"...ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นมันก็ต้องถือแบบแฝงเพราะว่าต่างชาติไม่มีสิทธิ์ถือหุ้นเกิน 49 กรณีที่เข้ามาทำแบบนี้ก็ถือว่าผิดกฎหมาย เพราะเขาเอาไปทําโดยที่เขาไม่ได้มาแก้จดทะเบียน คือนายทะเบียนจะต้องเป็นคนไทย ถ้าอยู่ดีๆเขาจะมาบอกว่าต่างด้าวมาแล้วมาขอแก้ไขมายื่น ขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นที่กรมพัฒฯ พอกรมพัฒฯเห็นสัดส่วนกรมพัฒฯก็จะต้องไม่อนุญาตอยู่แล้ว..."
ในช่วงเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา มีประเด็นข้อกังวลเกี่ยวกับบริการขอตรวจค้นข้อมูลบริษัทจดทะเบียนของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าถูกส่งเข้ามายังสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ในประเด็นที่ว่ากรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปลี่ยนระบบให้ใช้การสแกนจ่ายเงินเพื่อชำระค่าธรรมเนียมขอตรวจข้อมูล แทนการจ่ายเงินสด ซึ่งอาจทำให้ข้อมูลผู้มาขอใช้บริการถูกเปิดเผยว่าเป็นใคร ทำให้เกิดความกังวลว่าข้อมูลอาจจะมีการรั่วไหล โดยเฉพาะในกลุ่มนักสืบอิสระ
จากข้อกังวลเรื่องดังกล่าว เมื่อไม่นานมานี้ นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้เดินทางมายังสำนักข่าวอิศราเพื่อจะชี้แจงยืนยันว่าข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ขอตรวจค้นข้อมูลบริษัทจดทะเบียนปลอดภัยแน่นอน รวมถึงนโยบายการบริหารงานในตำแหน่งอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันและอนาคต
รายละเอียดมีดังต่อไปนี้
@ที่มาของการเปลี่ยนแปลง
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม : เป็นการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่รัฐบาลที่แล้วต้องการสนับสนุนให้การใช้ดิจิทัลแล้วก็พยายามที่จะไม่ให้เจ้าหน้าที่เราจับเงินถ้าเป็นไปได้ก็โอนเข้าตรงนี้ คือตอนนี้ให้โอนเข้าเหมือนกันแล้ว
@ตอนแรกที่โอนไม่ได้เพราะอะไร
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม : ไม่ได้มีอะไรแต่ว่าสงสัยเขายังไม่ได้ปรับ ตอนแรกเป็นการแลกคูปองแต่ว่าคูปองก็ต้องโอนเงินเพื่อจะเอาคูปอง
@คือก่อนหน้านี้มันจะเป็นจุดเดียวคือค่าธรรมเนียมยังโอนเงิน แต่จุดที่ถ่ายเอกสารก็ยังใช้เงินสดมันก็เลยงงว่าทำไมไม่เปลี่ยนให้เป็นสองจุดเลยเพราะอะไร
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม : ก็ตรงนี้พอเราจะปรับเป็นสองจุด เราก็รับทราบว่ามีข้อกังวลว่าถ้าเกิดจะไปค้นข้อมูลบริษัทคนที่ค้นข้อมูล กรมพัฒฯเก็บข้อมูลเขาดีรึเปล่า หรือเอาไปปล่อยซึ่งจริงๆเราขอยืนยันว่านี่เป็นข้อมูลส่วนบุคคลและไม่ได้เปิดเผยอยู่แล้วและจริงๆตัวเราเองไม่ได้สนใจ เราสนใจแค่รวมยอดเงิน พอเรารับทราบตรงนี้ว่าอาจมีผู้ใช้บริการที่ไม่ต้องการสแกนหรือโอนเงินเพราะจะทราบว่าโอนจากใครเราก็เลยบอกโอเคงั้นรับเงินจบ
