"...ในฐานะผู้นำในตอนนั้น ผมจึงต้องประกาศ เพื่อกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน และเป็น Super Indicator ของ อว. เพื่อกระตุ้นให้คนทำงานเกิดความมุ่งมั่น และ ให้หมั่นประกาศความสำเร็จไปเรื่อยๆ เพื่อเป็น BIG STEP หรือ ก้าวใหญ่ๆ เพราะการที่ไทยสามารถสร้างวิศวกรรมอวกาศชั้นสูงได้ จะเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาประเทศได้..."
ผมอยากถามว่า....ไทย จะเป็นผู้ซื้อ เป็นผู้เล่นตามกระแสโลก หรือ เป็นผู้สร้างนวัตกรรมเอง ซึ่งยากนะครับ แต่ยั่งยืน
13 มกราคม 2564 ผมประกาศไว้ว่า ....อีก 7 ปีข้างหน้า ไทยจะเป็นชาติที่ 5 ของเอเชีย ที่จะผลิตยานอวกาศ ไปโคจรรอบดวงจันทร์ ต่อจากจีน อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
ตอนนั้นมีคนไม่เชื่อ เย้ยหยันว่า ฝันไปหรือเปล่า ทำไมไม่เอางบไปถมถนนที่เต็มไปด้วยหลุมบ่อแบบผิวดวงจันทร์จะดีกว่า
ผมคิดในใจ นี่มันสะท้อนโลกทรรศน์ของคนไทยจำนวนหนึ่งที่เชื่อว่า “ไทยจะเป็นชาติด้อยพัฒนาตลอดไป จะไม่มีวันเป็นชาติทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้”
ฉะนั้น อว.จึงต้องมุ่งมั่นพัฒนาให้มีดาวเทียมที่สร้างโดยคนไทย สร้างยานอวกาศไปโคจรรอบดวงจันทร์ให้ได้
ตอนนี้ผ่านมาแล้ว 3 ปีกว่าๆ มันมีหลักฐานเชิงประจักษ์พิสูจน์ได้แล้วครับ และผมมั่นใจว่าคนไทยทำได้จริง และ ผมไม่ได้โม้
เพราะพอผมมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวง อว.ทำให้ผมได้รู้ และ มั่นใจว่า คนไทยเก่งวิทยาศาสตร์ และ มีความพร้อมจะเป็นชาติวิทยาศาสตร์ได้
ในฐานะผู้นำในตอนนั้น ผมจึงต้องประกาศ เพื่อกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน และเป็น Super Indicator ของ อว. เพื่อกระตุ้นให้คนทำงานเกิดความมุ่งมั่น และ ให้หมั่นประกาศความสำเร็จไปเรื่อยๆ เพื่อเป็น BIG STEP หรือ ก้าวใหญ่ๆ เพราะการที่ไทยสามารถสร้างวิศวกรรมอวกาศชั้นสูงได้ จะเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาประเทศได้
นี่เป็นวิสัยทัศน์ และ โลกทัศน์ของผมตอนเป็น รมว.อว.ครับ
หน่วยงานสำคัญที่ผลักดันเรื่องนี้ มีทั้ง Thai Space Consortium (TSC) สถาบันดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอีกหลายหน่วยงานมาช่วยกัน และมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง
จนคนทำงานคาดการณ์ได้ว่า อีก 7 ปี จะสามารถส่งยานอวกาศไปโคจรรอบดวงจันทร์ได้
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เคยบอกผมว่า ไทยจะเปลี่ยนเป็นประเทศนวัตกรรมได้เร็ว หากเกิดอุตสาหกรรมอวกาศขึ้นในประเทศ จะเกิดประโยชน์ต่อเนื่องมากมาย จะเกิด Startup ด้านอวกาศขึ้นจำนวนมาก ถือเป็นการยกระดับศักยภาพของคนไทย และ เศรษฐกิจไทยทั้งประเทศ
ผมจะขอเล่าเรื่องราวของ เด็กบ้านนอกคนหนึ่ง ที่มาจากจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่วันหนึ่งในปี 2536 เค้านั่งดูทีวีขณะที่มีการถ่ายทอดสดการส่งดาวเทียมไทยคม (THAICOM 1) ดาวเทียมดวงแรกของไทยขึ้นสู่วงโคจรในอวกาศ เขานั่งดูการถ่ายทอดสดด้วยใจจดจ่อกับภาพจรวดที่กำลังถูกยิงขึ้นสู่ท้องฟ้า แค่เพียงชั่ววินาทีสั้นๆ แต่ได้จุดประกายความฝันให้กับเขา และ เขาบอกกับตัวเองว่า “อยากเป็นนักสร้างดาวเทียม”
และเขามุ่งมั่นจนได้ทุนไปเรียนที่ญี่ปุ่น และ เคยเขียนคำประกาศของตัวเองไว้ที่โต๊ะว่า “ผมจะเรียนสร้างดาวเทียมให้เป็น ไม่งั้นผมจะไม่กลับประเทศไทย และถ้าผมกลับไปแล้ว ผมจะสร้างดาวเทียมของประเทศไทยดวงแรกให้ได้”
