"...การทำตามกฎระเบียบพอเป็นพิธี เต็มไปด้วยการตีความและใช้ดุลยพินิจ ทำให้ภาครัฐล้มเหลวในการป้องกันการล็อกสเปก ตั้งราคากลางสูงเกินจริง ฮั้วประมูล ทำสัญญาและบริหารสัญญาให้รัฐเสียเปรียบ ขณะที่ระบบเส้นสาย จ่ายสินบนและขั้นตอนยุ่งยาก ทำให้คนค้าขายที่มีของดีแต่ไม่อยากเสี่ยงคุก คนมีทุนน้อยหรือมีตลาดอยู่แล้ว ไม่สนใจทำการค้ากับด้วย..."
เคราะห์กรรมหรืออะไรที่ทำให้คนไทยต้องทนเห็นภาครัฐซื้อของแพงแต่มักได้ของไม่ดี บ่อยครั้งได้ของตกรุ่นล้าสมัย ซื้อแล้วไม่ได้ใช้ ใช้เดี๋ยวเดียวก็ซ่อม ประชาชนก่นด่าซ้ำแล้วซ้ำอีกก็ไม่เปลี่ยน แล้วต้องทำอย่างไรให้วงจรอุบาทว์นี้หยุดได้เสียที..?
บ่อยครั้งที่เกิดข้อถกเถียงว่า ทำไมโรงพยาบาลและศูนย์วิจัยไม่สามารถซื้อเครื่องมือเทคโนโลยีสูง ทันสมัย มากประสิทธิภาพ ตรงความต้องการ หลายหน่วยงานซื้อคอมพิวเตอร์และสินค้าไอทีตกรุ่นแล้ว ซื้อดินสอปากกาก็ได้ของราคาถูกจากจีนทั้งที่ต้องการสินค้าได้มาตรฐานที่ผลิตในประเทศ
ทบทวนความเสียหาย
การจัดซื้อฯ อาจเกิดเรื่องอื้อฉาวได้เสมอจากการกระทำของคนระดับรัฐมนตรีไปจนถึงเจ้าหน้าที่ธุรการ เช่น คดีสร้างโรงพักตำรวจ 396 แห่ง สูญเงิน 5.8 พันล้านบาท การซื้อเรือเหาะของกองทัพบก 350 ล้านบาท โครงการพิพิธภัณฑ์หอยสังข์ 1.4 พันล้านบาทที่จังหวัดสงขลา คดีถุงมือยางแสนล้านบาทของกระทรวงพาณิชย์ คดีซื้อต้นโกงกางเทียม 1.04 พันล้านบาทที่จังหวัดสมุทรปราการ คดีสนามฟุตซอล 18 จังหวัด 4.45 พันล้านบาท ฯลฯ
กรณีที่ผู้คนก่นด่าทั่วเมือง เช่น การจ้างทำป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อ 33 ล้านบาท ซื้อเสาไฟกินรีทั่วประเทศ ซื้อเครื่องตรวจหาระเบิด GT200 การโกงเด็กประจำปีคือ นมโรงเรียน โกงอาหารกลางวัน โกงชุดนักเรียน
มีนักการเมืองที่ติดคุกจริงไปแล้วจากคดีจัดซื้อจัดจ้างฯ เช่น นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ นายภูมิ สาระผล นายวัฒนา เมืองสุข นายรักเกียรติ สุขธนะ คดีทุจริตยา ฯลฯ
อะไรบ้างที่ทำให้เราจมปลักอยู่อย่างนี้
1. การ ‘โกง’ ต้นตอแห่งหายนะ
เพราะคนขายของเมื่อจ่ายสินบนแล้วย่อมต้องถอนทุนคืน จะโดยวิธีใดก็ตามเพื่อให้ได้กำไรมากๆ ทั้งบวกราคาสูงๆ ลดสเปกลดคุณภาพ ตัดการรับประกัน ก็ในเมื่อทั้งคนให้คนรับต่างสมประโยชน์ จึงปิดปากปิดข้อมูล ไม่มีใครสนใจตรวจเช็คให้มากเรื่อง
2. ‘กฎ’ ระเบียบที่มากจนล้นเกิน
ในขณะที่คอร์รัปชันชุกชุมและเจ้าเล่ห์มากขึ้น แทนที่จะรัฐจะใส่ใจเรื่องความ ‘โปร่งใส’ ตรวจสอบง่าย กลับไปเน้นเพิ่มระบบและมาตรการป้องกันที่เข้มงวดแต่ไม่ชัดเจน ระบบราชการที่ชักช้าอยู่แล้วเลยพาลยืดยาดหนักไปอีก กลายเป็นภาระ ต้นทุนแก่ทุกฝ่าย ข้าราชการทำงานยากและเสี่ยงมากขึ้น ขั้นตอนจ่ายเงินที่ล่าช้ายังเป็นต้นทุนที่คนค้าขายต้องบวกไปในราคาขายด้วย
3. ‘กลัว’ จนไม่กล้าคิดทำอะไรดีๆ หรือคิดก็ไม่กล้าทำ
