"...ความเป็นอินฟลูเอนเซอร์ของ นิโคลัส จึงไม่ได้แผ่อิทธิพลไปยังผู้ติดตามแต่เพียงด้านเดียว เพราะเขาเองกลับถูกผู้ติดตามจำนวนหนึ่งควบคุมและสั่งการจนทำให้เขาไม่มีความเป็นตัวของตัวเองและต้องทำตามคำสั่งจากผู้ติดตามด้วยความว่าง่าย เพราะธรรมชาติของมนุษย์เป็นเสมือน เครื่องประมวลผลสัญญาณ (Signal processing machine) เมื่อใดก็ตามที่ นิโคลัส ประมวลผลสัญญาณที่ได้รับจากผู้ติดตามว่า ถ้าเขายิ่งแสดงพฤติกรรมการกินที่แปลก ยิ่งสามารถเรียกร้องความสนใจได้มากขึ้น ซึ่งเขารับรู้ได้ว่าเป็นสัญญาณทางบวกต่อความเป็นอินฟลูเอนเซอร์ เขาจึงต้องปรับพฤติกรรมเพื่อให้ตรงกับสัญญาณที่ได้รับจากผู้ติดตาม โดยการเพิ่มระดับการกินที่แสนพิสดารให้มากยิ่งขึ้นไปอีกเป็นลำดับ พฤติกรรมการกินของเขาจึงไม่ได้สอดคล้องกับวิถีการกินอยู่ของมนุษย์ในโลกแห่งความเป็นจริงแม้แต่น้อย..."
แทบไม่น่าเชื่อว่าเพียงช่วงเวลาแค่ 4 ปีหนุ่มน้อยหน้ามนคนเสื้อสีเขียวจะกลายร่างเป็นชายอ้วนที่ไม่เหลือสภาพของเด็กหนุ่มหน้าตาดีคนเดิมอีกต่อไป แม้ว่าภาพที่เห็นจะเรียกความสนใจให้กับผู้คนได้อย่างมากมายจนทำให้ นิโคลัส เพอรี(Nicholas Perry) กลายเป็นที่รู้จักในฐานะอินฟลูเอนเซอร์ดาวเด่นสายโชว์ กินแปลก แต่สิ่งอินฟลูเอนเซอร์รายนี้แสดงออกเป็นพฤติกรรมที่ใครต่อใครไม่ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง ภาพนี้จึงอธิบายได้ว่าความหลงใหลในความมีชื่อเสียงและเงินทองของมนุษย์สามารถทำให้คนบางคนยอมสละทุกสิ่งทุกอย่างได้ แม้แต่ ร่างกายและสุขภาพของตัวเองด้วยเครื่องมือที่เรียกกันว่า “โซเชียลมีเดีย”
อดีตของโซเชียลมีเดีย
ก่อนที่ เฟซบุ๊ก ยูทูป TikTok ทวิตเตอร์(X) และไอจี จะกลายเป็นโซเชียลมีเดียยอดนิยมที่ทำให้ นิโคลัส เพอรี และคนอีกมากมายกลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก คนหลายล้านคนเคยใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลที่เกิดขึ้นมาแล้วก่อนหน้าหลายต่อหลายแพลตฟอร์ม เป็นต้นว่า TheGlobe.com(2538) SixDegrees.com(2540) Friendster(2545) และ MySpace(2546) ฯลฯ แพลตฟอร์มในอดีตและแพลตฟอร์มในปัจจุบันล้วนเป็นผลพวงการพัฒนาของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตด้วยกันทั้งสิ้น
บล็อก(Blog) vs โซเชียลมีเดีย