และวันนี้ประเทศไทย มี ดร.ด้านวิศวกรดาวเทียมอวกาศ ผู้สร้าง “ดาวเทียม” สัญชาติไทยดวงแรก และ เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดวิศวกรดาวเทียมอวกาศอีกจำนวนมากขึ้นในประเทศไทย ชื่อ อ.ดร.พงศธร สายสุจริต ปัจจุบัน อายุ 42 ปี จบปริญญาเอก จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขา Aeronautics and Astronautics จากมหาวิทยาลัยโตเกียว ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการ (รักษาการ) สถาบันเทคโนโลยีอวกาศนานาชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ (สทอศ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน-อวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการสร้างให้เกิดอุตสาหกรรมอวกาศขึ้นในประเทศไทยครับ
“สิ่งที่ยิ่งใหญ่ในการทำดาวเทียม คือ การที่นักเรียน นักศึกษาในประเทศไทย ที่ไม่ได้มีความรู้ด้านอวกาศมาก่อน เริ่มคิดตั้งแต่เศษกระดาษว่าจะทำอะไร ควักกระเป๋าสตางค์เอาค่าขนมตัวเองไปซื้อเศษขยะมาแกะ มาสร้างดาวเทียม ถ้าเทียบกันแล้วในต่างประเทศการทำเรื่องนี้....ง่ายกว่าประเทศไทย เพราะมีอุตสาหกรรมอวกาศ มีระบบสนับสนุน แต่ประเทศไทยยังมีปัญหาด้านความเข้าใจ การตั้งคำถามจากสังคม ความสำเร็จที่แท้จริงจึงเป็นการทำให้สังคมไทยได้เห็นความสำคัญของดาวเทียมและเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องที่เป็นไปได้” ดร.พงศธร เคยกล่าวไว้ครับ
ผมยังเคยได้ฟัง ลูกศิษย์ของ ดร.พงศธร คนหนึ่งที่ได้มีส่วนร่วมในโครงการ BCC Space Program เป็นโครงการที่สอนให้นักเรียนสร้างดาวเทียมสำรวจขนาดเล็ก ชื่อว่า BCCSAT-1 ซึ่งดาวเทียมนี้ถูกส่งเข้าสู่วงโคจรไปเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา และตอนนี้อยู่ในวงโคจรเรียบร้อยแล้ว
ทราบว่าเป็นนักเรียนจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ซึ่งปัจจุบันเรียนอยู่ที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมนาโน นานาชาติ ให้สัมภาษณ์ไว้ได้ดีมาก ผมคิดว่าน่าจะเป็นเยาวชนอีกคนหนึ่งที่จะเป็นกำลังหลักในการพัฒนาดาวเทียมของประเทศ ผมขอชื่นชมไว้ ณ ที่นี้ด้วย
“ดาวเทียมหรือยานอวกาศเป็นสิ่งที่ซับซ้อนที่สุดเท่าที่มนุษยชาติจะสร้างได้ในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นถ้าสามารถสร้างดาวเทียมได้ อะไรบนโลกนี้ก็สร้างได้ทั้งนั้น” เยาวชนท่านนี้ชื่อ นายชวัลวัฒน์ มาตรคำจันทร์ ครับ
จริงๆยังมีช้างเผือกอีกหลายท่านที่เก่งมากระดับโลก ที่มาร่วมก่อการภารกิจสำคัญของชาตินี้ เช่น ดร. วิภู รุโจปการ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
ดร.พีรพงศ์ ต่อฑีฆะ ซึ่งจบปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยการบินและอวกาศปักกิ่งหรือเป่ยหาง (Beihang university) และ ปริญญาเอก ณ มหาวิทยาลัยบัณฑิตวิทยาศาสตร์ (University of Chinese Academy of Sciences: UCAS) ปัจจุบันเป็น ผู้จัดการโครงการ ของ TSC ครับ
ทั้ง 2 ท่านนี้ และ ท่านอื่นๆที่ผมไม่ได้กล่าวถึง ล้วนเป็นเพชรเม็ดงามของไทยที่ทำให้วงการดาราศาสตร์ และ อวกาศของไทยไประดับโลกได้ ผมคิดว่า คนไทย ต้องช่วยกันชื่นชม และ เป็นกำลังใจ รวมทั้งเผยแพร่เรื่องราวของคนไทยเก่งๆ ออกไปให้มาก และเราควรภูมิใจครับ ไม่ดูถูก ดูแคลนคนไทย หรือ ประเทศไทย
เราต้องเชื่อว่า คนไทยพัฒนาได้ และ สามารถแข่งกับประเทศอื่นได้ ด้วยภูมิปัญญาของคนไทย รัฐมีหน้าที่เปิดช่องทาง สร้างทางลัด ทางด่วนให้คนเก่งๆ ได้แสดงศักยภาพความเก่งของคนไทยออกมา อย่าปล่อยให้คนเก่งๆ ไปขายกาแฟ ขายหมูปิ้งนะครับ
