“…ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยพุ่งกระฉูดภายในทศวรรษเดียว โดยทรัพย์สินของ 50 ตระกูลที่รวยที่สุด เพิ่มจากหนึ่งในสิบของ GDP เป็นหนึ่งในสาม ทรัพย์สินของพวกเขาเพิ่มขึ้น ปีละ 20-30% หรือคิดเป็น 6-8 เท่า ภายในทศวรรษเดียว…”
...................................
หมายเหตุ : บทความ เรื่อง จากบทเพลง “ลุงขี้เมา” ถึงอนาคตประเทศไทยในยุคสังคมสูงวัยยากไร้ทั่วประเทศ โดย ผศ.ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย แห่งศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (CRISP) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บทเพลง “ลุงขี้เมา” ของวงคาราบาว
เป็นเพลงแรกและเพลงโปรโมทของอัลบั้มชุดแรก “ขี้เมา” ปฐมบทของหนึ่งตำนานดนตรีเพื่อชีวิต ออกจัดจำหน่ายปี พ.ศ.2524 ถึงปัจจุบันก็ผ่านมา 4 ทศวรรษแล้ว
ด้วยดนตรีถ่ายทอดอย่างงดงามประสานสอดคล้องกับเนื้อร้องเกี่ยวกับผู้ด้อยโอกาสในสังคม ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบด้วยโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมที่กดทับทั้งชีวิต จนจบลงด้วยความพ่ายแพ้ต่อระบอบเครือข่ายทุนนิยมในวัยชราด้วยความยากไร้สิ้นหวังระทมขมขื่นต้องเร่ร่อนพลัดพรากจากบ้านเกิด
แทบไม่แตกต่างจากชีวิตของ “มะโหนก” ซึ่งถูกนายทุนที่วางแผนชั่วร้ายฮุบที่นา ซ้ำร้ายด้วยอำนาจอิทธิพลและเงินตรา นายทุนกลับได้มีบุญวาสนาขึ้นไปเป็นถึงรัฐมนตรี
บทความมีเป้าหมายเพื่อพึงระลึกถึงชีวิตของมนุษย์อย่าง “ลุงขี้เมา” ผู้อุทิศหยาดเหงื่อแรงงานเลือดเนื้อชีวิต เพื่อให้นายทุนได้สะสมเม็ดเงินผ่านชีวิตการทำงานและการบริโภค ตามสภาพเศรษฐศาสตร์การเมืองอันฉ้อฉลและอยุติธรรม และเพื่อชวนท่านผู้อ่านครุ่นคิดคิดถึงอนาคตที่เรากำลังส่งมอบให้คนรุ่นลูกรุ่นหลาน จะเป็นระบบเศรษฐกิจสังคมที่เป็นธรรมและยั่งยืนหรือไม่
อุทาหรณ์ ของคนรุ่นเก่า
มีชายชรา เป็นคนขี้เมา
งานการไม่ทำ แกกินแต่เหล้า
กินตั้งแต่เช้า... ทุกวี่วัน
เหตุการณ์ผันแปร ให้แบมือขอทาน
ร่อนเร่พเนจร แหล่งที่คนพลุกพล่าน
ร่างกายซูบโซ ผิวตัวดํากร้าน
ตัวสั่นสะท้าน... เพราะพิษสุราเรื้อรัง
อีกประมาณ 15 ปีข้างหน้า คือปี ค.ศ.2040 หรือ พ.ศ.2583 มีการคาดการณ์ว่า สัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป จะคิดเป็นประชากรหนึ่งในสามของประเทศ คือ ประมาณ 20 ล้านคน
ปัจจุบันมีผู้สูงอายุจำนวนประมาณ 12 ล้านคน โดยผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพัง คือ อยู่คนเดียวหรืออยู่กับคู่สมรสเพียงสองคน มีรวมกันประมาณหนึ่งในสามของประชากรวัยสูงอายุ เพิ่มขึ้นจากหนึ่งในห้าเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว
แปลว่า แนวโน้มที่ผู้สูงอายุอยู่กันเองตามลำพัง เช่น อยู่คนเดียว มีเพิ่มมากขึ้นในอนาคต และน่าจะเพิ่มขึ้นรวดเร็วกว่าเดิม เพราะคนวัยทำงานรุ่นปัจจุบัน สามารถมีลูกได้น้อยลง