บล็อก(Blog)หรือเว็บล็อก(Weblog) เคยมีบทบาทสำคัญในยุคที่อินเทอร์เน็ตเริ่มเฟื่องฟู เพราะเป็นหนทางเดียวที่ใครๆสามารถส่งเสียงหรือบันทึกเรื่องราวให้คนอื่นๆที่ท่องโลกอินเทอร์เน็ตสามารถรับรู้ได้ โดยไม่ต้องพึ่งสื่ออาชีพ แพลตฟอร์มสำหรับบล็อก(Blogging platform) เช่น Blogger Blogspot Worldpress BlogGang OKnation ฯลฯ จึงเกิดขึ้นอย่างมากมายในยุคนั้น ผู้บริโภคสื่อ(Media consumer) จึงสามารถเป็นผู้ผลิตสื่อ(Media producer)ได้โดยอาศัยบล็อกเหล่านี้เป็นกระบอกเสียง
บล็อกเหล่านี้จึงไม่ต่างจากโซเชียลมีเดียในปัจจุบันที่ใครต่อใครสามารถแสดงความเห็นและคอมเมนต์ต่อสิ่งที่โพสต์ได้ บางครั้งเรื่องราวที่ถูกเผยแพร่บนบล็อกสามารถกลายเป็นกระแสบนสื่อหลักได้เช่นเดียวกันด้วยเนื้อหาของข่าวและความมีชื่อเสียงของผู้สร้างคอนเทนต์ที่เรียกกันว่า บล็อกเกอร์ (Blogger) ก่อนที่ความนิยมของบล็อกจะค่อยๆลดลงตามกาลเวลาและถูกแทนที่ด้วยโซเชียลมีเดีย
อย่างไรก็ตาม โซเชียลมีเดียยุคแรกได้รับความนิยมอยู่เพียงช่วงเวลาสั้นๆ การที่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยุคนั้นไม่สามารถยืนหยัดอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ เพราะมีข้อจำกัดทางเทคนิคและขาดยุทธศาสตร์ในการทำให้แพลตฟอร์มของตัวเองเติบโต รวมทั้งไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการผู้ใช้งานได้และที่สำคัญคือ เป็นผู้มาก่อนกาลเวลา เพราะในขณะนั้นผู้คนยังไม่สามารถเข้าถึงโลกออนไลน์ได้มากนักด้วยข้อจำกัดของ โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต รวมทั้งข้อจำกัดของวิทยาการด้านข้อมูล นอกจากนี้คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจถึงความสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าบนโลกออนไลน์ จึงทำให้แพลตฟอร์มเหล่านี้ไม่ประสบความสำเร็จและสูญหายไปหลังจากให้บริการมาในช่วงเวลาหนึ่ง
แม้ว่า MySpace ซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้า เฟซบุ๊กเพียงปีเดียวและเคยเป็นโซเชียลมีเดียที่มีผู้นิยมมากที่สุดตอนนั้นและเคยยืนหยัดเป็นคู่แข่งสำคัญของเฟซบุ๊กซึ่งเป็นผู้ท้าชิงก็ยังไม่สามารถรับมือต่อกระแสความสดใหม่ของเฟซบุ๊กและความต้องการของแฟนคลับผู้ชอบสร้างคอนเทนต์(Content creator) หรือที่เรียกกันในภายหลังว่า อินฟลูเอนเซอร์(Influencer)ได้ แพลตฟอร์ม MySpace จึงกลายเป็นแพลตฟอร์มที่เงียบเหงาและไม่เป็นที่นิยมอีกต่อไป
อินฟลูเอนเซอร์ ผู้เล่นสำคัญในโลกออนไลน์
