“…สำหรับคนที่มองหาโอกาสใหม่ ๆ ในชีวิต หรือคนที่กำลังประสบปัญหางานยังไม่ตอบโจทย์ในเรื่องของรายได้ หรือมองไม่เห็นโอกาสในการพัฒนาต่อยอด อยากแนะนำประเทศเยอรมนี สำหรับการเรียนต่อในด้านอาชีวศึกษา…”
เนื่องด้วยปัญหาการเมือง ปัญหาเศรษฐกิจ หรือปัญหาอื่นๆ อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุให้คนในสังคมไทยโดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่มีความต้องการเดินทางออกนอกประเทศเพื่อหนีจากปัญหาหรือมองหาโอกาสที่ดีให้แก่ชีวิต ไม่ว่าจะเพื่อศึกษาต่อหรือทำงาน
ขณะเดียวอีกฝั่งซีกโลกกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาแรงงานขาดแคลน ส่งผลให้หลายประเทศพยายามดึงดูดชาวต่างชาติเข้าสู่ประเทศ เพื่อหวังแก้ปัญหาแรงงานขาดแคลนที่อาจจะกลายเป็นอุปสรรคขวางกั้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว
จากสองกรณีที่เกิดขึ้นเป็นเสมือนจิ๊กซอว์ที่เข้าคู่กันพอดี สำหรับกลุ่มคนที่ต้องการย้ายออก และกลุ่มประเทศที่ต้องการรับชาวต่างชาติเข้า
‘เยอรมนี’เป็นตัวเลือกหนึ่งในยุโรป เนื่องจากมีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก และใหญ่ที่สุดของสหภาพยุโรป ปัจจุบันกำลังขาดแคลนแรงงานอย่างหนักจนอัตราการเติบโตของ GDP ต่ำเหลือไม่ถึง 1% เนื่องจากอัตราการเกิดของประชากรที่ต่ำ
ข้อมูลเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีตำแหน่งงานว่างถึง 700,000 ตำแหน่ง ทำให้ศักยภาพในการเติบโตของเศรษฐกิจเยอรมนีเหลือเพียง 0.7% จาก 2% ในช่วงปี ค.ศ. 1980s และมีโอกาสที่จะตกไปเหลือ 0.5% ได้ในอนาคต หากไม่สามารถแก้ไขปัญหาแรงงานขาดแคลนได้
การดึงดูดแรงงานต่างประเทศ จึงเป็นวาระเร่งด่วนที่นำไปสู่การออกนโยบายและมาตรการมากมายที่เป็นประโยชน์กับผู้ที่อยากเข้าไปทำงานในเยอรมนี เช่น การลดหรือผ่อนปรนกฎเกณฑ์สำหรับการขอวีซ่าทำงานในประเทศ หรือการลดเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำ
สำหรับสาขาอาชีพที่กำลังเป็นที่ต้องการสูงในเยอรมนี ได้แก่
-
งานที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมสีเขียว และความยั่งยืน (Green Jobs)
-
งานด้านการคมนาคมขนส่ง และโลจิสติกส์
-
กลุ่มสายงานคอขวด (Bottleneck Professions) คือ สายงานที่กำลังขาดแคลนแรงงานจำนวนมากในเยอรมนี ทั้งเพราะสายงานนี้เป็นงานในอุตสาหกรรมที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว เป็นสายงานใหม่ที่รัฐบาลให้ความสำคัญและกำลังปั้นให้เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ หรือเป็นสายงานที่ชาวเยอรมันไม่นิยมทำ เช่น งานบริการ งานในสายวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และสายสุขภาพ
อย่างไรก็ตามแม้เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ แต่การเตรียมตัวเพื่อย้ายประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากภาษาแล้ว เรื่องการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปก็อาจจะส่งผลกระทบหากไม่มีการศึกษาหรือเตรียมการให้ดีก่อน
เปิดตัวครูหยก German Camp
‘อุทัยวรรณ ภัททวาทิน’ ล่ามสาบานตนที่จดทะเบียนขึ้นกับศาลเยอรมันและไทย หรืออีกบทบาท คือ ‘ครูหยก’ แห่ง German Camp ผู้มีประสบการณ์การใช้ชีวิตในประเทศเยอรมนีตั้งแต่ปี 2533 ได้ชื่อว่าเป็นคนหนึ่งที่รู้จัก ‘เยอรมนี’ ทั้งผู้คน ภาษา และ วัฒนธรรม
หลังเสร็จภารกิจจากประเทศเยอรมนี ช่วงสายวันที่ 4 เมษายน 2567 เธอเปิดแคมป์ย่านพระราม 9 ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา บอกเล่าเรื่องราวของตัวเธอ มุมมอง และประเทศเยอรมนี
‘อุทัยวรรณ’ เล่าว่า ในช่วงแรกที่เดินทางไปถึงประเทศเยอรมนี การปรับตัวนับเป็นเรื่องที่ยากมาก เนื่องด้วยในขณะนั้นเป็นเพียงเด็กหญิงอายุ 12 ปี ที่มีความรู้ภาษาอังกฤษในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เท่านั้น และไม่มีความรู้หรือมีการเตรียมการด้านภาษาเยอรมันเลยแม้แต่นิดเดียว
