"...คุณเศรษฐพุฒิ ย้ำว่า “การตัดสินใจต้องอยู่บนพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เหมาะสม อยู่ภายใต้กรอบธรรมาภิบาล (Governance Framework) มากกว่าการคำนึงถึงการผ่อนคลายทางการเมือง”..."
ณ สวนแสงธรรม พุทธมณฑล สาย 3 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567 ในระหว่างพิธีรับมอบทองคำแท่งของ คุณเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. ซึ่งได้รับมอบทองคำจำนวน 12.5 กก. จากหลวงปู่คลาด ครุธัมโม วัดป่าบ้านใหม่ อ.หนองผือ จ.อุดรธานี สืบเจตนารมณ์ของ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน เพื่อสมทบเข้าเป็นทุนสำรองเงินตราของประเทศ
คุณเศรษฐพุฒิ พูดกับผู้มาร่วมทางบุญ ว่า “รัฐบาลมาแล้วไป ผู้ว่าฯ มาแล้วก็ไป แต่สถาบันองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องอยู่ และอยู่อย่างเข้มแข็ง”
ก่อนหน้านั้น เมื่อ 29 เมษายน 2567 คุณเศรษฐพุฒิ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว CNBC ของสหรัฐในรายการ “Street Sign Asia” มีใจความสำคัญ ว่า “ธปท. ตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างเป็นอิสระ โดยไม่สนใจแรงกดดันทางการเมือง แม้ว่าจะเผชิญกับเสียงเรียกร้องให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย”
คุณเศรษฐพุฒิ ชี้ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจยังช้าอยู่ ไม่ได้ผูกโยงกับอัตราดอกเบี้ย แต่ขึ้นกับ 3 ปัจจัย คือ
1. การท่องเที่ยวยังไม่กลับมา
2. การส่งออกที่ถดถอย
3. งบประมาณแผ่นดินออกมาล่าช้า ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด
ถ้าลดอัตราดอกเบี้ยมากไป ก็จะมีการสร้างหนี้เพิ่มเป็นภาระระยะยาว จึงต้องมีการถ่วงดุลระหว่างดอกเบี้ยกับหนี้
ก่อนหน้านั้น จากกรณี ครม. มีมติ เมื่อ 23 เมย. 67 เห็นชอบหลักการ โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ธปท. ได้ออกเอกสารลับ ซึ่งในเวลาต่อมาเป็นเอกสารเปิดเผยแล้ว มีสาระสำคัญ คือ
1. ธปท. ชี้ว่า โครงการดังกล่าว จะเกิดผลกระทบภาระทางการคลัง ระยะยาว
2. การใช้เงินจำนวนมาก อาจเพิ่มความเสี่ยงที่ไทยจะถูกปรับลดอันดับความเชื่อถือ ทำให้มีงบประมาณไม่เพียงพอที่จะรองรับภาวะฉุกเฉิน
3. เงินดิจิทัลวอลเล็ต ต้องมีงบประมาณรองรับเต็มจำนวน มีแหล่งที่มาของเงินที่เจาะจงชัดเจน ในวันเริ่มโครงการ ถ้าไม่มีจะเสี่ยงขัดต่อ พ.ร.บ. เงินตรา
4. ธปท. แนะให้แจกกลุ่มเฉพาะที่เปราะบาง ทำโครงการที่เห็นผลคุ้มค่า เช่น สร้างทักษะ เรียนฟรี สร้างรถไฟ แนะให้ใช้พร้อมเพย์ ลดความซ้ำซ้อน ลดต้นทุนพัฒนาระบบ
ข้อเสนอทั้งหมดนี้ เป็นการยืนยันในภาระหน้าที่ ของ ธปท. ที่จะต้องมองภาพรวม รักษาเสถียรภาพทางการเงินการคลังของประเทศ
คุณเศรษฐพุฒิ ย้ำว่า “การตัดสินใจต้องอยู่บนพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เหมาะสม อยู่ภายใต้กรอบธรรมาภิบาล (Governance Framework) มากกว่าการคำนึงถึงการผ่อนคลายทางการเมือง”
