“...เทคโนโลยีดิจิทัลทำให้เกิดความต้องการ (Demands) และพฤติกรรมใหม่ ที่บีบให้ภาครัฐต้องลงทุนเพิ่มอย่างมาก แต่ภายใต้โครงการที่สวยหรูนั้นยากจะคาดเดาว่ามีกับดักคอร์รัปชันอยู่ตรงไหน ทำให้กลไกตรวจสอบภาครัฐ ทั้งคน กฎหมายและเทคโนโลยี่ตามไม่ทัน ควบคุมไม่ได้ จนกว่าเรื่องจะแดงหรือเสียหายไปมากแล้ว...”
Digital Disruption กับคอร์รัปชัน
มีคำถามใหม่จากนักข่าวว่า “ท่ามกลาง Digital Disruption ทำให้สถานการณ์คอร์รัปชันไทยเปลี่ยนแปลงรูปแบบและมีความซับซ้อนอย่างไร” คำถามนี้น่าสนใจครับ
“เทคโนโลยีดิจิทัลทำให้เกิดความต้องการ (Demands) และพฤติกรรมใหม่ ที่บีบให้ภาครัฐต้องลงทุนเพิ่มอย่างมาก แต่ภายใต้โครงการที่สวยหรูนั้นยากจะคาดเดาว่ามีกับดักคอร์รัปชันอยู่ตรงไหน ทำให้กลไกตรวจสอบภาครัฐ ทั้งคน กฎหมายและเทคโนโลยี่ตามไม่ทัน ควบคุมไม่ได้ จนกว่าเรื่องจะแดงหรือเสียหายไปมากแล้ว”
ดังนั้นแม้การลงทุนส่วนใหญ่เป็นเรื่องเหมาะสม แต่ก็สร้างโอกาสให้เกิดคอร์รัปชันขึ้นมากมายเช่นกัน...
ตัวอย่างการลงทุนของรัฐในกระแสดิจิทัล
- การลงทุนขนาดเล็ก เช่น หน่วยงานรัฐแทบทุกแห่งได้จ้างเอกชนให้ผลิตแอพพลิเคชั่น ซอฟท์แวร์ หรือโปรแกรม และใช้งบซื้อสื่อประชาสัมพันธ์ออนไลน์
- การลงทุนขนาดกลาง เช่น การลงทุน 2 หมื่นล้านบาททำระบบ ERP ของ กฟภ. ซึ่งแพงมหาศาล โดยคุณบรรยง พงษ์พานิช ชี้ว่า หากนำงบโครงการแบบนี้ของธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งในประเทศไทยมารวมกันยังใช้น้อยกว่า ไม่รู้ว่ามีคอร์รัปชันหรือรั่วไหลตรงไหนหรือไม่!!
- การลงทุนขนาดใหญ่ เช่น โครงการเน็ตประชารัฐ มูลค่า 3 หมื่นล้านบาทที่ยังค้างคา และนโยบายแจกเงินดิจิตอลของรัฐบาลมูลค่าราว 5 แสนล้านบาท ที่สังคมกำลังถกเถียงกันอย่างมาก
ข้อดีเมื่อรัฐนำเทคโนโลยี่ดิจิทัลมาใช้
1. ประชาชนได้รับบริการสะดวกขึ้น ช่วยลดปัจจัยเรียกรับสินบนเงินใต้โต๊ะจากเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่รัฐเองก็ทำงานง่ายขึ้นเช่นกัน เช่น Smart Lands ของกรมที่ดิน Mea Smart Life ของ กฟน. ThaiD ของมหาดไทย RD Smart Tax ของกรมสรรพากร ฯลฯ
2. การร้องเรียนเรื่องทุกข์ร้อนของประชาชนทำได้ง่ายขึ้น เช่น ระบบ Traffy fondue ของ กทม. หรือจะผ่านเพจหมาเฝ้าบ้าน เพจต้องแฉ สื่อออนไลน์ และการมีเทคโนโลยี่ที่เหมาะสมช่วยให้รัฐดูแลคุ้มครองประชาชนได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึงมากขึ้น
3. การเปิดเผยข้อมูลของรัฐทำได้ง่ายขึ้น ทั่วถึงและประหยัด (ถ้าจะทำ)
4. การประมวลผล/วิเคราะห์ข้อมูลของรัฐ ทำได้ง่าย ประสิทธิภาพสูง เช่น ระบบ ACT Ai ขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ, GF-MIS ของกรมบัญชีกลาง, eMENSCR ของสภาพัฒน์ฯ
ข้อเสียที่ทำให้มีคอร์รัปชันมากขึ้น
เทคโนโลยี่ใหม่ที่ไม่คุ้นเคยและยังมีผู้ให้บริการน้อยราย ทำให้การกำหนดคุณภาพ ต้นทุนและราคาที่รัฐสมควรจ่ายทำได้ยาก คำถามที่มักมาคู่กันคือ อะไรกันแน่ที่รัฐควรลงทุน ควรเลือกแบบไหนหรือมากแค่ไหนถึงจะพอดี ตรงนี้คือช่องว่างและโอกาสเกิดคอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้าง
ขณะที่เทคโนโลยี่ทำให้การจ่ายสินบนเงินใต้โต๊ะกลายเป็นเรื่องง่าย เพราะไม่ว่าเงินมากหรือน้อยก็สามารถโอนออนไลน์ได้ จะฟอกเงินหรือจ่ายเงินก้อนโตเป็นเงินคริปโต (Crypto Currency) นำไปซุกซ่อนได้ง่าย การโอนเงินข้ามประเทศก็สะดวก
ข้อพึงตระหนัก
ที่ผ่านมาผู้บริหารบ้านเมือง มักสนใจแต่เพียงใช้งบประมาณไปทำโครงการเพื่อคุยได้ว่าตนมีผลงานแล้ว โดยไม่ใส่ใจว่าสำเร็จ เกิดประโยชน์คุ้มค่าหรือไม่ เพราะพวกเขาไม่ต้องรับผิดต่อความเสียหายในอนาคต จะผลาญเงินภาษี ทำเพื่อหาเสียง มีการโกงกิน โกงความไว้วางใจของประชาชน มีผลประโยชน์ทับซ้อน คอร์รัปชันเชิงนโยบาย เรื่องชั่วเหล่านี้ยากจะพิสูจน์เอาผิด
สรุปคือ อย่างไรเสียประเทศไทยจำเป็นต้องลงทุนพัฒนาเทคโนโลยี่ดิจิทัล เพื่อก้าวให้ทันโลกที่วิ่งไปข้างหน้า แต่เมื่อควบคุมคอร์รัปชันไม่ได้ก็ยากที่จะทำอะไรให้สำเร็จ นี่คืออีกเหตุผลหนึ่งที่ย้ำว่า
“การต่อต้านคอร์รัปชันแบบเดิมๆ ใช้ไม่ได้แล้ว”
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
12 มีนาคม 2567