เสรีภาพในการแสดงออกที่แทบไร้ขีดจำกัดที่โซเชียลมีเดียมอบให้แก่มนุษย์ ทำให้ ข่าวสาร ความรู้ เรื่องราวในอดีต ความเห็น ความจริง ความเท็จและคอนเทนต์ทางการค้า ฯลฯ เข้าไปปรากฏอยู่เต็มพื้นที่ของโลกออนไลน์ด้วยฝีมือของนักสร้างคอนเทนต์และส่วนหนึ่งของคนเหล่านี้เองที่มีอิทธิพลต่อความคิดและความเชื่อของผู้คนและผู้ติดตาม(Follower) เพราะพวกเขาสามารถโน้มน้าวให้ใครก็ตามโดยเฉพาะผู้ติดตามเชื่อในสิ่งที่พวกเขาสื่อสารออกมาได้เพื่อวัตถุประสงค์ใดวัตถุประสงค์หนึ่งของพวกเขาเอง
อินฟลูเอนเซอร์ได้กลายเป็นคนกลุ่มใหญ่และมีอิทธิพลเหนือกว่ากว่าเซเล็บที่มีชื่อเสียงแบบดั้งเดิม จนทำให้ผู้ใช้โซเชียลมีเดียและเจ้าของสินค้าและบริการหันเข้าหาอินฟลูเอนเซอร์ออนไลน์มากขึ้นทุกทีเพื่อค้นหา สินค้า บริการ ขอความเห็นหรือโปรโมทสินค้าของตัวเองและกลายเป็นคนกลุ่มใหม่ที่มีอำนาจต่อรองและสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาลจนเป็นเครื่องจักรสำคัญในอุตสาหกรรมใหม่ที่ไม่อาจมองข้ามได้
อินฟลูเอนเซอร์มาจากไหน
คำว่า “อินฟลูเอนเซอร์” หมายถึง ใครก็ตามที่แสดงตัวบนโซเชียลมีเดียอย่างสม่ำเสมอเพื่อ สร้างคอนเทนต์ มีสังคมบนโลกออนไลน์ มีการปฏิสัมพันธ์กับผู้ติดตามและโพสต์แนวคิดหรือคำแนะนำเพื่อกระตุ้นให้ผู้ติดตามมีอารมณ์ร่วมและตอบสนองต่อสิ่งที่อินฟลูเอนเซอร์โพสต์ลงไป
ก่อนที่จะกลายมาเป็นอินฟลูเอนเซอร์ในวันนี้ นักสร้างคอนเทนต์(Content creator) ยอดนิยมในอดีตซึ่งเรียกกันว่า บล็อกเกอร์ มีบทบาทสำคัญในการสื่อสารบนโลกออนไลน์ แต่บล็อกเกอร์มีแนวทางในการสื่อสารของตัวเองและมีพฤติกรรมตลอดจนข้อจำกัดที่ต่างจากอินฟลูเอนเซอร์ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ความหลากหลายและความสะดวกของโซเชียลมีเดียในยุคต่อมาทำให้ผู้คนได้สามารถใช้โซเชียลมีเดียในการ พูด เขียน และแสดงออก เช่น การกดไลค์ แชร์ รีทวีต รีบล็อก คอมเมนต์และอารมณ์ บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่างที่ไม่เคยพบเห็นในยุคของบล็อกเกอร์และแพลตฟอร์มที่เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างอินฟลูเอนเซอร์ คือ Tumblr (ทัมเบลอ) ซึ่งเป็นโซเชียลมีเดียที่กำลังเปล่งประกายในยุคนั้น ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกัน MySpace กำลังจะสิ้นความนิยมและเฟซบุ๊กเองยังไม่เข้มแข็งพอที่จะออกมายืนอยู่แถวหน้าได้
