"...วัยนี้จึงเป็นช่วงนาทีทองในการรับรู้ประสบการณ์ในชีวิตจริงและหากเด็กคนใดในวัยเจริญพันธุ์ถูกผลักดันเข้าไปสู่โลกเสมือนด้วยการใช้สมาร์ทโฟนและโซเชียลมีเดียเร็วเกินไป ประสบการณ์ในชีวิตจริงของพวกเขาจะถูกปิดกั้นด้วยสมาร์ทโฟนและโซเชียลมีเดียและถูกแทนที่ด้วยประสบการณ์บนโซเชียลมีเดียที่อัลกอริทึมจัดหามาให้ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคนในวัยนี้ไม่มากก็น้อยโดยเฉพาะผลกระทบทางอารมณ์ ของเด็กหรือวัยรุ่นที่ใช้เวลาเข้าไปอยู่ในโลกเสมือนมากเกินไป ฌอน ปาร์คเกอร์ อดีตประธานเฟซบุ๊ก เคยออกมาเตือนสติไว้ว่า “ พระเจ้าเท่านั้นที่จะรู้ว่า โซเชียลมีเดียกำลังทำอะไรกับสมองเด็กๆของเรา” (God only knows what it’s doing to our chirldren’s brains)..."
ดูเหมือนว่าเรื่องของ “เด็กเชื่อมจิต” ที่เคยเป็นข่าวอยู่เมื่อปีกลายได้กลับมาโด่งดังบนพื้นที่สื่ออีกครั้ง เมื่อสำนักข่าวหลายสำนักและโซเชียลมีเดียหลายช่องได้เผยแพร่คลิปเด็กคนหนึ่งออกมาตอบโต้พิธีกรทีวีชื่อดังด้วยถ้อยคำที่เผ็ดร้อนและมีลักษณะท้าทาย นัยว่าเป็นการเอาคืนพิธีกรคนดังกล่าวที่วิพากษ์วิจารณ์การกระทำของตนเองในทางให้ร้ายทำให้ตนเองเสียหาย ซึ่งเป็นพฤติกรรมการตอบโต้ที่โตเกินวัยของเด็กอายุเพียง 8 ขวบ (อ้างอิง 1 2 และ 3)
โซเชียลมีเดีย-โลกไร้วัย
การที่เด็กคนหนึ่งใช้โซเชียลมีเดียข้ามรุ่นตอบโต้กับผู้ใหญ่อย่างดุเดือดและยังมีฝ่ายไม่เห็นด้วยออกมาตอบโต้ แถมยังมีการนำเด็กวัยเดียวกันออกมาเปรียบเทียบ ผ่านโซเชียลมีเดีย จนกลายเป็นสงครามบนโลกโซเชียลระหว่างคน 2 กลุ่ม จนถึงขั้นท้าทายหาความกันอย่างสนุกปากและกลายเป็นข่าวใหญ่นั้น ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ น่าสนใจ น่าศึกษาและแสดงให้เห็นว่าการใช้โซเชียลมีเดียในสังคมไทยได้ก้าวพ้นจาก การหาความเป็นเพื่อน ความบันเทิง การให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ การทำมาค้าขาย ฯลฯ เข้าไปสู่ ความรุนแรงในเชิงคำพูด การล้อเลียน การโจมตีซึ่งกันและกัน การแสดงออกทางความเชื่อของคนบางกลุ่มและลดระดับจากผู้ใหญ่สู่วัยเด็กอายุเพียงแค่ 8 ขวบ
สภาพแวดล้อมที่ไร้ขีดจำกัดในการใช้เครื่องมือสื่อสารทำให้ทุกคนที่มีสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตอยู่ในมือไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ สามารถเข้าถึงคอนเทนต์และใช้โซเชียลมีเดียได้ง่ายขึ้นและเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะอยู่ในวัยใดก็ตาม เท่ากับว่าเราแทบจะไม่มีเกราะป้องกันใดๆเลยจากคอนเทนต์ทุกรูปแบบบนโซเชียลมีเดีย แม้ว่าแพลตฟอร์มบางแพลตฟอร์มจะกำหนดอายุขั้นต่ำสำหรับการเข้าถึงเอาไว้ แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่สามารถปิดกั้นการเข้าถึงได้เพราะบนโลกออนไลน์นั้นไม่มีใครรู้ว่า คุณคือใครและอายุเท่าไร ความเป็นเด็กความเป็นผู้ใหญ่จึงแทบไร้ความหมายไปทันทีที่ทุกคนเข้าไปอยู่ในโลกเสมือน เพราะทุกคนอายุเท่ากันหมด