10,000 บาท ก็ไม่ตอบสนอง ลดดอกเบี้ยก็มาแข็งขืน คุณเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีอาจจะอยาก จะปลด คุณเศรษฐพุฒิ ออกจากตำแหน่ง ผู้ว่าการ ธปท. วันละ 3 เวลา หลังอาหาร เพื่อแต่งตั้ง คนอื่นที่เรียกได้ใช้ฟังมาเป็นผู้ว่าการแทน แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะบทบาทยืนหยัดรักษาเสถียรภาพทางการเงินและการคลังของคุณเศรษฐพุฒิ เป็นที่ยอมรับของสาธารณะ ได้รับคะแนนชื่นชมไปเต็มๆ แปลว่าขณะนี้คุณเศรษฐพุฒิ มีประชาชนเป็นหลังพิงไปเรียบร้อยแล้ว ยากที่ใครจะมากดดันให้พ้นไปจากตำแหน่งได้
อาจเปรียบได้กับช่วงที่คุณอานันท์ ปันยารชุน ทั้งๆ ที่ได้รับเลือกจาก รสช. มาเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2534 - 2535 โดยมีการแต่งตั้งและโยกย้ายนายทหารที่ยึดความถูกต้องเหมาะสมเป็นหลัก ไม่ยอมให้กับความต้องการของขุนทหารบางคน แต่ รสช. ในยุคนั้นไม่สามารถลดบทบาทคุณอานันท์ได้ เพราะผลงานของรัฐบาลอานันท์ ในเวลานั้นเข้าตาประชาชน ทำให้สังคมกลายเป็นเกราะกำบังอันเข้มแข็ง รสช. อยากปลด ก็ปลดไม่ได้ เพราะประชาชนยืนหยัดหนุนเนื่องเป็นกำแพงเหล็กให้แล้ว
ในวันนี้ สังคมไทย เผชิญวิกฤตศรัทธาอย่างทั่วด้าน การเมืองที่สับปลับ การตำรวจที่แหลกเละป่นปี้ กระบวนการยุติธรรม เกือบทั้งหมดตอบสนองปรารถนาของตัวบุคคลที่เป็นนักโทษเด็ดขาด ซึ่งถ้าเป็นประเทศจีนหรือเวียดนาม ก็ถูกสั่งประหารไปแล้ว แต่ที่ไทยนักโทษกลายเป็นเทวดาที่ทั้งเหยียบย่ำและหยามหยันสังคมไทยอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งกลายเป็นความรุนแรงสั่งสมที่รอวันปะทุขึ้นมา ในอนาคตไม่นานนับจากนี้
ท่ามกลางวิกฤตศรัทธาทั่วด้าน ธปท. จึงเป็นดังไม้ยืนต้นที่ยืนต้านพายุและลมร้ายต่างๆอย่างแข็งแกร่ง
หากทบทวนข่าวเรื่องเงินดิจิตัล 10,000 บาท ก็จะพบว่า ทั้ง ดร.ธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการ ธปท. ปี 2549-2553 และคุณวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการ ธปท. ปี 2558-2563 ทั้งสองคนต่างคัดค้านนโยบายดังกล่าวมาแล้ว
ไม่นานมานี้ รายการสุทธิชัยไลฟ์ คุณสุทธิชัย หยุ่น ยังเล่าสู่กันฟังถึงการทักทายของสองผู้ว่าการ ธปท. ว่า “ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการ ธปท. พบกับ ดร. เศรษฐพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. อดีตผู้ว่าการ แซวผู้ว่าการปัจจุบันด้วยคำพังเพยภาษาฝรั่งเศสว่า “เดจาวู” (de’ja-vu) แล้วต่างก็หัวเราะให้แก่กันและกัน”
เดจาวู หมายถึง ปรากฏการณ์หรือภาพที่เคยพบเคยเห็นกันมาแล้ว นั่นแปลว่าทั้งสองคนต่างมีชะตากรรมคล้ายคลึงกัน ที่ต่างต้องรับแรงกดดันทางการเมือง การเมืองที่ตอบสนองความนิยม เพื่อให้ได้คะแนนเสียง แต่ไม่ตอบโจทย์ของประเทศชาติ
ย้อนประวัติศาสตร์ ราว 70 ปีล่วงมาแล้ว ของธนาคารแห่งประเทศไทย