การที่ผู้ใช้แพลตฟอร์ม Tumblr สามารถสร้างคอนเทนต์รูปแบบใหม่ที่มีความหลากหลายบนแพลตฟอร์มที่มีความแตกต่างจากแพลตฟอร์มอื่นได้อย่างน่าตื่นตา ทำให้นักสร้างคอนเทนต์เริ่มให้ความสนใจและหันเข้าหา Tumblr มากขึ้น เพียงสองสัปดาห์หลังเปิดตัวมีผู้ใช้ Tumblr มากถึง 75,000 คน และคนเหล่านั้นได้โพสต์ ภาพ ข้อความ วิดิโอ เกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆของตัวเองวันละหลายต่อหลายครั้งและโพสต์ของบางคนได้กลายเป็นโพสต์ยอดนิยมอย่างไม่น่าเชื่อ Tumblr จึงเป็นเสมือนต้นกำเนิดของนักสร้างคอนเทนต์ยุคใหม่ที่เรียกกันว่า Lifecaster
ดังนั้นหากพูดถึง “อินฟลูเอนเซอร์” ซึ่งเป็นคำที่เกิดขึ้นในภายหลังจึงครอบคลุมคนสองกลุ่มคือ
- กลุ่มนักสร้างคอนเทนต์ (Content creator) ทั่วไป ได้แก่ บล็อกเกอร์ (blogger) นักสร้างคอนเทนต์ด้วยวิดิโอ (vlogger) ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ รวมถึงพวก ภาพสัตว์ แอนนิเมชัน ภาพเด็ก ทารก และมีมต่างๆ เป็นต้น
- กลุ่ม Lifecaster ได้แก่ ผู้สร้างคอนเทนต์ที่มีความสามารถเฉพาะตัว เช่น นางแบบ/นายแบบ นักแสดง เซเล็บ นักกีฬา นักธุรกิจ และ นักการเมือง เป็นต้น
โควิด-19 จุดพลิกผันสำคัญ
การระบาดของเชื้อโรค โควิด-19 คือจุดพลิกผันสำคัญที่ทำให้อินฟลูเอนเซอร์หน้าใหม่เกิดขึ้นมากมายในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แพทย์ นักวิชาการด้านสุขภาพ นักโภชนาการ ฯลฯ ที่ออกมาให้คำแนะนำที่มีประโยชน์ต่อประชาชนให้สามารถเอาตัวรอดได้ในช่วงเวลาวิกฤติ รวมทั้งการขยายตัวของตลาดออนไลน์ที่ทำให้ผู้คนหันเข้าหาโซเชียลมีเดียจากการถูกบังคับด้วยมาตรการล็อคดาวน์ของรัฐบาลทั่วโลก
สถานการณ์โควิด-19 กับโซเชียลมีเดีย จึงเป็นการปลดล็อคข้อจำกัดและสร้างโอกาสทองให้กับผู้คน รวมทั้งเป็นโอกาสของแพลตฟอร์มที่จะเกาะกระแสผลักดันให้กลุ่มอินฟลูเอนเซอร์มีความสำคํญในโลกโซเชียลมากยิ่งขึ้น TikTok มองเห็นหนทางในการสร้างนวัตกรรมจากผู้บริโภคบนโลกโซเชียลก่อนใคร จึงให้เครดิต อินฟลูเอนเซอร์เหล่านี้ว่าเป็น พลเมืองชั้นหนึ่งบนแพลตฟอร์ม(Firs-class citizen) ของตัวเอง
ในทางตรงข้ามยังมีอินฟลูเอนเซอร์บางจำพวกเป็นอินฟลูเอนเซอร์จอมปลอมที่อาศัยจังหวะสร้างคอนเทนต์ไร้สาระที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงเพียงเพราะใฝ่ฝันถึงความมีชื่อเสียงจากยอดไลค์ ยอดวิว โดยไม่ได้สนใจว่าคอนเทนต์ที่ตัวเองปล่อยออกไปนั้นจะสร้างประโยชน์อะไรให้กับส่วนรวมและจะสร้างความเสียหายต่อผู้คนมากขนาดไหน
ใครๆ ก็อยากเป็นอินฟลูเอนเซอร์
