Exclusive! 4 คำถาม - คำตอบ กับ ‘ดร. บุรณิน รัตนสมบัติ’ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน ปตท. ว่าด้วยหลัก ‘ธรรมาภิบาล’ ยืนยัน ให้ความสำคัญอันดับต้น ตั้งแต่กระบวนการเลือกหุ้นส่วนธุรกิจ ต้องน่าเชื่อถือ มีกรรมการหลายชุดกลั่นกรอง ภายใต้แผนลงทุนทั้งระบบเกือบ 9 หมื่นล.
เม็ดเงิน 89,203 ล้านบาทคืองบลงทุนตามแผน 5 ปี (ปี 2567 - 2571) ของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ตามที่ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ปตท.และทีมผู้บริหารจัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเมื่อเร็ว ๆ นี้
จำแนกเป็น
1.ลงทุนในบริษัทที่ ปตท.ถือหุ้น 100% จำนวน 27,822 ล้านบาท (31%)
2.ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ 30,636 ล้านบาท (34%)
3.ธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐานและสำนักงานใหญ่ 12,789 ล้านบาท (14%)
4.ธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติ 14,934 ล้านบาท (17%)
5.ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศและปิโตรเลียมขั้นปลาย 3,022 ล้านบาท (4%)
เป็นข้อมูลชุดเดียวกับที่ บมจ.ปตท.แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามมติคณะกรรมการ ปตท. ในการประชุมครั้งที่ 12/2566 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566
หลายคนอาจทราบข้อมูลมาแล้ว
คราวนี้มาดูบริบท ‘ธรรมาภิบาล’ หรือ นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Governance) ของ ปตท.
@ บุรณิน รัตนสมบัติ
‘บุรณิน รัตนสมบัติ’ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน ปตท. ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ที่สนามบินสุวรรณภูมิ กรุงเทพฯ หลังเสร็จภารกิจดูงานนวัตกรรมและธุรกิจใหม่ กลุ่ม ปตท. ณ ประเทศสหพันธรัฐเยอรมนี ในช่วงเวลาสั้น ๆ เย็นวันที่ 27 มี.ค.2567
‘บุรณิน’ ดูแล Future Energy ธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต , Renewable : ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน , Energy storage & system related : ธุรกิจระบบการกักเก็บพลังงาน , EV Value Chain : ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร , Hydrogen: ธุรกิจพลังงานไฮโดรเจน Beyond ธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน , Life Science : ธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต , Logistics & Infrastructure: ธุรกิจโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน และ AI, Robotics & Digitalization : ธุรกิจปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีดิจิทัล
@ ถาม-แนวทาง ปตท.ในเรื่อง การบริหารจัดการธรรมาภิบาล (Good Governance)
ตอบ – หลักทั่วไปในเรื่องของการลงทุนโดยเฉพาะการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ และการลงทุนในธุรกิจที่ไม่คุ้นเคย หลักสำคัญนอกเหนือจากเทคโนโลยี เรื่องของความเป็นไปได้ทางด้านการตลาดและการเงินแล้วเราดูในเรื่องของการบริหารจัดการ ดูในเรื่องของการทำหลักธรรมาภิบาลที่ดี ในการใช้ตั้งแต่การเลือกพาร์ทเนอร์ (หุ้นส่วนธุรกิจ) ก็คือต้องเป็นคนเชื่อถือได้ แล้วก็มีการตรวจสอบประวัติอะไรต่างๆ ซึ่งอันนี้ถือเป็นหลักสำคัญ แล้วเราก็พยายามที่จะนำเรื่องแนวทางต่างๆที่เรื่องของ ซีจี (CG:Corporate Governance) ที่ทางปตท.มีมา ไปดิพลอย (Deploy-ปรับใช้) ลงให้บริษัทลูก บริษัทที่เราจัดตั้งใหม่ เป็นทีละสเต็ป ๆ โดยมีพีทีทีเวย์ กำกับดูแล
@ ถาม-หลักนี้จะนำไปปรับใช้กับการลงทุนหรือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับต่างประเทศอย่างไร?