@มีการมองว่าส่วนที่เป็นค่าถ่ายเอกสารก็มีคนใหญ่คนโตเขามาคุมหรือไม่
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม : ต้องบอกว่าไม่มีแต่ว่าเราเช่าเครื่องถ่ายเอกสารของเอกชน โดยใช้เงินสวัสดิการ ซึ่งต้นทุนมันไม่ใช่เงินจากงบประมาณ เราก็เลยแยก เราก็เลยให้บริการกับใครก็ตาม และที่เขาไม่สามารถเอาแฟ้มออกไปได้ ต้องเรียนให้ทราบว่าเราก็จะไปทางดิจิทัลและไม่เอาเงินสดและจะได้ทําให้เหมือนกัน
"แต่ว่าตอนหลังก็ได้รับทราบว่ามันก็อาจจะมีข้อกังวลที่คนไปค้นข้อมูลแล้วเขาก็เกรงว่าเดี๋ยวจะรู้ชื่อว่าใครไปค้น เขาอยากใช้จ่ายเป็นเงินสดเราก็เลยบอกโอเคงั้นเราก็เปิดช่องก็ต้องให้เหมือนกันอีก"
@ความกังวลของการไปตรวจสอบข้าราชการระดับสูงที่กระทรวงพาณิชย์และอาจจะทำให้รู้ว่าใครมาตรวจสอบจากข้อมูลการโอนเงิน
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม : สิ่งที่เราทํา เราก็พยายามที่จะอํานวยความสะดวก ตอนแรกเราก็มองมองง่ายที่สุดว่าเจ้าหน้าที่ไม่ต้องแตะเงินสดเลย เจ้าหน้าที่ก็สบาย แล้วเราก็มีฝ่ายตรวจสอบภายในแยกจากคลังช่วยกันตรวจสอบกันเองอีก จริงๆต้องขอโทษด้วยเพราะบางทีเราอาจจะมองมุมเดียว ตอนนี้เราก็เลยโอเค เรานึกภาพหมด เราพยายามใส่หมวกอีกหมวกนึงด้วยว่าถ้าเรามาค้นข้อมูล แล้วเราไม่อยากจะให้ใครรู้ว่าเราไปค้น
@รัฐมนตรีช่วยบอกว่าทุกอย่างมีระบบรักษาความลับหมดแล้ว
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม : คือเราเองเก็พยายามดู พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคลที่บอกว่าบางครั้งในกรณีที่มีบุคคลอื่นมาขอดูข้อมูล ที่มีคนมาติดต่อกับกรม มันไม่ใช่หน้าที่ของกรมที่จะต้องไปแจ้งบุคคลนั้นว่ามีใครมาติดต่อกับกรมบ้าง อันนี้ก็คือความลับของข้อมูล หมายความว่า ยกตัวอย่างเช่นมีนาย ก มาขอถ่ายเอกสาร 5 แผ่นแล้วจะมีคนอื่นมาบอกวันนี้มีใครมาถ่ายเอกสารกับกรมพัฒฯบ้างเราก็จะบอกว่าเราให้ไม่ได้หรอกเพราะว่าเราคิดว่ามันมีข้อมูล ความลับพีดีพีเอ
"เราก็ไม่ได้มีหน้าที่จะต้องไปให้เขาเพราะมันไม่ใช่ภารกิจของกรมที่จะต้องไปเปิดเผยว่าใครมาขอข้อมูลบ้าง อันนี้น่าจะหมายถึงที่รัฐมนตรีช่วยพูด แต่ว่าก็เข้าใจว่าเราจะไปรู้เหรอเดี๋ยวเกิดมีใครมาขอข้อมูล แล้วกรมพัฒฯให้ไป เพราะฉะนั้นก็เข้าใจ งั้นรับเงินสด จะได้ตัดปัญหาไปเลยสําหรับคนที่ยังไม่เชื่อใจ ไม่แน่ใจว่าก็จบไป แต่ก็เรียนว่าถึงยังไงเสีย อยู่ดีๆใครจะมาขอให้ช่วยแจ้งหน่อยว่าวันนี้นาย ก มาเขาถ่ายเอกสารไป อันนี้ไม่ใช่หน้าที่กรมพัฒฯแล้ว"
@ที่บอกว่าจ่ายเป็นสองแบบทั้งสแกนและเงินสดนั้นเป็นเฉพาะ ณ ปัจจุบัน อนาคตก็จะกลับไปจ่ายเป็นเดิมรึเปล่า
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม : ก็ทําอย่างนี้เรื่อยไปแล้ว ส่วนสํานักงานพาณิชย์ก็จะมีการเก็บเงินค่าธรรมเนียมตามกฎหมายเลย ณ ขณะนี้เขาไม่รับเงินสดแล้วก็คือจะมีศูนย์กลางที่เดียวที่รับเงินสด
