“... เมื่อดูจากจำนวนผู้สมัครเฉียดๆ 50,000 คน คาดว่าผู้ที่จะได้น่าจะเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง แต่ถูกผลักดันโดยมีเครือข่ายจัดตั้งเป้นส่วนใหญ่ จริงๆถ้าผ่านรอบอำเภอก็น่าจะพอรู้ผลแล้วว่าใครจะได้ เพราะโดยกติกาในการเลือกระดับอำเภอ ใน 20 กลุ่ม ต้องได้กลุ่มละ 3 คน ถ้าคอนโทรลทุกอำเภอได้ใน 3 คน จะเป็นจัดตั้งสักประมาณ 2 คน และถ้ามองเลยไปในระดับจังหวัดและประเทศจะยิ่งชัดว่า เป็นเครือข่ายจัดตั้งแทบทั้งหมด โดยอาจจะปล่อยให้มีผู้สมัครอิสระหลุดมาบ้าง จะได้ไม่ดูน่าเกลียด...”
ผ่านไปแล้ว!
สำหรับการเปิดรับสมัครผู้ที่ประสงค์จะเข้าไปเป็น ‘สมาชิกวุฒิสภา (สว.)’ หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดให้มีการรับสมัครทั่วทุกอำเภอ 928 อำเภอทั่วประเทศเมื่อวันที่ 20-24 พ.ค. 2567 ที่ผ่านมา มีผู้สมัครทั้งสิ้น 48,226 คน ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้น 48,117 คน อีก 109 คนที่ไม่รับสมัคร หลังตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม
พลิกปฏิทิน กำลังจะเข้าสู่การเลือกระดับอำเภอในวันที่ 9 มิ.ย. 2567 ระดับจังหวัดในวันที่ 16 มิ.ย. 2567 และการเลือกระดับประเทศในวันที่ 26 มิ.ย. 2567 ตามลำดับ
ก่อนที่จะมีการประกาศรายชื่อ สว.ชุดใหม่ทั้ง 200 คน ในช่วงต้นเดือน ก.ค. 2567 ซึ่ง ‘อิทธิพร บุญประคอง’ ประธาน กกต.หมายมั่นปั้นมือว่าจะทันกำหนดเดิม คือ วันที่ 2 ก.ค. 2567 นี้
@ส่อง 3 อำนาจสำคัญ สว.ชุดใหม่
ก่อนหน้านี้ มีกระแสตื่นตัวของสังคมบางส่วนในการจับตาการเลือก สว.ชุดใหม่ เพราะอำนาจของ สว. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่สังคมจับตามีอย่างน้อย 3 ประการคือ
1.พิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 256 (3) กำหนดว่า การพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในวาระหนึ่ง ขั้นรับหลักการ ไว้ว่าการลงมติจะทำโดยเปิดเผย ใช้วิธีเรียกชื่อ สส. สว. โดยในการพิจารณาวาระที่ 1 และวาระที่ 3 ต้องได้เสียงของ สส. และ สว. “ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง” ของสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของสองสภา หรือ 350 เสียงของทั้ง 2 สภา และใน 350 เสียง จะต้องมีเสียง จาก สว. ที่ลงมติเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวน สว. ทั้งหมด หรือ จะต้องมีสว.โหวตเห็นชอบอย่างน้อย 67 เสียง
2.ให้อำนาจพิจารณาและให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลเพื่อเข้าทำหน้าที่ในศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ ดังนี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (มาตรา 204), คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) (มาตรา 222), ผู้ตรวจการแผ่นดิน (มาตรา 228), คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) (มาตรา 232), คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (มาตรา 238), ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (มาตรา 241) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) (มาตรา 246)
3. การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 150 มาตรา 153 มาตรา 155 เกี่ยวกับการทำงานของรัฐมนตรี โดยจะถามเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาก็ได้ ตั้งกระทู้ถาม, การเปิดอภิปรายทั่วไป ในวุฒิสภา ตามมาตรา 153 โดยมีสิทธิ์เสนอชื่อไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ขอเปิดอภิปรายทั่วไป โดยไม่มีการลงมติ หรือการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมรัฐสภา ตามมาตรา 155 กรณีมีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยหรือเศรษฐกิจของประเทศ โดยประชุมลับแต่ลงมติไม่ได้
ท่ามกลางการจับตามองของคนทั้งสังคมว่า สว.ชุดใหม่ทั้ง 200 คน จะมีหน้าตาแบบใด
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สนทนากับ อาจารย์สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า วิเคราะห์แนวโน้ม สว.ชุดใหม่ รวมถึงมองย้อนอดีตที่ผ่านมาของ สว.ชุดที่แล้ว มานำเสนอต่อสาธารณชน ณ ที่นี้
อ.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า
@ระเบียบกกต.ดับกระแสตื่นตัว
อาจารย์สติธร เริ่มต้นประเมินถึงกระแสการตื่นตัวและรับรู้ถึงการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่ผ่านมาว่า แม้ภาคประชาสังคม โดยเฉพาะโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ จะโหมกระพือแคมเปญเลือกตั้ง สว. จนสร้างแรงกระเพื่อมไปในวงกว้าง โดยเฉพาะในบรรดาพลเมืองเน็ต จนกลายเป็นกระแสจับตาการเลือกตั้ง สว.
