"...ในฐานะที่ผมเป็นผู้นำ ผมมีหน้าที่ทำให้ปลาว่ายน้ำได้เร็ว และ นกบินได้ไกล โดยเปลี่ยนสนามแข่งขันใหม่ ให้ทุกคนได้แสดงศักยภาพของตัวเอง ซึ่งจะทำให้เราได้ค้นพบคนเก่งขึ้นอีกมากมาย สามารถเป็นที่หนึ่งได้ ตามความสามารถ และ ความถนัดที่แตกต่างกัน ประเทศก็จะพัฒนาแบบก้าวกระโดด โดยไม่ทิ้งใครไว้ที่ปลายแถวเลยครับ มหาวิทยาลัยก็เช่นกัน ผมมั่นใจว่าทุกมหาวิทยาลัยมีความเป็นเลิศที่ไม่เหมือนกัน จึงไม่ควรมาต่อคิวจัด Ranking ตามแบบทฤษฏีฝรั่ง แต่เราสามารถผลักให้ทุกมหาวิทยาลัย ยืนอยู่บนแถวหน้าได้ตามความสามารถเฉพาะตัวที่โดดเด่นที่แตกต่างกัน..."
ทุกท่านว่า ปลา กับ นก ใครบินเก่งกว่ากัน และ ใครว่ายน้ำเร็วกว่ากัน .... ผมว่าแข่งกันไม่ได้นะครับ เพราะปลาว่ายน้ำเก่งแต่บินไม่เป็น ส่วนนกบินเก่งแต่ว่ายน้ำไม่เป็น น่าจะลงแข่งคนละสนามนะครับ
ในฐานะที่ผมเป็นผู้นำ ผมมีหน้าที่ทำให้ปลาว่ายน้ำได้เร็ว และ นกบินได้ไกล โดยเปลี่ยนสนามแข่งขันใหม่ ให้ทุกคนได้แสดงศักยภาพของตัวเอง ซึ่งจะทำให้เราได้ค้นพบคนเก่งขึ้นอีกมากมาย สามารถเป็นที่หนึ่งได้ ตามความสามารถ และ ความถนัดที่แตกต่างกัน ประเทศก็จะพัฒนาแบบก้าวกระโดด โดยไม่ทิ้งใครไว้ที่ปลายแถวเลยครับ
มหาวิทยาลัยก็เช่นกัน ผมมั่นใจว่าทุกมหาวิทยาลัยมีความเป็นเลิศที่ไม่เหมือนกัน จึงไม่ควรมาต่อคิวจัด Ranking ตามแบบทฤษฏีฝรั่ง แต่เราสามารถผลักให้ทุกมหาวิทยาลัย ยืนอยู่บนแถวหน้าได้ตามความสามารถเฉพาะตัวที่โดดเด่นที่แตกต่างกัน
เป็นที่มาของการปฏิรูปอุดมศึกษา ด้วยการแบ่งกลุ่มมหาวิทยาลัยตามศักยภาพเฉพาะตัว ซึ่งทำให้เรามีมหาวิทยาลัยเก่งๆติดอันดับต้นๆเพิ่มขึ้นมาทันทีเลยครับ ไม่มีมหาวิทยาลัยปลายแถวอีกต่อไปครับ
โดยเราแบ่งมหาวิทยาลัยออกเป็น 5 กลุ่มดังนี้
1 กลุ่มพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้า เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ฯลฯ
2 กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลต่างๆ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ฯลฯ
3 กลุ่มพัฒนาชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนอื่น เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏต่างๆ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์
มหาวิทยาลัยนครพนม มหาวิทยาลัยพะเยา ฯลฯ
4 กลุ่มพัฒนาปัญญาและคุณธรรมด้วยหลักศาสนา เช่น มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) และมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) ฯลฯ
5 กลุ่มผลิตและพัฒนาบุคลากรวิชาชีพและสาขาจำเพาะ เช่น สถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน สถาบันอาศรมศิลป์ ฯลฯ
และล่าสุดก่อนที่ผมจะหมดวาระ ผมได้ปักหมุดรากฐานของอุดมศึกษา เพื่อการสร้างอนาคตของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ Soft Power ที่กำลังเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของชาติอยู่ในขณะนี้ โดยการจัดตั้ง สถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางด้านศิลปะ สุนทรียะ อารยะของไทย เพื่อเป็น Shortcut ในการส่งเสริมศิลปะ สุนทรียะ อารยะ ที่จะนำไปสู่เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ได้เร็วที่สุด
โดยผมมอบภารกิจไว้ให้ทั้ง อนุรักษ์ รวบรวม สืบสาน และเผยแพร่ งานด้านทัศนศิลป์ งานฝีมือและหัตถกรรมของไทยในวงกว้าง โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และ นวัตกรรมมาผนึกกำลังติดเครื่องเทอร์โบให้กับ ศิลปะ สุนทรียะ อารยะ ของไทยไปได้เร็ว ไปได้ไกล ถือว่าเป็นแหล่งผลิตทรัพยากรบุคคลด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่เรียกว่า “มหาศิลปาลัย” ครับ
ความแตกต่างจาก มหาวิทยาลัยทั่วไป คือ นอกจากนักเรียน นักศึกษาแล้ว จะมีกลุ่มศิลปิน แรงงานทักษะมืออาชีพ ผู้ประกอบการสร้างสรรค์อิสระ มาเป็นทั้งผู้สอน และ ผู้เรียน
เน้นสร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพและมีความสามารถด้านศิลปะและการออกแบบของไทย ที่มีคุณค่าและมีมูลค่าต่อเศรษฐกิจและสังคม สร้างนวัตกรรมการศึกษาและพัฒนานวัตกรรมให้เกิดย่านวัฒนธรรมสร้างสรรค์ และพัฒนางานวิจัยให้ตอบโจทย์ความต้องการของโลก เพื่อยกระดับศิลปะ วัฒนธรรมของไทยให้เป็นอารยธรรมของโลก
