"...น้องไอซ์ทิ้งท้ายว่า ขอบคุณทุกคนที่ให้กำลังใจและข้อคิดมาโดยตลอด แม้จะไม่สามารถตอบแทนได้ แต่จะจดจำสายตาเหล่านั้น เก็บความรัก ความห่วงใย เป็นรอยสักที่อยู่ลึกสุดในหัวใจ พร้อมกล่าวต่อว่า “ผมเป็นคนที่มีความคิดสุดโต่ง สิ่งที่ผมชอบ คือเรื่องของเวลา ทุกคนมีเวลาเท่ากัน ซึ่งแต่ละคนไม่รู้ว่าตนเองมีเวลาอีกเท่าไร ขอให้ใช้ชีวิตให้มีความสุขในทุกวินาที เก็บความรู้สึกทุกอย่าง สิ่งที่มอง อากาศที่เราสูด ใช้เวลาให้คุ้มค่า เรื่องอื่น ๆ ช่างมัน ปล่อยไป เมื่อวิญญาณออกจากร่าง ตาที่เราเคยมองเห็น มือที่เคยสัมผัส อากาศที่เคยสูด ทุกอย่างจะว่างเปล่า แต่นี่คือเวลาที่เราเสพได้ เสพให้อยู่ในความทรงจำของเราชั่วนิจนิรันดร์”..."
เรื่องราว “ชีวิตที่ต้องเดินต่อ” ของน้องสิริศักดิ์ พูลสวัสดิ์ (น้องไอซ์) จาก Weekly Mail สัปดาห์ที่แล้ว ถือเป็นฉบับท็อปฮิตมีผู้ติดตามจำนวนมาก ด้วยเสียงสะท้อนให้กำลังใจน้องไอซ์อย่างท่วมท้น พร้อมใจจดใจจ่อรออ่าน Weekly Mail สัปดาห์นี้ เพื่อติดตามสถานการณ์ภายหลังที่น้องไอซ์ถูกนำตัวส่งเข้าห้องฉุกเฉิน และถอดบทเรียนชีวิตที่ได้รับ
น้องไอซ์กล่าวว่า ตนเองเป็นคนที่ร่างกายแข็งแรงมาโดยตลอด การถูกส่งตัวเข้าห้องฉุกเฉินจึงเป็นสิ่งที่ไม่ทันตั้งตัว เข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่หดหู่ มองไปรอบ ๆ พบแต่ผู้ป่วยที่อาการหนักมีเสียงร้องครวญครางตลอดเวลา คิดว่าหากจะเอาตัวรอดต้องเอาตัวเองออกจากสภาพนั้นให้เร็วที่สุดซึ่งในช่วงเวลานั้นต้องทำให้ “ใจ” พร้อมก่อน จึงจะรักษา “กาย” ได้ ร้องขอให้ภรรยาทำทุกวิถีทางที่จะพาตนเองย้ายออกจากห้องฉุกเฉินให้ได้ “ต้องบอกว่าโชคดีที่มีน้องสิวลี อู่ทรัพย์ (น้องลูกศร) ภรรยาเคียงข้างกายเสมอ เขาเหนื่อยกว่าผม เพราะต้องดูแลผม รองรับอารมณ์ผมตลอด” น้องไอซ์กล่าวด้วยเสียงสะอื้นอย่างตื้นตันใจ
เวลา 2 วัน 1 คืน ที่อยู่ในห้องฉุกเฉินช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แพทย์ไม่อนุญาตให้ลุกจากเตียง เป็นช่วงเวลาที่น้องไอซ์ต้องใช้ “ใจ” ในการรักษา สร้างพลังบวกให้ตัวเองเพื่ออยากอยู่เป็นคนสุดท้าย ส่งพ่อแม่ ส่งแฟนก่อน ไม่อยากให้พวกเขาอยู่อย่างโดดเดี่ยว และเมื่อได้ย้ายเข้ารักษาตัวในห้องผู้ป่วยเดี่ยว น้องไอซ์ไม่รอให้ใครสั่ง ลุกจากเตียง เดินออกกำลังกายรอบห้อง กัดฟันทานอาหาร ทานยาตามกำหนด จนร่างกายเริ่มฟื้นตัว สามารถกลับมารักษาตัวที่บ้านหลังจากอยู่ที่โรงพยาบาลถึง 2 สัปดาห์
น้องไอซ์ครุ่นคิดก่อนกล่าวต่อว่า ในช่วงเวลาวิกฤติและคับขัน ทำให้ได้ข้อคิดมา 2 เรื่อง ข้อคิดแรกคือ “การตัดสินคนด้วยความรู้สึก” เราไม่รู้เลยว่า คนแต่ละคนที่เราเห็นอาจไม่เป็นอย่างที่เราคิดซึ่งในช่วงเวลาที่เจ็บป่วย น้องไอซ์ยอมรับว่าแปลกใจที่ “กำลังใจ” หลั่งไหลมาแบบไม่คิดไม่ฝันทั้งที่มาเยี่ยมด้วยตนเอง และโทรศัพท์มาแบบไม่ขาดสาย แต่ที่ประหลาดใจมากที่สุดคือ คนที่น้องไอซ์เคยโกรธ ไม่ชอบ ได้แวะมาเยี่ยมถึงห้องคนป่วย ทำให้น้องไอซ์รับรู้ได้ว่า การใช้ความรู้สึกและอารมณ์ ในการตัดสินคน เป็นความผิดพลาดในใจ ไม่ควรมองคนแบบนี้ จากนั้นน้องไอซ์ “ไม่ตีตราใครในด้านลบ มุมไม่ดีไม่เคยจดจำ”