"เพราะว่าการให้บริการสืบค้นข้อมูลสํานักงานพาณิชย์ รู้สึกว่าไม่ให้บริการแล้ว แต่ที่เขตก็ยังมีคอมพิวเตอร์อยู่ คือบางอย่างมันเป็นบริการที่เขาต้องจัดให้มีเครื่องคอมพิวเตอร์ มีเครื่องถ่ายเอกสาร บางสํานักงานพาณิชย์ เขาก็ต้องมีต้นทุนที่เขาจะต้องเช่าเครื่องถ่ายเอกสารขึ้นมาก็อาจจะไม่ได้จ่ายแล้ว"
@กรณีสื่อเอาเอาข้อมูลบริษัทไปเปิดเผยมันผิดกฎหมายหรือไม่
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม : ข้อมูลนิติบุคคลที่สามารถค้นจากเว็บไซต์ได้อยู่แล้วก็เป็นข้อมูลที่เราเปิดเผยต่อสาธารณะ เพียงแต่ว่าคนอาจจะไม่ได้มีเวลามาดูเอง คือข้อมูลที่ให้เป็นข้อมูลที่เปิดเผยยอยู่แล้วยกเว้นสําเนาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน คือเราไม่ได้ให้การปฏิบัติบอกว่าเฉพาะอิศราถึงจะมาขอข้อมูลได้ ไม่ใช่ สิ่งที่มาค้นที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าแล้วก็ใส่ชื่อนิติบุคคล แล้วสมมุติถ้าเขารู้รายละเอียด ค้นไปแล้วอะไรมันขึ้นตรงนั้นก็เป็นข้อมูลสาธารณะ
@อนาคตมันจะมีอะไรที่พัฒนามากขึ้นกว่าการที่เราต้องไปติดต่อจ่ายเงินแล้วก็ดูแค่ในข้อมูลแต่ที่ศูนย์กลางหรือไม่ อาทิ ดูข้อมูลเช่นทางออนไลน์เป็นต้น เพราะปัจจุบันการขอข้อมูลบริษัททางอีเมลใช้เวลานานมาก อีกทั้งค่าบริการก็แพงกว่า
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม : ตรงนี้ต้องขอตรวจสอบข้อมูลก่อน เราก็อยากทราบ แต่ต้องเรียนว่าข้อมูลใส่ลงฐานข้อมูลออนไลน์นั้นมันเยอะมาก ต้องใช้เวลา เพราะว่าเวลาเรามาที่กรม เราจะเลือกได้
"สมมุติว่าถ้าลงข้อมูลทั้งหมดเลย มันก็จะมีตั้งแต่ตั้งบริษัท เปลี่ยนเอาไว้ตั้งแต่เกิดจนตาย มันก็เป็นร้อยๆหน้าเพราะฉะนั้นมันจะเยอะ คิดดูว่าเรามีปัจจุบันมีนิติบุคคลจดทะเบียนอยู่ 9 แสนกว่าบริษัท"
@มีนิติบุคคลไม่เคลื่อนไหวเยอะไหม
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม : 0.9 เปอร์เซ็นต์ ที่เรากําลังพิจารณาว่าต้องทิ้งร้างที่เพิ่งออกข่าวไป 0.9ไม่ถึง1% จากประมาณ 9 แสนบริษัท
@ก่อนหน้านี้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เขาเคยให้ข่าวว่าเขากําลังร่วมมือกับกรมพัฒฯในการตรวจสอบข้อมูลบริษัท ว่ามีบริษัทไหนบ้างที่จดทะเบียนตั้งฟอกเงิน
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม : ต้องเรียนว่า ณ ขณะนี้ นิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว กรมการท่องเที่ยวและสํานักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวได้ทําเอ็มโอยูกับ 5 -6 หน่วยงานซึ่งก็มีดีเอสไอ มีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.)เพื่อที่จะช่วยกันดูว่าทุนสีเทาที่มาทําเกี่ยวกับเรื่องการท่องเที่ยวเพราะฉะนั้นแต่ละคนก็จะทําในส่วนที่ตนเองรับผิดชอบ
