"...และนี่คือ ที่มาของยุทธศาสตร์สำคัญในการสร้างสำนักวิจัย ที่ “ไม่เป็นทางการ” ของ อว. โดยมีท่าน ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดอว.ตอนนั้น เป็น CEO ผมพบว่า 3 ปีที่ผ่านมา อว. มีแนวโน้มที่จะรบชนะ และกองทัพ อว. เริ่มฮึกเหิมแล้ว ผมจึงขอแนะนำให้รู้จักกับ กองทัพของผม นั่นคือ สำนักวิจัย ธัชชา ธัชวิทย์ ธัชภูมิ ซึ่งปัจจุบันเป็นกองทัพ (ไม่) ลับ ของกระทรวง อว.อย่างเต็มรูปแบบแล้วครับ..."
อาชีพที่มีความมั่นคงน้อยที่สุด คือ อาชีพอะไรครับ
เป็นคำถามที่ผมพึ่งจะเข้าใจเมื่อตอนเข้ามาทำงานวันแรกว่า “ผมเป็นคนที่มีเวลาน้อยที่สุด” ซึ่งผมก็ไม่คิดมาก่อนว่าจะได้มาอยู่ในจุดนี้ จุดที่ไม่มีความมั่นคงในอาชีพเลย ผมไม่รู้เลยว่าจะทำได้กี่วัน จะถูกโยกย้ายวันไหน
...ทำให้ผมเริ่มคิดว่า ผมจะทำงานอย่างไร ไม่ใช่เพื่อให้อยู่ในตำแหน่งนี้นานที่สุด แต่จะทำอย่างไรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด กับเวลาที่ผมไม่รู้ว่ามีอยู่เท่าไร
ผมตัดสินใจที่จะ “นำ” และ ทำงานเหมือนออกรบ ผมต้องใช้ทางลัด ทางเบี่ยง และการกระโดดก้าวใหญ่ๆ เพื่อทำให้สำเร็จ ด้วยความเร็วสูงสุด ไม่ทำไปเรื่อยๆ เพราะผมต้อง “นำ” ให้รบชนะเท่านั้น
และนี่คือ ที่มาของยุทธศาสตร์สำคัญในการสร้างสำนักวิจัย ที่ “ไม่เป็นทางการ” ของ อว. โดยมีท่าน ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดอว.ตอนนั้น เป็น CEO ผมพบว่า 3 ปีที่ผ่านมา อว. มีแนวโน้มที่จะรบชนะ และกองทัพ อว. เริ่มฮึกเหิมแล้ว ผมจึงขอแนะนำให้รู้จักกับ กองทัพของผม นั่นคือ สำนักวิจัย ธัชชา ธัชวิทย์ ธัชภูมิ ซึ่งปัจจุบันเป็นกองทัพ (ไม่) ลับ ของกระทรวง อว.อย่างเต็มรูปแบบแล้วครับ
“ธัชชา” คือ วิทยสถานด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ Thailand Academy of Social Sciences, Humanities and Arts (TASSHA) เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการวิจัย และพัฒนาบุคลากรทางด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ของประเทศ ไปสู่การสร้างคุณค่า และ มูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมของชาติ
ธัชชา ประกอบด้วย 5 สถาบัน คือ
1.สถาบันสุวรรณภูมิศึกษา ซึ่งศึกษาด้านประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิ โบราณวัตถุต่างๆ นำโดย ท่านผศ.ชวลิต ขาวเขียว ผอ.สถาบันสุวรรณภูมิศึกษา
2.สถาบันโลกคดีศึกษา เป็นการศึกษาเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านที่พัฒนามาพร้อมๆ กับประเทศไทย ตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และแนวทาง ในอนาคต นำโดย ท่านสมปอง สงวนบรรพ์ ผอ. สถาบันโลกคดีศึกษา
3.สถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ การจัดทำรวบรวมผลงานศิลปกรรมเด่นๆ ที่แสดงถึงความเป็นไทย นำโดย ท่านผศ.ชัยชาญ ถาวรเวช ผอ.สถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ
4.สถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น การรวบรวมผลงานช่างศิลปะทั่วประเทศ เพื่อนำเสนอมรดกทางวัฒนธรรมไทย สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชุมชน นำโดย ท่านดร.สิริกร มณีรินทร์ ผอ.สถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น
และ สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในโมเดลอื่นๆ นอกเหนือจากการเกษตรครับ
