"...โดยหลักแล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช.ต้องไต่สวนข้อเท็จจริงตามระยะเวลาตามที่มาตรา 48 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 กำหนด คือ 2 ปี ครบ 2 ปี ขอขยายเวลาได้อีก 1 ปี แต่หากไม่เสร็จตามระยะเวลา( 2+1) ต้องไต่สวนภายในอายุความตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 95 ของประมวลกฎหมายอาญา แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาสอบสวนและดำเนินการลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องกับการไต่สวนไม่เสร็จตามระยะเวลาด้วย..."
คำว่า "คดีอาญาไม่มีอายุความ" นั้น ไม่พบว่ามีบัญญัติไว้ที่ใด เพียงแต่พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 13 “ในการดำเนินคดีทุจริตและประพฤติมิชอบในกรณีผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีไปในระหว่างถูกดำเนินคดีหรือระหว่างพิจารณาคดีของศาล มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ” จึงสรุปได้ว่าคดีทุจริตและประพฤติมิชอบมีอายุความเช่นเดียวกับคดีอาญาทั่วไป เพียงแต่หากผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีไปในระหว่างถูกดำเนินคดีในชั้นไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช.หรือคณะกรรมการ ป.ป.ท. หรือจำเลยหลบหนีไประหว่างพิจารณาคดีของศาล อายุความอาญาที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 “ในคดีอาญาถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดดังต่อไปนี้ นับแต่วันกระทำความผิดเป็นอันขาดอายุความ(1) ยี่สิบปีสำหรับความผิดต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกยี่สิบปี (2) สิบห้าปีสำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าเจ็ดปี แต่ไม่ถึงยี่สิบปี (3) สิบปีสำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งปี ถึงเจ็ดปี (4) ห้าปีสำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งเดือน ถึงหนึ่งปี (5) หนึ่งปีสำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งเดือนลงมาหรือระวางโทษอย่างอื่น” จะหยุดนับลง แต่เมื่อได้ตัวผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยมาดำเนินคดี อายุความก็นับต่อไปจากที่หยุดไว้ขณะที่หลบหนี
ประเด็นคือ ผู้ถูกกล่าวหาจะต้องหลบหนีไปในระหว่างถูกดำเนินคดีชั้นไต่สวนข้อเท็จจริง ชั้นพิจารณาของพนักงานอัยการก่อนฟ้อง หรือจำเลยจะต้องหลบหนีไปในระหว่างพิจารณาคดีชั้นศาล
ตามคำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 คดีหมายเลขดำที่ อท 49/2566 คดีหมายเลขแดงที่ อท 14/2567 เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2567 ของศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบภาค 2 กรณีอ่านคำพิพากษากรณีนายกเมืองพัทยานายอิทธิพล คุณปลื้ม กับพวก ออกใบอนุญาตและต่อใบอนุญาตก่อสร้างอาคารผิดกฎหมาย ประเด็น“ฟ้องโจทก์ประเด็นข้อ 10 สำหรับจำเลยที่ 6 ถึงที่ 10 ขาดอายุความหรือไม่ ศาลพิจารณาพยานหลักฐานแล้ววินิจฉัยสรุปว่า การมีหนังสือแจ้งและคาดหมายให้จำเลยที่ 6 ถึงที่ 10 ไปพบพนักงานอัยการโดยไม่ให้เวลาแก่ผู้ถูกกล่าวหาใช้สิทธิต่อสู้คดีได้อย่างเพียงพอ จึงไม่สมควรที่จะนำพฤติการณ์การมีหนังสือแจ้งและการไม่ไปพบพนักงานอัยการของผู้ถูกกล่าวหามาวินิจฉัยเพื่อรับฟังว่าจำเลยที่ 6 ถึงที่ 10 หลบหนี คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีพฤติการณ์ไม่ได้มุ่งหมายให้การดำเนินคดีอยู่ภายในกรอบเวลาการฟ้องคดีภายในวันที่ 10 กันยายน 2566 โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 6 ถึงที่ 10 เกินระยะเวลา 15 ปี นับแต่วันที่กล่าวหาว่ากระทำความผิด คดีโจทก์จึงขาดอายุความ กรณีจึงไม่ต้องวินิจฉัยการนำบทบัญญัติกฎหมายที่แก้ไขใหม่มาใช้บังคับแก่คดีได้หรือไม่ ตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 6 ถึงที่ 10 เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป จำเลยที่ 6 ถึงที่ 10 กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 แต่คดีขาดอายุความแล้ว จึงต้องยกฟ้องโจทก์ ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง”