มนุษย์ส่วนใหญ่ใฝ่ฝันถึงความมือมีชื่อเสียงในทางใดทางหนึ่งไม่มากก็น้อย ในอดีตก่อนมีโซเชียลมีเดียเกิดขึ้นในโลก มนุษย์คนหนึ่งๆจะมีชื่อเสียงได้ด้วยความสามารถ ความพยายามและต้องใช้เวลานับปีในการสร้างชื่อเสียง เช่นการเป็นนักกีฬา นักดนตรี นักร้อง นักแสดง เป็นต้น แต่โซเชียลมีเดียสามารถทำให้ใครก็ตามสามารถกลายเป็นคนมีชื่อเสียงได้ภายในชั่วเวลาข้ามคืน
จากการศึกษาของสถาบัน PEW แห่งสหรัฐอเมริกาพบว่า คนอายุ 18 ถึง 25 ปี เห็นว่าความมีชื่อเสียงคือเป้าหมายสำคัญที่สุดอันดับหนึ่งหรืออันดับสองของชีวิต ไม่เฉพาะคนหนุ่มสาวเท่านั้นที่ถวิลหาความมีชื่อเสียง ผลสำรวจที่เปิดเผยในบทความใน New York Times พบว่า ผู้ใหญ่ในจีนและเยอรมัน 30 เปอร์เซ็นต์ ใฝ่ฝันที่จะเป็นผู้มีชื่อเสียงและจำนวนมากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์คาดหวังว่าตัวเองจะมีชื่อเสียงแม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆก็ตาม และ ทัมเบลอ เฟซบุ๊ก ยูทูป ไอจี TikTok ฯลฯ ได้ทำให้ความฝันนั้นกลายเป็นความจริงขึ้นมาแล้ว
หนึ่งในตัวอย่างของคนที่สร้างความมีชื่อเสียงให้กับตัวเองบนโลกออนไลน์และกลายเป็นที่รู้จักของคนทั้งโลกในฐานะอินฟลูเอนเซอร์คือ นิโคลัส เพอรีหรือที่รู้จักกันในชื่อ นิโคคาโด อะโวคาโด (Nikocado Avocado)ซึ่งเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปในโลกโซเชียลว่าเป็นอินฟลูเอนเซอร์สายโชว์กินแปลก
จากเด็กหนุ่มที่รูปร่างปกติค่อนข้างบอบบางด้วยซ้ำ แต่เขากลับเปลี่ยนเป็นคนละคนจากการเปลี่ยนแนวการกินอาหารแนววีแกนและการเล่นไวโอลินบนโลกออนไลน์และหันมาเรียกความสนใจด้วยการกินโชว์แปลกๆ โดยการกินอาหารที่เน้นเมนูประเภท ฟาสต์ฟู้ด อาหารกึ่งสำเร็จรูป และอาหารขยะ ซึ่งจุดเปลี่ยนนี้เองทำให้เขาก็ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นสมใจอยาก และมีผู้ติดตามบนยูทูปมากถึง 3.3 ล้านคน จนทำให้ทำให้เขาไม่สามารถ "หยุดกิน" ได้
ภายในช่วงเวลาเพียง 4 ปี น้ำหนักของ นิโคคาโด อะโวคาโด เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนน่าตกใจ พร้อมด้วยขนาดของร่างกายที่ขยายใหญ่โตเพิ่มขึ้นมาก เขาเคยมีน้ำหนักมากถึง 159 กิโลกรัมแต่บางครั้งลดลงเหลือ 119 กิโลกรัมและภายหลังเขาเกิดอาการป่วยจากการกิน ในที่สุดชีวิตความมีชื่อเสียงของเขาที่เริ่มต้นจากโลกโซเชียลแต่ต้องจบลงด้วยการเข้าโรงพยาบาลจึงเป็นการแลกมาด้วยความไม่คุ้มค่าต่อร่างกายและสุขภาพของตัวเอง
ผู้ติดตาม – มิตรที่เป็นเหมือนศัตรู