สอดประสานไปกับการที่ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ ประธานคณะก้าวหน้า อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ออกรายการนักเล่าข่าวคนดังชูแคมเปญ ‘1 ครอบครัว 1 ผู้สมัคร สว.’ จึงยิ่งสร้างกระแสการตื่นรู้ตื่นตัวไปทั่วโลกโซเชียลชั่วขณะหนึ่ง
แต่กระแสดังกล่าวถูกดับแทบจะในทันที เมื่อ กกต. คลอดระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา 2567 เมื่อปลายเดือน เม.ย. 2567 แม้ว่าจะมีกระแสโจมตีอย่างหนักหลังการออกระเบียบดังกล่าว จนท้ายที่สุดศาลปกครองก็มีคำสั่งยกเลิกระเบียบดังกล่าวไป และกกต.ออกระบเยีบใหม่ที่คลายล็อกมากขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งเหล่าบรรดาผู้ที่ประกาศตัวจะสมัคร สว. ก็ต้องรักษาเนื้อรักษาตัวให้เป็นไปตามระเบียบที่ออกมาก่อน จึงทำให้กระแสก่อนหน้านี้ค่อยๆวูบหายไป
จากกระแสที่แผ่วลงไปนี้ จึงทำให้ยอดผู้มาสมัครชิงชัย สว. วูบเหลือแค่ 48,000 คน เท่านั้น ไปไม่ถึงฝั่งฝันที่ฝ่ายไอลอว์และกลุ่มคนที่มีแนวคคิดทางการเมืองหัวก้าวหน้าหวังจะมีคนแห่มาสมัครที่ 100,000 คนขึ้นไป เพื่อแฮคระบบที่อาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ทำไว้ได้
@200 สว.หน้าใหม่ เครือข่ายอำนาจเดิม-พรรคการเมืองคุมเบ็ดเสร็จ
เมื่อกระแสภาคพลเมืองผลักดันไปไม่ถึงฝั่ง ผู้สื่อข่าวจึงให้ อาจารย์สติธรช่วยประเมินว่า สว. 200 คนที่กำลังจะคัดเลือกกันนี้ จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร อาจารย์สติธรวิเคราะห์ว่า เมื่อดูจากจำนวนผู้สมัครเฉียดๆ 50,000 คน คาดว่าผู้ที่จะได้น่าจะเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง แต่ถูกผลักดันโดยมีเครือข่ายจัดตั้งเป้นส่วนใหญ่ จริงๆถ้าผ่านรอบอำเภอก็น่าจะพอรู้ผลแล้วว่าใครจะได้ เพราะโดยกติกาในการเลือกระดับอำเภอ ใน 20 กลุ่ม ต้องได้กลุ่มละ 3 คน ถ้าคอนโทรลทุกอำเภอได้ใน 3 คน จะเป็นจัดตั้งสักประมาณ 2 คน และถ้ามองเลยไปในระดับจังหวัดและประเทศจะยิ่งชัดว่า เป็นเครือข่ายจัดตั้งแทบทั้งหมด โดยอาจจะปล่อยให้มีผู้สมัครอิสระหลุดมาบ้าง จะได้ไม่ดูน่าเกลียด
ดังนั้น หากมาในแนวทางนี้ สรุปได้เลยว่า สว.ทั้ง 200 คน จะยังอยู่ใต้กลุ่มเครือข่ายอำนาจเดิมที่ผนึกกับพรรคการเมือง ฝ่ายข้ามขั้วตอนนี้ เพราะต้องไม่ลืมว่า พรรคการเมืองสไตล์บ้านใหญ่มีหัวคะแนนกระจายในแต่ละท้องที่ทุกจังหวัด ทุกอำเภอ ทุกตำบล ทุกหมู่บ้าน ถ้าพรรคการเมืองจับมือกัน ทีนี้ก็ง่ายเลย แบ่งกันให้พรรคที่ฐานเสียงในแต่ละภูมิภาคกำกับจัดการได้เลย
“สุดท้ายถ้าพ้นการเลือกในระดับอำเภอไป จะเป็นเกมล็อกแล้ว จำนวนไม่เพิ่มจากนี้แล้ว และตามกฎกติการะบุชัดว่าจะต้องผ่านการเลือกตั้งกี่คนๆ มันนิ่งแล้ว ถ้าเป็นคนของพรรคการเมืองและขั้วอำนาจเก่าก็แบเบอร์ จบแล้ว จะเลือกไขว้ยังไงก็เสร็จ” อาจารย์สติธรกล่าว
@ไม่ได้ 67 เสียง แก้รธน.-ปลดล็อกองค์อิสระ เป็นแค่ฝันกลางวัน
อาจารย์จากสถาบันพระปกเกล้าวิเคราะห์ต่อไปว่า หากแนวโน้ม สว. ออกมาทางนี้ เป้าหมายของกลุ่มที่เป็นประชาธิปไตยที่หวังว่า ปลายทางจะนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งฉบับ หรือการปลดล็อกพลังขององค์กรอิสระที่มีอิทธิพลต่อนักการเมือง จะยิ่งแก้ยากมากขึ้น
ฉากทัศน์จากเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมที่ขั้วพลังฝ่ายสีส้มเคยชนะแล้วฮึกเหิมสู้ในเกม สว. จะรู้ว่าเกมการเลือก สว. จะเป็นคนละเกมกัน เพราะกฎกติกาไม่เหมือนกัน