ตามข้อเท็จจริงนายอิทธิพล คุณปลื้ม จำเลยที่ 10 มีคำสั่งออกใบอนุญาตก่อสร้างโครงการวอเตอร์ ฟร้อนท์ สวีท แอนด์เรสซิเดนซ์ ให้แก่บริษัทบาลีฮาย จำกัด โดยไม่ชอบ เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2551 เป็นวันกระทำความผิด คดีอาญาตามมาตรา 157 มีอายุความ 15 ปี จึงต้องฟ้องได้ตัวนายอิทธิพล คุณปลื้ม มาศาลภายในวันที่ 10 กันยายน 2566
วันที่ 5 กันยายน 2566 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 ได้ออกหมายจับนายอิทธิพล คุณปลื้ม ในความผิดความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 กรณีพิจารณาออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ลงวันที่ 10 กันยายน 2551 ให้แก่บริษัท บาลี ฮาย จำกัด เพื่อก่อสร้างอาคารโครงการวอเตอร์ฟร้อนท์ฯ ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากพนักงานอัยการสำนักงานปราบปรามคดีทุจริตฯ ภาค 2 ได้นัดส่งตัวนายอิทธิพลฯ ฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2566 เเต่เมื่อถึงเวลานัดผู้ต้องหานายอิทธิพลฯ ไม่ได้เดินทางมาตามนัด ป.ป.ช.ในฐานะผู้ร้องจึงยื่นขอศาลออกหมายจับ เพื่อนำตัวยื่นฟ้องศาล ศาลพิจารณาเเล้วเห็นว่าจำเลยทราบหมายโดยชอบเเล้วไม่เดินทางมาตามนัด มีพฤติการณ์หลบหนี จึงให้ออกหมายจับในวันที่ 5 กันยายน 2566 สำหรับคดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ต้องระวางโทษจำคุก 1-10 ปี มีอายุความ 15 ปี ตามมาตรา 95 (2) ซึ่งคดีจะครบกำหนดอายุความ ในวันอาทิตย์ที่ 10 กันยายน 2566 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 จึงอนุมัติออกหมายจับภายในอายุความวันที่ 10 กันยายน 2566
วันที่ 7 กันยายน 2566 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 ได้ออกหมายจับ นายอิทธิพล คุณปลื้ม กรณีหนีคดีออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ให้แก่บริษัท บาลี ฮาย จำกัด เพื่อก่อสร้างอาคารโครงการวอเตอร์ฟร้อนท์ฯ ฉบับใหม่ไม่หมดอายุความ โดยหมายเหตุเกี่ยวกับเรื่องอายุความ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 7 บัญญัติไว้ว่า “…ถ้าผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีไปในระหว่างถูกดำเนินคดี หรือระหว่างการพิจารณาของศาล มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ…” ประกอบมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559
การออกหมายจับผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นการออกหมายจับเพื่อนำตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดี บุคคลที่ถูกออกหมายจับจะเป็นผู้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่จะต้องมีการพิจารณาคดีของศาลอีกขั้นตอนหนึ่ง และกรณีที่จะทำให้คดีทุจริตและประพฤติมิชอบอายุความหยุดลงผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องหลบหนี
ตามประเด็น“การมีหนังสือแจ้งและคาดหมายให้จำเลยที่ 6 ถึงที่ 10 ไปพบพนักงานอัยการโดยไม่ให้เวลาแก่ผู้ถูกกล่าวหาใช้สิทธิต่อสู้คดีได้อย่างเพียงพอ จึงไม่สมควรที่จะนำพฤติการณ์การมีหนังสือแจ้งและการไม่ไปพบพนักงานอัยการของผู้ถูกกล่าวหามาวินิจฉัยเพื่อรับฟังว่าจำเลยที่ 6 ถึงที่ 10 หลบหนี” การไม่พบพนักงานอัยการตามนัดทุกกรณีไม่อาจรับฟังได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาหลบหนี โดยเฉพาะประเด็นการนัดผู้ถูกกล่าวหามาพบพนักงานอัยการเพื่อฟ้องโดยไม่ให้เวลาแก่ผู้ถูกกล่าวหาใช้สิทธิต่อสู้คดีได้อย่างเพียงพอ ไม่อาจรับฟังว่าผู้ถูกล่าวหาหลบหนี