คำพูดตอบโต้ของเด็กต่อพิธีกรคนดังกล่าวยังมีข้อสังเกตเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า คำว่า วัยวุฒิ ซึ่งถือเป็นสิ่งแสดงการนับถือกันในโลกแห่งความจริงของสังคมไทยในฐานะผู้ใหญ่ที่เคยอาบน้ำร้อนมาก่อนกลับถูกโลกเสมือนทำลายลงจนหมดสิ้น เพราะไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่จะถูกปฏิบัติราวกับว่าทุกคนอยู่ในวัยเดียวกันโดยไม่มีกำแพงอายุมาขวางกั้น ซึ่งเป็นภาวะที่ขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิงกับโลกแห่งความเป็นจริง
โลกจริง vs โลกเสมือน - โลกที่แตกต่าง
ใครต่อใครในโลกนี้ต่างรู้ดีว่ามนุษย์คือสัตว์สังคมที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกันซึ่งเป็นธรรมชาติที่มนุษย์ดำรงคุณสมบัตินี้มามานานนับล้านๆปีแล้ว มนุษย์ในโลกแห่งความเป็นจริงจึงปฏิบัติตามกฎของธรรมชาติเสมอมา ก่อนที่ความสัมพันธ์เหล่านี้ค่อยๆเปลี่ยนไปเมื่อเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียมาถึง
มนุษย์ในโลกแห่งความจริง (อ้างอิง4)
-มนุษย์มีความสัมพันธ์กับมนุษย์ด้วยกัน แบบมีตัวตน(Embody) ซึ่งหมายความว่ามนุษย์ใช้ร่างกายซึ่งเป็นตัวตนของตัวเองในการติดต่อสื่อสารกับผู้อื่น มีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวตนของเรากับตัวตนของผู้อื่นจริงๆซึ่งหน้า
-มนุษย์มีความสัมพันธ์กับมนุษย์ด้วยกัน ภายเวลาเดียวกัน(Synchronous) ซึ่งหมายความว่าการติดต่อสื่อสารกับใครก็ตามจะเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน โต้ตอบกันด้วยจังหวะที่สอดคล้องกันภายในช่วงเวลาหนึ่งๆ
-มนุษย์สามารถมีความสัมพันธ์กับมนุษย์ด้วยกัน แบบหนึ่งคนต่อหนึ่งคนหรือหนึ่งคนกับหลายคน(One to one/One to many)ได้ แต่การสื่อสารกับใครก็ตามจะทำได้ในช่วงเวลาเดียวเท่านั้น
-ความสัมพันธ์ของมนุษย์ กับกลุ่มคนในสังคมเป็นแบบ เข้ายาก-ออกยาก(High bar for entry and exit) ซึ่งหมายถึง ความสัมพันธ์กับคนในสังคมมีความคุ้มค่าที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมและมนุษย์จะพยายามรักษาความสัมพันธ์นั้นไว้โดยหลีกเลี่ยงที่จะสร้างความรู้สึกบาดหมางหรือขุ่นเคืองใดๆ
มนุษย์ในโลกเสมือน(อ้างอิง4)
ในขณะที่โลกโซเชียลซึ่งเป็นโลกเสมือนนั้น ทำให้ความสัมพันธ์ของมนุษย์ข้างต้นปรับเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง การแสดงออกระหว่างมนุษย์กับมนุษย์กระทำโดยผ่านตัวกลางซึ่งกลายเป็นความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ที่ตรงกันข้ามกับการเผชิญหน้ากันโดยตรง
-มนุษย์มีความสัมพันธ์กับมนุษย์ด้วยกัน แบบไร้ตัวตน(Disembodied) ซึ่งหมายถึงการสื่อสารโดยผ่านตัวกลางโดยไม่ต้องปรากฏตัวต่อหน้า เป็นการใช้ภาษาในการสื่อสารแทนการแสดงตัวตน
