินสงวนไว้ใช้ในราชการ ที่ราชพัสดุ
1.4 สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร เช่น เอกสาร ส.ป.ก. 4-01 และโฉนดเพื่อการเกษตร
1.5 กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เช่น การออกเอกสาร น.ค.1 น.ค.3 ให้สมาชิกนิคมสหกรณ์
1.6 กรมทางหลวง เช่น ที่ดินในเขตทางหลวง
1.7 กรมป่าไม้ เช่น ป่าสงวน ป่าคุ้มครอง
1.8 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เช่น ป่าชายเลน ป่าพรุ ป่าบก
1.9 กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น ที่ดินในความดูแลของ อปท.
1.10 กรมพัฒนาที่ดิน เช่น ที่ดินตามโครงการพัฒนาปรับปรุงของรัฐ
2. “หน่วยงานรัฐ” หลายแห่งถือครองที่ดินเกินใช้สอยจำนวนมาก แถมขาดความเข้าใจในบทบาทหน้าของตนที่จะต้องดูแลรักษาไว้ จึงปล่อยปละไม่ดูแลหรือขาดแนวทางดูแลรักษา เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่บางคนคอร์รัปชันโดยสมคบกับประชาชน นายทุน นักการเมือง
3. หลายหน่วยงานที่มีอำนาจดำเนินคดี คือนอกจากทุกหน่วยงานที่ครอบครองที่ดินอยู่จะมีอำนาจดำเนินคดีกับผู้บุกรุกแล้ว ยังมีอีก 3 หน่วยงานกลาง คือ ป.ป.ช. เมื่อคดีนั้นมีเจ้าหน้าที่รัฐร่วมรู้มือด้วย แต่หากคดีเป็นคดีใหญ่ ซับซ้อน หรือประชาชนสนใจมากและคดีนั้นไม่มีเจ้าหน้ารัฐเกี่ยวข้อง ก็จะเป็นอำนาจของ “ดีเอสไอ” หน่วยงานที่สามคือ “ป.ป.ง.” อาจร่วมทำคดีเพื่อยึดที่ดินแปลงดังกล่าวได้
4. หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยว่า เหตุใดอัยการจึงสั่งไม่ฟ้องคดีประเภทนี้จำนวนมากที่ส่งมาจาก ป.ป.ช.
ปัจจัยที่ก่อปัญหา
มีปัจจัยสำคัญที่เป็นช่องว่างให้ตบตาและโต้แย้งกฎหมาย ได้แก่
1. การอ้างแผนที่/ภาพถ่ายทางอากาศของแต่ละหน่วยงานที่ไม่สอดคล้องและมีอัตราส่วนต่างกัน คือ 1: 50,000 หรือ 1: 4,000 หรือ 1: 2,000 เช่น กรณีออก ส.ป.ก. ทับที่อุทยานฯ เขาใหญ่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ฝ่ายหนึ่งอ้างแผนที่ สปก. อีกฝ่ายหนึ่งอ้างแผนที่เขตอุทยานฯ (ยังมีแผนที่กรมที่ดินและแผนที่เขตทหาร ที่มีปัญหาบ่อยครั้ง)
2. เจ้าหน้าที่รัฐขาดมาตรการตรวจสอบการได้มาของที่ดิน เช่น การเกิดปัญหา ส.ค.1 “บิน/บวม/โคลน” หรือการตรวจสอบความจริงเรื่องระยะเวลาและการใช้ประโยชน์ที่ดิน ในกรณีขอออก ส.ป.ก.
3. ภาครัฐไม่ชัดเจน ไม่ต่อเนื่อง ในการแก้ปัญหาตามนโยบายของรัฐ เช่น ความล่าช้าในการออกโฉนดที่ดิน แจกจ่ายที่ดิน ขาดงบประมาณในการเฝ้าระวัง การมีนโยบายส่งเสริมกิจกรรมเชิงเศรษฐกิจแต่
ขาดยุทธศาสตร์ที่จะจัดการผลประทบที่ตามมา เช่น ปลูกยางพารา ปลูกปาล์มน้ำมัน การผ่อนผันผู้บุกรุกโดยปล่อยให้เช่าที่ดิน
4. มีการคอร์รัปชันจำนวนมากโดยเจ้าหน้าที่รัฐ “ทุกระดับ” สมรู้ร่วมคิดกับเอกชนและประชาชน
บทสรุป
การบุกรุกป่าคราวละนับร้อยนับพันไร่ยังคงเกิดขึ้นตลอดเวลาโดยอาศัยหน่วยงานรัฐคือ ส.ป.ก. และสหกรณ์นิคมเป็นเครื่องมือ จนหลายคนบอกว่า “เราสูญเสียป่าไม้ไปมากจนไม่อาจหวนคืนได้แล้ว” คงเป็นเรื่องเพ้อฝันเกินไปหากคนไทยยังฝากความหวังให้เจ้าหน้าที่รัฐคอยปกป้องผืนป่าแต่ฝ่ายเดียว โดยไม่มีการแก้ปัญหาที่ต้นตอ ไม่มีการรวมศูนย์ข้อมูลแล้วเปิดเผยประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการผืนป่า และเป็นไปไม่ได้เลยหากเจ้าหน้าที่รัฐไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่ ไม่ซื่อสัตย์ต่อแผ่นดินเกิดของตัวเอง
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) 6 มิถุนายน 2567