"...แต่เช้าวันหนึ่งตื่นขึ้นมาคิดได้ว่า “ทั้งชีวิตตนเองเป็นนักสู้ หากเราไปก่อนพ่อแม่และภรรยา ตนเองจะตอบแทนพวกเขาได้อย่างไร อยากอยู่เป็นคนสุดท้าย ส่งท่าน ส่งแฟนก่อน ไม่อยากให้พวกเขาอยู่อย่างโดดเดี่ยว” คิดได้เช่นนั้น จึงจัดตารางชีวิตใหม่ คิดเชิงบวก เริ่มต้นตั้งแต่เบสิก นอนให้พอ กินให้พอ และเริ่มออกกำลังกาย แม้ช่วงเวลาที่แพ้ยามาก ๆ ไม่อยากทานอะไรเลย เพราะรสชาติเพี้ยนไปหมด จะบังคับใจ นำข้าวมากองไว้เป็นกองเล็ก ๆ 10 คำ ทำเหมือนซูชิ แล้วค่อย ๆ ตักเคี้ยวกลืนเข้าไปจนอาการเริ่มดีขึ้นตามลำดับ..."
ทุกวันของชีวิต นอกจากว้าวุ่นกับงานที่รักแล้ว ผมยังคงวนเวียนกับกิจกรรมต่าง ๆ ที่รายล้อมไปด้วยเพื่อน ๆ และน้อง ๆ สร้างความสุข ความสัมพันธ์อันดีกับคนรอบข้าง ทำให้ได้ใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบันด้วยจิตใจที่สดใสและแข็งแรง แต่เรื่องราวชีวิตของน้องคนหนึ่งที่ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ทำให้เกิดสติรับรู้ได้ว่าชีวิตไม่มีอะไรที่แน่นอน
ผมรู้จักน้องสิริศักดิ์ พูลสวัสดิ์ (น้องไอซ์) เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ฝ่ายรักษาความปลอดภัย จากการเล่นฟุตบอลด้วยกัน และมาเป็นเทรนเนอร์ช่วยลดน้ำหนักและหน้าท้อง เพราะเริ่มทนไม่ไหวเมื่อเห็นผมเริ่มมีพุงยื่นออกมาเรื่อย ๆ น้องไอซ์มีนิสัยร่าเริง ยิ้มแย้มแจ่มใส่ พร้อมที่จะช่วยเหลือคนรอบข้าง และเป็นตัวอย่างของผู้ที่ใส่ใจในการดูแลร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ
ด้วยสถานการณ์โควิดทำให้การทำกิจกรรมต้องหยุดไปโดยปริยาย ไม่ได้เจอน้องไอซ์ในช่วงเวลาดังกล่าว จนเมื่อกลับเข้ามาทำงานเต็มรูปแบบในช่วงต้นปี 2566 เห็นน้องไอซ์ร่างกายซูบผอมลง ต่อมาสืบทราบว่าไม่สบาย พบว่าเป็นโรคร้ายอย่างคาดไม่ถึง ทำให้ผมตกตะลึงไปพักใหญ่ แม้ว่าจะได้ทำกิจกรรมร่วมกันอีก แต่ยังใจไม่กล้าพอที่จะเอ่ยปากถามเพราะไม่แน่ใจในความรู้สึกข้างในของน้อง จนวันหนึ่ง น้องไอซ์ตรงปรี่เข้ามาหาพร้อมบอกว่า อยากจะเล่าประสบการณ์ที่เกิดขึ้นให้ฟังเพื่อให้พวกเราได้รับรู้ความหมายและคุณค่าของชีวิต