หากไม่มีลูกหลานส่งเสีย รายได้หลักของผู้สูงอายุที่เคยมาจากลูกหลานก็จะกลายเป็นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบขั้นบันได ซึ่งเป็นรายได้หลักในการจุนเจือชีวิต โดยเริ่มต้นที่ 600 บาทต่อคนต่อเดือน อัตราดังกล่าวไม่มีการปรับเปลี่ยนมานานกว่า 10 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2554
ผู้สูงอายุปัจจุบัน ประมาณ 2 ใน 5 ยังคงทำงาน โดยส่วนมากค้าขายส่วนตัวหรือทำงานในภาคเกษตรมีรายได้แปรผันตามราคาสินค้าเกษตร และหนี้สินก็เป็นปัญหาสำคัญของการไม่มีเงินออม ทั้งในผู้สูงวัยและวัยทำงานซึ่งกำลังเข้าสู่วัยเกษียณ เมื่อรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายและการจ่ายหนี้แล้ว แทบไม่เหลือเงินไว้ออมเลย
ผู้สูงอายุมีเพียง 'ส่วนน้อย' ที่สามารถมีบำนาญที่มั่นคงด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ด้วยงบประมาณรายจ่ายสวัสดิการบุคลากรภาครัฐ สำหรับบำเหน็จบำนาญข้าราชการและเงินสำรองสมทบชดเชยของข้าราชการ กำลังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จาก 1 แสนล้านบาท ในปี พ.ศ. 2550 เป็น 3.8 แสนล้านบาทในปี พ.ศ. 2564
ปีแรกที่เกิดโควิด ผู้สูงวัยยากจนพุ่งสูงขึ้นในหลายจังหวัด โดยเฉพาะภาคอีสานและภาคใต้ ซึ่งบางจังหวัดมีอัตราความยากจนของผู้สูงอายุสูงถึง 20-30% คือ เป็นผู้สูงอายุที่ดำรงชีวิตอยู่ใต้เส้นความยากจนที่ 3 พันบาทต่อคนต่อเดือน หรือ 100 บาทต่อคนต่อวัน
แต่ก็ยังพอได้ประทังชีวิตด้วยเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุถ้วนหน้าแบบขั้นบันได ถัวเฉลี่ยผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพ 10.3 ล้านคน คือ 660 บาทต่อคนต่อเดือน จากเงินงบประมาณเพียง 8.1 หมื่นล้านบาทในปี พ.ศ. 2564
เมื่อครั้งยังหนุ่ม แกเคยทํานา
เคยเอาหลังสู้ฟ้า... ปลูกข้าวให้คนกิน
หนี้สินล้นตัว เพราะมัวแต่ทํานา
ไม่เคยเรียนรู้วิชา... ที่นาก็หลุดลอย
มาเป็นจับกัง ที่แบกหามวันยังคํ่า
เหน็ดเหนื่อยแทบตายได้แต่ค่าแรงตํ่าตํ่า
ก็เป็นคนจน ย่อมเสียเปรียบเป็นประจํา
กลํ้ากลืนความชอกชํ้า... ถ้าไม่ทําก็อดกิน
ในยามจะกิน ไม่เคยเต็มอิ่ม
ในยามจะนอน ไม่เคยเต็มตื่น
หลับลงคราวใด ฝันร้ายทุกคืน
สร้างความขมขื่น... จนจิตใจอ่อนแอ
ยามเจ็บไข้ ร่างกายสั่นสะท้าน
เพราะต้องใช้แรงงาน... ยิ่งกว่าใช้แรงวัว
คนทุกคน ต้องทํางานเหมือนควาย
แต่หนี้สินยังมากมาย... เกิดเป็นควายดีกว่าคน
คนจำนวนมากในประเทศนี้ เกิดมาก็เผชิญความล้มเหลวของระบบการศึกษา ทั้งในเรื่องคุณภาพ และการเข้าถึงโอกาส ทำให้ต้องทำงานเป็นแรงงานราคาถูกในเมือง มีค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม รายได้เติบโตไม่ทันค่าครองชีพ โดนกดค่าแรง คือ การขูดรีดเลือดเนื้อชีวิต เพื่อสะสมเป็นความมั่งคั่งของนายทุน
เช่น ผู้สูงอายุปัจจุบันร้อยละ 80 เรียนจบชั้นประถมหรือต่ำกว่า และอีกร้อยละ 10 ได้เรียนจบถึงระดับชั้นมัธยม จึงอาจจะมีไม่น้อยเป็นดังคำ คุณจิตร ภูมิศักดิ์ ว่า “ทำงานเพื่อให้ได้กิน กินเพื่อให้มีแรงทำงาน”