-มนุษย์มีความสัมพันธ์กับมนุษย์ด้วยกัน ในแบบ ไม่พร้อมกัน(Asynchronous) ซึ่งหมายความว่าการ ติดต่อสื่อสารกับใครก็ตามอาจเกิดขึ้นต่างเวลากัน ด้วยการส่ง ข้อความ ภาพ ความเห็นฯลฯ ซึ่งสามารถย้อนมาเปิดอ่านในเวลาใดก็ได้ภายหลัง
- โลกเสมือนสามารถที่จะทำให้มนุษย์ติดต่อกันได้ทั้งแบบหนึ่งคนต่อหนึ่งคนและแบบหนึ่งคนต่อหลายคน การโต้ตอบต่างๆจากคนกลุ่มใหญ่จึงสามารถเกิดขึ้นคู่ขนานกันได้พร้อมๆกัน
-ความสัมพันธ์ของมนุษย์ กับกลุ่มคนในสังคมออนไลน์เป็นแบบ เข้าง่าย ออกง่าย(Low bar for entry and exit) ซึ่งหมายความว่าการจะเข้าไปร่วมกิจกรรมกับใครสามารถทำได้ง่ายเพียงคลิกเดียวโดยไม่ต้องใช้ความพยายามมากนักและใครก็ตามอาจจะเลิกคบหรือเลิกชอบกับใครก็ได้ด้วย การบล็อก(Block) เลิกติดตาม(Unfollow) หรือ เลิกเป็นเพื่อน(Unfriend)ได้ในทันที ความสัมพันธ์ในโลกออนไลน์จึงเป็นความสัมพันธ์ที่เปราะบางที่พร้อมจะแตกหักได้ตลอดเวลา
โลกแห่งความเป็นจริงกับโลกเสมือนจึงเป็นโลกที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่เรามักมองข้ามผลกระทบในทางลบจากการอยู่ในโลกเสมือนไป เพราะเราได้ประโยชน์เฉพาะหน้า โดยหารู้ไม่ว่าการไม่ได้ปรับจูน ความแตกต่างระหว่างโลกทั้งสองเข้าด้วยกันจะส่งผลกระทบต่อตัวเองและสร้างเรื่องราวให้ผู้คนในสังคมสับสนมากเพียงใด
การสูญเสียความยับยั้งชั่งใจในโลกออนไลน์
หากมองข้ามที่มาที่ไปของเรื่องราว การเชื่อมจิตที่ทำให้เกิดวิวาทะอันเกิดจาก ความเชื่อ ความงมงายและอภินิหารของเด็กที่ทำให้ผู้คนและแม้แต่พระสงฆ์แห่แหนกันไปกราบไหว้ จนถูกมองจากคนส่วนใหญ่ว่าเป็นลัทธิประหลาดไปก่อนและหันมาดูเฉพาะการแสดงออกของเด็กและผู้ปกครองที่เป็นข่าวในแง่มุมของจิตวิทยาบนโซเชียลมีเดีย จะเห็นได้ว่า เด็กพูดจาฉะฉานและแสดงออกอย่างมั่นอกมั่นใจโดยปราศจาก ความเกรงกลัวหรือความเกรงใจใดๆต่อฝ่ายตรงข้ามที่เป็นผู้ใหญ่คราวพ่อต่อหน้ากล้องที่กำลังบันทึกภาพ
แสดงให้เห็นว่าโลกออนไลน์ซึ่งเป็นโลกเสมือนของมนุษย์นั้น นอกจากอายุจะไร้ความหมายแล้ว ยังทำให้มนุษย์กล้าที่จะแสดงออกผ่านการไลฟ์สดก็ดีหรืออัดคลิปก็ดีโดยไม่สนใจต่อความรู้สึกของใครต่อใครทั้งสิ้น ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อใครเลยโดยเฉพาะกับตัวเด็กที่ควรได้รับการปกป้องจากภัยในโลกโซเชียลและน่าเชื่อได้ว่าการกระทำของเด็กได้รับการกำกับจากแม่และพ่อที่นั่งอยู่ข้างๆ เพราะในโลกแห่งความจริงหากทุกฝ่ายได้เผชิญหน้ากันแบบตัวเป็นๆ กิริยา อาการ คำพูดและการแสดงออกโต้ตอบกันอย่างที่เห็นในคลิปผ่านโซเชียลมีเดีย คงไม่ปรากฏให้เห็น