น้องไอซ์เติบโตในครอบครัวที่อบอุ่น พ่อเป็นครูสอนพละ แม่เป็นพนักงานบริษัทเอกชน ใฝ่ฝันอยากเป็นคนในเครื่องแบบเหมือนกับคุณปู่ แม้จะสอบติดมหาวิทยาลัยในสาขาพละศึกษา แต่ก็สละทิ้ง กลับสมัครเรียนโรงเรียนนายสิบทหารบกแทน จนเรียนจบและเข้าสังกัดที่กองสรรพาวุธเบา กองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน เมื่อปี 2552 น้องไอซ์เล่าอย่างภูมิใจว่า ในช่วงนั้นถือเป็นทหารที่ร่างกายเฟิร์มสุดวิ่งทุกเย็นแบบโชว์พลัง แบกเป้ ถือชะแลงแทนปืน และเป็น 1 ใน 3 คน ที่มักจะถูกเรียกใช้งานตลอด โดยเฉพาะการเข้าร่วมงานพระราชพิธีสำคัญ ๆ ซึ่งในช่วงเวลานั้น ไม่ได้คิดว่าจะออกจากการรับราชการทหาร จนมีอดีตพี่ทหารท่านหนึ่งชวนให้มาสอบเข้าทำงานที่แบงก์ชาติ เพราะอย่างน้อยอายุงานครบสามารถรับเบี้ยหวัดและบำเหน็จบำนาญแล้ว
น้องไอซ์ยังจำวันที่มาสอบได้อย่างแม่นยำ มาถึงแบงก์ชาติเป็นคนแรก เริ่มขั้นตอนด้วยการวัดส่วนสูง ปรากฏว่า ส่วนสูงไม่ถึง 170 เซนติเมตร ตามเกณฑ์ขั้นต่ำ กรรมการบอกให้กลับบ้านไป มึนงงพักใหญ่เพราะบัตรประชาชนก็ระบุว่าสูงเกิน จึงลงไปนั่งรออยู่ชั้นล่าง ก่อนตัดสินใจกลับขึ้นไปขอให้วัดส่วนสูงใหม่คราวนี้วัดผ่าน ได้สอบข้อเขียนและทดสอบสมรรถนะทางร่างกาย ถูกบรรจุเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ในปี 2561 ทำหน้าที่คอยดูแลระบบรักษาความปลอดภัยในห้องควบคุม ทำงานเป็นผลัดสลับเช้าเย็น ลงตัวกับเวลาของภรรยา ซึ่งเป็นพยาบาลที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เรียกได้ว่า ชีวิตลงตัว มองเห็นอนาคตที่สดใส
แต่เหตุการณ์ที่เปลี่ยนชีวิตอย่างไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น ในช่วงต้นปี 2566 เมื่อน้องไอซ์เริ่มไอไม่หยุด ตรวจไม่พบว่าเป็นโรคโควิด และด้วยตนเองเป็นคนแข็งแรง ตรวจเอ็กซเรย์ร่างกายทุกปี จึงไม่ได้เฉลียวใจและคิดว่าเป็นอาการของกรดไหลย้อน จึงหายามาทานเองแต่ไม่หาย กลับเริ่มไอแบบเรื้อรัง เสมหะมีเลือดเจือปน จนตัดสินใจไปหาหมอที่โรงพยาบาลรามาฯ ซึ่งเมื่อคุณหมอวิบูลย์ บุญสร้างสุข อาจารย์แพทย์ด้านระบบการหายใจ ได้วินิจฉัย พบลักษณะผิดปกติของปอด ให้ตัดชิ้นเนื้อที่ปอดไปตรวจ พร้อมเข้าห้องส่องกล้องที่ปอด ล้างปอด ซึ่งน้องไอซ์ยังจำได้ว่า ทรมานมากเพราะต้องแหย่สายยางดูดเสมหะ ทำ CT scan ปอด และลงไปส่องถึงไตจนพบว่า มีก้อนเนื้อร้าย
