"...ประเทศไทยมีหน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชันมากหรือน้อยไป อยู่ที่การตัดสินของประชาชนว่าแต่ละหน่วยงานนั้นมีประสิทธิภาพและผลงานได้พึงพอใจแค่ไหน มีบุคลากรมืออาชีพ จริงจังและซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ ไม่ก้มหัวให้เงินหรือผู้มีอำนาจ ที่สำคัญคือ “ผู้นำต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าทำงานด้วยใจ กล้าหาญ และยึดมั่นในผลประโยชน์ส่วนรวม” จริงหรือไม่..."
เยอะไปไหม?
สงสัยบ้างไหมว่า ทำไมถึงคอร์รัปชันครองเมือง ทั้งๆ ที่เรามีหน่วยงานของรัฐที่มีภารกิจต่อต้านคอร์รัปชันอยู่มากมาย พวกเขามีบทบาทอำนาจแตกต่างกันอย่างไร ทำงานคุ้มค่ากับต้นทุนและภาระที่เพิ่มขึ้นกับระบบราชการและสังคมไทยเพียงใด แล้วประเทศอื่นเขาทำเหมือนเราหรือไม่
บทความนี้นำเสนอ 3 ประเด็นคือ แนวทางของนานาชาติ หน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชันของไทย และตัวอย่างเหตุการณ์ที่นำไปสู่ความล้มเหลวของไทย
แนวทางของนานาประเทศ
ในแต่ละประเทศทั่วโลกมี “หน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชัน (Anti-Corruption Agency) และกฎหมายต่อต้านคอร์รัปชัน” แตกต่างกันตามพัฒนาการทางสังคมและเศรษฐกิจ มีการมองปัญหาและออกแบบองค์กรให้มีอำนาจและคล่องตัวต่างกัน (อรอร ภู่เจริญ,2014)* ดังนี้
1. “ไม่มี” หน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชันโดยตรง เช่น ญี่ปุ่นและฟินแลนด์
ญี่ปุ่นนั้นมีจุดแข็งจากวัฒนธรรมเคารพความซื่อสัตย์ (Integrity) ที่สืบเนื่องกันมา และเน้นปกป้องการค้าที่เป็นธรรม ขณะที่สังคมชาวฟินแลนด์มีปัญหาคอร์รัปชันน้อยมากจนไม่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ
2. “มีหน่วยงานเดียว” ที่ทำงานเข้มแข็งมาก เช่น สิงคโปร์และสวีเดน
สิงคโปร์ยังขึ้นชื่อว่ามีผู้นำที่เด็ดขาดจริงจัง ขณะที่สวีเดนมีระบบการเมืองที่ดี ทั้งสองประเทศจึงมีความเชื่อมั่นอันดีระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชน
3. “มีหลายหน่วยงาน” ที่ทำงานเชื่อมโยงกัน เช่น เกาหลีใต้และนอร์เวย์
เกาหลีให้ความสำคัญกับพลังและสิทธิในการแสดงออกของประชาชน ขณะที่นอร์เวย์เพ่งเล็งในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนที่อาจเกิดได้ง่ายหากปราศจากความรับผิดชอบและวิถีปฏิบัติที่โปร่งใส
หน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชันของไทย
ประเทศไทยใช้แนวทางหลายองค์กร ต่างบทบาทและอำนาจ โดยหวังว่าจะสู้กับปัญหาได้ครอบคลุม
1. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ศูนย์กลางการป้องกันและปราบปรามการ “ทุจริต” ทุกกรณีที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้อง แต่ไม่มีอำนาจจัดการเรื่องการ “ประพฤติมิชอบ” การเอาผิดทางวินัยและปกครอง รวมถึงคอร์รัปชันในภาคประชาชนและเอกชน
2. สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เน้นการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของหน่วยงานรัฐ ให้ถูกต้องตามกฎระเบียบ
3. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) มีอำนาจอย่างจำกัดในการทำคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ ตามเงื่อนไขของกฎหมาย ป.ป.ช.
4. สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เน้นการปราบปราม มุ่งใช้อำนาจยึดอายัดทรัพย์สินเงินทองที่เป็นผลจากกระทำผิด
5. กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มีอำนาจในคดีทุจริตที่ “ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐ” เกี่ยวข้อง มุ่งใช้อำนาจลงโทษตัวบุคคลที่ทำผิด
6. กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ปปป.) ใช้อำนาจจับกุม สอบสวน ดำเนินคดีตามกฎหมายอาญา
7. ยังมีอีก 2 กลไกที่จัดตั้งซ้อนอยู่ในหน่วยงานต่างๆ ได้แก่
7.1 ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตระดับกระทรวง (ศปท.) เป็นกลไกขับเคลื่อนแผนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและส่งเสริมคุ้มครองจริยธรรม โดยมีรองปลัดกระทรวง ทำหน้าที่เป็นหัวหน้า ศปท. เริ่มตั้งแต่ปี 2555 สมัยนายกฯ ยิ่งลักษณ์ มามีบทบาทเป็นรูปธรรมมากขึ้นในปี 2558 เมื่อพลเอกประยุทธ์ เป็นนายกฯ แต่ก็แผ่วลงต่อเนื่องเพราะไม่ได้รับการสนับสนุนจากภายในกระทรวงเอง
7.2 ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอ.ตช.) จัดตั้งขึ้นภายในสำนักงาน ป.ป.ท. เป็นกลไกประสานการขับเคลื่อนในภาพรวม เน้นให้เกิดบูรณาการของหน่วยงานรัฐ มีคณะกรรมการที่รัฐบาลแต่งตั้ง โดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ (รัฐบาลปัจจุบันไม่มีการแต่งตั้ง คกก. นี้)
ตัวอย่างเหตุการณ์ที่นำไปสู่ความล้มเหลว
ผู้เขียนพบว่า มีความเข้าใจผิดหรือไม่เข้าใจหลักปฏิบัติสากลของผู้บริหารประเทศในการต่อต้านคอร์รัปชัน ด้วยการลดทอนบทบาทของ ป.ป.ช. ซึ่งนับวันจะโน้มเอียงไปทางนั้นเรื่อยๆ
โดยหลักการ ป.ป.ช. คือศูนย์กลางการต่อต้านคอร์รัปชัน ที่ต้องการเอกภาพ เข้มแข็งและเป็นอิสระในการปฏิบัติภาระกิจ สามารถผลักดันมาตรการผ่านความร่วมมือสนับสนุนจากทุกภาคส่วนของรัฐและสังคม
แต่มักมีคำกล่าวว่า ป.ป.ช. แม้เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจและทรัพยากรมากมาย แต่ “ขาลอย” เพราะจะผลักดันหรือกำหนดนโยบายไปยังหน่วยงานของรัฐด้วยตัวเองไม่ได้ ต้องทำผ่าน ครม. และสำนักงาน ป.ป.ท. หรือเป็นความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง ป.ป.ช. กับหน่วยงานเฉพาะราย
เหตุการณ์ที่สะท้อนความคิดนี้คือ
เมื่อ ป.ป.ช. ศึกษาและจัดทำ “ข้อเสนอแนะเพื่อยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI)” และต่อมา ป.ป.ช. ศึกษาและจัดทำ “มาตรการในการแก้ปัญหาการทุจริตแบบบูรณาการ” แต่ทั้งสองเรื่องนี้ ครม. กลับมีมติมอบให้ ป.ป.ท. เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ครม. เคยมีมติให้ ป.ป.ช. เป็นเจ้าภาพขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ มีหน้าที่ประสานและบูรณาการการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วก็ตาม
วิธีคิดเช่นนี้ ยิ่งนานจะยิ่งสร้างความขัดแย้ง บั่นทอน ยุ่งยาก อิหลักอิเหลื่อในการแบ่งแยกภารกิจ
บทส่งท้าย
การสรุปจะว่าประเทศไทยมีหน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชันมากหรือน้อยไป อยู่ที่การตัดสินของประชาชนว่าแต่ละหน่วยงานนั้นมีประสิทธิภาพและผลงานได้พึงพอใจแค่ไหน มีบุคลากรมืออาชีพ จริงจังและซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ ไม่ก้มหัวให้เงินหรือผู้มีอำนาจ ที่สำคัญคือ “ผู้นำต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าทำงานด้วยใจ กล้าหาญ และยึดมั่นในผลประโยชน์ส่วนรวม” จริงหรือไม่
ดร.มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
1 เมษายน 2567
* ‘Collaboration in Anti-Corruption Work: Who to Work With And How?’ 2014, ผศ.ดร. อรอร ภู่เจริญ ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายสาธารณะ ม.เชียงใหม่.