ผู้ติดตามหรือ Follower คือแรงสนับสนุนสำคัญที่สามารถทำให้คนบางคนอยู่ในอาชีพเอนฟลูเอนเซอร์ได้โดยที่ไม่ต้องเหนื่อยมากนัก เพราะคนเหล่านี้ไม่เพียงมีความสัมพันธ์ตัวต่อตัวกับอินฟลูเอนเซอร์เท่านั้น แต่ผู้ติดตามมีอิทธิพลมากกว่านั้น เพราะพวกเขาสามารถสร้างสังคมของพวกเขาเองที่มีลักษณะเฉพาะตัวเป็นจุดขายจนสามารถผลักดันให้สิ่งที่อินฟลูเอนเซอร์นำเสนอกลายเป็นไวรัลได้ไม่ยาก แต่ความสัมพันธ์ของผู้ติดตามกับอินฟลูเอนเซอร์ไม่แนบแน่นเหมือนกับมิตรภาพระหว่างเพื่อนที่มีความลึกซึ้งกว่า เพราะผู้ติดตามอาจตีตัวจากอินฟลูเอนเซอร์ไปเมื่อใดก็ได้เพียงเพราะไม่พอใจในสิ่งที่อินฟลูเอนเซอร์นำเสนอ แต่มิตรภาพระหว่างเพื่อนนั้นยั่งยืนกว่าผู้ติดตามมากนัก
จากการสำรวจพบว่าพวกผู้ติดตามมักชอบติดตามอินฟลูเอนเซอร์ประเภท บล็อกเกอร์ เซเล็บ นักกิจกรรม และดาราทีวี ผู้ติดตามที่ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ให้เหตุผลถึงการติดตามอินฟลูเอนเซอร์ว่า พวกเขาต้องการ แรงบันดาลใจ(Inspiration) แรงจูงใจ(Motivation) ไลฟ์สไตล์ และติดตามเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นจากการนำเสนอของอินฟลูเอนเซอร์ที่พวกเขาชื่นชอบ
การที่ นิโคลัส เพอรี ผันตัวเองมาเป็นยูทูปเบอร์สายกินแปลกนอกจากจะทำให้เขามีชื่อเสียงและมีผู้ติดตามจำนวนมากแล้ว ผลประโยชน์ที่เขาได้รับเป็นตัวเงินที่ได้เฉพาะจากยูทูปราว 5,000 เหรียญ(175,000 บาท) ต่อเดือนไม่รวมรายได้จากแพลตฟอร์มอื่นๆที่เขาไม่มีสัญญาผูกมัดตัวเองไว้กับแพลตฟอร์มใดเป็นการเฉพาะ (at-will poster) ทำให้เขาตัดไม่ขาดจากกับดักของรายได้และความต้องการมีชื่อเสียงจาก จำนวนผู้ติดตาม ยอดวิว ยอดไลค์ ยอดแชร์และคอมเมนต์ จนไม่มีอะไรสามารถหยุดยั้งเขาได้
ในบรรดาผู้ติดตามหลายล้านคนของเขามีทั้งผู้ติดตามที่เป็นห่วงเป็นใยและคอยตักเตือนเขาในเรื่องสุขภาพจากการกินที่เลยเถิดผิดปกติ แต่มีผู้ติดตามบางประเภทกลับยุยงส่งเสริมเขาจนทำให้เขาหยุดกินไม่ได้ เพราะผู้ติดตามเหล่านี้ต้องการให้เขากินมากยิ่งขึ้นๆเพื่อความสะใจและเขาเองก็ยินดีที่จะตอบสนองต่อผู้ติดตามของเขาอย่างไม่ลังเลจนไม่สามารถหยุดพฤติกรรมกินสุดแปลกนี้ได้
ความเป็นอินฟลูเอนเซอร์ของ นิโคลัส จึงไม่ได้แผ่อิทธิพลไปยังผู้ติดตามแต่เพียงด้านเดียว เพราะเขาเองกลับถูกผู้ติดตามจำนวนหนึ่งควบคุมและสั่งการจนทำให้เขาไม่มีความเป็นตัวของตัวเองและต้องทำตามคำสั่งจากผู้ติดตามด้วยความว่าง่าย เพราะธรรมชาติของมนุษย์เป็นเสมือน เครื่องประมวลผลสัญญาณ (Signal processing machine) เมื่อใดก็ตามที่ นิโคลัส ประมวลผลสัญญาณที่ได้รับจากผู้ติดตามว่า ถ้าเขายิ่งแสดงพฤติกรรมการกินที่แปลก