ซึ่งผลงานของธัชชา ทั้ง 5 สถาบัน ที่คนทั้งกระทรวงได้ร่วมแรง ร่วมใจกันทำ ล้วนแต่จะทำให้ประเทศไทยมีราคาที่สูงขึ้น และกำลัง ออกดอก ออกผลแล้วครับ ทั้งเรื่อง สุวรรณภูมิ มรดกโลกศรีเทพ พื้นที่เชื่อมโลกคอคอดกระ ห้องไทยในบริติชมิวเซียม และ อื่นๆ ซึ่งผมจะเล่าให้ฟังในตอนต่อไป
“ธัชวิทย์” คือ วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ Thailand Academy of Sciences (TAS) เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงเครือข่ายนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ สถาบันวิจัยแห่งชาติ มหาวิทยาลัย และ เอกชน มาทำงานร่วมกัน รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีอยู่ เพื่อสร้างประเทศให้มีฐานวิทยาศาสตร์ และฐานการพัฒนาคนที่เข้มแข็งและ มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเวทีโลก และนำประเทศไทยสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายใน ปี 2580 ซึ่งตอนนี้ได้ท่าน ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผอ.บพค. มาเป็นผู้ขับเคลื่อนครับ
ผมต้องขอบคุณ หน่วยงานวิจัยทุกหน่วยในกระทรวง มหาวิทยาลัยทุกแห่ง ที่ได้ทุ่มเทสรรพกำลัง และ มุ่งมั่นจน TAS เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และ เป็นศูนย์กลางการสร้างนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ชั้นสูงให้กับประเทศ เช่น ปัจจุบัน ธัชวิทย์ ร่วมกับ สวทช. มข. บพค. และ อีกหลายสถาบัน เปิดสอนระดับปริญญาเอก ในสาขาที่เป็นงานวิจัยระดับสูงซึ่งล้วนแต่เป็นหลักสูตรที่กำลัง เป็นที่ต้องการของโลกอนาคต เพื่อผลิตบุคลากรคุณภาพสูงให้กับประเทศ ใครที่สนใจผมอยากเชิญให้มาเรียนกันครับ เช่น
1. เทคโนโลยีชีวภาพชั้นแนวหน้าในศตวรรษที่ 21 (Frontier Biotechnology in the 21st Century)
2. เทคโนโลยีชีวภาพระดับนาโนเมตรและการแพทย์นาโน (Nanobiotechnology and Nanomedicine)
3. เทคโนโลยีวัสดุเซนเซอร์ขั้นสูงและวัสดุควอนตัม (Advanced Sensing and Quantum Materials)
4. วัสดุขั้นสูงสำหรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Advanced Materials for Future Industries)
5. Health and Medical Sciences (Systems Biosciences)
“ธัชภูมิ” คือ วิทยสถานเพื่อการพัฒนาพื้นที่ Thailand Academy for Area Collaboration , Innovation and Transformation (TACIT) มีภารกิจในการศึกษา ประมวล และ สังเคราะห์ ภูมิปัญญาจากพื้นที่ซึ่งมีคุณค่าสูงแต่ไม่ค่อยมีคนเห็น และ สามารถพัฒนาเป็นมูลค่าให้กับประเทศได้ ธัชภูมิ จึงต้องทำเรื่องยากๆ โดยการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านความรู้ระดับพื้นที่ เพื่อสร้างให้เกิดชุดความรู้ระดับท้องถิ่น ระดับชุมชน ที่สามารถส่งออกสู่ระดับสากล และ ผลักดันเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายของประเทศได้ ซึ่งตอนนี้มี ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผอ.บพท. และ ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย เป็นแม่ทัพอยู่ครับ
ธัชภูมิเน้นการพัฒนา เศรษฐกิจสร้างสรรค์ บนฐานทุนทางวัฒนธรรมชุมชน การสร้าง Local Enterprises เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน และยกระดับฐานะทางสังคม (Social Mobility) ให้สูงขึ้น ประกอบไปด้วย 5 สถาบันที่สำคัญครับ
1.สถาบันความรู้เพื่อจัดการทุนทางวัฒนธรรม (Cultural Capital Management Institute)
