"...เป็นหลักสูตรเปิดโอกาสให้คนที่มุ่งมั่นได้มาเรียนพยาบาล ไม่ได้คำนึงว่าจะต้องผลิตได้มากน้อยเท่าไร หรือต้องเติมคนเข้าระบบ ซึ่งอาจจะเติมได้บ้าง แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าต้องมีคนตัดสินใจที่จะมาเรียน ซึ่งแตกต่างจาก ม.ปลายที่สมัครเข้าเรียน เพราะ ม.ปลายที่สมัครเขามาแรงดึงดูดว่าเรียนพยาบาลจบแล้วมีงานทำ 99% นอกจากนี้ หลังจากเปิดหลักสูตร 2 ปีครึ่งมาแล้ว 2 ปี ทำให้คิดว่านี่เป็นโอกาสของประชาชนด้วย จะทำให้ประชาชนได้รับการดูแลจากพยาบาลมากขึ้น..."
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org): จากกรณีที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เห็นชอบกรณีสถาบันพระบรมราชชนก (สบช.) เสนอโครงการผลิตพยาบาลแบบเร่งด่วน หลักสูตร 2 ปีครึ่ง เริ่มปีการศึกษา 2568 เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนพยาบาล ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงคุณภาพมาตฐานของหลักสูตรจะไม่เท่าการเรียน 4 ปี และอาจไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องของค่าตอบแทนและภาระงาน
เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2567 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สธ. กล่าวตอบคำถามสั้นๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่า ที่ประชุมผู้บริหาร สธ.แค่เห็นชอบในหลักการ และ สบช.เพิ่งเสนอเข้ามา ยังไม่ได้กำหนดเลย แค่เสนอวิธีแก้ปัญหาว่าวิธีการแบบนี้จะแก้ได้ไหม ยังต้องไปดูรายละเอียดอีกเยอะ
ในวันเดียวกันนี้ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้แทน รมว.สธ. ได้ปรึกษาหารือร่วมกับ รศ.ดร.สุจิตรา เหลืองอมรเลิศ นายกสภาการพยาบาล และคณะ เพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาการขาดแคลนพยาบาลทั้งระบบ โดยมีความเห็นร่วมกันในเรื่องการธำรงรักษากำลังคนทางการพยาบาลไว้ในระบบบริการสุขภาพ มีระบบการดูแลที่เหมาะสม การดึงศักยภาพพยาบาลอาวุโสหรือพยาบาลที่อยู่นอกระบบริการเข้ามาทำงาน การพัฒนาความก้าวหน้า การพัฒนาคุณภาพชีวิต การดูแลสวัสดิการความเป็นอยู่
โดยสภาการพยาบาลมีข้อเสนอในการแก้ปัญหา ทั้งระยะสั้นและปานกลาง ดังนี้
ข้อเสนอมาตรการระยะสั้นในระยะ 1-2 ปี เร่งรัดการเติมกำลังคนเข้าสู่ระบบ
-
พัฒนาตำแหน่งงานที่มีคุณค่าและระบบการจ้างงานพยาบาลอาวุโสที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญ ร่วมกับการฝึกอบรมเพื่อให้มีทักษะใหม่ หรือเพิ่มทักษะที่จำเป็น
-
ส่งเสริมระบบการจ้างงานแบบบางเวลาในภาครัฐ ที่มีประสิทธิภาพและจูงใจพยาบาลวิชาชีพที่ออกจากงานไปแล้วสามารถเลือกเวลาที่จะกลับเข้ามาทำงานได้
