"...มหากาพย์ชนชาติไท เป็นความพยายามนั้นที่จะไขปริศนาและต่อภาพที่หายไปให้เห็นต้นสายปลายราก ซึ่งใช่ว่าเป็นไปเพื่อเพิ่มอัตตาหรือภาวะชาตินิยมหลงตน แต่ตรงกันข้าม ยิ่งสาว ยิ่งสืบ ก็จะยิ่งเห็นว่า มนุษย์เราต่างคือเนื้อนาที่ต่อเชื่อมถึงกันแต่ก่อนไกลด้วยกันมาทั้งสิ้น..."
ย่างเข้าปีที่ 4 แล้ว หลังรัฐประหารเมียนมา ของนายพล มิน อ่อง หล่าย
วันนี้ พันธมิตรสามฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า ยึดเมืองใหญ่เมืองน้อยได้ 35 เมือง ชาวเมียนมา อยู่ในสภาพบ้านแตกสาแหรกขาด ต้องอพยพหนีภัยสงครามเข้ามาในดินแดนไทยมากมาย รัฐบาลสั่งเกณฑ์ทหาร ทำให้หนุ่มสาวเมียนมาต้องอพยพหนีกันจ้าละหวั่น เพราะรู้ว่าจะเสี่ยงตายด้วยการเข่นฆ่ากันเอง มีรายงานข่าวว่า ผู้นำฝ่ายต่อต้านที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ 2 คนถูกจับทรมานและฆ่า ด้วยการเผาทั้งเป็น บ้านเรือนประชาชนถูกทิ้งระเบิด ถูกเผาผลาญจำนวนมาก การค้าชายแดน ไทย - เมียนมา และจีน - เมียนมา วินาศสันตะโร
แม้ฝ่ายที่ยืนข้างรัฐบาลทหาร ก็กลับใจหันมายืนข้างฝ่ายต่อต้าน ชาวเมียนมาทั่วไปไม่ยอมรับ มิน อ่อง หล่าย
สถานการณ์สู้รบเวลานี้ ฝ่ายต่อต้านจึงรุกคืบยึดเมือง ยึดพื้นที่ได้มากขึ้น ทำให้พื้นที่ของรัฐบาลทหารถูกล้อมไว้จนเหลือแคบ แค่ย่างกุ้งและเนปิดอร์เมืองหลวง มิน อ่อง หล่าย ไม่ฟังคำเรียกร้องของนานาชาติที่ให้หาทางเจรจายุติการสู้รบเพื่อนำประเทศสู่สันติภาพ รัฐบาลทหารจึงเข้าสู่สภาพคับขันใกล้จะเป็นรัฐล้มเหลว
ย้อนอดีตยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ปี 2490 นายกรัฐมนตรีแอตลี ของอังกฤษเชิญนายพลอองซาน ผู้นำพม่าไปหารือเรื่องเอกราชพม่า และจัดการเลือกตั้งทั่วไป
นายพลอองซาน เชิญผู้นำชนเผ่าต่างๆ เช่นไทใหญ่ แห่งรัฐฉาน ชินแห่งรัฐฉิ่น มาประชุมครั้งประวัติศาสตร์ที่เวียงปางโหลง เพื่อลงนามสัญญาปางโหลง (Pang Long Agreement) เมื่อ 12 กพ. 2490 กำหนดว่ารัฐต่างๆยังรวมอยู่กับพม่าต่อไป เมื่อครบ 10 ปี แต่ละรัฐสามารถแยกตัวเป็นอิสระ นี่คือเส้นทางสันติภาพที่จะทำให้ชนเผ่าต่างๆ ในประเทศพม่าจะมีอิสรภาพในการปกครองตนเองในอนาคต
เดือน มิถุนายน 2490 พรรค AFPFL ของนายพลอองซาน ได้รับชัยชนะแบบเด็ดขาดในการเลือกตั้ง จึงขึ้นเป็นผู้นำพม่า โดยยังยึดมั่นในสัญญาปางโหลง ด้วยการร่างรัฐธรรมนูญที่จะให้กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เป็นเอกราช เมื่ออยู่ด้วยกันกับพม่าครบ 10 ปี
