"...กรมบัญชีกลาง เป็นศูนย์รวมอำนาจและข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ เป็นองค์กรมืออาชีพที่มีผู้ชำนาญเฉพาะด้านจำนวนมาก มีการลงทุนเทคโนโลยีที่เหมาะสม แม้หลายฝ่ายมองว่าทรัพยากรเหล่านี้ถูกนำไปใช้ประโยชน์น้อยเกินไป ควรเชื่อมโยงระบบและเผยแพร่องค์ความรู้ที่มีอยู่แก่หน่วยงานรัฐอื่น ภาคเอกชนและภาคประชาชนให้มากขึ้น เพื่อสร้างความร่วมมือและความเข้าใจที่ดี..."
คอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้างฯ ดูเหมือนไม่มีทางควบคุมได้เลย จึงเกิดคำถามว่า “กรมบัญชีกลาง” ผู้ดูแลกลไกกระจายเงินของรัฐ วางระบบและกำกับดูแล ได้ทำอะไรไปบ้างให้คนไทยมั่นใจว่าทุกการใช้จ่ายของแผ่นดินจะเกิดประโยชน์สูงสุด
ที่สำคัญ ทีดีอาร์ไอระบุว่าอีบิดดิ้งช่วยให้รัฐประหยัดงบประมาณแผ่นดินได้ 8.1% - 8.2% แต่ทำไมการฮั้วประมูลยังมีอยู่ การประมูลแบบอีบิดดิ้งมี “ฮั้วประมูล” ได้อย่างไร?
บทความนี้จะกล่าวถึง 3 มาตรการป้องกันคอร์รัปชันสำคัญในมือกรมบัญชีกลาง
1. การประมูลแบบอีบิดดิ้ง (e – Bidding) มี “ฮั้วประมูล” ได้อย่างไร
ยืนยันได้ว่าการฮั้วประมูลมีอยู่มากจริง แต่เกิดขึ้น “นอกระบบอีบิดดิ้ง” เพราะนับแต่เริ่มใช้ พ.ร.บ. จัดซื้อฯ ปี 2560 ไม่เคยมีเอกชน สมาคม หรือเจ้าหน้าที่รัฐหน่วยงานใดแสดงหลักฐานให้เห็นได้เลยว่า มีการเข้าถึงระบบอีบิดดิ้งในระดับที่มองเห็นการเคลื่อนไหวของผู้ร่วมประมูลรายอื่นๆ ได้จริง มีแต่คำบอกเล่า หลักฐานการประสานงานผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ หรือภาพหน้าจอคอมพิวเตอร์ของผู้ร่วมประมูลรายเดียว
อธิบายเพิ่มเติม
โดยทั่วไปการฮั้วประมูลเป็นฝีมือของบุคลากรในหน่วยงาน “ผู้จัดซื้อ” หรือคนบ้านใหญ่ในพื้นที่ หรือเอกชนไปจัดฮั้วกันเอง หากวงเงินสูงมากจะมีนักการเมืองหรือข้าราชการระดับสูงคอยชักใย บางกรณีเอกชนรายที่ตกลงกันแล้วว่า “ได้งาน” จะเป็นผู้จัดหาคู่เทียบมาเอง ดังนั้นผู้ร่วมฮั้วจึงรู้ดี “ก่อน” เข้าประมูลแล้วว่า งานนั้นใครคือผู้ชนะ ใครมาเป็นตัวประกอบ เว้นแต่เกิดเหตุการณ์ “ฮั้วแตก” หรือมี “หมาหลง” คือมีคนนอกหลุดเข้ามาร่วมประมูลด้วย
พวกฮั้วประมูลจะรู้ว่ามีหมาหลงรายใดเข้ามาจากข่าวบอกเล่าในวงการ หรือเมื่อคนนอกเหล่านั้นไปติดต่อหาข้อมูลเพิ่มจากหน่วยงานผู้จัดซื้อ และหรือ แหล่งจำหน่ายสินค้าที่มีผู้ผลิตหรือนำเข้าน้อยราย เช่น อุปกรณ์สื่อสารเทคโนโลยีสูง หรือกรณีวัสดุก่อสร้างในพื้นที่ เช่น ยางมะตอย
เพื่อป้องกันปัญหาให้รัดกุมยิ่งขึ้น ล่าสุดกรมบัญชีกลางได้พัฒนาระบบป้องกันการรั่วไหลและการเจาะเข้าระบบ เช่น ยกเลิกการซื้อขายเอกสารการประมูล ไม่ต้องลงทะเบียนแสดงตัวตน ใครที่สนใจสามารถดาวน์โหลดทีโออาร์ได้ฟรีจากระบบอินเตอร์เน็ตได้เลย จึงทำให้ไม่มีใครรู้ว่าจะมีใครร่วมประมูล นอกจากนี้ยังลดเวลาการเสนอราคาประมูลลงจาก 8 ชั่วโมงเหลือ 3 ชั่วโมงเพื่อลดโอกาสเจรจาฮั้ว
ส่วนการ “ล็อกสเปก” เป็นการกำหนดเงื่อนไขสินค้าหรือบริการที่จะซื้อให้เอื้อประโยชน์กับเอกชนบางราย เป็นการร่วมมือระหว่างเอกชนกับเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานผู้ซื้อ “ก่อน” เข้าสู่ขั้นตอนการประมูลเช่นกัน
อีกสองมาตรการป้องกันปัญหาคอร์รัปชันและลดความสูญเสียในเมกะโปรเจ็คต์ ได้แก่ “ข้อตกลงคุณธรรม”และ “คอสต์” ซึ่งเป็นมิติใหม่และเป็นต้นแบบสำคัญที่กรมบัญชีกลางผู้เป็นตัวแทนภาครัฐที่มีวิสัยทัศน์ ได้เปิดกว้างและอำนวยให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในเมกะโปรเจคต์ที่มีมูลค่าตั้งแต่พันล้านบาทจนถึงแสนล้านบาท เช่น ซื้อเครื่องบิน หรือโครงการที่รัฐร่วมลงทุนกับเอกชน เช่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และหมายรวมถึงโครงการที่รัฐให้สัมปทานแก่เอกชนด้วย เช่น ร้านดิวตี้ฟรีในสนามบิน
2. ข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ได้แสดงผลสัมฤทธิ์ขนาดใหญ่มาอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้แต่ละโครงการจัดซื้อฯ ที่ร่วมในมาตรการทั้งสองนี้เป็นไปอย่างราบรื่น ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา ช่วยประหยัดเงินของรัฐได้มากกว่า 7.67 หมื่นล้านบาท
ความสำเร็จเกิดจากการมีส่วนร่วมจากตัวแทนภาคประชาชนและมีการจัดการอย่างเป็นระบบ ส่วนของงานสนับสนุนการบริหารจัดการโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ (ACT) ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชน มีอาสาสมัครราว 253 ท่านที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาอาชีพเข้าร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์อิสระ (Independent Observer) ด้วยความเสียสละเพื่อส่วนรวมอย่างน่ายกย่อง โดยใช้เงินทุนสนับสนุนจากภาคประชาชนสมทบกับภาครัฐ
3. โครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST) มีงานวิจัยจากทีดีอาร์ไอยืนยันว่า โครงการก่อสร้างที่ใช้ CoST จะประหยัดเพิ่ม 5% - 5.4% เมื่อเทียบกับโครงการประเภทเดียวกันที่ไม่ได้ใช้ CoST สอดรับกับข้อเท็จจริงว่า ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา CoST ช่วยรัฐประหยัดได้มากกว่า 2.64 หมื่นล้านบาท
ความสำเร็จเกิดจาก การเปิดเผยข้อมูลโครงการแบบบังคับตามมาตรฐานสากล มีการบริหารจัดการร่วมระหว่างกรมบัญชีกลาง ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ด้วยการสนับสนุนจากองค์กรระหว่างประเทศ
ทั้งสามมาตรการที่เป็นตัวช่วยสำคัญให้กรมบัญชีกลางในฐานะหน่วยงานที่บริหารงบประมาณแผ่นดินเหมือนเป็นหัวรถจักรของการใช้จ่ายภาครัฐมีประสิทธิผลและลดความสุ่มเสี่ยงการทุจริต
เป้าหมายการเปิดเผยอย่างโปร่งใส
การยกระดับความโปร่งใสในการใช้จ่ายของภาครัฐขึ้นให้ได้มากยิ่งๆ ขึ้นไปอีกนั้น เงื่อนไขความความสำเร็จอยู่ที่การเปิดเผยข้อมูลสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานรัฐ ที่เป็นจุดเริ่มต้นความโปร่งใส
เพราะข้อมูลเหล่านี้จำเป็นมากสำหรับหน่วยตรวจสอบภาครัฐ เช่น สตง. ป.ป.ช. ขณะที่หน่วยงานรัฐอื่นๆ สามารถนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการวางแผนพัฒนาได้อีกมาก เช่น สภาพัฒน์ฯ รัฐสภา สำนักงบประมาณ ฯลฯ และหากเผยแพร่สู่ประชาชนและเชื่อมโยงระบบ ACT Ai ก็ยิ่งจะเกิดประโยชน์มหาศาล
เป็นเรื่องน่ายินดีที่ คุณแพตริเซีย มงคลวนิช อธิบดีกรมบัญชีกลาง ได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการมาตรฐานนำเข้าข้อมูลภาครัฐสู่ระบบและเปิดเผยให้เป็นมาตรฐานสากล แล้วเปิดให้ทุกหน่วยงานรัฐและประชาชนเข้าตรวจสอบ หรือนำไปใช้ได้
วิสัยทัศน์และความตั้งใจเช่นนี้จะนำมาซึ่งประโยชน์แก่บ้านเมืองให้เป็นที่ยอมรับของนานาชาติต่อไป
บทสรุป
กรมบัญชีกลาง เป็นศูนย์รวมอำนาจและข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ เป็นองค์กรมืออาชีพที่มีผู้ชำนาญเฉพาะด้านจำนวนมาก มีการลงทุนเทคโนโลยีที่เหมาะสม แม้หลายฝ่ายมองว่าทรัพยากรเหล่านี้ถูกนำไปใช้ประโยชน์น้อยเกินไป ควรเชื่อมโยงระบบและเผยแพร่องค์ความรู้ที่มีอยู่แก่หน่วยงานรัฐอื่น ภาคเอกชนและภาคประชาชนให้มากขึ้น เพื่อสร้างความร่วมมือและความเข้าใจที่ดี
ความพยายามแทรกแซงจากนักการเมืองมีให้เห็นในบางช่วงเวลาผ่านมา แต่ความเป็นมืออาชีพของบุคลากรและวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็งมายาวนานทำให้ไม่เกิดผลกระทบจนเสียระบบ
กรมบัญชีกลางจึงเป็นดั่งของขวัญชิ้นงามเพื่อประชาชน ที่สังคมไทยควรชื่นชมและให้การสนับสนุน
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
5 มีนาคม 2567