ข้อเสนอมาตรการระยะปานกลาง ในช่วง 1-5 ปี เพิ่มการคงอยู่เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การกระจายและใช้ประโยชน์กำลังคนที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ดังนี้
-
วางแผนผลิตกำลังคนทางการพยาบาลในภาพรวมของประเทศ เพื่อรองรับนโยบายการพัฒนาของประเทศ แบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งผู้ใช้และผู้ผลิต เร่งรัดพัฒนาศักยภาพการผลิต ทั้งการพัฒนาอาจารย์พยาบาล การสรรหา การธำรงรักษา และสร้างแรงจูงใจในการเพิ่มอาจารย์ใหม่
-
เพิ่มประสิทธิภาพการกระจาย การใช้ประโยชน์ และการธำรงรักษากำลังคนไว้ในระบบบริการสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข โดยจัดระบบการหมุนเวียนงาน การเพิ่มแรงจูงใจในงานบริการสุขภาพในระดับปฐมภูมิ จัดระบบเพิ่มพูนทักษะวิชาชีพแก่พยาบาลจบใหม่ ก่อนออกไปทำงานในหน่วยงานต้นสังกัดที่ให้ทุนการศึกษา เชิดชูเกียรติพยาบาลวิชาชีพที่ทำหน้าที่ครูพี่เลี้ยงหรืออาจารย์ร่วมผลิต ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมด้านการบริหารงานบุคคล เช่น Mid-Career recruitment strategy เพื่อรับพยาบาลที่มีทักษะ ความรู้ความเชี่ยวชาญสูงจากหน่วยงานต่างสังกัด เข้าทำงาน
-
สร้างแรงจูงใจและความผูกพันองค์กร โดยเร่งรัดมาตรการสร้างความปลอดภัยในการทำงานของบุคลากร การออกแบบกระบวนการทำงานเพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัย บุคลากรปลอดภัย สนับสนุนความก้าวหน้าในการทำงานอย่างเป็นธรรม ปรับปรุงค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ ให้สามารถสร้างแรงจูงใจในการคงอยู่และทุ่มเททำงาน สนับสนุนการศึกษาต่อเนื่องหลังปริญญา ส่งเสริมความเข้มแข็งของเครือข่ายวิชาชีพ และการจัดกิจกรรมเชิดชูเกียรติในโอกาสต่าง ๆ
สภาการพยาบาล พร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุขในการขับเคลื่อนและผลักดันมาตรการดังกล่าวอย่างเต็มที่ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาสุขภาพอนามัยของประชาชนและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ด้าน รศ.ดร.สุจิตรา เหลืองอมรเลิศ นายกสภาการพยาบาล ให้สัมภาษณ์ว่า สภาการพยาบาลในฐานะองค์กรวิชาชีพ ทำหน้าที่ควบคุมกำกับมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเพื่อคุ้มครองประชาชน สนับสนุนการผลิตพยาบาลอย่างมีคุณภาพตามมาตรฐาน ให้มีสมรรถนะสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน เช่น พัฒนาพยาบาลวิชาชีพเฉพาะทางและพยาบาลเชี่ยวชาญในระบบ เพื่อรองรับการดูแลความเจ็บป่วยในปัจจุบัน เช่น โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) สำหรับการผลิตพยาบาลระดับปริญญาตรี แบ่งเป็น 2 หลักสูตร คือ