การที่เด็กและพ่อแม่แม่แสดงอาการตอบโต้กับฝ่ายตรงข้ามบนโซเชียลมีเดียในลักษณะดังกล่าวจึงอาจเข้าข่ายอาการที่เรียกว่า การสูญเสียความยับยั้งชั่งใจในโลกออนไลน์(Online disinhibition effect) หรือ ภาวะที่คนมีตัวตนในออนไลน์ก้าวร้าว/รุนแรงกว่าตัวจริง อันเกิดจากปัจจัยทางจิตวิทยา 6 ประการ ได้แก่ 1. การที่ไม่ต้องเปิดเผยตัวทำให้บุคลิกตัวตนออนไลน์แยกจากตัวจริง 2.การมองไม่เห็นหน้ากัน 3.การไม่เป็นไปตามกันระหว่างตัวจริงกับตัวตนในออนไลน์ 4.การมีแนวคิดและนิสัยในกลุ่มไปทางเดียวกันและยึดเป็นศูนย์กลาง 5.การมีจินตนาการเบี่ยงไปจากตัวจริง 6.การ(คิดว่า)ปลอดจากเจ้าหน้าที่และกฎเกณฑ์ต่างๆ (อ้างอิง 5)
ปัจจัยข้างต้นจึงสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากการใช้โซเชียลมีเดียในการติดต่อสื่อสารหรือแสดงความเห็นที่มักจะเบี่ยงเบนพฤติกรรมผู้คนให้ กล้าขึ้น หยาบคายขึ้น และก้าวร้าวขึ้น จนหมดความเกรงใจคนอื่นๆโดยไม่รู้ตัวและสามารถจะเกิดขึ้นกับใครก็ได้บนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กที่ยังอยู่ในวัยที่ต้องการเรียนรู้ประสบการณ์ในโลกแห่งความจริงที่จะต้องสะสมภูมิคุ้มกันให้มากพอก่อนที่จะเข้าไปผจญกับโลกออนไลน์ซึ่งเป็นโลกใหม่ที่มนุษย์ยังไม่คุ้นเคย
ครอบครัว Digital native – พ่อแม่รังแกฉัน
เด็กวัย 8 ขวบ เป็นเด็กที่อยู่ใน เจเนอเรชัน (Generation) ล่าสุดของมนุษย์ ที่เรียกกันว่า เจน แอลฟา (Alpha Generation) หรือ เจนโพลา(Polar Generation) ซึ่งการเกิดจะอยู่ในช่วงปี 2556-2572 และ พ่อ-แม่เด็กอาจอยู่ใน เจเนอเรชัน X เจเนอเรชัน มิลลิเนียล (Millennial เดิมเรียก Gen Y) หรืออาจลดลงมาถึง เจเนอเรชัน Z (Gen Z) ได้ (อ้างอิง 6)
ถ้า พ่อ แม่ ของ เด็ก เจน โพลา อยู่ใน เจน มิลลิเนียล (เกิดระหว่าง พ.ศ. 2523 – 2537) คนในเจนเนอเรชันนี้จะเรียกว่าเกิดมาพร้อมกับยุคดิจิทัลหรือ Digital native ยุคแรก ก็ว่าได้ แม้ว่าพวกเขาเกิดก่อนยุค สมาร์ทโฟน แต่พวกเขาก็เติบโตขึ้นมาในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลกำลังเริ่มมีบทบาทสำคัญในโลก เพราะในช่วงอายุเฉลี่ยที่คนเจนเนอเรชันนี้เกิดมากที่สุดเป็นช่วงที่อินเทอร์เน็ตถูกนำมาใช้งานเชิงพาณิชย์ขณะพวกเขามีอายุราว 8 ขวบ
เมื่อคนใน เจน มิลลิเนียล เติบโตขึ้นจนถึงอายุราว 13 ปี อินเทอร์เน็ตบ้านเริ่มมีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของผู้คนและขณะที่พวกเขามีอายุราว 19 ปี เฟซบุ๊ก เริ่มเป็นที่รู้จักของคนทั่วทั้งโลก จนกระทั่งเมื่อพวกเขามีอายุราว 25 ปี คนเหล่านี้เริ่มได้ใช้สมาร์ทโฟนและโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่างๆ สมาร์ทโฟนกับโซเชียลมีเดียจึงเริ่มกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันเมื่อพวกเขาอยู่ในวัยเบญจเพส ขณะในที่ช่วงวัยเจริญพันธุ์และวัยรุ่นพวกเขายังไม่มีโอกาสพกพาสมาร์ทโฟนไว้ในกระเป๋าเหมือนกับคนใน เจน Z ซึ่งเป็นเจนเนอเรชันที่ต่อจากพวกเขา (ใช้ข้อมูลเกณฑ์อายุในการรับเทคโนโลยีมาใช้งานของสหรัฐอเมริกา-อ้างอิง 6)
