"...เรื่องคดีความดูเหมือนมีการเกี้ยเซี๊ยะให้จบโดยเร็ว ความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐจะโยนว่าเป็นเพียงปัญหา “การตีความ” ตามอำนาจหน้าที่หรือเกิดการเข้าใจแตกต่างคลาดเคลื่อน เจ้าของเหมืองถ้าผิดก็ข้อหาเล็กน้อยเพราะได้รับใบอนุญาตถูกต้อง มีเพียงกลุ่มโรงหลอมที่ผิดหลายกระทง ส่วนคนบงการที่อยู่เบื้องหลังต่างลอยตัวเพราะหลักฐานสาวไม่ถึง ถ้าเป็นแบบนี้สังคมไทยจะยิ่งรับไม่ได้ ทำผิดสำเร็จแล้วถูกจับได้ ก็ส่งของกลับแล้วจบกัน..."
วิกฤตกากแร่แคดเมียมเป็นภัยร้ายที่เกิดขึ้นโดยคนไทยไม่รู้ตัว แต่ก่อนที่เรื่องจะถูกทำให้เงียบหายไปเหมือนกรณีอื่นๆ ที่ผ่านมา มีบางคำถามสำคัญที่สังคมไทยต้องช่วยกันหาคำตอบ
1.รัฐมนตรีฯ “กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” หายหน้าไปไหน?
ท่านคือกุญแจสำคัญในฐานะผู้กำกับดูแลเรื่อง EIA แต่จนถึงวันนี้เราไม่เคยได้ยินจากท่านเลยว่า ในขณะที่มีการออกใบอนุญาตให้ขุด - ขนย้ายกากแร่ ผิดไปจาก EIA กระทรวงของท่านได้แสดงความเห็นและทักท้วงหรือไม่ มาวันนี้ท่านต้องตอบให้กระจ่างว่า 1) เรื่องนี้มีความผิดหรือมีจุดบกพร่องอย่างไร และ 2) ทุกวันนี้ EIA มีปัญหาการติดตามและขาดบทลงโทษ คนจึงไม่เกรงกลัว ในอนาคตจะแก้ไขอย่างไร?
2.การค้าการลงทุนของไทยจะถูกกระทบแค่ไหน?
ทราบกันดีว่าบริษัทชั้นนำทั่วโลกหากจะไปลงทุนที่ไหนมักห่วงเรื่องความไม่แน่นอนและความปลอดภัย เขาต้องประเมินว่านักธุรกิจและภาครัฐของไทยตรงไปตรงมา ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ห่วงสังคมห่วงชีวิตประชาชน มีการกำกับดูแลด้วยความรับผิดชอบดีพอหรือไม่ (ESG)
การออกใบอนุญาตให้ขุดขนย้ายกากแร่พิษที่ควรถูกฝังกลบตลอดไปตาม EIA โดยสังคมไทยไม่ระแคะระคายเลย จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ทำลายความน่าเชื่อถือของประเทศอย่างรุนแรง
3.เรื่องจะจบอย่างไร?
เรื่องคดีความดูเหมือนมีการเกี้ยเซี๊ยะให้จบโดยเร็ว ความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐจะโยนว่าเป็นเพียงปัญหา “การตีความ” ตามอำนาจหน้าที่หรือเกิดการเข้าใจแตกต่างคลาดเคลื่อน เจ้าของเหมืองถ้าผิดก็ข้อหาเล็กน้อยเพราะได้รับใบอนุญาตถูกต้อง มีเพียงกลุ่มโรงหลอมที่ผิดหลายกระทง ส่วนคนบงการที่อยู่เบื้องหลังต่างลอยตัวเพราะหลักฐานสาวไม่ถึง
ถ้าเป็นแบบนี้สังคมไทยจะยิ่งรับไม่ได้ ทำผิดสำเร็จแล้วถูกจับได้ ก็ส่งของกลับแล้วจบกัน!!
4.คนไทยควรตื่นตระหนก รับรู้ และมีส่วนร่วมอย่างไร?
เหตุการณ์นี้เป็นความผิดตามกฎหมายอย่างน้อย 4 ฉบับได้แก่ พ.ร.บ. โรงงานฯ พ.ร.บ. แร่ฯ พ.ร.บ. วัตถุอันตรายฯ และ EIA จนถึงเวลานี้ยังไม่เห็นมีหน่วยงานใดไปแจ้งความเอาผิดกับเอกชนหรือเจ้าหน้าที่รัฐรายใดเลย
เชื่อว่าในขณะขุดและขนส่งกากแร่ย่อมเกิดฝุ่นละออง ถุงบิ๊กแบ๊คที่ใช้ก็เปิดไว้หรือแตกชำรุดกองอยู่ตามแหล่งเก็บ การขนส่งในช่วงฤดูฝนย่อมเกิดการชะล้าง ในการหลอมกากแร่ให้เป็นก้อนแร่ทำเกิดละอองโลหะ เหล่านี้เชื่อว่าเป็นเหตุให้ตรวจพบว่ามีแคดเมียมตกค้างในร่างกายคนงานและประชาชนแล้วกว่า 20 ราย หลายพื้นที่ทางการได้ประกาศเป็นเขตอันตรายแล้วเช่นกัน
คงจำกันได้ว่าเมื่อปี 2547 มีประชาชนที่แม่สอด จังหวัดตาก 544 ราย ถูกตรวจพบสารแคดเมียมในร่างกายเกินมาตรฐานเพราะบริโภคข้าวจากท้องนาที่มีสารแคดเมียมปนเปื้อน ทำให้ญี่ปุ่นและจีนต้องจับตาเข้มงวดการซื้อข้าวจากไทย
สารแคดเมียมอาจเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ด้วยการสัมผัส สูดดม บริโภคอาหารหรือน้ำปนเปื้อน และได้อาจต้องใช้เวลานานถึง 20 ปีร่างกายจึงขับออกหมด
บทสรุป
ขบวนการขนย้ายกากแร่พิษครั้งนี้ใช้เวลาราว 8 เดือน แต่ “ประชาชนถูกทำให้ไม่รู้อะไรเลย” แม้แต่คณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรยังต้องใช้เวลาร่วมสองเดือนจึงได้ข้อมูลบางส่วน มันเกิดอะไรขึ้น?
รัฐบาลท่านนายกเศรษฐา ทวีสิน ท่านจะหยุดคอร์รัปชันในการออกใบอนุญาตอนุมัติ การปกปิดข้อมูลต่อสาธารณะได้หรือไม่ การที่หน่วยงานรัฐไม่แชร์ข้อมูลในระบบทำให้หน่วยงานอื่นไม่ได้ใช้ประโยชน์ นโยบายรัฐและกฎเกณฑ์เปลี่ยนไปมาขาดความชัดเจน ปัญหาเหล่านี้ท่านจะแก้อย่างขุดรากถอนโคนเพื่ออนาคตที่ดีขึ้นของคนไทยได้ไหมครับ
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
24 เมษายน 2567