-
หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต รับนักศึกษาจากคุณวุฒิประกาศนียบัตรมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า จากเดิมที่รับเฉพาะสายวิทย์ ตอนนี้ก็ไม่มีการแบ่งสายแล้ว มีระยะเวลาศึกษา 4 ปี
-
หลักสูตรปริญญาตรีทางวิชาชีพการพยาบาล รับผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาอื่นๆ มีระยะเวลาศึกษาไม่ต่ำกว่า 2 ปี 6 เดือน
ย้ำมีการคุมภาพหลักสูตร 3 ขั้น
รศ.ดร.สุจิตรา กล่าวว่า ทั้ง 2 หลักสูตรเราดำเนินงานตามมาตรฐานของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เหมือนกัน คือ โดยสถาบันการศึกษาที่จะเปิดหลักสูตรพยาบาล จะต้องนำเสนอหลักสูตรมายังสภาการพยาบาลเพื่อพิจารณาเห็นชอบก่อน โดยสภาฯ จะดูหลักสูตรว่าต้องแก้ไขปรับปรุงอะไรบ้าง มีจำนวนอาจารย์เท่าไร ซึ่งจะรับจำนวนนักศึกษาได้มากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นกับจำนวนอาจารย์
เมื่อเห็นชอบแล้วก็จะส่งไปยัง อว.พิจารณา แล้วถึงส่งไปยังสภามหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาแห่งนั้นอนุมัติในการเปิด เรียกได้ว่าหลักสูตรพยาบาลที่จะเปิดเราดูแลคุณภาพมาตรฐานถึง 3 ชั้น ทั้งเกณฑ์มาตรฐานของ อว. วิชาชีพ และมหาวิทยาลัย พยาบาลปริญญาตรีที่จบออกมาไม่ว่าที่ไหนก็ต้องผ่านมาตรฐานนี้ทั้งสิ้น
"ที่สำคัญผู้สำเร็จเป็นบัณฑิตสาขาพยาบาลศาสตร์ จะต้องเข้ามาสอบใบประกอบวิชาชีพ ซึ่งจะทำเป็นระดับประเทศ คือจบมาสอบพร้อมกัน แต่ละรุ่นมีการสอบ 9 พัน - 1 หมื่นคน หลังสอบได้ใบประกอบวิชาชีพก็จะไปทำหน้าที่ผู้ประกอบวิชาชีพพยาบาล ตรงนี้เป็นการรับประกันคุณภาพอีกชั้นหนึ่ง นอกจากนี้ เรายังมีการกำกับมตรฐานสถาบันการศึกษาด้วย เราจะเข้าไปรับรอง ยิ่งหลักสูตรพยาบาลเปิดใหม่เราต้องเข้าไปรับรองทุกปี" รศ.ดร.สุจิตรากล่าว
หลักสูตร 2 ปีครึ่ง เปิดสอนแล้ว 4 แห่ง
รศ.ดร.สุจิตรา กล่าวว่า ปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาที่ผลิตหลักสูตรพยาบาลปริญญาตรี จำนวน 106 แห่งในประเทศไทย รับนักศึกษารวมปีละประมาณ 12,500 คน ถือว่าผลิตได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะสถานศึกษามีการเปิดมากขึ้นทุกปี ส่วนการผลิตพยาบาลจากผู้ที่สำเร็จปริญญาตรีสาขาอื่น ปัจจุบันมีประมาณ 4 แห่ง เริ่มเปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563 จำนวนคนเรียนหลักสูตรนี้มีไม่มากปีแรกประมาณ ไม่เกิน 250 คน ซึ่งหลักสูตรนี้เป็นการเปิดโอกาสให้คนที่เรียนจบปริญญาตรีสาขาอื่นมาต่อยอดหรือเป็นทางเลือกในการไปประกอบอาชีพ ส่วนของสถาบันพระบรมราชชนก (สบช.) เขาก็เสนอหลักสูตรมาให้สภาฯ พิจารณา ซึ่งตั้งเป้าว่าจะเริ่มในปีการศึกษา 2568 ก็ต้องผ่านกระบวนการพิจารณาหลักสูตรตามเช่นกัน