กฎหมาย กฎระเบียบจากหลายหน่วยงานรวมถึง ป.ป.ช. และ สตง. ได้ตีกรอบให้ปฏิบัติตาม บังคับให้ต้องตั้งเรื่องขอซื้อ ตั้งงบประมาณ ผ่านขั้นตอนมากมายใช้เวลานานกว่าจะจบสิ้นกระบวนการ หากไม่ทำหรือทำไม่ครบถ้วนก็อาจมีความผิดถูกลงโทษได้
สภาพแวดล้อม ช่วยสร้างแรงจูงใจทางบวกหรือลบก็ได้
หากเปรียบเทียบกับบริษัทเอกชนที่ประสบความสำเร็จจะพบว่า ในการใช้เงินเขาจะประเมินผลงานด้วยการหาทางลดต้นทุน ใช้เงินอย่างคุ้มค่า เลือกคู่ค้าที่ซื่อสัตย์รับผิดชอบ
แต่ในภาครัฐ ผลจาก ‘โกง – กฎ – กลัว’ กลับสร้างแรงจูงใจทางลบมากกว่า เป็นต้นว่า
- เอาง่ายและปลอดภัยไว้ก่อน จึงเลือกซื้อของเดิมๆ จากคนขายเดิม สเปกเดิม แม้รู้ว่าของไม่ดี ประชาชนรังเกียจ เช่น ทางเท้าปูกระเบื้องข้าวเกรียบทั่ว กทม. ที่แตกพังเป็นหลุมบ่อง่าย เหยียบแล้วน้ำกระเด็น
- ตั้งงบประมาณและราคากลางเผื่อไว้สูงๆ เพราะหากตั้งไว้พอดีแล้วเกิดผิดพลาดหรือเมื่อเวลาผ่านไปนานหากของขึ้นราคาจะทำให้ซื้ออะไรไม่ได้เลย กลายเป็นความผิดแก่ตัวเอง
การตั้งราคากลางสูงบ่อยครั้งเกิดขึ้นจากการฮั้วกัน ลอกทีโออาร์ ลอกราคากลางจากหน่วยงานอื่นโดยไม่ดูรายละเอียดที่แตกต่าง หรือรับฟังข้อมูลผิดๆ จากพ่อค้า
บ่อยครั้งที่พบว่า การตั้งราคากลางในเมกะโปรเจคสูงเกินจริงถึงร้อยละ 30 หรือมากกว่า เมื่อไม่นานมานี้ในการจัดซื้อประตูอัตโนมัติป้องกันผู้โดยสารก่อนขึ้นรถไฟฟ้า (สายวิ่งข้ามไปฝั่งธนบุรี) มีราคาสูงเกินจริงราว 12 เท่าตัว เงินส่วนต่างนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเงินใต้โต๊ะให้นักการเมืองใหญ่
- ภาครัฐมีมาตรฐานการกำหนดราคากลาง คนตั้งใจโกงและหวังกำไรมากๆ ต้องเอาชนะกติกานี้ วิธีหลบเลี่ยงที่นิยมทำกันเช่น “ตั้งชื่องาน/เขียนสเปก/ใช้ศัพท์เทคนิค” ให้ต่างจากทั่วไปเล็กน้อย เห็นได้จากงานซ่อมบำรุงถนนทั่วประเทศมีการใช้ชื่อเรียกโครงการต่างกันกว่าสองร้อยแบบ
ปัจจุบันวิธีที่สร้างปัญหามากคือ ใช้ช่องว่างจากการสนับสนุนของรัฐ เช่น สินค้าบัญชีนวัตกรรม งานศิลปกรรม เอสเอ็มอี ฯลฯ เช่น เสาไฟกินรีติดโซล่าร์เซลล์ เครื่องสูบน้ำพลังแสงอาทิตย์ ฯลฯ
บทสรุป
การทำตามกฎระเบียบพอเป็นพิธี เต็มไปด้วยการตีความและใช้ดุลยพินิจ ทำให้ภาครัฐล้มเหลวในการป้องกันการล็อกสเปก ตั้งราคากลางสูงเกินจริง ฮั้วประมูล ทำสัญญาและบริหารสัญญาให้รัฐเสียเปรียบ ขณะที่ระบบเส้นสาย จ่ายสินบนและขั้นตอนยุ่งยาก ทำให้คนค้าขายที่มีของดีแต่ไม่อยากเสี่ยงคุก คนมีทุนน้อยหรือมีตลาดอยู่แล้ว ไม่สนใจทำการค้ากับด้วย
ที่น่ากลัวคือ เมื่อข้าราชการที่รู้ข้อมูลภายในรู้กฎระเบียบเป็นอย่างดี ไปจับมือกับพ่อค้าและนักการเมืองขี้โกง พวกเขาจะโกงได้ซับซ้อนแนบเนียน สามารถ “ทำเรื่องผิดด้วยวิธีอันถูกกฎหมาย” จนกล้าพูดจาท้าทายสังคมว่า “ทำถูกระเบียบเป็นไปตามขั้นตอน ใครจะชี้ว่ามีคอร์รัปชันได้อย่างไร”
สรุปคือ “รัฐท่าเยอะ เลยโกงกันแยะ” แล้วอย่างนี้เราจะหยุดวงจร “ภาครัฐซื้อของแพง แต่ได้ของไม่ดี” ให้สำเร็จเมื่อไหร่ครับ!!
ดร.มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)