หรือ “ผู้ได้รับสมญาว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ กลับไม่มีข้าวกิน ค่าเช่าและดอกเบี้ยสูงลิ่ว หนี้สินท่วมท้นรุงรังและกลายเป็นคนล้มละลายไร้ที่นา, กลายเป็นชาวนารับจ้าง, กลายเป็นคนขายแรงงานไปในที่สุด”
ทางเลือกการบริโภคในชีวิต จะจับจ่ายใช้สอยหรือทำธุรกิจธุรกรรม เงินก็ไหลไปจำกัดกระจุกอยู่แค่นายทุนไม่กี่ตระกูล หากอยากจะค้าขาย ก็ไร้ปัญญาแข่งขันกับนายทุนไม่กี่ตระกูลที่มีอำนาจเหนือตลาด แทรกซึมไปในทุกพื้นที่ หากอยากจะผลิตเบียร์หรือเหล้าชุมชนแข่งกับรายใหญ่ ก็แพ้ตั้งแต่กฎหมายจำกัดอภิสิทธิ์ให้เฉพาะระดับนายทุนใหญ่
ความได้เปรียบของนายทุน สามารถสะสมทุนจากกำไรมหาศาล ไปลงทุนต่อในธุรกิจอื่นๆ โดยเฉพาะธุรกิจที่สามารถยกเว้นลดหย่อนภาษีได้ แบบที่ SME ไม่มีสิทธิ์ แล้วยังสามารถเข้าถึงระดับกำหนดนโยบายบริหารประเทศด้านต่างๆ ผลลัพธ์ คือ รายใหญ่รวยขึ้น รายย่อยไม่มีโอกาสเติบโต และผู้บริโภคมีตัวเลือกน้อย
ในขณะที่สภาพเศรษฐกิจโดยรวมซบเซา ประชาชนต้องดิ้นรนทำมาหากินอย่างยากลำบาก เห็นได้ชัดจากภาพบนท้องถนนทั่วไป สาเหตุหลักมาจากวิกฤตโควิด ภาวะเศรษฐกิจโลกเติบโตช้า ประกอบกับประเทศไทยพัฒนาไม่ทันประเทศคู่แข่ง ส่งผลให้เงินในประเทศไหลออกนอกประเทศอย่างมหาศาล เช่น ขาดดุลการค้ากับจีนถึง 36,635 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทย 1.3 ล้านล้านบาท ในปีที่แล้ว
ความจริงแล้ว เศรษฐกิจไทยชะลอตัวตั้งแต่ก่อนหน้า สาเหตุหลักมาจากสงครามการค้า ปัญหาหนี้ครัวเรือน การพึ่งพาการส่งออก ขาดการลงทุนเพื่อวิจัยและพัฒนา และ ขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ พัฒนาเศรษฐกิจมาด้วยการปล่อยให้ทุนใหญ่ฮุบหมด แล้วยิ่งรัฐประหารปี พ.ศ.2557 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
เช่น การคว่ำบาตรจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก ในขณะที่การปฏิรูปไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม มีเพียงโครงการสร้างถนนรถไฟและสถานีที่เป็นผลงานโฆษณาโดดเด่น ซึ่งหลายโครงการล่าช้า เกิดปัญหาทุจริต และชำรุด โดยผลประโยชน์จากโครงการเหล่านี้ มักตกอยู่กับนายทุนเพียงหยิบมือ
ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยพุ่งกระฉูดภายในทศวรรษเดียว โดยทรัพย์สินของ 50 ตระกูลที่รวยที่สุด เพิ่มจากหนึ่งในสิบของ GDP เป็นหนึ่งในสาม ทรัพย์สินของพวกเขาเพิ่มขึ้น ปีละ 20-30% หรือคิดเป็น 6-8 เท่า ภายในทศวรรษเดียว
เมื่อพิจารณาชีวิตคนระดับล่างอย่างลุงขี้เมา เรื่อยขึ้นมาจนถึงตรงกลางหรือมัธยฐานของสังคมไทย ซึ่งค่าใช้จ่ายการบริโภคครัวเรือนเฉลี่ยอยู่ที่ 6,000 บาทต่อคนต่อเดือน หรือ 200 บาทต่อคนต่อวัน นอกจากจะไม่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพในวัยเด็ก เพราะขาดแคลนครู โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็ก จนนักเรียนจำนวนมากไม่สามารถเรียนต่อระดับมัธยมปลายได้ ต้องทำงานไร้ทักษะราคาถูก ตลอดชีวิตการทำงานจนถึงวัยชรา