แต่แล้ว 19 กรกฏาคม 2490 กลุ่มกองกำลังติดอาวุธ บุกเข้าไปในที่ประชุมของรัฐบาลพม่า แล้วกราดยิงรัฐมนตรี และนายพลอองซานเสียชีวิตรวม 6 คน
การกราดยิงครั้งนั้น ปรากฏว่านายอูซอ อดีตสหายของนายพลอองซาน ที่ต่อสู้กู้เอกราชด้วยกันมานั้นเองเป็นผู้จ้างวาน ต่อมาจึงถูกสั่งประหารชีวิต
สภาพความรุนแรง ภายในเมืองเมียนมาในวันนี้ เป็นผลพวงมาจากการฉีกสัญญาปางโหลง เมื่อปี 2490 ที่เผด็จการเนวิน ยังสืบทอดมาถึง มิน อ่อง หล่าย ทั้งๆ ที่เวลาล่วงมากว่า 70 ปีแล้ว
ความรุนแรงที่ต่อเนื่องและไม่มีทีท่าจะยุติลงเมื่อใด ทำให้เมียนมาจมปลักไปสู่ความเป็นรัฐล้มเหลว บ้านเมืองไร้ขื่อแป เศรษฐกิจสังคมการเมืองเสื่อมทรุด ประชาชนไม่มีหลักประกันใดๆ ในชีวิต
เผด็จการเป็นมรดกสืบทอดมายาวนานเกินกว่าครึ่งศตวรรษ นับตั้งแต่เมียนมาหรือพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษ เมื่อปี 2490 เป็นต้นมา
เจ้าส่วยไต๋ (ส่วยแต้ก) เป็นเจ้าฟ้าไทยใหญ่แห่งเมืองยองห้วย เป็นหนึ่งในกลุ่มเจ้าฟ้าแห่งรัฐฉาน ที่ร่วมต่อสู้เรียกร้องเอกราชจากอังกฤษเป็นผลสำเร็จ เจ้าส่วยไต๋ก้าวสู่การเป็นประธานาธิบดีพม่าคนแรก (2491-2495) เจ้าส่วยไต๋ทำสัญญาข้อตกลงปางโหลง กับ นายพลอองซาน บิดาของอองซาน ซูจี เป็นหลักประกันว่าไทยใหญ่จะเป็นเอกราชจากพม่า แต่แล้วนายพลเนวิน กลับฉีกสัญญาดังกล่าว ทำรัฐประหารและสั่งทหารเข้าถล่มบ้านเจ้าส่วยไต๋ เมื่อ 2 มีค. 2505 หมี ลูกชายคนหนึ่งอายุ 17 ปี ถูกยิงเสียชีวิตคาบ้าน เจ้าส่วยไต๋ถูกจับเข้าคุกอินเส่ง จนเสียชีวิตในคุก
เพื่อนของผู้เขียนชื่อ เจ้าเสือหาญฟ้า ณ ยองห้วย ซึ่งเป็นบุตรชายคนเล็กของเจ้าส่วยไต๋ ต้องหลบเข้ามาอยู่เมืองไทย ตั้งแต่อายุ 14 เข้าเรียนที่ รร.มงฟอร์ต จ.เชียงใหม่ แล้วเข้าเรียนต่อที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2509 ขณะนี้เจ้าเสือหาญฟ้าทำงานด้านสิทธิมนุษยชนของเมียนมา โดยใช้ชีวิตอยู่ที่แคนาดา
เจ้าเสือหาญฟ้า ณ ยองห้วย เขียนถึงรัฐประหาร 2 มีค. 2505 โดยใช้ชื่อบันทึกว่า “การตื่นอย่างหยาบคาย” เขียนเล่าเหตุการณ์คืนนั้นอย่างระทึกใจ
“หมี ! หมี ! นายอยู่ที่ไหน พวกเขากำลังยิงเรา.....จากนั้นผมรู้ว่าพ่อผมลงไปข้างล่างแล้ว”
“ผมรู้สึกขุ่นเคืองใจที่พวกโจรกล้าโจมตีพวกเรากลางเมืองหลวงย่างกุ้ง ..........