ดังนั้นอายุความคดีอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ จะหยุดหรือไม่นับรวมอายุความ เมื่อถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนี การหลบหนีเป็นสาระสำคัญที่ทำให้อายุความหยุดหรือไม่นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ “การไม่มาพบพนักงานอัยการอย่างเดียวหาเป็นเหตุที่จะถือว่าหลบหนีได้ไม่” เมื่อไม่หลบหนีอายุความไม่หยุดเมื่ออายุความไม่หยุดคดีขาดอายุความจึงฟ้องคดีไม่ได้
การไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ป.ป.ท.มีระยะเวลากำหนด หรือไม่
ประเด็นตามคำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 คดีหมายเลขดำที่ อท 49/2566 คดีหมายเลขแดงที่ อท 14/2567 “คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีพฤติการณ์ไม่ได้มุ่งหมายให้การดำเนินคดีอยู่ภายในกรอบเวลาการฟ้องคดีภายในวันที่ 10 กันยายน 2566 โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 6 ถึงที่ 10 เกินระยะเวลา 15 ปี นับแต่วันที่กล่าวหาว่ากระทำความผิด คดีโจทก์จึงขาดอายุความ”
จึงอาจมีข้อสงสัยว่าการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช.และคณะกรรมการ ป.ป.ท.มีกรอบระยะเวลาหรือไม่ เพราะทั้งสององค์กรล้วนใช้อำนาจไต่สวนเจ้าหน้าที่ของรัฐ
1. กรอบระยะเวลาไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง “เมื่อความปรากฏต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ว่าจะมีการกล่าวหาหรือไม่ ว่ามีการกระทำความผิดที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจโดยพลัน โดยในกรณีที่จำเป็นต้องมีการไต่สวน ต้องไต่สวนและมีความเห็นหรือวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในกําหนดเวลาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กำหนด ซึ่งต้องไม่เกินสองปี นับแต่วันเริ่มดำเนินการไต่สวน” วรรคสาม “ในกรณีที่มีเหตุจําเป็นอันไม่อาจดำเนินการให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง คณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจขยายระยะเวลาออกไปตามที่จำเป็นเป็นได้แต่รวมแล้วต้องไม่เกินสามปี เว้นแต่ เป็นเรื่องที่จำเป็นต้อเดินทางไปไต่สวนในต่างประเทศ หรือขอให้หน่วยงานของต่างประเทศดำเนินการไต่สวนให้ หรือขอรับเอกสารหลักฐานจากต่างประเทศ จะขยายระยะเวลาออกเท่าที่จําเป็นก็ได้” วรรคห้า “ภายใต้กำหนดอายุความ เมื่อพ้นกําหนดเวลาตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสาม หรือตามที่บัญญัติไว้ ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้แล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังคงมีหน้าที่และอำนาจที่จะดำเนินการไต่สวน และมีความเห็น หรือวินิจฉัย หรือดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป แต่ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาสอบสวนและดำเนินการลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องตามควรแก่กรณีโดยเร็ว”
จึงเห็นได้ว่านับแต่วันที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.รับเรื่องและเริ่มดำเนินการไต่สวนแล้ว
1. คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะต้องดำเนินการไต่สวนและมีความเห็นหรือวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี นับแต่วันเริ่มดำเนินการไต่สวน (มาตรา 48 วรรคหนึ่ง)
2. เมื่อครบกำหนด 2 ปี แล้วไม่เสร็จ จะต้องขอขยายระยะเวลาออกไปตามที่จำเป็นเป็นได้แต่รวมแล้วต้องไม่เกินสามปี (มาตรา 48 วรรคสาม)
เว้นแต่ เป็นเรื่องที่จำเป็นต้อเดินทางไปไต่สวนในต่างประเทศ หรือขอให้หน่วยงานของต่างประเทศดำเนินการไต่สวนให้ หรือขอรับเอกสารหลักฐานจากต่างประเทศ จะขยายระยะเวลาออกเท่าที่จําเป็นก็ได้
3. เมื่อพ้นกําหนดเวลา 2 ปี และขอขยายเวลา 1 ปีแล้ว ( 2+1) ยังไม่เสร็จคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังต้องดำเนินการไต่สวนและมีความเห็น หรือวินิจฉัย ตามหน้าที่และอำนาจต่อไป แต่ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาสอบสวนและดำเนินการลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องกับการไต่สวน