ตอบ- ครับ ส่วนใหญ่สิ่งที่บริษัทที่ ปตท. ไปลงทุน บางบริษัทเป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศอยู่แล้วซึ่งตรงนี้เขามีหลักการกำกับดูแลที่ดีของเขาอยู่ แล้วอันนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญเวลาที่เราคุยกันก็คือว่า พาร์ทเนอร์ก็ต้องมีลักษณะการดำเนินงานคล้ายๆกันในเรื่องนี้ซึ่งทำให้เวลามีการลงทุนมันก็จะได้สะดวกแล้วไปในทิศทางเดียวกัน นอกเหนือจากนั้นเราจะส่งคนของเราไปเป็นคณะกรรมการกับบริษัทที่เราไปร่วมลงทุนด้วยเพื่อคอยกำกับดูแล แล้วในกระบวนการพิจารณาการลงทุนก็ผ่านกระบวนการกลั่นกรองการลงทุนจาก ปตท.ซึ่งก็มีกรรมการอยู่หลายชุด จะช่วยทำให้เกิดความมั่นใจได้ว่า ไม่ได้ขาดหรือไม่ได้มีประเด็นอะไรที่ทำให้อาจจะมาจากการที่ไม่ได้มีการกำกับดูแลที่ดี
@ ถาม-แผนของปตท. หลังปี 2571 มีทิศทางในเชิงธุรกิจและหลักธรรมาภิบาลอย่างไร
ตอบ – กรอบการกำกับดูแล เราก็มีอินเวสเมนท์ธีซิส ในการเช็กการลงทุน ตั้งแต่เรื่องเชิงกลยุทธ์ เชิงธุรกิจ เชิงผลตอบแทน เชิงเทคนิคอล และเรื่องของ Governance เราเรียกว่ามันเป็นอินเวสเมนท์ธีซิสในการวิเคราะห์การลงทุน แต่ว่าอย่างที่บอกธุรกิจใหม่นอกเหนือจากการกำกับดูแล เรื่องของการวิเคราะห์ตลาดยังมีเรื่องของการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและเทคโนโลยีก็ต้องไว ต้องไวกว่า ต้องไว แล้วการตัดสินใจต่างๆก็ต้องรวดเร็ว ทั้งรวดเร็ว ทั้งบางทีที่บางบริษัทที่เราลงไปแล้วอาจจะไม่ได้ เราก็อาจต้องปิด หรือบางบริษัทที่เราลงไปแล้วอาจจะเล็กลงไปก็มีการควบรวม สิ่งนี้เป็นนโยบายของ (เรา) ปตท.อยู่แล้วที่ให้ความสำคัญเรื่อง Governance
@ ถาม-มีสิ่งใดที่ต้องการสื่อสารเพิ่มเติม
ตอบ- อย่างที่บอก เรื่องที่สำคัญในการเข้าไปลงทุนในธุรกิจใหม่คือการสร้างคน สร้างคนที่ให้ นอกเหนือจากเรื่องให้มีความรู้ความสามารถทางด้านนวัตกรรมแล้วก็คือเรื่องการบริหารจัดการ และการกำกับดูแล รวมไปถึงเรื่องของการเงิน แล้วอย่างที่บอกเวลาที่ทำธุรกิจใหม่ๆ ส่วนใหญ่จะต้องอาศัยโนว์ฮาว (องค์ความรู้) จากต่างประเทศ ฉะนั้นเรื่องนี้ถือว่า เป็นโอกาสที่ดีที่ประเทศไทยกำลังจะก้าวไปอีกขั้นหนึ่งในการที่จะมีอุตสาหกรรมใหม่ๆที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
การขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย ภายใต้หลัก Good Governance เป็นคำยืนยันจาก ‘บุรณิน’
ประวัติ‘บุรณิน’
จบการศึกษา ปริญญาตรี วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาอุตสาหกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปริญญาโท บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาบริหารธุรกิจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการ คณะวิทยาการจัดการบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร
ประสบการณ์การทำงาน
2558 – 2561 เป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจหล่อลื่น บมจ. ปตท.
2561 – 2562 รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจหล่อลื่นบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)
2562 - 31 พฤษภาคม 2563 รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์องค์กรนวัตกรรมและความยั่งยืน และผู้อำนวยการโครงการเพิ่มระดับขีดความสามารถ เพื่อศักยภาพในการแข่งขัน บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)
1 มิถุนายน 2563 - 30 กันยายน 2564 รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บมจ.ปตท.
1 ตุลาคม 2564 - 30 กันยายน 2565 รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บมจ.ปตท.
1 ตุลาคม 2565 – ปัจจุบัน ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บมจ.ปตท.
@ กำหนดนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี 11 ข้อ
กล่าวสำหรับนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีของ ปตท. ถูกเผยแพร่ในเว็บไซต์ของ ปตท. จำนวน 11 ข้อ เพื่อให้คณะกรรมการ ปตท. ผู้บริหาร และพนักงาน ยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน อาทิ
• คณะกรรมการ ปตท. ผู้บริหาร และพนักงาน ต้องจัดให้มีการเปิดเผยสารสนเทศของ ปตท. ทั้งในเรื่องทางการเงินและที่ไม่ใช่เรื่องทางการเงินอย่างเพียงพอ เชื่อถือได้ และทันเวลา เพื่อให้ผู้ถือหุ้นและ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของ ปตท. ได้รับสารสนเทศอย่างเท่าเทียมกัน รวมทั้งจัดให้มีหน่วยงานประชาสัมพันธ์และหน่วยงานนักลงทุนสัมพันธ์ เพื่อรับผิดชอบการให้ข้อมูลแก่นักลงทุนและประชาชนทั่วไป
• คณะกรรมการ ปตท. ต้องจัดให้มีระบบที่สนับสนุนการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้มั่นใจว่าฝ่ายบริหารได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับการต่อต้านการทุจริตและ คอร์รัปชัน รวมทั้งปฏิบัติตามมาตรการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชัน (ดูในลิงก์แนบ)
https://www.pttplc.com/th/About/Corporate-Governance/Corporate-Governance-Of-Ptt/Corporategovernancepolicy.aspx
ขณะเดียวกัน ปตท.ได้ออกนโยบายการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่น กำหนดแนวปฏิบัติ 18 ข้อ ให้กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน ลูกจ้าง ยึดปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์ เช่นเดียวกัน อาทิ ต้องไม่ดำเนินการหรือเข้าไปมีส่วนร่วมในการทุจริตและคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบทั้งทางตรงและทางอ้อม (ข้อ 3) ,หลีกเลี่ยงการกระทำที่เป็นผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of interest) (ข้อ 4) ,จัดให้มีกระบวนการตรวจสอบและกำกับดูแลความโปร่งใสในการทำธุรกรรมกับคู่ค้าหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องทางธุรกิจ (Third Party Screening) (ข้อ 17) เป็นต้น (ดูในลิงก์แนบ)
https://www.pttplc.com/uploads/CG/PTTAntiFraudandCorruptionPolicy2023_TH.pdf
@ เปิดผลประกอบการปี 2566 กำไร 112,024 ล.- แผน 5 ปี ลงทุน 89,203 ล.
ขณะที่ตัวเลขผลประกอบการรอบปี 2566 กลุ่ม ปตท.รายได้ 3,144,551 ล้านบาท กำไรสุทธิ 112,024 ล้านบาท (ธุรกิจน้ำมันรายได้ 769,223 ล้านบาท กำไรสุทธิ 11,094 ล้านบาท หรือ 1.4%)
ส่วนแผนดำเนินธุรกิจ ปตท. แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามมติคณะกรรมการ ปตท. ในการประชุมครั้งที่ 12/2566 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 อนุมัติงบลงทุน 5 ปี (ปี 2567 - 2571) ของ ปตท. และบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้นร้อยละ 100 วงเงินรวม 89,203 ล้านบาท (ดูตาราง)
นอกจากนี้ ปตท.ได้จัดเตรียมงบลงทุนในโครงการที่อยู่ระหว่างหาโอกาสลงทุนในอนาคต (Provisional Capital Expenditure) ในระยะ 5 ปีข้างหน้า (2567-2571) อีก 106,932 ล้านบาท เพื่อการขยายการลงทุนในช่วงการเปลี่ยนผ่านพลังงาน อาทิ การขยายการลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นพลังงานเปลี่ยนผ่าน (Transition Fuel) โดยมุ่งเน้นการขยายโครงข่ายท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และการขยายการลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลวอย่างครบวงจร (LNG Value Chain) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ การขยายการลงทุนของธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลายในการสร้างถังเก็บผลิตภัณฑ์ รวมถึงมุ่งเน้นธุรกิจพลังงานสะอาดเพื่อไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ อาทิ การลงทุนในธุรกิจชีววิทยาศาสตร์ (Life science) ซึ่งรวมถึง ธุรกิจยา ธุรกิจโภชนาการ และอุปกรณ์และการวินิจฉัยทางการแพทย์ ธุรกิจ AI & Robotics เพื่อเป้าหมายการเป็นผู้นำการให้บริการด้าน AI & Robotics ในอนาคต ตลอดจนการลงทุนในธุรกิจโลจิสติกส์ และโครงสร้างพื้นฐานโดยมุ่งเน้นการเชื่อมโยงระบบเครือข่ายขนส่งทั้งหมดของประเทศ
ทั้งหมดเป็นมุมมอง คำยืนยันในเรื่องการบริหารจัดการธรรมาภิบาลของผู้บริหาร ปตท. และแผนการลงทุนทั้งระบบเกือบ 9 หมื่นล้านบาท ที่ชี้ว่าต้องเดินไปด้วยกัน เพื่อให้เติบโตอย่างยั่งยืน
เป็นความท้าทายใหญ่ยิ่ง