"...บ้านเรานักดื่มบางส่วนมีทัศนะว่าถึงดื่มก็ขับรถได้ถ้ามีสติ (ผลสำรวจโดยมูลนิธิไทยโรดส์ พบ 1/5 ผู้ตอบระบุว่าดื่มก็สามารถขับรถได้ถ้ามีสติและไม่คิดว่าเมา) รวมทั้งกลุ่มที่กล้าออกมาขับรถก็มักไม่กลัวถูกจับ เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่ได้เจอด่านตรวจวัดแอลกอฮอล์เพราะจำนวนด่านมีจำกัดเพียงบางจุดบางพื้นที่ ที่สำคัญเมื่อเจอด่านตรวจแม้มีผลตรวจแอลกอฮอล์เกินกฎหมายส่งฟ้องศาล พบว่าบทลงโทษโดยทั่วไปถ้าสารภาพก็จะลดกึ่งหนึ่งทั้งโทษปรับและโทษจำคุกมักจะให้รอลงอาญา เหมือนประโยคที่มีการพูดบ่อยๆ ในกลุ่มนักดื่มว่า เมาแล้วขับ=จำปรับรอ..."
จากเหตุการณ์ อดีตผู้บริหารบริษัทชื่อดังระดับโลกถูกจับกุมข้อหาเมาแล้วขับ ตรวจวัดแอลกอฮอล์ได้ 104mg% สูงเกินกฎหมายกำหนด แต่ระหว่างดำเนินคดีได้แสดงการขัดขืน ด่าทอ ใช้เท้าถีบหน้ารอง ผกก.5 บก.จร.เมื่อกลางดึกคืนวันที่ 23 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา https://www.dailynews.co.th/news/3380821/ จนเป็นกระแสในสังคมเนื่องจากมีคลิปการขัดขืนการจับกุมดำเนินคดี แม้ว่าตำรวจจะมีการปฎิบัติตามขั้นตอนได้ดี โดยมีการแสดงความเห็นทั้งเรื่องบริษัทต้นสังกัดมาร่วมแสดงความรับผิดชอบ การที่ตำรวจระบุความผิดซ้ำ เพราะเคยถูกจับข้อหาเมาแล้วขับเมื่อสิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งในด้านคดีความ ตำรวจเตรียมแจ้ง 3 ข้อหา คือ เมาแล้วขับ, ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติหน้าที่ และทำร้ายร่างกาย (ส่วนประวัติเคยถูกจับดำเนินคดีในข้อหาเมาแล้วขับเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2565 ซึ่งศาลลงโทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี กรณีนี้เกิดขึ้นก่อนกฎหมายใหม่ประกาศใช้) https://mgronline.com/qol/detail/9670000036551#google_vignette
"มาตรการลงโทษ – ผิดซ้ำ " เครื่องมือสำคัญในการบังคับใช้กฎหมาย
ในต่างประเทศ ปัญหาคนเมาแล้วขับที่มักจะมีพฤติกรรมซ้ำๆ มีการเพิ่มมาตรการลงโทษทั้งเรื่อง โทษจำคุก/หรือกักขัง เมื่อพบว่าเป็นความผิดซ้ำ เช่นที่รัฐวิกตอเรีย ออสเตรเลีย รวมทั้งมีการนำเทคโนโลยีเครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ก่อนสตาร์ทรถ (alcohol interlock) มาประยุกต์ใช้ ซึ่งพบว่ามีประสิทธิภาพในการจัดการปัญหาดื่ม/เมาแล้วขับได้เป็นอย่างดี มีผลจากการศึกษาพบว่า Alcohol interlock สามารถป้องกันการกระทำผิดซ้ำ คนเมาแล้วขับได้ถึง 69% และมีการใช้อุปกรณ์นี้กว่า 10 ประเทศในยุโรป รวมทั้ง 34 รัฐ ในสหรัฐอเมริกา
บ้านเรานักดื่มบางส่วนมีทัศนะว่าถึงดื่มก็ขับรถได้ถ้ามีสติ (ผลสำรวจโดยมูลนิธิไทยโรดส์ พบ 1/5 ผู้ตอบระบุว่าดื่มก็สามารถขับรถได้ถ้ามีสติและไม่คิดว่าเมา) รวมทั้งกลุ่มที่กล้าออกมาขับรถก็มักไม่กลัวถูกจับ เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่ได้เจอด่านตรวจวัดแอลกอฮอล์เพราะจำนวนด่านมีจำกัดเพียงบางจุดบางพื้นที่ ที่สำคัญเมื่อเจอด่านตรวจแม้มีผลตรวจแอลกอฮอล์เกินกฎหมายส่งฟ้องศาล พบว่าบทลงโทษโดยทั่วไปถ้าสารภาพก็จะลดกึ่งหนึ่งทั้งโทษปรับและโทษจำคุกมักจะให้รอลงอาญา เหมือนประโยคที่มีการพูดบ่อยๆ ในกลุ่มนักดื่มว่า เมาแล้วขับ=จำปรับรอ แต่ในปัจจุบันมีการแก้ไข พรบ.จราจรทางบก (มีผลบังคับใช้ 5 กันยายน 2565) มาตรา 160 ตรี/1 .. หากทำผิดข้อหาเมาแล้วขับ ภายใน 2 ปีนับแต่วันกระทำผิดครั้งแรก เพิ่มโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับ 50,000 ถึง 100,000 บาทและศาลจะลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ
ซึ่งมาตรการนี้คนในสังคมโดยเฉพาะกลุ่มนักดื่มยังรับรู้จำกัด ที่สำคัญยังไม่มีเคสตัวอย่างให้เห็นมากนัก อย่างกรณีเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา แม้จะมีผู้กระทำความผิดซ้ำถึง 115 ราย แต่เมื่อรวบรวมสำนวนคดีส่งฟ้องศาลซึ่งต้องให้ทันใน 48 ชั่วโมง อาจทำให้ขาดประวัติความผิดเดิมในอดีตแนบไปด้วย รวมทั้งการที่พนักงานสอบสวนจะขอให้อัยการเสนอศาลลงโทษหนัก “จำคุกหรือกักขัง” ก็ทำได้จำกัด ทำให้การลงโทษหนักทำได้บางรายและไม่ได้ถูกนำมาเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้สังคมได้รับรู้
ในประเด็นข้อจำกัดทั้งการรวบรวมหลักฐานและการตัดสินลงโทษกรณีผิดซ้ำ ทางมูลนิธิเมาไม่ขับ ได้มีหนังสือเรียนประธานศาลฎีกา เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2567 ที่ผ่านมาโดยขอให้ศาลตัดสินลงโทษในบทลงโทษขั้นสูงสุด ด้วยการจำคุกโดยไม่รอลงอาญา ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องปรามและเป็นการลดพฤติกรรมเสี่ยงจากการเมาแล้วขับ อันเป็นสาเหตุสำคัญของความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
ดังนั้น เพื่อให้ปัญหาดื่ม/เมาแล้วขับโดยเฉพาะกลุ่มที่กระทำความผิดซ้ำ ได้รับการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพเหมือนในต่างประเทศ ซึ่งถ้าจัดการได้ก็จะเป็นจุดเปลี่ยนไปสู่กลุ่มดื่ม/เมาแล้วขับในภาพรวมต่อไป จึงมีข้อพิจารณาเสริมมาตรการลงโทษในกรณี ”เมาแล้วขับผิดซ้ำ” ที่สำคัญ ได้แก่
1) ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เสริมแนวปฎิบัติการบังคับใช้กรณีเมาแล้วขับให้ชัดเจน อาทิ
- มีระบบตรวจสอบความผิดซ้ำที่รวดเร็วให้ทันส่งฟ้องศาลใน 48 ชั่วโมงและกรณีพบความผิดซ้ำ ให้พนักงานสอบสวนเสนออัยการขอให้ศาลลงโทษหนัก
- จุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ควรมีกล้อง cctv เพื่อเก็บบันทึกภาพ โดยเฉพาะการบันทึกคลิปเหตุการณ์กรณีขัดขืนบังคับใช้กฎหมาย เช่น ปฎิเสธเป่าตรวจแอลกอฮอล์หรืออื่นๆ
- ทบทวนค่าเป้าหมายในการตั้งจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ให้มีความครอบคลุม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการป้องปราม (deterrence effect) ผู้ที่จะกระทำความผิด โดยอิงเกณฑ์จากองค์การอนามัยโลก ที่ระบุว่าประสิทธิผลการตรวจวัดแอลกอฮอล์ประเมินจาก ผู้ขับขี่บนถนนได้รับการสุ่มตรวจเฉลี่ย 1 ครั้ง/คัน/ปี
- ในการประชุมคณะอนุกรรมการศูนย์ปฎิบัติการความปลอดภัยทางถนน ด้านการบังคับใช้กฎหมาย กำหนดให้มีการติดตามการดำเนินคดีเมาแล้วขับและความผิดซ้ำ
2) ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) นำเรื่องเมาแล้วขับ-กรณีผิดซ้ำ มาขับเคลื่อนเสริมการบังคับใช้ เพื่อให้มีการจัดการปัญหาอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ อาทิ
- มีการทบทวนและวางแนวทางนำอุปกรณ์ alcohol interlock มาใช้กับผู้ถูกดำเนินคดีเมาแล้วขับ-กรณีผิดซ้ำ เหมือนในต่างประเทศ
- เพิ่มประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้โทษเมาแล้วขับ-กรณีผิดซ้ำ สู่สาธารณะในวงกว้าง โดยเฉพาะในขณะที่มีเคสตัวอย่างที่สังคมในให้ความสนใจ
- ส่งเสริมการสร้างบรรทัดฐานสังคม ให้เกิดการมีส่วนร่วมแก้ปัญหาเมาแล้วขับ เช่น การโยงความรับผิดชอบผู้กระทำความผิดเพื่อให้ต้นสังกัดที่ผู้กระทำความผิดปฎิบัติหน้าที่อยู่ มาร่วมจัดการป้ญหานี้
เมาแล้วขับ ถือเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความสูญเสียบนถนนของบ้านเรา โดยเฉลี่ยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 40 ราย/วัน ในจำนวนนี้ร้อยละ 15-20 จะเป็นผลจากเมาแล้วขับ (เทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา เมาแล้วขับทำให้เกิดอุบัติเหตุ 22.7% และทำให้เสียชีวิต 15.3% ) แม้ยังไม่สามารถจัดการปัญหานี้ได้ทั้งหมดในภาพรวม แต่ถ้ามุ่งเน้นให้กลุ่มที่กระทำความผิดซ้ำต้องได้รับโทษหนัก จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการจัดการปัญหานี้ได้เหมือนในหลายๆ ประเทศ