เมื่อคนในเจนเนอเรชันนี้แต่งงานและมีลูก ลูกๆของพวกเขาซึ่งเรียกกันว่า เจนโพลา จึงเกิดมาภายใต้ความเป็น Digital native ยุคแรกของ พ่อ แม่ ที่รายล้อมไปด้วย สมาร์ทโฟน แท็บเล็ตและโซเชียลมีเดีย การอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งการเกิดมาภายใต้ร่มเงาของ พ่อแม่ที่มีความเป็น Digital native ยุคแรก จึงทำให้เด็ก เจน โพลา มองเห็นสิ่งเหล่านี้เป็นความธรรมดาและคิดว่าตัวเองน่าจะมีสิทธิ์ที่จะใช้เทคโนโลยีเหล่านี้เหมือนกับ พ่อ แม่ด้วยและหากได้รับการสนับสนุนจากพ่อ แม่ให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ได้โดยง่าย พวกเขาจึงต้องติดอยู่กับเทคโนโลยีเหล่านี้แทบตลอดเวลาเช่นเดียวกับคนในเจนเนอเรชันอื่นๆที่เสพติดโซเชียลมีเดียกันงอมแงม
ถ้า พ่อ แม่ ของเด็ก เจนโพลา อยู่ใน เจน Z (เกิดระหว่าง พ.ศ. 2538-2556) หรือที่รู้จักกันในชื่อ iGen (Internet generation) คนใน เจน Z ถือเป็นกลุ่มคน เจนเนอเรชัน แรก ที่ใช้ชีวิตในช่วงวัยรุ่นท่ามกลาง สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต โซเชียลมีเดีย และคนกลุ่มนี้เองที่มีวิถีชีวิตที่ต่างออกไปจากผู้คนในเจนเนอเรชันก่อนหน้า เพราะพวกเขาใช้เวลาปฏิสัมพันธ์กับคนในโลกออนไลน์มากกว่าการปฏิสัมพันธ์กับคนในโลกแห่งความจริงเสียอีก.
เด็ก เจนโพลา ซึ่งเป็นลูกๆของพวกเขาจึงอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ต่างจากพวกเขามากนักหรืออาจมากกว่าด้วยซ้ำ เพราะแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ทั้ง เฟซบุ๊ก ยูทูป TikTok IG ฯลฯ เตรียมพร้อมรอพวกเขาอยู่แล้วตั้งแต่ยังเยาว์วัย และ หากได้รับการส่งเสริมจากพ่อแม่ที่เป็น Digital native เต็มตัวหรือพ่อแม่ที่ไม่ใส่ใจต่อภัยจากโซเชียลมีเดีย ยิ่งทำให้เด็กเหล่านี้สามารถเข้าถึงโซเชียลมีเดียได้อย่างสะดวกสบาย และใช้เวลาบนโลกเสมือนมากเสียกว่าพบปะกับผู้คน อายุของเด็กที่ใช้โซเชียลมีเดียจึงลดลงเรื่อยๆจากเจนเนอเรชันสู่เจนเนอเรชัน
เด็กใน เจนโพลาซึ่งเป็นเด็กยุค Digital native รุ่นล่าสุด ทั้งที่เกิดจาก พ่อแม่ เจน มิลลิเนียล และเจน Z จึงเป็นเด็กที่อยู่กับเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียมาตั้งแต่เกิดและมีความเป็นไปได้ที่พวกเขาจะขาดโอกาสการสัมผัสผู้คนและเรียนรู้ประสบการณ์ในโลกแห่งความเป็นจริงตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะพ่อและแม่ได้ผลักดันให้ลูกเข้าไปอยู่ในโลกออนไลน์เร็วเกินไปจนทำให้พื้นที่แห่งความเป็นเด็กที่ต้องการ การเล่น การสัมผัสกับมนุษย์ การเข้ากลุ่มทำกิจกรรมกับเพื่อน ฯลฯ หายไป ทั้งจากการ เลี้ยงลูกด้วยโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ตแทนการเลี้ยงดูแบบมนุษย์ปฏิบัติกับมนุษย์ด้วยกันและสนับสนุนให้ลูกใช้โซเชียลมีเดียในกิจกรรมต่างๆอย่างแทบไม่มีขีดจำกัดโดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อชีวิตของเด็กที่จะเติบโตขึ้นในภายหน้า
“หน้าต่างเวลา” กับประสบการณ์ที่หายไป
การที่เด็กเล็กจะเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่นั้น ในแต่ละช่วงวัยจะมีกระบวนการเปลี่ยนผ่านซึ่งเกิดจากการพัฒนาทางร่างกายและการพัฒนาการทางสมองตามลำดับ ประสบการณ์ที่ได้รับในแต่ละช่วงวัยของการเจริญเติบโตจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเด็กที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สังคมยอมรับหรือถือว่าประสบความสำเร็จในสังคมนั้นๆ เพราะการเรียนรู้ของเด็กในช่วงเวลาหนึ่งๆเป็นเสมือนการเปิด “หน้าต่างเวลา” (Window of time) ที่ให้โอกาสเด็กได้เรียนรู้ประสบการณ์หลายอย่าง ณ เวลานั้น เช่น การเรียนรู้ที่จะปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่และคนในครอบครัว การเรียนรู้ที่จะเล่นกับเพื่อน หรือการเรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้ากับสังคม ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงวัยหนึ่งเท่านั้น
เมื่อเวลาผ่านไป หน้าต่างเวลาสำหรับการเรียนรู้บางอย่างสำหรับวัยนั้นจะถูกปิดลง การเรียนรู้ประสบการณ์บางอย่างในช่วงอายุของมนุษย์ที่หน้าต่างเวลาถูกปิดลงแล้วจึงเป็นเรื่องที่ยากหรือแทบเป็นไปไม่ได้เลย “หน้าต่างเวลา” จึงเป็นช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ที่สำคัญของมนุษย์ที่ต้องฉกฉวยไว้เพราะเราไม่สามารถหวนกลับไปเปิดหน้าต่างเวลาบานนั้นได้อีกแล้วเมื่อเติบโตถึงวัยหนึ่ง
“หน้าต่างเวลา” จึงเป็นช่วงเวลาวิกฤติของเด็กที่ต้องเรียนรู้ประสบการณ์รอบตัวในฐานะมนุษย์ จึงเป็นที่น่าเสียดายหากช่วงเวลาเหล่านี้ขาดหายไป เพราะถูกปิดกั้นด้วยสมาร์ทโฟนและการทุ่มเทเวลาให้กับแพลตฟอร์ม TikTok ยูทูป เฟซบุ๊ก IG ฯลฯ ซึ่งหยิบยื่นคอนเทนต์มากมายมาให้เด็กเกือบตลอดเวลา การได้รับประสบการณ์จึงเป็นกุญแจสำคัญนำไปสู่การพัฒนาการทางอารมณ์ มิใช่การได้รับข้อมูลจากโซเชียลมีเดียแต่เพียงอย่างเดียว
รูปแสดงหน้าต่างเวลาของมนุษย์เปรียบเทียบกับโซเชียลมีเดียในโลกเสมือน
วัยไหน “ควร” หรือ “ ไม่ควร” ใช้โซเชียลมีเดีย
เด็กยุคใหม่มักชื่นชอบสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตเป็นพิเศษ เพราะนอกจากได้เห็น พ่อแม่ ของพวกเขาใช้อุปกรณ์เหล่านี้อยู่แทบตลอดเวลาแล้ว แสง เสียง และภาพ บนจอโทรศัพท์และแท็บเล็ตมักดึงดูดความสนใจแก่เด็กเสมอ อย่างไรก็ตาม สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตไม่ได้เหมาะกับคนทุกวัย เพราะหากเด็กกำลังอยู่ในวัยที่ต้องการเรียนรู้ประสบการณ์ของชีวิตจริงแต่กลับถูกเครื่องมือเหล่านี้แย่งเวลาอันมีคุณค่าไป จะทำให้พวกเขาพลาดโอกาสในการปรับตัวเพื่ออยู่กับความเป็นจริงร่วมกับคนอื่นๆในสังคม
ลองจินตนาการดูว่าหากเด็กขาดประสบการณ์ในโลกแห่งความเป็นจริงในบางช่วงเวลาและเข้าไปอยู่ในโลกเสมือนแทน ด้วยการจัดการของอัลกอริทึมจาก ยูทูบ หรือ TikTok ที่ป้อนคอนเทนต์ต่างๆมาให้ตลอดเวลา พวกเขาจะมีโอกาสถูกเทคโนโลยีเหล่านี้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปจากเด็กปกติมากขนาดไหน หากพูดภาษาทางเทคนิคก็คงพูดได้ว่า จุดอ่อนทางจิตวิทยาของเด็กเหล่านี้กำลังถูกหาประโยชน์ด้วยการถูกแฮกจากบรรดาแพลตฟอร์มต่างๆโดยที่พวกเขาไม่รู้ตัวด้วย วงจรการยอมรับทางสังคม (Social-validation feedback loop) ที่แพลตฟอร์มสร้างขึ้น จนทำให้เด็กต้องจดจ่ออยู่กับการสร้างคอนเทนต์และการยอมรับที่จะได้จากการกดไลค์ แชร์ หรือ โลโก้ รูปหัวใจอย่างไม่สิ้นสุด จนยากที่จะออกไปจากแพลตฟอร์มนั้นได้
ถึงวันนี้ยังไม่มีใครบอกได้ว่าอายุที่แน่นอนเท่าไรจึงสามารถใช้โซเชียลมีเดียได้อย่างปลอดภัยและเหมาะสม แต่คำแนะนำจากแพทย์และนักจิตวิทยาที่รับรู้กันทั่วโลกคือต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 ปี อยู่กับหน้าจอและควบคุมเวลาอยู่หน้าจอและใช้อุปกรณ์ประเภทสมาร์ทโฟนอย่างเหมาะสมตามวัยสำหรับเด็กโตหรือประวิงเวลาการยอมให้เด็กใช้สมาร์ทโฟนและโซเชียลมีเดียออกไปให้มากที่สุด ดังนั้นการลดเวลาการอยู่หน้าจอสำหรับคนทุกวัยคือคำแนะนำที่ควรปฏิบัติเพื่อลดผลกระทบต่อ สุขภาพกาย สุขภาพจิต และเพิ่มความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง รวมทั้งเปิดหน้าต่างเวลาเพื่อให้เด็กวัยกำลังพัฒนาตัวเองอยู่ในโลกแห่งความจริงมากยิ่งขึ้นและลดโอกาสไม่ให้คอนเทนต์ที่เป็นภัยเข้ามาสู่สายตาของเด็ก
อย่างไรก็ตามผลการศึกษาพบว่าวัยที่อ่อนไหวของมนุษย์ต่อการรับรู้ประสบการณ์มากที่สุดคือวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งมีอายุราว 9-15 ปี เพราะขณะเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ จะมีการเร่ง กระบวนการที่เรียกว่า การตัดแต่งสมอง( พรุนนิ่ง :Pruning)และการเติมไมอีลีน(Myelination) ในสมอง ซึ่งหมายความว่า สมองที่ตัดแต่งเรียบร้อย จัดระเบียบได้ดีกว่า ความเร็วของการส่งสัญญาณประสาทก็จะเร็วกว่า ร่วมกับ การเติมสารไมอีลีนลงบนเส้นประสาท ซึ่งเส้นประสาทที่มีสารไมอิลีนมากกว่าก็จะส่งสัญญาณประสาทได้เร็วกว่า เร็วกว่าเป็นพันเท่า(บทสัมภาษณ์ น.พ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์-อ้างอิง 7)
ช่วงเวลานี้เองหากมีการเบี่ยงเบนประสบการณ์ของเด็กจากสิ่งที่ควรจะได้รับ จะเกิดผลกระทบค่อนข้างมากและจะคงอยู่ในสถานะนั้นๆตลอดไป วัยเจริญพันธุ์จึงเป็นวัยที่โซเชียลมีเดียสามารถจะทำร้ายเด็กได้ง่ายที่สุด เพราะเด็กในวัยนี้ไม่สามารถที่จะรับมือกับ ความเป็นไวรัลของคอนเทนต์ของตัวเอง ความไร้ตัวตนบนโลกเสมือนรวมทั้ง ผลลัพธ์ที่พยากรณ์ไม่ได้ และที่สำคัญคือการที่เด็กไม่สามารถรับมือกับความอับอายจากการถูกประณามจากคนกลุ่มใหญ่บนโลกออนไลน์ได้
วัยนี้จึงเป็นช่วงนาทีทองในการรับรู้ประสบการณ์ในชีวิตจริงและหากเด็กคนใดในวัยเจริญพันธุ์ถูกผลักดันเข้าไปสู่โลกเสมือนด้วยการใช้สมาร์ทโฟนและโซเชียลมีเดียเร็วเกินไป ประสบการณ์ในชีวิตจริงของพวกเขาจะถูกปิดกั้นด้วยสมาร์ทโฟนและโซเชียลมีเดียและถูกแทนที่ด้วยประสบการณ์บนโซเชียลมีเดียที่อัลกอริทึมจัดหามาให้ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคนในวัยนี้ไม่มากก็น้อยโดยเฉพาะผลกระทบทางอารมณ์ ของเด็กหรือวัยรุ่นที่ใช้เวลาเข้าไปอยู่ในโลกเสมือนมากเกินไป ฌอน ปาร์คเกอร์ อดีตประธานเฟซบุ๊ก เคยออกมาเตือนสติไว้ว่า “ พระเจ้าเท่านั้นที่จะรู้ว่า โซเชียลมีเดียกำลังทำอะไรกับสมองเด็กๆของเรา” (God only knows what it’s doing to our chirldren’s brains)
จากผลการศึกษาข้างต้น นักจิตวิทยาบางคนจึงเห็นว่าอายุที่เหมาะสมสำหรับการใช้โซเชียลมีเดียตามกฎหมายขั้นต่ำควรจะอยู่ที่ 16 ปี ซึ่งพ้นจากวัยเจริญพันธุ์มาแล้วและ มีเหตุผลทางวิชาการรองรับและ บางประเทศ เช่น สหราชอาณาจักรกำลังเตรียมออกกฎหมายห้ามขายสมาร์ทโฟนให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี และ รัฐฟลอริดา ของสหรัฐอเมริกาได้ผ่านกฎหมายห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปีมีบัญชีโซเชียลมีเดีย และเด็กอายุ 14-16 ปี ต้องได้รับการอนุญาตจากพ่อแม่โดยจะมีผลบังคับใช้ 1 มกราคม 2568 รวมทั้งรัฐอื่นๆที่กำลังเตรียมผลักดันกฎหมายประเภทเดียวกันออกมาใช้บังคับ เป็นต้น (อ้างอิง 8 และ 9) ในขณะที่บ้านเรา ประเทศไทยดูเหมือนจะยังสบายๆต่อปัญหาเหล่านี้อยู่
ดังนั้น การตระหนักรู้ การสร้างความเข้าใจและการเลี้ยงลูกให้อยู่กับความเป็นจริงเพื่อให้ความเป็นมนุษย์ยังคงอยู่กับเด็ก รวมทั้งสร้างกลไกป้องกันและรับมือเมื่อเกิดปัญหาจากการใช้ สมาร์ทโฟนและโซเชียลมีเดีย จึงมีความจำเป็นสำหรับมนุษย์ เพราะทุกคนในโลกนี้จะได้รับผลกระทบและเผชิญกับปัญหาจากเทคโนโลยีเหล่านี้ด้วยกันถ้วนหน้าไม่ว่าจะเป็นคนในเจนเนอเรชันใดและอยู่มุมไหนของโลกก็ตาม
อ้างอิง
1. https://mgronline.com/crime/detail/9660000113385
2. https://www.springnews.co.th/news/hot-issue/846144
3. www.youtube.com/watch?v=0q_2bfr2MI0
4. The Anxious Generation โดย Jonathan Haidt
5.การสูญเสียความยับยั้งชั่งใจในโลกออนไลน์ https://www.appdisqus.com/the-online-disinhibition-effect/
6. Generations โดย Jean M. Twenge
7. https://www.rlg-ef.com/พลังสมอง-ef-เด็กไทย-สร้างได้/
8.https://www.theguardian.com/technology/2024/apr/10/uk-ministers-considering-banning-sale-of-smartphones-to-under-16s
9.https://www.cnet.com/tech/florida-bans-kids-under-14-from-having-social-media-accounts-heres-whats-going-on/
ภาพประกอบ
https://www.lifespan.org/lifespan-living/screens-violence-and-impact-children