ข้อคิดที่สองเกิดขึ้นเมื่อได้พูดคุยกับพี่บุษกร ธีระปัญญาชัย [1] แนะนำว่า “ทำไมต้องสู้ ทำไมไม่อยู่กับเขาด้วยความรัก ใช้ความรักในการอยู่ร่วมกัน” จากวันนั้น เลยเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ด้วยการพูดในใจกับน้องมะเร็ง ทำข้อตกลงร่วมกันว่า “ถ้าฉันจากโลกนี้ไปมีแต่คนคิดถึงฉัน แต่ตัวเธอจะมีแต่คนสาปแช่ง ถ้าจะอยู่ก็อยู่ด้วยกัน กิน เที่ยวด้วยกัน แบบสงบ” มอบความรักให้กันดีกว่า พอพลิกความคิดได้ “ใจ” ดีขึ้น พร้อม “กาย” ที่ดีขึ้นตามลำดับ
น้องไอซ์ทิ้งท้ายว่า ขอบคุณทุกคนที่ให้กำลังใจและข้อคิดมาโดยตลอด แม้จะไม่สามารถตอบแทนได้ แต่จะจดจำสายตาเหล่านั้น เก็บความรัก ความห่วงใย เป็นรอยสักที่อยู่ลึกสุดในหัวใจ พร้อมกล่าวต่อว่า “ผมเป็นคนที่มีความคิดสุดโต่ง สิ่งที่ผมชอบ คือเรื่องของเวลา ทุกคนมีเวลาเท่ากัน ซึ่งแต่ละคนไม่รู้ว่าตนเองมีเวลาอีกเท่าไร ขอให้ใช้ชีวิตให้มีความสุขในทุกวินาที เก็บความรู้สึกทุกอย่าง สิ่งที่มอง อากาศที่เราสูด ใช้เวลาให้คุ้มค่า เรื่องอื่น ๆ ช่างมัน ปล่อยไป เมื่อวิญญาณออกจากร่าง ตาที่เราเคยมองเห็น มือที่เคยสัมผัส อากาศที่เคยสูด ทุกอย่างจะว่างเปล่า แต่นี่คือเวลาที่เราเสพได้ เสพให้อยู่ในความทรงจำของเราชั่วนิจนิรันดร์”
การตระหนักว่า “ชีวิตที่ผ่านมาเราโชคดีแค่ไหน” และ “เวลาในชีวิตเรามีจำกัด ย้อนกลับไปไม่ได้” ทำให้เราได้ตั้งสติ ใช้ชีวิตที่แสนจะปกติและธรรมดาในแต่ละวันให้มีคุณค่า เลือกที่จะมองเรื่องราวที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเป็นดั่งของขวัญ เพื่อสร้างความสุขให้กับตัวเองและคนอื่น [2]
ทุกวันนี้ รับยาตัวใหม่ ยากิน ฉีดยากระตุ้นภูมิทุก 2 สัปดาห์ ผลข้างเคียงน้อยลงครับ ผมยังไม่ได้หายเป็นคนปกติ แต่ยาวิเศษที่รักษาผมในวันนี้ คือการอยู่ด้วยความรัก การใช้ความคิดเชิงบวก และทัศนคติที่ดี ส่วนเรื่องงานทำเต็มที่ เหนื่อยก็พัก ไม่อยากให้คนมองว่าเป็นตัวถ่วงใคร พร้อมกับดูแลต้นไม้ เยียวยาหัวใจ พูดคุยกับ “ต้นยางอินเดีย ชื่อน้องรามา” หากหายดีตั้งใจจะนำไปปลูกลงดินข้าง ๆ ต้นงาช้างและต้นแคคตัส อยู่เป็นเพื่อนกันทักทายกันทุกวัน พร้อมเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า “ชีวิตต้องเดินต่อ”
อ่านเพิ่มเติม : ชีวิตต้องเดินต่อ
หมายเหตุ:
[1] ปัจจุบัน คุณบุษกร ธีระปัญญาชัย ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายการชำระเงินและพันธบัตร
[2] กฤตไท ธนสมบัติกุล “สู้ดิวะ” บทเรียนล้ำค่าจากคุณหมอผู้ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ซึ่งค้นพบความหมายของการมีชีวิตอยู่, สำนักพิมพ์ KOOB พิมพ์ครั้งที่ 38 หน้า 73-86 และขอขอบคุณ คุณอภิสรา เปาอินทร์ นักบัญชีอาวุโส (ควบ) ฝ่ายการเงินและการบัญชี ที่มีส่วนร่วมในการเขียน Weekly Mail ฉบับนี้