ปลายปี 2496 ครม. ซึ่งมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี มีมติให้ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ พ้นจากตำแหน่ง รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ไปเป็นผู้เชี่ยวชาญกระทรวงการคลัง เพราะไปแข็งขืนกับ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ต้องการซื้อ สหธนาคาร ซึ่งเวลานั้นธนาคารนี้ทำผิดระเบียบ ธปท. กำลังจะถูกปรับ เป็นเงินหลายล้านบาท ดร.ป๋วยไม่ยอมยกเว้นค่าปรับตามคำขอของจอมพลสฤษดิ์ และไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะซื้อสหธนาคาร
อีกครั้งหนึ่ง พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ เป็น อธิบดีกรมตำรวจ และควบตำแหน่ง รมช. ก.การคลัง ซึ่งพยายามเสนอให้อีกบริษัทหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ที่ตนเองมีผลประโยชน์อยู่ด้วย ให้เข้ามาเป็นผู้จัดพิมพ์ธนบัตรไทย แทน บริษัทโทมัส เดอลารู ครม. แต่งตั้งให้ ดร.ป๋วยดูแล เรื่องนี้แล้วพบว่าบริษัทนั้นคุณภาพการพิมพ์ไม่เอาไหน และมีข่าวคราวในความไม่สุจริต ขาดความน่าเชื่อถือ จึงไม่เห็นด้วยกับ พล.ต.อ. เผ่า และยืนยันให้ใช้บริษัทเดิมพิมพ์ธนบัตรไทยต่อไป ดร.ป๋วยยังพูดว่าหากรัฐบาลเปลี่ยนโรงพิมพ์ตามเสนอ ก็จะขอลาออกจากราชการ
เวลานั้น พระบริภัณฑ์ยุทธกิจ เป็น รมต.ก.คลัง เห็นว่าดร.ป๋วย อาจไม่ปลอดภัยในชีวิตเสียแล้ว เพราะไปขัดขืนผู้ยิ่งใหญ่ที่ทุกคนต้องยอมตามกันทั้งนั้น จึงขอให้ ดร.ป๋วยไปเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐศาสตร์ประจำสถานทูตไทยในอังกฤษ
พระบริภัณฑ์ยุทธกิจ ยังเปิดเผยในภายหลังว่า ในที่ประชุม ครม. ท่านถูก พล.ต.อ. เผ่า ต่อว่า ว่า “คนของคุณพระนี่ หยิ่งมากนะ คำก็จะลาออก สองคำก็จะลาออก”
ดร.ป๋วยได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าการธนาคารชาติ ในเวลาต่อมา 12 ปีเต็ม ในฐานะผู้ว่าการ ธปท. ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ สามารถรักษาเสถียรภาพเงินตราไว้ได้อย่างแข็งแกร่ง เงินบาทได้รับความเชื่อมั่นทั้งในและนอกประเทศ การค้าขายและการลงทุนเพิ่มขึ้นมาก เงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ ตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรเป็นผลสำเร็จ
ในวันนี้ ฝ่ายการเมืองกำลังสำแดงอำนาจผ่านนโยบายประชานิยมแบบล้นเกินของพรรคการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พรรคที่จะแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่ปราศจากเหตุผลรองรับ
แต่ผู้บริหาร ธปท. เป็นคนมีกระดูกสันหลังตั้งตรง ไม่คดงอไปตามปรารถนาของฝ่ายการเมือง ดังที่ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้สร้างแบบอย่างแห่งความเป็นมืออาชีพ ถือหลักความถูกต้องมากกว่าความถูกใจ ไม่ยอมจำนนให้แก่กิเลสของฝ่ายการเมือง
เป็นอิสระ มีศักดิ์ศรี ไม่ศิโรราบให้กับอธรรม ไม่ยอมจำนนต่อฝ่ายการเมือง รักษาเนื้อ รักษาตัวไว้ให้ดี ขอทายว่า ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ จะรับภารกิจที่ยิ่งใหญ่กว่าและจะเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต