"...ความน่าเชื่อถือ มาจากการกระทำที่สมเหตุสมผลสามารถอธิบายได้ว่าทำไมจึงทำเช่นนั้น ความน่าเชื่อถือต้องสามารถทำให้การพูดและการกระทำเป็นหนึ่งเดียวกัน สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน..."
“ชิต” กับ “ชัย” สองเกลอเก่าโคจรมาพบกันกลางถนนโดยมิได้นัดหมาย คนหนึ่งผอม คนหนึ่งอ้วน
“เฮ้ย ! ทำไมมึงอ้วนขนาดนี้วะ ไม่เจอกัน 3 ปี มึงสวาปามอะไรมา น้ำหนักถึงร้อยรึยังเนี่ย” ชิตถามชัย
ชัยยิ้ม ให้เหตุผลว่า
“วานนี้ เห็นกระรอก 2 ตัว วิ่งไล่กันบนสายไฟฟ้าหน้าบ้าน”
ชิตทำคิ้วขมวดแล้วถามว่า
“กระรอกวิ่งบนสายไฟ มันเกี่ยวอะไรกับมึงอ้วน”
“แล้วกูอ้วน มันเกี่ยวอะไรกับมึงด้วย” ชัยตอบห้วนๆ แล้วทั้งสองคนต่างแยกย้ายกันไป
ความจริงชิตก็ปรารถนาดี ที่ไต่ถามสารทุกข์สุกดิบตามประสาเพื่อนเก่า ที่ห่างหายกันไป
ความจริงชัย ก็พร้อมจะตอบด้วยไมตรี แต่เมื่อเจอคำถามเย้ยหยัน จึงใช้ลีลาตอบแบบชวนสงสัย แล้วตลบจบอีกทีด้วยคำตอบแรงๆ
ช่วงนี้มีคลิพวิดีโอชิ้นหนึ่งที่แพร่กระจายกันเกลื่อนหน้าจอไฟฟ้า
กล้องจับภาพไปที่เคาน์เตอร์แคชเชียร์ขาออกตรงจุดผ่านของและจ่ายเงิน ของร้านค้าสะดวกซื้อในต่างประเทศ
ลูกค้าชายหญิง 6-7 คนเข้าคิวหยิบของที่ซื้อวางบนโต๊ะ เพื่อรอชั่งน้ำหนัก จ่ายเงินและหิ้วของไป
ที่คิวของลูกค้าหญิงคนหนึ่ง เธอหยิบส้มทีละผลขึ้นมาปอกเปลือกออกอย่างรวดเร็ว เธอแยกผลส้มที่ปอกเปลือกแล้วไว้ถุงหนึ่ง อีกถุงใส่เปลือกส้มที่เธอปอกไว้ แล้วยื่นถุงส้มที่มีแต่เนื้อส้มให้แคชเชียร์เพื่อชั่งน้ำหนัก
เธอคงจะบอกกับแคชเชียร์ว่า
“ฉันกินแต่เนื้อส้ม ฉันไม่ได้กินเปลือกส้ม ดังนั้น ช่วยชั่งเนื้อส้มนี้ทีว่าเป็นเงินเท่าไร”
แคชเชียร์มองหน้า ส่งสายตาไม่พอใจ พูดอะไรสัก 2-3 คำ รับถุงส้มนั้นมาชั่งติดสลิพราคาแล้ววางไว้ แล้วหยิบเอาแผงไข่ไก่ราวหนึ่งโหล ของลูกค้าหญิงคนนั้นเปิดฝาออก หยิบเอาถุงพลาสติกเปล่ามาวาง เปิดปากถุงกว้างไว้ หยิบไข่แล้วตอกไข่ทีละฟอง เธอเทเนื้อไข่ขาวแดงลงในถุงจนหมดแผง แล้วหยิบน้ำมันพืชขวดหนึ่งของลูกค้าคนนั้น เปิดฝาจุกแล้วเทน้ำมันพืชลงไปในถุงใส่เนื้อไข่จนหมดขวด แล้วยื่นถุงนั้นให้ลูกค้า
แคชเชียร์ ไม่ได้พูดอะไรมาก เธอทำให้ลูกค้าเห็น ว่าสิ่งที่ลูกค้าไม่กินคือเปลือกไข่ เธอก็คัดออกแล้ว ขวดน้ำมันพืชที่ไม่ได้กินก็แยกออกให้แล้ว จะได้เหลือแต่ของที่กินได้ในถุงนั้นให้ลูกค้า เป็นการบอกกล่าวเชิงโต้แย้ง โดยสื่อสารการกระทำ
ความจริงแล้วย่อมเข้าใจได้ว่าร้านค้านั้น ขายส้มแบบเต็มผลด้วยราคาที่ไม่แยกเปลือก ไม่แยกเนื้อส้ม แต่ลูกค้าบอกว่าเปลือกไม่ต้องการ จะเอาแต่เนื้อส้ม
นี่เป็นการคิดของลูกค้าที่ตั้งต้นจากความต้องการของตนเองเป็นหลัก มองเผินๆก็ดูสมเหตุสมผลพอควร แต่มันเป็นเหตุผลที่สามารถยอมรับได้หรือไม่
เป็นปฏิบัติการ “เกลือจิ้มเกลือ” หรือเรียกอีกอย่างว่าเป็นการ “แก้เผ็ด” ที่ดูสาสมกันดี
ผู้เขียนแชร์คลิพนี้ไปให้เพื่อน ก็ได้รับท่าทีหรือคำตอบรับที่ตอบมาว่า “สมน้ำหน้า”
มนุษย์ทุกคน ล้วนแล้วแต่มีเหตุผลที่จะอธิบายการกระทำของตนเอง ถ้าการกระทำนั้นไม่ส่งผลกระทบใครอื่น ก็คงไม่กระไรนัก เช่นจะผูกเนคไทสีอะไร จะใช้ผ้าขาวม้ามาแทนผ้าพันคอ จะใส่ถุงเท้าข้างละสี ก็เป็นเรื่องเฉพาะตัว ถ้าจะถูกวิจารณ์ ก็หนีไม่พ้นเรื่องของรสนิยมของเจ้าตัว แต่ถ้าการกระทำนั้นไปส่งผลกระทบต่อส่วนรวม ต่อชุมชน หรือต่อสังคม ก็ต้องต้อนรับคำวิพากย์
เรื่องความอ้วนของชัย ที่เล่าในตอนต้น เป็นเรื่องเฉพาะตัวก็จริง แต่ชิตต้องเก็บไปคิดต่อว่า การพูดเย้ยหยันเช่นนั้น ได้รับคำตอบกลับมาแบบนี้ ทำให้เสียเพื่อนหรือไม่
มีตัวอย่างเล็กๆ อีกเรื่องหนึ่ง
มีเหตุเกิดขึ้นกับสมชาย ผู้เป็นกรรมการผู้จัดการ กับสมหมาย ซึ่งเป็นลูกน้อง
ขณะที่สมชาย เดินสวนกับสมหมาย ซึ่งกำลังเดินออกตรงประตูห้องน้ำชาย สมชายได้พบว่าก๊อกน้ำล้างมือซ้ายมือสุดนั้นมีน้ำไหลทิ้งตลอดเวลา แปลว่าสมหมาย ไม่ได้ปิดก๊อกน้ำนั้นก่อนที่เขาจะเดินออกไป
เมื่อปิดก๊อกน้ำและทำธุระส่วนตัวเรียบร้อยแล้ว สมชายได้พบกับสมหมาย จึงเอ่ยปากถาม
“เมื่อตะกี้คุณใช้ห้องน้ำ แล้วคุณใช้ก๊อกน้ำซ้ายมือหรือเปล่า”
“ไม่ได้ใช้ครับ” สมหมายตอบ
“แล้วคุณใช้ก๊อกไหนล่ะ”
“ผมใช้ก๊อกกลางครับ”
“ตอนคุณออกจากห้องน้ำ คุฯเห็นไหมว่าก๊อกน้ำซ้ายมือนั้นมีน้ำไหลทิ้งตลอด”
“เห็นครับ”
“ถ้างั้นทำไมคุณไม่ช่วยปิดล่ะ”
“ผมไม่ได้เป็นคนเปิดนี่ครับ” สมหมายตอบอย่างเต็มปากเต็มคำ เหมือนไม่รู้สึกผิดอะไรเลย
ในความคิดของเขานั้น การที่เขาไม่ได้เป็นคนเปิด เท่ากับว่าเขามีความชอบธรรมที่จะไม่ต้องเป็นคนปิด
ความน่าเชื่อถือ มาจากการกระทำที่สมเหตุสมผลสามารถอธิบายได้ว่าทำไมจึงทำเช่นนั้น ความน่าเชื่อถือต้องสามารถทำให้การพูดและการกระทำเป็นหนึ่งเดียวกัน สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน
ผู้นำที่สัญญาว่าจะทำในสิ่งที่เรียกว่า “ซอพเพาเวอร์แห่งชาติ” อันหมายถึงวัฒนธรรม ที่รวมทั้งศิลปะ อาหาร การแสดง การแต่งกาย กีฬา ดนตรี การละเล่น นำพาให้วัฒนธรรมไทย เป็นวิถีไทยสู่สากล แต่ยังใส่เสื้อหลุย วิตตอง ราคาเหยียบแสน ผูกนาฬิกาข้อมือปาเต็ก ฟิลลิป ราคา 20 ล้านบาท ใส่เสื้อยืดหลุย ราคา 46,000 บาท ใส่กางเกงชาแนล ราคา 62,000 บาท ใส่รองเท้า ALAIA ราคา 58,000 บาท สวมหมวก CELENE ราคา 19,000 บาท อย่างนี้ จะอธิบายเหตุผลอย่างไรต่อสาธารณะ
ประสาร มฤคพิทักษ์