"...ต้องสามารถรวบรวมข้อมูลภาครัฐที่เป็นสารตั้งต้นได้น่าเชื่อถือ หมายถึง แหล่งข้อมูลและสถิติที่เป็นทางการ เช่น กรมบัญชีกลาง ป.ป.ช. สตง. หอการค้าฯ สภาอุตสาหกรรม โดยคำนึงถึงวิธีการเก็บข้อมูล ปริมาณ และธรรมาภิบาลของผู้เกี่ยวข้อง แล้วหาข้อมูลอื่นมาสอบทานและสร้างสมดุล..."
เชื่อว่า “ทำได้” เพราะ ป.ป.ช. เป็นศูนย์กลางการต่อต้านคอร์รัปชัน ศูนย์รวมสถิติและข้อมูลสำคัญอยู่แล้ว แต่ “ไม่ควรทำ” เพราะไม่มีชาติใดจัดทำดัชนีหรือการประเมินสถานการณ์คอร์รัปชันของตนเองได้ เพราะยากที่จะทำให้คนในประเทศและนานาชาติยอมรับ
ดังนั้นทั่วโลกจึงนิยมที่จะอ้างอิงดัชนีคอร์รัปชันที่องค์กรระหว่างประเทศจัดทำ อย่างเช่นดัชนี CPI ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ดัชนี Control of Corruption (CC) ของธนาคารโลก
หากคิดจะทำ.. ป.ป.ช. ต้องวางเกณฑ์ที่สมดุลระหว่าง ความเห็น (Feedback) ของผู้คนในสังคมกับข้อมูลทางวิชาการที่ยกมายืนยันได้ กล่าวคือ
- 1. ต้องสามารถรวบรวมข้อมูลภาครัฐที่เป็นสารตั้งต้นได้น่าเชื่อถือ หมายถึง แหล่งข้อมูลและสถิติที่เป็นทางการ เช่น กรมบัญชีกลาง ป.ป.ช. สตง. หอการค้าฯ สภาอุตสาหกรรม โดยคำนึงถึงวิธีการเก็บข้อมูล ปริมาณ และธรรมาภิบาลของผู้เกี่ยวข้อง แล้วหาข้อมูลอื่นมาสอบทานและสร้างสมดุล เช่น การสำรวจ World Competitiveness, Ease of Doing Business, Corruption Situation Index ฯลฯ
- 2. ต้องสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมหรือภาคีจัดทำ เพื่อความน่าเชื่อถือและพัฒนาฐานข้อมูล
- 3. ต้องไม่ยอมให้มีการแทรกแซงเกิดขึ้นทุกขั้นตอน
- 4. ยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เช่น
- 4.1 ในการเก็บข้อมูล ทำอย่างไรไม่ให้อคติของผู้คนมาบิดเบือนความจริง เพราะสังคมไทยยังมีข้อจำกัดเรื่องการรับรู้ข้อมูลและความขัดแย้งทางความคิดอยู่มาก
- 4.2 ควรให้น้ำหนักอย่างไรระหว่าง “ตัวเลขและข้อเท็จจริง” กับ ความเห็น (Perception)
- 4.3 มุมมองที่แตกต่าง จนยากจะบอกว่าอะไรคือความถูกต้อง เช่น เมื่อสถิติการดำเนินคดีมีมาก ควรตีความว่าเรามีคอร์รัปชันมากหรือกระบวนการต่อต้านคอร์รัปชันมีประสิทธิภาพ หากมีคนร้องเรียนมาก จะแปลว่าปัญหาเพิ่มขึ้นหรือผู้คนตื่นตัวและกล้าสู้มากขึ้น เป็นต้น
- 4.4 ทำไมการประเมิน ITA ของ ป.ป.ช. ไม่สามารถทำให้คนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาครัฐดีขึ้น ซื่อสัตย์ โปร่งใสกว่าเดิม และในภาพรวมผลการประเมินนี้ยังสวนทางกับ CPI ที่สากลยอมรับ
- 4.5 ป.ป.ช. ควรทำเองหรือสนับสนุนให้หน่วยงานอื่นทำ หากทำเองต้องชัดเจนเรื่องความรับผิดชอบ สร้างการมีส่วนร่วมและธรรมาภิบาล เพื่อป้องกันข้อครหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนในการประเมินผลงานของตนเอง
หากทำสำเร็จเรื่องดีๆ ที่แถมมาคือ ความรู้ที่จะช่วยให้เราเข้าใจระบบนิเวศน์ (Ecosystem) หรือกลไกเชื่อมโยงของคอร์รัปชันไทยอย่างแท้จริง ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมือง นักธุรกิจและประชาชน ส่งผลให้เรากำหนดมาตรการแก้ปัญหาได้ตรงจุดยิ่งขึ้น
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
19 มีนาคม 2567