การจะทำได้แบบนี้ ก็เพราะผมได้ปฏิรูป อว. ให้สามารถเอาคนเก่งที่อยู่นอกระบบ หรือคนที่ไม่มีปริญญามาสอนในมหาวิทยาลัยได้ ศิลปินหลายคนอาจไม่ได้เรียนสูง แต่ผลงานของพวกเขามันยิ่งใหญ่มาก ผมขอให้เลิกเอายศ เอาศักดิ์ หรือตำแหน่งทางวิชาการมาแบ่งคนได้แล้วครับ
และไม่ใช่แค่เรียนทฤษฏี แต่ต้องเน้นภาคปฏิบัติ บูรณาการ กับการฝึกประสบการณ์ร่วมกับ ภาคเอกชน ชุมชน และสังคม เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่มีภารกิจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศทั้งหมด
การปฏิรูปในครั้งนี้ จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าไม่ได้ ท่าน ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล อดีตปลัดกระทรวง อว. และ ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัด อว. เป็นผู้นำทัพในการขับเคลื่อนด้วยความมุ่งมั่น และ รวดเร็ว
ซึ่งผมคิดว่ามีความสำคัญมากในการบริหารประเทศที่ต้องมีผู้นำที่มีทักษะในการบริหารจัดการสูง จะทำให้ภารกิจบรรลุได้โดยการก้าวข้ามข้อจำกัดต่างๆ และ มุ่งสู่ผลสัมฤทธิ์ได้ตามเป้าหมายที่กำหนด
บุคคลสำคัญอีก 2 ท่านที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้ ก็คือ ศ.กิตติคุณบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ซึ่งเป็นผู้ร่าง พ.ร.บ.มหาศิลปาลัย โดยมีวิทยาลัยเพาะช่าง เป็นแกนหลัก ท่านเล่าให้ผมฟังว่า มหาศิลปาลัย เกิดจากการนำคำ 3 คำมาสมาสสนธิกัน ได้แก่ มหา ที่แปลว่า ยิ่งใหญ่ ศิลปะ ที่แปลว่า ฝีมือ, ฝีมือการช่าง, การทำวิจิตรพิสดาร
และอาลัย ที่แปลว่า ที่อยู่หรือที่ตั้ง รวมกันเป็น “ที่ตั้งของศิลปะ” บ่งบอกลักษณะของ มหาศิลปาลัยที่ต่างไปจากมหาวิทยาลัยในรูปแบบเดิม ซึ่งแปลว่า ที่อยู่ของวิทยาการ โดยมหาศิลปาลัยจะมุ่งสร้างมูลค่าและคุณค่าให้ศิลปะและวัฒนธรรมไทย นำเอาความเฉพาะทางของศิลปะ สุนทรียะทั้งหลายให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง
และอีกท่านหนึ่งที่เป็นผู้รับนโยบายนี้ไปขับเคลื่อนให้เกิด มหาศิลปาลัย ก็คือ ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายในการพัฒนากำลังคนด้าน วทน. และ งานวิจัยเพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในการขับเคลื่อน Thailand Soft Power
ซึ่งตอนนั้นผมได้ให้นโยบายว่า “ในยุคที่เราจะทำเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ยุทธศาสตร์สำคัญของเรา คือ Rebirth of Thai arts and culture ต้องทำให้เกิดเป็นยุคเรอเนซองซ์ของศิลปะ สุนทรียะ และอารยะแบบไทย รื้อฟื้นสิ่งเดิม ของเดิมที่ทำกันอยู่แล้ว เสริมให้มีเอกลักษณ์มากยิ่งขึ้น โลกทุกวันนี้ต้องการสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ใหม่ ที่ไม่ได้มีแค่ในฝั่งตะวันตก ในฝั่งเอเชียก็มีส่วนกำหนดภาพเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของโลกด้วย” ซึ่งท่านก็เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายนี้ได้เป็นอย่างดีครับ
ซึ่งนี่เป็น นวัตกรรมทางอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาประเทศ ที่มีประสิทธิภาพ ลดความขัดแย้ง เปลี่ยนศัตรูเป็นมิตร เชื่อมโยงสานสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยกลุ่มต่างๆ ได้ดี ซึ่งผลลัพธ์ออกมาก็ประสบความสำเร็จจนต่างชาติมาขอเรียนรู้จากเรา
เห็นไหมครับว่า ไทยเราเริ่มจะเป็นผู้นำนวัตกรรมด้านการอุดมศึกษาบ้างแล้วนะครับ เรื่องแบบนี้เป็น วิสัยทัศน์ของผู้นำบนฐานของการมีโลกทัศน์ที่กว้างไกล มองเห็นโอกาสอยู่เสมอ ไม่ต้องรอให้ลูกน้องเสนอครับ การใช้ปัญญา “คิดและนำ” เป็นหน้าที่ของผู้นำครับ
..... เชิญทานอาหารให้อร่อยครับ
“เอกเขนก” รวมบทสนทนา (ไม่) ลับบนโต๊ะอาหารตลอด 3 ปี ที่คุณไม่เคยได้ยินของผม อดีต รมว.อว.ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กับ เรื่องราวเบื้องหลังแผนการเปลี่ยนไทยสู่ประเทศพัฒนาแล้วในปี 2580
** ศึกษาเพิ่มเติม ได้จากประกาศ กฏกระทรวงการจัดกลุ่มของสถาบันอุดมศึกษาได้ที่ https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/A/021/T_0001.PDF