รศ.ดร.สุจิตรา กล่าวถึงรายละเอียดหลักสูตรพยาบาล 2 ปีครึ่งว่า ตามข้อบังคับสภาการพยาบาล ว่าด้วยการให้ความเห็นชอบหลักสูตรการศึกษาวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ระดับวิชาชีพสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาอื่น พ.ศ. 2563 มีการกำหนดรายละเอียดเอาไว้ ซึ่งเราใช้โครงสร้างแบบเดียวกับหลักสูตร 4 ปี จำนวนหน่วยกิตรวมของหลักสูตรไม่น้อยกว่า 120 หน่วยกิต และไม่เกิน 150 หน่วยกิต เพียงแต่เปิดโอกาสให้สามารถเทียบโอนรายวิชาที่เรียนมาแล้วในหมวดวิชาศึกษาทั่วไป หมวดวิชาเฉพาะ และหมวดวิชาเลือกเสรี ตามแนวปฏิบัติของ อว.และระเบียบการเทียบโอนผลการเรียนของสถาบันการศึกษา ซึ่งบางแห่งอาจเทียบโอนได้มาก บางแห่งเทียบโอนได้น้อย ซึ่งรายวิชาไหนที่เทียบโอนไม่ได้ก็ต้องไปลงเรียนเพิ่ม อย่างวิทยาศาสตร์ทั่วไปถ้าเทียบโอนไม่ได้ก็ต้องมาสอบเรียนเพิ่ม
ส่วนที่ต้องเรียนเกี่ยวกับพยาบาลจริงๆ ก็จะมี 2 กลุ่มรายวิชา คือ
-
วิทยาศาสตร์สุขภาพที่สัมพันธ์กับรายวิชาการการพยาบาล ซึ่งจะเรียนแบบบูรณาการ ครอบคลุมเนื้อหาสาระ อาท กายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยา ชีวเคมี จุลชีววิทยา ปรสิตวิทยา พยาธิวิทยา เภสัชวิทยา ชีวสถิติ จิตวิทยาพัฒนาการตามวัย โภชนศาสตร์ และระบาดวิทยา
-
กลุ่มวิชาชีพ รายวิชาเฉพาะสาขาวิชาชีพพยาบาล ทั้งภาคทฤษฎี การเรียนในห้องปฏิบัติการ และภาคปฏิบัติทางการพยาบาล มีเนื้อหาครอบคลุมที่ทำให้เกิดสมรรถนะผู้ประกอบวิชาชีพ และต้องมีการฝึกปฏิบัติงานอย่างน้อย 36 หน่วยตามข้อกำหนดมาตรฐานของ อว. ซึ่งหลักสูตร 2 ปีครึ่งก้ต้องผ่าน 36 หน่วยเช่นกัน
"ดังนั้น จริงๆ แล้วการเรียนหลักสูตรพยาบาลสำหรับผู้ที่จบปริญญาตรีมาแล้ว จริงๆ อาจคืออาจจะต้องเรียนอย่างน้อย 2 ปีครึ่งหรือมากกว่านี้ ขึ้นกับการเทียบโอนรายวิชา หากโอนไม่ได้ก็ต้องเรียนเพิ่ม และการเรียนที่จะต้องผ่านตามมาตรฐาน อย่างฝึกปฏิบัติงานบางแห่งอาจจะกำหนดมากกว่า 36 หน่วยก็ได้" รศ.ดร.สุจิตรากล่าว
เน้นเปิดโอกาสให้มาเรียนต่อยอด
