"...สุขภาพบูรณาการอยู่ในการพัฒนามนุษย์และสังคมทั้งหมด จึงกล่าวว่า “สุขภาพคือทั้งหมด” หรือ (Health is the whole) ฉะนั้น Holistic Health จึงอยู่ที่เราสามารถพัฒนาการ Health return to ทั้งหมด เข้ามาด้วยกันได้มากหรือน้อยเพียงใด แน่นอนว่าคงมีปัจจัยที่เรายังไม่รู้อีก แต่ก็จะรู้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากประสบการณ์และการสังเกต..."
นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ พยายามส่งเสริมให้โรงพยาบาลชุมชน ซึ่งเป็นสถาบันฐานแผ่นดินไทยมีสมรรถนะในด้านต่าง ๆ อย่างหนึ่งคือสามารถวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพองค์รวม (Holistic Health)
การบูรณาการสู่ความเป็นองค์รวม น่าจะสำคัญที่สุดในทุกเรื่อง ไม่ใช่การคิดแบบแยกส่วนทำแบบแยกส่วน ซึ่งนำไปสู่การเสียสมดุลและวิกฤต
สุขภาพบูรณาการอยู่ในการพัฒนามนุษย์และสังคมทั้งหมด จึงกล่าวว่า “สุขภาพคือทั้งหมด” หรือ (Health is the whole) ฉะนั้น Holistic Health จึงอยู่ที่เราสามารถพัฒนาการ Health return to ทั้งหมด เข้ามาด้วยกันได้มากหรือน้อยเพียงใด แน่นอนว่าคงมีปัจจัยที่เรายังไม่รู้อีก แต่ก็จะรู้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากประสบการณ์และการสังเกต
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผมมีประสบการณ์ไปเป็นคนไข้อยู่ใน ICU โรคหัวใจ ที่โรงพยาบาลศิริราชเป็นเวลาเดือนกว่า ทำให้ได้พบบางสิ่งบางอย่างที่น่าจะเพิ่มองค์ความรู้เกี่ยวกับปัจจัยกำหนดสุขภาพ
ผมได้รับการรักษาจากแพทย์ที่เก่งที่สุด พยาบาลที่ดีที่สุด และด้วยเครื่องมือที่ดีที่สุด แต่การที่ผมถูกแยกตัวจากสภาวะเดิมที่คุ้นเคยมาอยู่ในห้องแยกคนเดียว นอนดูนาฬิกาและฝาผนัง กินอาหารโรงพยาบาลที่ผมไม่คุ้นเคย ทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนที่ทำให้การรักษาได้ผลไม่ตรงตามคาดหวัง หมู่แพทย์ตกลงกันว่า mood หรืออารมณ์น่าจะเป็นเหตุ จึงอนุญาตให้ภรรยาเข้ามาเยี่ยมคราวละหลายชั่วโมง ตามปรกติอนุญาต ๑๐ นาที อาการก็ดีขึ้น
แต่ดูไม่รู้ตัวเจ้า mood ที่ว่านี้ได้กลายเป็นโรคซึมเศร้า ที่ผมวินิจฉัยได้เองเป็นเหตุ ตามปรกติจิตใจผมไม่เคยซึมเศร้ามีจิตใจที่มีความสุข ผมเริ่มสังเกตว่าในตัวมีความทุกข์ที่อธิบายไม่ได้กระจายอยู่ทั่วตัวและรุนแรงโดยปราศจากเหตุทางกาย ผมจับได้ว่าผมไม่สามารถรวมความคิดเป็นหนึ่งเดียว มันฟุ้งกระจาย ผมจับได้ว่าคนปรกติสามารถรวบรวมความคิดเป็นหนึ่งหรือ harmony ของกระแสความคิดเหมือนวงดนตรี ครั้งที่เครื่องเล่นทุกชิ้นเล่นเพลงเดียวกันเพลงอันไพเราะคนฟังมีความสุข
แต่คนที่เป็นโรคซึมเศร้าความคิดฟุ้งกระจายรวมความคิดไม่ได้ ส่งผลความไม่ลงตัวเป็นการไร้ความสุขอย่างรุนแรงทั้งเนื้อทั้งตัว ความรุนแรงของมันทำให้คนไข้ทนไม่ได้ต้องฆ่าตัวตาย
เราอาจเขียนดีกรีการรวมตัวของความคิดจากโรคซึมเศร้าที่ปลายข้างหนึ่ง กับการมีสติที่ปลายอีกข้างหนึ่ง เพื่อลดอารมณ์ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและการรักษา
ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาในที่อันเป็นสัปปายะของเขา
คือ บ้าน ครอบครัว ชุมชน วัฒนธรรม จะรักษาง่ายหายเร็ว
ผมเคยพบคนไข้ในโรงพยาบาลเป็นไข้ไม่รู้สาเหตุ พอกลับบ้านไข้ก็หายไป
ผมพบคนไข้เด็กสาวคนหนึ่งเป็น acute leukemia อาการหนัก ผมบอกคนไข้ว่าหมอจะรับหนูไว้ในโรงพยาบาล แทนที่จะดีใจเด็กบอกว่าคุณหมออย่าให้หนูอยู่โรงพยาบาลเลย เพราะเวลาเจ็บมากไม่มีใครช่วย อยู่บ้านแม่ยังกอดหนูไว้
คุณหมออพภิวันท์ ภรรยาหมอสงวน นิตยารัภพงศ์ เคยเล่าถึงเด็กผู้หญิงคนหนึ่งจากภาคอีสาน เป็นมะเร็งมารักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดีได้รับการบำบัดอย่างดีแต่ก็ไม่มีความสุข เธอกลับไปอยู่ในหมู่บ้านมีผู้คนมาช่วยเหลือมากมาย แพทย์ไทย จีน ชาวบ้าน พระที่วัดให้เธอบวชชีแล้วใช้การปฏิบัติธรรมทำให้เธอมีความสุขอย่างเต็มเปี่ยม นี่คือการรักษาในฐานวัฒนธรรม
ควรมีการศึกษาวิจัยการหายของโรคเมื่อคนไข้อยู่ในสถานพยาบาล กับอยู่ในวัฒนธรรมของเขา อาจพบความรู้ที่นำมาสู่การรักษาแบบ “ใกล้บ้านใกล้ใจ” ซึ่งราคาถูกกว่าได้ผลดีกว่า
ส่วนโรคซึมเศร้าอาจมีหลายดีกรี และสาเหตุหลากหลาย ถ้าผู้รักษาใส่ใจมีความรู้ในเรื่องนี้ จะช่วยแก้ทุกข์ของผู้ป่วยได้อย่างสำคัญ
เรื่องที่ผมเล่าอาจยังเป็นส่วนน้อยของ Holistic Health หากรพช.สามารถเป็นสถาบันวิจัยเรื่อง Holistic Health น่าจะทำให้เราพบความจริงเกี่ยวกับสุขภาพองค์รวม และการรักษาที่ได้ผลมากขึ้นอีกมาก