อีกทั้งช่วงเวลาที่ไปถึงคือเดือนพฤศจิกายนอยู่ในช่วงของฤดูหนาว ดวงอาทิตย์ตก ท้องฟ้ามืด ตั้งแต่เวลา 4 โมงเย็น ทำให้บรรยากาศทั้งมืดและหนาวเย็น ประกอบกับความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม ทำให้เกิดสภาวะความตื่นตระหนกทางวัฒนธรรม (Culture Shock) และรู้สึกเศร้า
‘อุทัยวรรณ’เข้าเรียนในโรงเรียน ภายใน 2 สัปดาห์ที่มาถึงตามกฎหมาย โดยเข้าศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 (Grade 5) ซึ่งเป็นการลดระดับชั้นลงมาเนื่องจากไม่มีความรู้ด้านภาษาเยอรมัน
สำหรับการเรียนรู้ภาษาเยอรมัน เธอเรียนรู้ผ่านการฟังและการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารกับเพื่อนร่วมชั้นหรือคุณครูจนพัฒนาการด้านภาษาดีขึ้น แต่ก็ยังคงมีอุปสรรค แม้ว่าจะจำคำศัพท์ในภาษาเยอรมันได้ แต่ในเรื่องของการแต่งประโยค ถือว่าเป็นเรื่องยาก เนื่องจากไวยากรณ์ของภาษาเยอรมัน มีทั้งกรรมตรง กรรมรอง ฯลฯ ซึ่งมีการเรียงรูปประโยคไม่เหมือนภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ นั่นส่งผลต่อการเรียนในชั้นเรียนอย่างมาก โดยเฉพาะเวลาสอบ เนื่องจากไม่เข้าใจบทเรียน หรือความหมาย จึงใช้วิธีท่องจำและนำไปเขียนตอบในข้อสอบ
ครูหยก อุทัยวรรณ ภัททวาทิน
ใช้ประสบการณ์สร้างทางลัดให้แก่นักเรียน
จากประสบการณ์ที่พบเจอทำให้เธอเข้าใจถึงความรู้และปัญหาการเรียนรู้ด้านภาษาเยอรมัน จึงนำมาสู่การถ่ายทอดต่อให้นักเรียนหรือผู้ที่สนใจได้อย่างดี
“ความไม่รู้ ความลำบาก กับการต่อสู้ด้านภาษา มันเป็นยังไง เป็นประสบการณ์ชีวิตจริง ที่ทำให้รู้ว่าในการสอนภาษา คนที่ไม่รู้เลย จะสอนอย่างไง จะหาทางลัดให้เขา จึงตั้งแคมป์ และเป็นครู เพราะเราเข้าใจและรู้ถึงความยากของภาษา และนำมาสร้างเป็นทางลัดให้แก่นักเรียน”
ทำงานสถานทูตสู่ล่ามก่อนเป็นครู
สำหรับชีวิตการทำงานในเยอรมนี ก่อนที่เธอกลับมาอยู่ในประเทศไทย เนื่องจากมีความตั้งใจจะดูแลคุณแม่ เธอจบการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่กรุงเบอร์ลิน ด้านธุรกิจและการสื่อสาร และสอบเข้าทำงานที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน ตั้งแต่ปี 2543 - 2557 ตำแหน่งล่ามและทำหน้าที่ผู้ประสานงานในแผนกต่างๆ รวมทั้งงานด้านกงสุล นอกจากนี้ ยังมีโอกาสได้ช่วยงานของสถานเอกอัครราชทูตเยอรมัน ประจำกรุงเทพฯ ที่แผนกข่าวสารและวัฒนธรรม จึงทำให้มีโอกาสได้เรียนรู้และสะสมประสบการณ์ที่ดีหลายอย่างจากการทำงาน
ปัจจุบัน‘อุทัยวรรรณ’เปิดค่ายสอนภาษาและเตรียมความพร้อมให้กับผู้ที่สนใจจะไปศึกษาต่อหรือย้ายไปอยู่ที่ประเทศเยอรมนี โดยจุดเด่นของการสอนของค่ายนี้ คือ ไม่เพียงสอนเฉพาะภาษาเยอรมัน ยังสอนถึงวัฒนธรรมการใช้ชีวิต รวมถึงดูแลทั้งด้านเอกสาร และให้คำปรึกษา โดยไม่ทิ้งนักเรียนไว้กลางทาง
ขณะเดียวกันยังทำหน้าที่เป็นล่าม มัคคุเทศก์อิสระให้ความรู้แก่คณะบุคคลหรือองค์กรที่เดินทางไปดูงานสัมมนา ท่องเที่ยวในประเทศเยอรมนีด้วย
ภาพการทำงานล่ามของครูหยก
ไม่มีคำว่าสายสำหรับการเริ่มต้น
เธอบอกว่า สำหรับคนที่มองหาโอกาสใหม่ ๆ ในชีวิต หรือคนที่กำลังประสบปัญหางานยังไม่ตอบโจทย์ในเรื่องของรายได้ หรือมองไม่เห็นโอกาสในการพัฒนาต่อยอด อยากแนะนำประเทศเยอรมนีสำหรับการเรียนต่อในด้านอาชีวศึกษา เนื่องจากสถานการณ์ของประเทศกำลังขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ จึงนับว่าเป็นโอกาสดีสำหรับคนที่มองหาหรือต้องการย้ายประเทศ
“ไม่มีคำว่าสายเกินไป สำหรับการเริ่มต้น หรือเรียนรู้ ข้อดีการไปเยอรมนี คือได้เปิดประสบการณ์ในชีวิตใหม่ๆ ได้เรียนรู้ภาษา มีเงินเดือน หรือถ้าเอาประสบการณ์มาพัฒนาก็ได้ เราเลือกอยู่ในที่ที่เรามีความสุขได้อยู่แล้ว แต่การไปประเทศเยอรมัน เสมือนเปิดประตูโอกาสใหม่ๆ ให้แก่ชีวิต เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อน” เธอทิ้งท้าย
ห้องเรียน German Camp