จากกรณีที่มีการสื่อสารออกไปว่า เป็นหลักสูตรเร่งรัดเพื่อผลิตพยาบาลแบบเร่งด่วนแก้ปัญหาขาดแคลน แต่จริงๆ หลักสูตรนี้เป็นการเปิดโอกาสให้คนมาเรียน รศ.ดร.สุจิตรา กล่าวว่า หลักสูตรพยาบาล 2 ปีครึ่ง เราเปิดโอกาสให้คนมาเรียนต่อยอด เนื่องจากกลุ่มที่มาเรียนนี้ก็คือคนที่สำเร็จปริญญาตรีแล้ว ก็จะมีความรู้ชุดหนึ่งหรืออาจจะไปทำงานมาแล้ว ก็ดูจะมีความเป็นผู้ใหญ่และเป้าหมาย เพื่อนำไปต่อยอดในการประกอบอาชีพ อย่างบางคนแม่เป็นพยาบาลอยู่แล้วเปิดเนอร์สซิ่งโฮม เขาก็มาเรียนต่อพยาบาลเพื่อกลับไปช่วยงานที่บ้าน หรือบางคนจบวิศวะมาต่อพยาบาล ก็ไปต่อยอดทำผลิตภัณฑ์หรือสินค้าเพื่อช่วยดูแลสุขภาพต่อ หรือบางคนก็อยากมาทำงานต่อด้านนี้ ซึ่งจะเห็นว่าช่วยให้มีโอกาสทำงานที่กว้างและไกลมากขึ้น ซึ่งต่างประเทศก็มีการเปิดหลักสูตรเช่นนี้ ก็เป็นทางเลือกที่ อว.ก็เห็นตรงเพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้คน และเป็นเทรนด์ของการศึกษา เนื่องจากปัจจุบันเด็กเกิดน้อยลง อุดมศึกษาก็มุ่งไปที่การศึกษาที่รองรับคนวัยทำงานแล้วมาเรียนต่อมากขึ้น
"ตรงนี้เป็นหลักสูตรเปิดโอกาสให้คนที่มุ่งมั่นได้มาเรียนพยาบาล ไม่ได้คำนึงว่าจะต้องผลิตได้มากน้อยเท่าไร หรือต้องเติมคนเข้าระบบ ซึ่งอาจจะเติมได้บ้าง แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าต้องมีคนตัดสินใจที่จะมาเรียน ซึ่งแตกต่างจาก ม.ปลายที่สมัครเข้าเรียน เพราะ ม.ปลายที่สมัครเขามาแรงดึงดูดว่าเรียนพยาบาลจบแล้วมีงานทำ 99% นอกจากนี้ หลังจากเปิดหลักสูตร 2 ปีครึ่งมาแล้ว 2 ปี ทำให้คิดว่านี่เป็นโอกาสของประชาชนด้วย จะทำให้ประชาชนได้รับการดูแลจากพยาบาลมากขึ้น" รศ.ดร.สุจิตรากล่าว
รศ.ดร.สุจิตรากล่าวว่า ส่วนเรื่องการแก้ปัญหาความขาดแคลนพยาบาล สภาการพยาบาลเราคำนึงตลอด ซึ่งสัดส่วนพยาบาลต่อประชากรอยู่ที่ 1 ต่อพันกว่ามาตลอดตั้งแต่ปี 2536 ตั้งแต่นั้นเราก็มีการผลิตพยาบาลเพิ่ม ส่วนปัจจุบันเรามีประมาณ 2.5 แสน แต่เราควรมี 3 แสนคน ก็ต้องการอีก 5 หมื่นคน โดยเฉพาะการลงไปอยู่ในระบบสุขภาพปฐมภูมิ ซึ่งจะมีการหารือกับ สธ. ถึงข้อเสนอในการดูแลบุคลากรพยาบาลทุกด้าน ทั้งความขาดแคลน ภาระงาน ค่าตอบแทนต่างๆ
ส่วนกรณีมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเรียนหลักสูตร 2 ปีครึ่ง เหมือนต้องมาสอนงานใหม่หมด รศ.ดร.สุจิตรา กล่าวว่า ไม่ว่าจะหลักสูตรไหน เมื่อจบพยาบาลออกมา สิ่งที่พยาบาลใหม่ทำได้คือ ตามรายวิชาพื้นฐาน จากห้องแล็บแล้วไปฝึก รพ. อย่างพอไปวอร์ดอายุรกรรม ก็ต้องทำพื้นฐานพยาบาลอายุรกรรม แต่ปัจจุบันคนไข้เราซับซ้อน การมอบหมายงานพยาบาลจบใหม่จึงควรดูแลน้องๆ เชื่อว่าเมื่อเข้าไปทำงาน ทุกหน่วยบริการจะมีการปฐมนิเทศให้เด็กไปดูว่า ที่นี่ทำอะไรบ้าง น้องใหม่ต้องทำอะไรบ้าง เช่น ถูกไปอยู่อายุรกรรม ก็ต้องเวียนดูทุกวอร์ดในอายุรกรรม ไม่ว่าจะหลักสูตร 4 ปี หรืออย่างน้อย 2 ปีครึ่ง จบออกมาแล้ว 'ความเป็นพยาบาลเท่ากัน'