"ในส่วนของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเรารับผิดชอบเรื่องดูแลพ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวที่ต่างด้าวจะถือหุ้นก็แค่สัดส่วน 49-51 ถ้าเกินกว่านั้นต้องมาขออนุญาตซึ่งส่วนใหญ่ภาคธุรกิจท่องเที่ยว เราก็ไม่ได้อนุญาตอยู่แล้วเพราะฉะนั้นพอจะถือได้แค่ 49-51 กรณีที่เกิดขึ้นที่ภูเก็ต ดีเอสไอก็มาร่วมกับกรมพัฒฯ แล้วก็มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไปลงพื้นที่ กรมพัฒฯก็จะมีหน้าที่ช่วยสกรีนว่าที่บอกว่า 49-51 มันอยู่ในสัดส่วน 49 จริงไหม"
"เราก็อาจจะเข้าไปดูว่า ใครถือหุ้นและบุคคลคนนี้ เขาอาจมีเงินที่จะมาลงทุนอะไรไหม เราเรียกเขามาสัมภาษณ์มาคุยตามกฎหมายเรา พอสกัดมาได้ มันก็อาจจะเป็นเรื่องที่ผิด พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ถ้าดูแต่พ.ร.บ. บางทีมันสืบไม่เจอ ดีเอสไอก็เข้าไปสืบต่อ"
"ก็คือเราให้ความร่วมมือในเรื่องของข้อมูล เพราะเขาเป็นหน่วยงานภาครัฐเราก็มีความร่วมมือกัน ส่วนที่กรมการท่องเที่ยว เราก็มีเอ็มโอยู ลงนามปลายปีที่แล้ว"
@ตอนนี้เจอบริษัทที่มีปัญหาเยอะไหม
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม : ก็ตอนนี้เขามีแผนปฏิบัติการ อยู่ระหว่างตรวจสอบ ก็มีไปทั้งเชียงใหม่ ไปที่ภูเก็ต แต่ว่าอย่างของที่กรมพัฒฯเราสกัดเราก็จะดูอันแรกเลยว่ามีนิติบุคคลมีจํานวนเท่าไหร่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการท่องเที่ยว
"ปีที่แล้วมีประมาณ 1.6 หมื่นแห่ง ปีนี้มี 2 หมื่นแห่ง ที่อยู่ในแผนแต่ว่าพอสกรีนสกัดมามันจะเหลือหลักร้อย ที่เข้าข่ายอาจจะต้องสงสัยแล้วเราก็ต้องร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อไปดูว่าเขาผิด พ.ร.บ.อะไร จ้างงานอย่างไร เป็นต้น แต่ว่ามีกี่รายอันนี้ก็ยังไม่แน่ใจ เพราะอยู่ระหว่างการตรวจสอบ"
@มีกรณีบริษัทที่คนไทยเปิดเป็นนอมินีแล้วก็ผ่านไปสักพักคนไทยพวกนี้จะถอนหุ้นออกไป แล้วมีคนต่างชาติเข้ามาถือหุ้นแทน พวกนี้จะถูกตรวจสอบด้วยหรือไม่
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม : ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นมันก็ต้องถือแบบแฝงเพราะว่าต่างชาติไม่มีสิทธิ์ถือหุ้นเกิน 49 กรณีที่เข้ามาทำแบบนี้ก็ถือว่าผิดกฎหมาย เพราะเขาเอาไปทําโดยที่เขาไม่ได้มาแก้จดทะเบียน คือนายทะเบียนจะต้องเป็นคนไทย ถ้าอยู่ดีๆเขาจะมาบอกว่าต่างด้าวมาแล้วมาขอแก้ไขมายื่น ขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นที่กรมพัฒฯ พอกรมพัฒฯเห็นสัดส่วนกรมพัฒฯก็จะต้องไม่อนุญาตอยู่แล้ว
"จริงๆมันมีกรณีอย่างร้านที่เยาวราชที่เราไป มันเหมือนไปเดินอยู่เมืองจีนเลย เขาก็เลยไปลงพื้นที่ปรากฏว่าร้านมันตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่แต่รุ่นลูก พูดภาษาจีนได้ อะไรก็คือทําเพื่อรองรับคนจีน แต่ก็มีชื่อ มีบัตรประชาชนมีอะไรที่ แต่ถ้าหากเจอกรณีแบบนั้นจริงๆก็สามารถแจ้งเราได้ เราก็จะไปตรวจสอบ ส่วนที่กรณีร้านคนจีนที่ห้วยขวางมันก็อาจจะมีอะไรซับซ้อนกว่านั้น แต่เวลาไปก็คงต้องเอาดีเอสไอไปด้วย"