นโยบายของผมตอนนั้น จึงจะมุ่งเปลี่ยนประเทศไทยจาก “ผู้ซื้อ” เป็น “ผู้สร้าง” นวัตกรรม ซึ่งเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต จึงดึงโครงการ Thai Space Consortium โครงการสำรวจอวกาศที่ใหญ่ที่สุดของไทย มาปักหมุดเป็น Super Indicator ของ อว. ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานมากมาย
9 ต.ค.2566 “ดาวเทียม THEOS-2” ดาวเทียมสำรวจดวงแรกของประเทศไทย โดย GISTDA ได้ถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศ ที่ท่าอวกาศยานเฟรนช์เกียนา ทวีปอเมริกาใต้
และภายในปี 2567 นี้ KNACKSAT 2 ซึ่งเป็นดาวเทียมที่ออกแบบและพัฒนาโดยเด็กไทย และใช้วัสดุภายในประเทศกว่า 98% จะนำส่งเข้าวงโคจรจากสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ครับ
ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 เม.ย.67 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นองค์ประธานใน “พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการสำรวจและการใช้อวกาศส่วนนอกเพื่อสันติและบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านสถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติ” ระหว่างกระทรวงอว. และ สำนักงานบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (China National Space Administration : CNSA)
ซึ่งผมถือว่าเป็น Giant Step ของประเทศ ที่เกิดขึ้นหลังจากการไปเจรจาของ อว. กับ ทางรัฐบาลจีน ในสมัยของผม เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ปีที่แล้ว
ผมยังเสนอรัฐบาลจีนไปอย่างไม่เป็นทางการว่า หากอยากจะร่วมมืออะไรกับชาติ ASEAN ให้เริ่มต้นที่ไทยแล้วจะประสบความสำเร็จ และเป็นที่มาของทางลัดที่เราจะนำดาวเทียมของไทยไปดวงจันทร์ได้ภายใน 7 ปี เพราะจีนเคยบอกผมว่า ยินดีให้ดาวเทียมของเราขึ้นไปกับดาวเทียมของเค้าด้วย เป็นหนึ่งในความร่วมมือของภารกิจสำรวจดวงจันทร์ร่วมกันครับ
การนำของผมในยุคนั้น หัวใจสำคัญ คือ กระตุ้น และ สนับสนุนให้เกิดการสร้างระบบนิเวศให้เกิดเศรษฐกิจอวกาศของประเทศ อว.จึงต้องวางโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ให้แข็งแรง เพื่อจะเป็นฟันเฟืองพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมให้มาตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ ให้สามารถแข่งขันได้
สิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ การพัฒนาคนและองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีอวกาศทั้งในภาคการศึกษาและอุตสาหกรรม จึงเป็นวาระที่เร่งด่วนและสำคัญระดับชาติ เพื่อให้ไทยก้าวทันโลกด้วย Space Industry เพื่อก้าวสู่ประเทศพัฒนาแล้วให้ได้ในปี 2580 และทั้งหมดเป็นหน้าที่รัฐมนตรีครับ ที่ต้อง “นำ และ ทำ” เรื่องใหญ่ๆ ให้สำเร็จ ให้ประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลงครับ
นี่คือ เรื่องเล่า...เมื่อผมเป็น รมว.อว.ปี 63-66 ตอนที่ 3 ครับ
..... เชิญทานอาหารให้อร่อยครับ
“เอกเขนก” รวมบทสนทนา (ไม่) ลับบนโต๊ะอาหารตลอด 3 ปี ที่คุณไม่เคยได้ยินของผม อดีต รมว.อว.ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กับ เรื่องราวเบื้องหลังแผนการเปลี่ยนไทยสู่ประเทศพัฒนาแล้วในปี 2580
ฟังเรื่องราววิสัยทัศน์ของ ดร.พงศธร เพิ่มเติมได้ที่
ฟัง ดร.วิภู เล่าเรื่อง Space Economy เพิ่มเติมได้ที่