คนเหล่านี้ก็แทบไม่มีโอกาสได้พัฒนาทักษะแรงงานที่จะช่วยเพิ่มโอกาสและรายได้ ดังนั้น แม้จะขยันทำงานทั้งชีวิต แต่คนจำนวนไม่น้อยก็แทบจะไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ ส่งผลให้ความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจถูกส่งต่อข้ามรุ่น
หมดสิ้นปัญญา ของชาวนาบ้านนอก
ร่อนเร่เข้ามา เป็นจับกังในบางกอก
สูญสิ้นราคา เพราะแก่ชราหัวหงอก
หาทางออกสุดท้าย... ด้วยสุราเมรัย
กินเหล้าเข้าไป ยิ่งเลวร้ายซํ้าเก่า
หาเงินมาได้ ก็เอาไปกินเหล้า
มันกลุ้มก็ยิ่งกิน ยิ่งกินก็ยิ่งเมา
ร่างกายก็ปวดร้าว โรคร้ายเข้าคุกคาม
ปัจจุบันความยากจนในผู้สูงอายุเป็นปัญหาของประเทศที่สามารถรวยก่อนแก่ เช่น ญี่ปุ่นมีปัญหาผู้สูงอายุทำผิดกฎหมายลหุโทษ เพื่อจะได้มีอาหารและที่พักในเรือนจำ ฮ่องกงมีชายสูงอายุจบชีวิตตนเองเพราะคิดว่าตนเองไม่เหลือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือ เกาหลีมีสตรีวัยชรายืนเร่ขายบริการทางเพศ
ประเทศไทยไม่ได้เห็นความพยายามอย่างจริงจังของรัฐบาลเลยที่จะพัฒนาระบบคุ้มครองความยากจนผู้สูงอายุ เพื่อป้องกันความเสี่ยงของสังคมจากวิกฤตความยากจนผู้สูงอายุ เพราะการพัฒนาความคุ้มครองอย่างยั่งยืน จะต้องแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างขั้นรากฐานของประเทศ คือ ไปแตะผลประโยชน์ของนายทุนและเครือข่ายกลุ่มผลประโยชน์
เช้าวันหนึ่ง มีคนพบศพ
ขี้เมานอนตาย อยู่ที่ใต้สะพานลอย
เช้าวันหนึ่ง มีคนพบศพ
ขี้เมานอนตาย อยู่ที่ใต้สะพานลอย
เช้าวันหนึ่ง มีคนพบศพ
ขี้เมานอนตาย อยู่ที่ใต้สะพานลอย
เช้าวันหนึ่ง มีคนพบศพ
ขี้เมานอนตาย อยู่ที่ใต้สะพานลอย
การใช้งบประมาณเพื่อสร้างความคุ้มครองทางสังคมให้ผู้สูงอายุ มีความสมเหตุสมผลทางเศรษฐศาสตร์ ไม่ใช่เป็นภาระงบประมาณ และทุกคนสมควรจะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทั่วถึงและเป็นธรรม เพราะทั้งสังคมได้ร่วมกันจ่ายภาษี
ในเมื่อประเทศไทยจำเป็นต้องหาแหล่งรายได้เพิ่มขึ้นสำหรับงบบำนาญข้าราชการ ก็ควรจะเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส ใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่มีข้อเสนอมากมาย เพื่อความเป็นธรรมในสังคม สามารถพัฒนาระบบสวัสดิการสำหรับคุณภาพชีวิตของคนไทย และเป็นเส้นทางแห่งการพัฒนาที่ปรองดองและยั่งยืน
เพื่อจะได้ไม่ต้องเผชิญอนาคตประเทศไทยแบบที่มีผู้สูงวัยอย่าง “ลุงขี้เมา” ผู้ยากไร้สิ้นหวังอยู่ตามหัวเมืองและชุมชนทั่วประเทศ ในขณะที่รุ่นลูกหลานของเราก็ขาดพลังขีดความสามารถในการแข่งขันให้เท่าทันโลกยุคสมัยแห่งหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผสานเป็นปฏิกิริยาร่วมส่งผลทางตรงต่อความท้าทายของสังคมสูงวัยระดับสุดยอด