ยิ่งสามารถเรียกร้องความสนใจได้มากขึ้น ซึ่งเขารับรู้ได้ว่าเป็นสัญญาณทางบวกต่อความเป็นอินฟลูเอนเซอร์ เขาจึงต้องปรับพฤติกรรมเพื่อให้ตรงกับสัญญาณที่ได้รับจากผู้ติดตาม โดยการเพิ่มระดับการกินที่แสนพิสดารให้มากยิ่งขึ้นไปอีกเป็นลำดับ พฤติกรรมการกินของเขาจึงไม่ได้สอดคล้องกับวิถีการกินอยู่ของมนุษย์ในโลกแห่งความเป็นจริงแม้แต่น้อย
วงจรการถูกควบคุมโดยผู้ติดตาม(Audience capture) ที่ทำให้ นิโคลัส ถึงจุดจบที่โรงพยาบาล
ปฏิกิริยาที่ นิโคลัส ต้องตอบสนองต่อความต้องการของผู้ติดตาม เรียกกันว่า การถูกควบคุมโดยผู้ติดตาม( Audience capture ) ซึ่งหมายความว่า แทนที่ นิโคลัส จะมีอำนาจเหนือผู้ติดตาม แต่เขากลับติดกับดักของผู้ติดตามจนต้องหันซ้ายหันขวาตามที่ผู้ติดตามของเขาจะสั่ง ราวกับว่าทุกการเคลื่อนไหวของเขาบนโซเชียลมีเดียต้องได้รับการเห็นชอบจากผู้ติดตามเสียก่อนทุกครั้งไป
การที่ นิโคลัส เพอรี ติดกับดักและถูกควบคุมโดยผู้ติดตามจึงเป็นเหมือน สภาวะกลืนไม่เข้า คายไม่ออก หากเขาไม่ทำตาม ผู้ติดตามของเขาอาจจะเลิกติดตามเขา(Unfollow) ได้ แต่ผลร้ายกลับมาตกอยู่กับตัวเขาเอง ที่บทสุดท้ายต้องผจญความทุกข์ทรมานจากภาวะน้ำหนักเกินจนทำให้ซี่โครงหักไปสามซี่และในที่สุดต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาโรคมะเร็งก่อนวัยอันควร จากการกินแบบสุดขั้วของเขา
ด้านมืดของโซเชียลมีเดียเป็นเสมือนดาบสองคมซึ่งด้านหนึ่งอาจถูกอินฟลูเอนเซอร์จอมปลอมบางจำพวกนำไปใช้ใช้เชือดเฉือนผู้ติดตามให้บาดเจ็บจากพิษของคอนเทนต์ที่อินฟลูเอนเซอร์เหล่านั้นหยิบยื่นให้ แต่อีกด้านหนึ่งของดาบกลับถูกมาใช้ทำร้ายอินฟลูเอนเซอร์บางคนได้เช่นกันกันหากอินฟลูเอนเซอร์คนนั้นไม่มีภูมิคุ้มกันมากพอและไม่สามารถบริหารจัดการผู้ติดตามของตัวเองได้ จนตกอยู่ภายใต้การควบคุมของบรรดาแฟนคลับอย่างเบ็ดเสร็จ
อ้างอิง
1. Extremely Online โดย Taylor Lorenz
2. Influenced โดย Brian Boxer Wachler
3.โรค-ภาษา-อารมณ์ กับโซเชียลมีเดีย https://www.isranews.org/article/isranews-article/126953-social-8.html
4. Perfect โดย Rosalind Gill
5. นิโคลัส เพอรี https://hilight.kapook.com/view/227154
6. https://www.thegospelcoalition.org/article/gain-audience-lose-soul/
7. https://www.distractify.com/p/nikocado-avocado-net-worth
ภาพประกอบ
https://www.thegospelcoalition.org/article/gain-audience-lose-soul/
https://hilight.kapook.com/view/227154