2.สถาบันความรู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Development Institute)
3.สถาบันความรู้เพื่อสร้างโอกาสทางสังคม (Poverty Alleviation & Social Mobility Enhancement Institute)
4.สถาบันความรู้เพื่อการพัฒนาเมือง (City Development Institute)
5.สถาบันความรู้เพื่อเสริมพลังท้องถิ่น (Local Government Capacity Building Institute)
ธัชชา ธัชวิทย์ ธัชภูมิ เป็นความภูมิใจของคนทั้งกระทรวง และเป็นทางลัด หรือ Shortcut ในการยกระดับประเทศให้สูงขึ้น ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งทำงานด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ และ ความยืดหยุ่น ภายใต้ฏระเบียบที่มี ทำให้ได้รับความร่วมมือจากคนเก่งๆของทุกส่วนในกระทรวง และ นอกกระทรวง โดย ไม่ยึดติดกับสถาบัน หรือ หน่วยงานของตัวเอง
เป็นความร่วมมือเฉพาะกิจแต่มีความยั่งยืน เพราะทุกส่วนต่างมีผลงานที่โดดเด่นร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนให้ไทยก้าวสู่ประเทศพัฒนาแล้วในปี 2580 ให้ได้ ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมจากความสามารถของนักวิจัยไทย และ ภูมิปัญญาไทย
คนใน อว.คิด และ สร้าง 3 ธัชนี้ขึ้นมา โดยมีเป้าหมายชัดเจนว่า ต้องทำประโยชน์ให้กับประเทศให้เร็วที่สุด และในฐานที่ผมเป็น รมว.ตอนนั้น จึงต้องใช้ยุทธศาสตร์แบบ “ทุบหม้อข้าว” ให้ทุกคนเร่งเดินทัพแบบไม่เหลียวหลัง ต้องให้มีผลงานในระยะเวลาสั้นที่สุด และใช้แผนแบบดาวกระจาย คือ ให้ทุกกองทัพเดินหน้าโดยไม่ต้องกลัวว่าจะซ้ำซ้อนกัน มีแต่เสริมกำลังและเป็นกองหนุนให้กันเท่านั้น และ ให้ทุกคนมีผลงาน ได้หน้า ได้ตา ได้ใช้ศักยภาพทั้งหมดที่ตัวเองมีถึงขั้นสุด และ ผมทำหน้าที่สนับสนุนแบบเต็มกำลัง ไปร่วม ไปเปิด ไปพูดให้ทุกงานครับ ผม และ ทีมงานทั้ง 3 ธัช เดินสายลงพื้นที่ทั่วประเทศแบบไม่มีวันหยุด เพราะอย่างที่เกริ่น.....ผมมีเวลาน้อยจริงๆ
ผมโชคดีที่ได้บุคลากรเก่งๆ ในกระทรวงมาร่วมงาน ตั้งแต่ระดับสูงสุด จนถึงระดับปฏิบัติการ ทำให้งานสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว ผมอยากชวนทุกท่านร่วมถอดบทเรียนการ “นำ” กระทรวงให้ประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลง ภายใต้เก้าอี้รัฐมนตรีของผม มาเป็นทฤษฏีใหม่ของการเป็นผู้นำประเทศ หรือ ผู้นำหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนก็ได้เช่นกัน เพราะ “นำ” แล้วต้องเปลี่ยนแปลง “นำ” แล้วคนต้องอยากตามครับ เพราะถ้าเรามีผู้นำเก่งๆเพิ่มขึ้น ประเทศเราจะมีแนวโน้มที่พัฒนาได้เร็วขึ้นครับ
ผมได้วางรากฐานไว้ในช่วงเวลา 3 ปี 1 เดือนที่ผมเป็น รมว.อว. ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีความมั่นคงน้อยที่สุด แต่บังเอิญผมโชคดีที่มาอยู่ในกระทรวง อว. ซึ่งเป็นกระทรวงที่มีคนเก่งจำนวนมาก ดังนั้น เราทุกคนจะอ้างว่า ไม่มีเวลาไม่ได้ เราควรจะทำ ให้มากที่สุด ดีที่สุด ในเวลาที่มีต่างหาก ผมโชคดีที่ได้เป็นรัฐมนตรี ตำแหน่งที่มีเวลาน้อยที่สุด แต่ต้องทำประโยชน์กับประเทศให้มากที่สุดครับ
..... เชิญทานอาหารให้อร่อยครับ
“เอกเขนก” รวมบทสนทนา (ไม่) ลับบนโต๊ะอาหารตลอด 3 ปี ที่คุณไม่เคยได้ยินของผม อดีต รมว.อว.ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กับ เรื่องราวเบื้องหลังแผนการเปลี่ยนไทยสู่ประเทศพัฒนาแล้วในปี 2580