ดังนั้น โดยหลักแล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช.ต้องไต่สวนข้อเท็จจริงตามระยะเวลาตามที่มาตรา 48 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 กำหนด คือ 2 ปี ครบ 2 ปี ขอขยายเวลาได้อีก 1 ปี แต่หากไม่เสร็จตามระยะเวลา( 2+1) ต้องไต่สวนภายในอายุความตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 95 ของประมวลกฎหมายอาญา แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาสอบสวนและดำเนินการลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องกับการไต่สวนไม่เสร็จตามระยะเวลาด้วย
2. กรอบระยะเวลาไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ท. เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 62 ประกอบมาตรา 48 กล่าวคือมาตรา 62 วรรคหนึ่ง “ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่อํานวยการระดับสูงหรือ เทียบเท่าลงมามีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดในเรื่องที่มิใช่ เป็นความผิดร้ายแรง ทั้งนี้ บรรดาที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะมอบหมายให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตดำเนินการแทนคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ได้” วรรคท้าย “ในการดำเนินการไต่สวนตามหน้าที่และอำนาจตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐดำเนินการตามกำหนดระยะเวลาที่กําหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องปฏิบัติ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้”
ดังนั้นเมื่ออำนาจการไต่สวนเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามมาตรา 234 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญ ส่วนคณะกรรมการ ป.ป.ท.นั้น มาตรา 234 วรรคสอง ให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช.มอบหมาย ประกอบมาตรา 62 วรรคหนึ่ง ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 “..คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะมอบหมายให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตดำเนินการแทนคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ได้..” คณะกรรมการ ป.ป.ช.มอบหมายเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้คณะกรรมการ ป.ป.ท.ดำเนินตามอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายว่าด้วยมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตกำหนด
แต่อย่างไรก็ตาม แม้มาตรา 62 วรรคหนึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.มอบหมายให้คณะกรรมการ ป.ป.ท.ดำเนินการไต่สวนตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แต่มาตรา 62 วรรคท้าย บัญญัติให้คณะกรรมการ ป.ป.ท.ดำเนินการไต่สวนตามกำหนดระยะเวลาที่กําหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องปฏิบัติ เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีระยะเวลาในการไต่สวนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 48 คือ 2 ปี นับแต่วันที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เริ่มดำเนินการไต่สวน(วันที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติมอบหมายคณะกรรมการ ป.ป.ท.) เมื่อครบ 2 ปี ขอขยายเวลาต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้อีก 1 ปี แต่หากไม่เสร็จตามระยะเวลา( 2+1) ต้องไต่สวนภายในอายุความตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 95 ของประมวลกฎหมายอาญา แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะต้องพิจารณาสอบสวนและดำเนินการลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องกับการไต่สวนไม่เสร็จตามระยะเวลาด้วย (การขยายระยะเวลาตามมาตรา 48 เป็นอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เฉพาะ เพราะมาตรานี้ ไม่ได้บัญญัติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.มอบหมายหรือออกหลักเกณฑ์ วิธีการ ไว้)
การไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช.และคณะกรรมการ ป.ป.ท. จึงต้องไต่สวนข้อเท็จจริงภายใต้ระยะเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา 48 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561
แต่ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2566 นอกจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.และคณะกรรมการ ป.ป.ท. จะต้องไต่สวนข้อเท็จจริงภายใต้ระยะเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา 48 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 แล้วคณะกรรมการ ป.ป.ช.และคณะกรรมการ ป.ป.ท.ยังอยู่ใต้บังคับของ พระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2565 มาตรา 5 ให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ดังต่อไปนี้มีหน้าที่ดำเนินการ ตามพระราชบัญญัตินี้ (6) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (8) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งหลักการของระยะเวลาคือต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 2 ปี เมื่อครบ 2 ปี ไม่เสร็จ ให้ขอขยายต่อหัวหน้าหน่วยงาน พร้อมแสดงเหตุ และกำหนดวิธีการที่จะให้แล้วเสร็จแต่ต้องไม่เกิน 1 ปี และให้หน่วยงานแจ้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง( ผู้กล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหา ผู้เสียหาย) ทราบด้วย
ดังนั้น ปัจจุบัน คณะกรรมการ ป.ป.ช.และคณะกรรมการ ป.ป.ท. จะต้องไต่สวนข้อเท็จจริงภายใต้ระยะเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา 48 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 และตามระยะเวาที่พระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2565 บัญญัติด้วย
หมายเหตุ กรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.และคณะกรรมการ ป.ป.ท. ไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วพบว่าผู้ที่ถูกกล่าวหาไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบ กฎหมาย ที่หน่วยงานของผู้ถูกกล่าวหากำหนดบัญญัติไว้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.และคณะกรรมการ ป.ป.ท. จะชี้มูลความผิดผู้ถูกกล่าวหานั้น ทั้งทางวินัยและทางอาญา แล้วหากกรณีการไม่ปฏิบัติตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะกรรมการ ป.ป.ท.ต้องปฏิบัติแล้วเกิดความเสียหาย อย่างเช่นกรณีตามแนวคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อท 49/2566 คดีหมายเลขแดงที่ อท 14/2567 ของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 นี้
ใครจะตรวจสอบ ใครจะต้องรับผิดชอบ
อ่านประกอบ:
- โดน ม.157! ป.ป.ช.ชี้มูล 'อิทธิพล คุณปลื้ม-พวก' ออกใบอนุญาตสร้างคอนโดวอเตอร์ฟร้อนท์
- เปิดตัว บ.บาลีฮาย ผู้ขอใบอนุญาตสร้างวอเตอร์ฟร้อนท์ฯ ก่อน 'อิทธิพล คุณปลื้ม-พวก'โดนชี้มูล
- เชื่อหลบหนี! ศาลฯ สั่งออกหมายจับ 'อิทธิพล คุณปลื้ม' คดีอนุญาตสร้างคอนโดวอเตอร์ฟร้อนท์
- 10 ก.ย.คดีหมดอายุความ-หมายจับสิ้นผล! เผยเหตุ 'อิทธิพล คุณปลื้ม' หนี
- สั่งเพิกถอนโฉนดด้วย! ฉบับเต็ม มติป.ป.ช.ชี้มูลคดีคอนโดวอเตอร์ฟร้อนท์ ก่อน 'อิทธิพล' หนี
- ล่าหลักฐานหนีไปตปท.! ตำรวจ ปปป.บุกเมืองชลฯค้นบ้าน ‘อิทธิพล คุณปลื้ม’
- ชัดๆ! พฤติการณ์ 'อิทธิพล'คดีคอนโดวอเตอร์ฟร้อนท์ เร่งรีบออกใบอนุญาต พิจารณา'วันเดียวจบ'
- ทนแรงกดดันไม่ไหว! ลูกน้อง 'อิทธิพล คุณปลื้ม' โผล่มอบตัวสู้คดีคอนโดวอเตอร์ฟร้อนท์
- นำตัวส่งอัยการแล้ว! ตม. รวบ ‘อิทธิพล คุณปลื้ม’ หลังบินจากกัมพูชา คาสุวรรณภูมิ
- วางเงินสด1.2แสน! 'อิทธิพล' ได้ประกันตัวสู้คดีวอเตอร์ฟร้อนท์ หลังอ้างติดโควิดเข้าICUกัมพูชา
- เจาะไทม์ไลน์คดีวอเตอร์ฟร้อนท์ พฤติการณ์ ป.ป.ช.เป็นเหตุยกฟ้อง 'อิทธิพล' จริงหรือ?