....เราได้ยินคนพูดภาษาพม่าว่า ‘นี่คือกองทัพพม่า มีการรัฐประหาร’ เราโล่งใจที่ไม่ใช่โจร แต่เราไม่กล้าขยับเขยื้อน แล้วรออยู่อย่างเงียบๆ เป็นช่วงยาวนาน”
ทหารเข้าค้นบ้าน และออกไปในที่สุด เมื่อรุ่งสาง มีคนบอกว่าพ่อถูกจับและถูกพาตัวไป แต่ไม่มีใครรู้ว่า “หมี” อยู่ที่ไหน เด็กๆ ได้รับคำสั่งให้เข้าไปข้างใน ขณะที่ผู้ใหญ่ออกตามหา “หมี” ในไม่ช้าเขาก็ถูกพบ ผมสงสัยและขึ้นไปชั้นบนเพื่อมองออกไปนอกหน้าต่างซึ่งมองเห็นจุดที่มีคนพบ
“หมี” ผมไม่รู้ว่าผมคาดหวังจะเห็นอะไร แต่พอเห็นผ้าปูที่นอนสีขาวคลุมร่างเขาอยู่ข้างบ้าน ผมก็รีบถอยออกมา ด้วยความตกใจ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ผมมักจะสงสัยว่า “หมี” ถูกยิงในขณะที่ผมพยายามเตือนเขาในความฝันหรือไม่”
นับแต่คืนรัฐประหาร 2 มี.ค. 2505 เป็นต้นมา เผด็จการทหารพม่าสืบทอดอำนาจมาโดยลำดับ บางช่วงเปิดให้มีการเลือกตั้ง แต่เป็นประชาธิปไตยเศษเสี้ยว โดยรัฐธรรมนูญเปิดทางให้ทหารเรืองอำนาจเหนือรัฐบาล จากการเลือกตั้ง แล้วกลับคืนสู่เผด็จการสมบูรณ์แบบ ดังที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ขณะที่นักศึกษา ประชาชน และกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ไม่ยอมแพ้ และจับอาวุธขึ้นสู้ อย่างต่อเนื่องตลอดมา
เพลงฮักกันสามวัน นี้ ใช้ทำนองเพลงสากลชื่อ Cup of Joy ของ Jo Stafford เนื้อเพลงเป็นภาษาไทยใหญ่ว่า
ค่ำคืนอันไล่เส้งมา แสงหลาวเต๋มฟ้า
ลมอ่อนพัดมา
คืนเย๋นเม่อยามลับ เป๋นความอันฮัก
เฮาเขอสองหา
ไชถึงสูมาเป๋นกำ เม่อไล่วันหัน
วันอันป้นมา
สูว่าสูอำคืน ก็ยังอำลืม
ความสูไล่วา
ฮักกันสามวัน เฮาไล่ผาดกัน
โหไชเฮายัง กอดเกียวกันมั่น
ไซเอยไซอย่าเป๋ลืม เม่อค่ำวันคืน
เฮาไล่ทบกัน
ไซเอยไซอย่าเป๋ลืม เม่อค่ำวันคืน
เฮาไล่ฮักกัน
เจ้าเสือหาญฟ้านำเพลงนี้มาเผยแพร่ในกลุ่มค่ายชาวเขาจุฬาฯ เมื่อ 56 ปีล่วงมาแล้ว เขาบอกว่า
“ไม่รู้ใครเป็นคนแต่งเพลงนี้ แต่แต่งขึ้นในช่วงเวลาที่กลุ่มชาตินิยมชาวไทใหญ่ (ฉาน) เกรงว่าวัฒนธรรมของพวกเราจะถูกกลืนโดยชาวพม่า (2493-2503) ดังนั้นนักศึกษามหาวิทยาลัยไทใหญ่ จึงเริ่มสอนภาษาฉาน และมีการแต่งเพลงให้คนหนุ่มสาว โดยใช้ทำนองเพลงตะวันตกเพื่อดึงดูดใจ และในช่วงเวลานั้นนักศึกษาจำนวนไม่น้อยไปเข้าร่วมกองกำลังรักษาชาติไทใหญ่ในป่า เช่นกลุ่มหนุ่มศึกหาญ เพื่อสู้รบกับกองทัพพม่า เนื้อเพลงจึงบรรยายความเศร้าสร้อยของหนุ่มที่ลาสาวไปกู้ชาติ”
ไทใหญ่ ซึ่งเป็นกลุ่มคนไทในเมียนมา มีประชากรราว 5 ล้านคน ในวันนี้ จึงไม่อาจเป็นอิสรภาพจากรัฐบาลทหารของเมียนมาได้ ยังต้องเผชิญภัยสงคราม ใช้ชีวิตอย่างลำเค็ญ กลางสมรภูมิสู้รบที่ยังมองไม่เห็นอนาคต
หนังสือ มหากาพย์ ชนชาติไทย “เต้าตามไต เต้าทางไท” ของชลธิรา สัตยาวัฒนา และชายชื้น คำแดงยอดไตย 3 เล่มใหญ่รวมความยาวมากกว่า 1,500 หน้า เป็นงานเขียนจากงานวิจัย ทั้งจากสิ่งตีพิมพ์และการลงสู่พื้นที่จริง เป็นงานวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) ที่ประณีต ละเอียด นำเสนอแง่มุม “คนไทยมาจากไหน” อย่างงดงาม ที่ใช้ความอุตสาหะอย่างหนักหน่วง