“ถ้าสถานการณ์มันนิ่งแบบนี้ๆ เขา (ขั้วการเมืองเก่า+พรรคการเมืองข้ามขั้ว) เหมาหมด 200 เลยก็ได้นะ อย่ามาโลกสวยว่า แม้ฝั่งสีส้มจะได้เลือกแค่ 20 คน แต่ก็มีพลังอำนาจนะ เพราะเป้าหมายสูงสุดอย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คุณจะต้องมีเสียง สว.เห็นชอบในการแก้ไขด้วยอย่างน้อย 67 คน ถามว่าถ้าบรรยากาศมาทรงนี้ สว. ที่ได้จะมาจากฝั่งใครมากกว่ากัน ถ้าได้ต่ำกว่า 67 คน คุณเปลี่ยนการเมืองแบบที่คุณฝันไม่ได้” อาจารย์สติธรกล่าว
ที่ประชุมร่วม 2 สภา เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2566 มีมติโหวตให้นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ได้รับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยคะแนน 482 เสียง ต่อ 165 เสียง หลังก่อนหน้านี้มีมติไม่เห็นชอบนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล และล้มการโหวตซ้ำรอบที่ 2 จากเหตุผลเป็นการเสนอญัตติซ้ำ
ที่มาภาพ: วุฒิสภา
@ย้อนรอยทาง 250 สว. หัก ‘พิธา’ โหวต ‘เศรษฐา’ เหตุการณ์จำไม่ลืม
หลังทำนายหน้าตา สว.ชุดใหม่ไปแล้ว ผู้สื่อข่าวขอให้ อาจารย์สติธรมองย้อนถึง สว. 250 คนที่เพิ่งหมดวาระไป โดยเหตุการณ์ที่น่าจดจำของสว.ชุดนี้ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ดำรงตำแหน่งคือ การเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา
เพราะต้องไม่ลืมว่าช่วงนั้น สว.ชุดนี้ ไม่โหวตให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล พรรคที่ได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับ 1 ที่ 151 เสียง เป็นนายกรัฐมนตรี และล้มโหวตรอบ 2 จากการยกข้อบังคับการประชุมสภามาถกเถียงไม่ให้เสนอชื่อนายพิธาซ้ำ จนท้ายที่สุดพรรคก้าวไกลต้องแถลงให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และยกมือโหวตให้ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ เดินเข้าประตูบ้านนรสิงห์ นั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในที่สุด
อีกเหตุการณ์สำคัญของสว.ชุดนี้คือ การตีตกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้ง 18 ฉบับ มีเพียง 1 ฉบับ ที่ผ่านด่าน สว. คือการแก้ระบบเลือกตั้ง และกลับมาใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แทน 1 ใบเท่านั้น
ขณะที่บทบาท สว. ชุดที่ผ่านมา อาจารย์สติธรวิเคราะห์ว่า นอกจากบทบาท สว.ที่ออกสื่อจนเป็นขาประจำแล้ว สิ่งที่อยากให้มองลึกลงไปคือ สว.กลุ่มที่ไม่ได้ออกสื่อ เพราะกลุ่มนี้เงียบๆ ไม่ออกหน้า ไม่โฉ่งฉ่าง นุ่มลึก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการเก่า ทหาร ตำรวจ และนักธุรกิจบางส่วน
เหล่านี้คือ ทัศนะและมุมมองของอาจารย์สติธร ที่มีการเลือกตั้ง สว. ครั้งใหม่
แต่จากการที่ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัย 4 มาตรา ของ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 2561 ซึ่งเกี่ยวข้องกับวิธีการเลือก สว.ทั้งระดับอำเภอ ระดับจังหวัดและระดับประเทศ ว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 107 หรือไม่
ยังส่งผลให้สำนักงาน กกต.จะเสนอให้ กกต.ใช้อำนาจตามมาตรา 35 พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. 2561 ประกาศเลื่อนการเลือก สว.ที่ระดับอำเภอกำหนดไว้ในวันที่ 9 มิ.ย.นี้ออกไปก่อน เพื่อรอความชัดเจนการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายจากศาลรัฐธรรมนูญก่อน ซึ่งคาดหมายว่าจะมีการชี้แจงในวันนี้ (7 มิ.ย. 67)
จับตาดูทั้งกระบวนการได้มาซึ่ง สว.ทั้ง 200 คน และหน้าตา สว.ใหม่ว่าจะฝากความหวังได้หรือไม่ ต้องติดตาม
อ่านประกอบ