คำพูดแรกที่หมอบอก “ยังไม่ได้ทำอะไร ให้รีบทำนะ” เป็นประโยคที่น้องไอซ์ยังจำได้อย่างแม่นยำจนถึงทุกวันนี้ ทำตัวไม่ถูก จิตตกเหมือนกับถูกสะกดจิต นิ่งไปพักใหญ่ รู้สึกเย็นชาไปทั่วร่างกาย ก่อนที่คุณหมอวิบูลย์จะส่งตัวต่อไปให้คุณหมอธัช อธิวิทวัส หมอเฉพาะทาง ดูแลรักษาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งตอนแรกนึกว่า จะต้องรักษาด้วยการฉายแสง ให้คีโม แต่ปรากฏว่า การฉายแสงทำไม่ได้เพราะเข้าไปไม่ถึงไต และจะทำให้อวัยวะอื่นเสียหายก่อน วิธีการรักษาจึงทำด้วยการทานยาที่เพิ่งถูกค้นพบ
น้องไอซ์ยอมรับว่า ตกใจและถามตัวเองว่า “เป็นขนาดนั้นเลยหรือ แย่ขนาดนั้นเลยหรือ” ไม่เข้าใจว่า ทำไมต้องเป็นตัวเอง เพราะมะเร็งที่ไตมีโอกาสเกิดไม่ถึงร้อยละ 1 ในขณะที่ผ่านมาตนเองก็ดูแลรักษาร่างกายให้แข็งแรงอย่างสม่ำเสมอ
คุณหมอให้ทานยา 2 เม็ดเช้าเย็น ช่วงแรกยังไม่มีผลข้างเคียง แต่ทานยาได้ระยะหนึ่ง เริ่มไม่อยากทานข้าว ท้องเสีย น้ำหนักลดลงกว่า 10 กิโลกรัม ภายในเวลาไม่ถึง 1 สัปดาห์ ผมเริ่มหงอก คิ้วหาย มือลอก เพื่อนที่ทำงานเริ่มทัก เรียกว่าเป็นช่วง “down” สุดของชีวิต ที่น้องไอซ์สารภาพว่า เกือบจะยกธงขาวยอมแพ้ต่อโชคชะตาชีวิต
แต่เช้าวันหนึ่งตื่นขึ้นมาคิดได้ว่า “ทั้งชีวิตตนเองเป็นนักสู้ หากเราไปก่อนพ่อแม่และภรรยา ตนเองจะตอบแทนพวกเขาได้อย่างไร อยากอยู่เป็นคนสุดท้าย ส่งท่าน ส่งแฟนก่อน ไม่อยากให้พวกเขาอยู่อย่างโดดเดี่ยว” คิดได้เช่นนั้น จึงจัดตารางชีวิตใหม่ คิดเชิงบวก เริ่มต้นตั้งแต่เบสิก นอนให้พอ กินให้พอ และเริ่มออกกำลังกาย แม้ช่วงเวลาที่แพ้ยามาก ๆ ไม่อยากทานอะไรเลย เพราะรสชาติเพี้ยนไปหมด จะบังคับใจ นำข้าวมากองไว้เป็นกองเล็ก ๆ 10 คำ ทำเหมือนซูชิ แล้วค่อย ๆ ตักเคี้ยวกลืนเข้าไปจนอาการเริ่มดีขึ้นตามลำดับ
แต่เจ้ามะเร็งกลับไม่เลิกรา ยาที่ทานเริ่มไม่ตอบสนอง จนเมื่อช่วงสิ้นปี 2566 ที่ผ่านมา ร่างกายกลับมาอ่อนแออีกครั้ง คราวนี้รู้สึกว่าหายใจไม่สะดวก มีอาการเหนื่อยง่าย วัดค่าออกซิเจนได้ต่ำกว่าระดับ 90 ครั้ง ต่อนาที (คนปกติจะอยู่ในระดับสูงกว่า 95) จนต้องถูกนำตัวเข้าห้องฉุกเฉินที่น้องไอซ์ไม่เคยประสบพบเจอมาก่อน เพราะสภาพแวดล้อมเลวร้ายมาก มองไปรอบ ๆ พบแต่ผู้ป่วยที่อาการหนัก มีเสียงร้องครวญครางตลอดเวลา เรียกว่า ทำให้ตนเองเข้าสู่ภาวะโคม่าไปด้วยเช่นกัน
น้องไอซ์ผ่านภาวะข้างต้นมาได้อย่างไร และได้รับบทเรียนอะไรมาบ้าง พวกเรามาติดตามกันใน Weekly Mail สัปดาห์หน้าครับ