@กรณีพวกฟอกเงิน มันจะมีพวกบัญชีม้าที่รับจ้างเปิดบัญชี ในส่วนของการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทมันจะมีกลุ่มบุคคลรับอาชีพในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทแทนตรงนี้มีหรือไม่
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม : ก็อาจจะมี คือเราจะเข้าไปดูต่อเมื่อเป็นธุรกิจ ที่แบบจะกระทบท่องเที่ยว เราก็มาทํางานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วก็เข้าไปดูว่าอะไรที่เข้าข่ายต้องสงสัย
@ถ้าเจอว่าเอาชื่อมาใช้แทนหรือว่าเป็นคนงานที่ไม่ได้มีความสามารถในการทําธุรกิจ ตอนนี้มีบทลงโทษอย่างไร
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม : ถ้าเขาเป็นคนไทยเราอาจจะไม่ได้อะไรแต่ถ้าเขาถ้าเป็นต่างด้าว เขาอาจจะเข้าข่ายผิดพ.ร.บ.ต่างด้าว
@ปลายปีที่แล้วสำนักข่าวอิศราเขียนข่าวอ้างอิงจากรอยเตอร์ส เกี่ยวกับการฉ้อโกงคริปโต ที่มีการยึดทรัพย์ ปรากฎว่าเส้นทางการเงินเงินถูกโอนมาให้กับนักธุรกิจจีนที่อยู่ในไทย
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม : เรื่องนี้คงต้องขอให้ส่งข้อมูล แล้วทางเราจะไปตรวจสอบกันอีกทีหนึ่ง คือกรณีที่เรามองว่าต้องสงสัยและจะทําผิดกฎหมายที่เราดูแล เราก็พร้อมที่จะตรวจสอบ
@กระบวนการจัดตั้งบริษัทในทุกวันนี้ยากหรือไม่ จากเมื่อก่อนมีผู้ถือหุ้น 7 คน แต่ปัจจุบันจัดตั้งบริษัทได้ง่ายขึ้น
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม "จริงๆมีผู้ถือหุ้นแค่ 2 คนก็จัดตั้งบริษัทได้ ถ้าเป็นชื่อคนไทย แต่ตราบใดที่คุณเป็นนิติบุคคลคุณมีหน้าที่ส่งงบการเงินแล้ว ถ้าไม่ส่งงบการเงินติดกัน 3 ปีก็เข้าข่ายที่เราจะขีดร้าง เรามีกระบวนการ เรามีสิ่งที่เรียกว่าธรรมาภิบาลธุรกิจเพราะมีกองธรรมาภิบาล ถ้าเกิดสมมุติว่าเรามองว่า มีเคสที่ว่านี้ มาคุยกับเรา บอกว่าช่วยมาดูหน่อยอันนี้ไม่น่าจะถูกต้อง เราก็พร้อม เพราะเรามองว่าถ้าประเทศจะขับเคลื่อนได้ ก็คือการต้องมีธุรกิจมาช่วยขับเคลื่อนสร้างเงินภายในประเทศแต่ก็ไม่ใช่เงินที่ผิดกฎหมายหรือว่าทุนสีเทา ส่วนกรณีที่บอกว่าบริษัททุนสีเทาที่ส่งงบออกไปนอกประเทศ เรามีเราก็มีหน่วยที่วิเคราะห์งบการเงิน ก็มาดูได้ถ้ามันสุ่มเสี่ยง"
@เคสที่ว่าเจ้าหน้าที่กรมพัฒฯเอาข้อมูลบริษัทไปขาย
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม : เรื่องนี้ไม่เคยเกิดที่กรมพัฒฯ อันนี้เท่าที่ทราบเป็นของหน่วยงานอื่น ก็ไม่ใช่ข้อมูลที่เป็นความจริง ซึ่งเรื่องนี้ก็มีการจัดการไปแล้ว ส่วนทางกรมพัฒฯ เราก็คิดว่าเราดูแลบุคลากรว่าอย่างน้อยต้องมีธรรมาภิบาลแต่ถ้ามีเรื่องที่ว่าก็สามารถแจ้งมาได้