ผศ.ดร.เธียรชัย อิศรเดช นักวิชาการที่อ่านมหากาพย์อย่างถี่ถ้วน ได้ชี้ให้เห็นว่า
“เมื่อต้นรัตนโกสินทร์ ขณะที่จีนเป็นรัฐชาติมาก่อนสุโขทัยกว่าสามพันปี และมีร่องรอยการบันทึกถึงคนป่าตอนใต้ต้นสายคนชนชาติไทยมานานแล้ว
“มหากาพย์ชนชาติไท” ได้เพียรรวบรวมเรียบเรียงร่องรอยปริศนาของบรรพชน ที่ซุกซ่อนไว้ในสายใยรักผ่านรกให้สืบหาราก รอวันประกอบสร้างเศษพร้อยที่กระจัดกระจายเหล่านั้นให้เล่าเรื่อง “มหากาพย์ชนชาติไท”
อาจรย์ชลธิรา สัตยาวัฒนา ได้ทำหน้าที่นั้นในวัยที่อิ่มสุกทางปัญญา ซึ่งเป็นอัญมณีที่ล้ำค่าในโลกมานุษยวิทยา คติชนวิทยา ประวัติศาสตร์โบราณคดี เศรษฐศาสตร์การเมือง ฯลฯ ไม่เพียงแต่เปิดกะลาเรื่องเล่า แต่ยังเปิดวิธีวิจัยในสายสังคมศาสตร์ให้ไร้พรมแดน พางานศึกษาให้พ้นยุคการยึดหวงอาณาจักรความรู้แบบเก่า
แม้งานชิ้นนี้จะได้รื้อถอน รื้อสร้าง วางทางโปรยรากฝากไว้อย่างนั้น ซ้ำงานนี้ก็พาสืบท้าวเล่าความคนไทยออกไปไกลจากประวัติศาสตร์ชนชาติเดิมอีกหลายเท่า แต่งานชิ้นนี้ก็มิได้สร้างจริตไทยให้อหังการ์ ว่าเคยยิ่งใหญ่และเคยย่ำบนผืนดินกว้างใหญ่ใต้หล้า ตรงกันข้าม เนื้องานกลับพาให้ถ่อมตน พาให้เห็นชีวิตที่ครองอยู่นี้ช่างแคบสั้นบนไม้บรรทัดอันยาวโยชน์ กับช่วยให้ยิ่งเห็นความมืดดำทุกคราวที่คลำพบความสว่าง....
การอ่านอย่างใช้ใจสัมผัส ทุกคำถ้อยอาการกระอักอก สลับกับความใสโล่งจะสลับ
สับหว่างย้ำให้เห็นชัดเช่นเดิมว่า ชีวิตคือการดิ้นรนแต่ละเฮือกบนลมหายใจที่มีอยู่
หากชีวิตมิได้อิ่มได้เพียงคำข้าว...
คำเขียนในมหากาพย์ฯ ก็ป้อนปัญญาให้ได้อิ่มกำซาบในความเป็นมนุษย์
มหากาพย์ชนชาติไท เป็นความพยายามนั้นที่จะไขปริศนาและต่อภาพที่หายไปให้เห็นต้นสายปลายราก ซึ่งใช่ว่าเป็นไปเพื่อเพิ่มอัตตาหรือภาวะชาตินิยมหลงตน แต่ตรงกันข้าม ยิ่งสาว ยิ่งสืบ ก็จะยิ่งเห็นว่า มนุษย์เราต่างคือเนื้อนาที่ต่อเชื่อมถึงกันแต่ก่อนไกลด้วยกันมาทั้งสิ้น”
คนไตในสิบสองปันนา คนไทดำในเวียดนาม คนไทอาหมในอินเดีย คนไทล้านนา คนไทพวน คนไทใหญ่ในรัฐฉาน เมียนมา และคนไทในแดนอุษาคเนย์ อีกหลายพื้นที่ล้วนแล้วแต่มีรากเหง้า โดยเฉพาะทางภาษาและชีวิตความเป็นอยู่ที่คล้ายคลึงกัน
เมื่อ 4 มี.ค. 66 ผู้เขียนในฐานะอนุกรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชน ของวุฒิสภาได้ไปเยือนกลุ่มชาติพันธุ์ที่แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นไทใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีจำนวนมากสุด
ได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนกัน ทำให้เรียงร้อยกวีบทหนึ่ง ขอยกมาวางปิดท้ายตรงนี้
มองบนเห็นท้องฟ้า มองข้างหน้าเห็นป่าเขา
มองคนเห็นชาวเรา ใช่ชาวเขาที่เข้าใจ
ปกาเกอะญอ ลัวะ กะแย กะยัน ไทใหญ่
ลีซู ม้ง คนไทย ปะโอ โปว์ และยูนนาน
บุกป่าและฝ่าดง เป็นเผ่าพงศ์เป็นวงศ์วาน
เป็นเมืองและเป็นบ้าน เป็นถิ่นฐานการทำกิน
ต่างพรรณและต่างผิว แต่ไม่ต่างแตกแผ่นดิน
ผนึกใจ ในธรณินทร์ แนบบัวตองแม่ฮ่องสอน