"...ในประเทศสหรัฐอเมริกาหรือยุโรป พวกที่แสดงพฤติกรรมในลักษณะเดียวกันกับคนกลุ่มนี้มักเรียกกันว่าพวก โวค (Woke) ซึ่งหมายถึงผู้ตื่นรู้ในเรื่องความไม่เป็นธรรมและความไม่เท่าเทียมในสังคมหรือพวกตาสว่างทางสังคม ซึ่งเจตนาเดิมคือทำโลกนี้ให้ดีขึ้นและสร้างความยุติธรรมให้กับโลก แต่ในภายหลังกลับกลายเป็นพฤติกรรมประท้วงที่กลายพันธุ์จนเป็นการสร้างความเดือดร้อนรำคาญและคุกคามผู้ไม่เห็นด้วยกับอุดมการณ์ของพวกเขาอย่างรุนแรง..."
นับตั้งแต่ช่วงประมาณปี 2563 เป็นต้นมา คนไทยมักเห็นพฤติกรรมแปลกๆจากคนกลุ่มหนึ่งที่ชอบแสดงออกในเชิงที่ทำให้ตัวเองเป็นข่าวดังผ่านสื่ออยู่เสมอๆด้วยการกระทำที่คนทั่วไปมักไม่กระทำกันเพราะเห็นว่าเป็นการไม่บังควรและน่าจะเข้าข่ายมีความผิดร้ายแรง เช่น พฤติกรรมการขับรถจี้ท้าย บีบแตรป่วนขบวนเสด็จ กรมสมเด็จพระเทพฯ พร้อมถ่ายคลิปหวังคอนเทนต์โจมตีสถาบันฯว่าทำรถติด ด่าทอเจ้าหน้าที่ตำรวจ โวยวายถามถึงความเท่าเทียม ทั้งที่ความจริงไม่ได้มีการปิดถนนแต่อย่างใด (อ้างอิง 1)
หากย้อนกลับไปเมื่อสองปีที่ผ่านมาก็เกิดเหตุการณ์ทำนองเดียวกันเมื่อมีผู้ถือป้ายไปป่วนขบวนเสด็จโดยถือป้ายที่มีข้อความพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์(อ้างอิง2) รวมทั้งยังมีเหตุการณ์หลายต่อหลายเหตุการณ์ที่อยู่ในลักษณะที่คล้ายคลึงกันและเป็นบุคคลในกลุ่มที่มักเคยก่อเหตุมาแล้วก่อนหน้า (อ้างอิง3)
ผู้ก่อเหตุมักเป็นเยาวชนหรือเป็นผู้ใหญ่ที่มีอายุไม่มาก มีการรับรู้และมีประสบการณ์ทางการเมืองเพียงช่วงเวลาอันสั้นและปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เหตุที่การกระทำเช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้นทุกทีเพราะการปล่อยปละละเลยของผู้รักษากฎหมายที่ไม่เข้มงวดกวดขันจนคนกลุ่มนี้เกิดความเหิมเกริมจนกล้ากระทำในสิ่งที่คนทั่วไปไม่พึงกระทำ ด้วยการให้ท้ายจากพรรคการเมืองหนึ่งที่มักมีความใกล้ชิดกับคนกลุ่มนี้เสมอราวกับว่ามีดีเอ็นเอเดียวกัน
คนเหล่านี้เป็นใคร-มาจากไหน
พฤติการณ์เช่นนี้มิใช่เรื่องบังเอิญที่เกิดจากตัวบุคคลหรือกลุ่มคน แต่เกิดจากการเชื่อมโยงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากอดีตภายใต้อิทธิพลของผู้นำหรือกลุ่มก้อนทางการเมืองที่กระตุ้นให้เกิดเหตุการณ์และเพาะเชื้อความคิดให้คนเหล่านี้ จึงทำให้น่าเชื่อว่าความแปลกปลอมในสังคมไทยที่เกิดขึ้นในคนกลุ่มหนึ่ง เป็นผลพวงมาจาก การชุมนุมหลายครั้งและมาถึงจุดสูงสุดจากการเล่นใหญ่ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ภายใต้ชื่อ “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” ซึ่งเป็นการชุมนุมที่ต่อเนื่องมาจากการชุมนุมย่อยซึ่งมีมาก่อนหน้า เนื้อหาส่วนใหญ่ของการปราศรัยในการชุมนุมพุ่งตรงไปที่สถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีข้อเสนอให้ทำการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ 10 ข้อ (อ้างอิง4)
อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินในภายหลังว่าการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 สิงหา 2563 เป็นการ "ล้มล้างการปกครอง" ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ศาลรัฐธรรมนูญยังระบุด้วยว่า ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ ในเวทีการชุมนุมของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 กระทบต่อสถานะของสถาบันกษัตริย์ "การใช้สิทธิหรือเสรีภาพของผู้ถูกร้องที่ 1, 2 และ 3 เป็นการแสดงความคิดเห็นที่ไม่สุจริต เป็นการละเมิดกฎหมาย มีมูลเหตุจูงใจเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง" ศาลรัฐธรรมนูญยังมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้ง 3 และกลุ่มองค์กร เครือข่าย เลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย(อ้างอิง5)
คนกลุ่มนี้มักภูมิใจที่จะเรียกตัวเองว่า “พวกก้าวหน้า” “เดินไปข้างหน้า” “ฝ่ายประชาธิปไตย” หรือตั้งชื่อแปลกๆแบบสุดขั้วเมื่อมีการทำกิจกรรม พวกเขามักเรียกพวกที่อยู่ตรงข้ามกับตัวเองว่า “พวกล้าหลัง” “พวกเผด็จการ” “พวกศักดินา” “พวกอนุรักษ์นิยม” และ สลิ่ม เป็นต้น ในประเทศสหรัฐอเมริกาหรือยุโรป พวกที่แสดงพฤติกรรมในลักษณะเดียวกันกับคนกลุ่มนี้มักเรียกกันว่าพวก โวค (Woke) ซึ่งหมายถึงผู้ตื่นรู้ในเรื่องความไม่เป็นธรรมและความไม่เท่าเทียมในสังคมหรือพวกตาสว่างทางสังคม ซึ่งเจตนาเดิมคือทำโลกนี้ให้ดีขึ้นและสร้างความยุติธรรมให้กับโลก แต่ในภายหลังกลับกลายเป็นพฤติกรรมประท้วงที่กลายพันธุ์จนเป็นการสร้างความเดือดร้อนรำคาญและคุกคามผู้ไม่เห็นด้วยกับอุดมการณ์ของพวกเขาอย่างรุนแรง
ความเท่าเทียม - ค่าตั้งต้นของการเรียกร้อง
แม้ว่าการชุมนุมใหญ่ “ธรรมศาสตร์ไม่ทน” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะไม่เกิดมรรคผลใดตามข้อเรียกร้องและศาลได้ชี้ชัดว่า การชุมนุมมีมูลเหตุจูงใจเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ แต่การชุมนุมในครั้งนั้นน่าจะเป็นการจุดประกายให้เกิดแรงกระเพื่อมในการปลูกฝังแนวคิดและภาษาทางการเมือง รวมทั้งหล่อหลอมพฤติกรรมแก่คนกลุ่มหนึ่งที่อาจเรียกว่า”กลุ่มป่วนเมือง”ได้อย่างสนิทปาก เพราะเท่าที่ผ่านมาแทบไม่เคยมีกิจกรรมใดเลยที่พวกเขาแสดงถึงเจตจำนงที่จะจรรโลงสังคมให้น่าอยู่ขึ้น การเรียกร้องในเรื่องความเท่าเทียมทางสถานะของชนชั้นก็ดีหรือการเรียกร้องความเท่าเทียมของขบวนเสด็จกับประชาชนทั่วไปก็ดีได้ถูกหยิบยกมาใช้ในกิจกรรมต่างๆของพวกเขาจนเลอะเทอะเกินขอบเขตกว่าคนทั่วไปจะรับได้อยู่เสมอ คล้ายกับเหตุการณ์การประท้วงในสหรัฐอเมริกาที่เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันจนทำให้เรื่องของความไม่เท่าเทียมกลายเป็นประเด็นที่สร้างความขัดแย้งขึ้นอีกครั้ง
นับแต่นั้นมาสังคมไทยเริ่มเปลี่ยนไป บางครอบครัวจึงอาจพบประสบการณ์ที่ ลูก หลานหรือเพื่อนฝูง หยิบจับความธรรมดาๆ ในชีวิตประจำวันของคนไทยมา ตำหนิ ดูหมิ่น วิจารณ์ ด่าทอ ทั้งด้วยภาษาและการแสดงกิริยามารยาททั้งๆที่ไม่เคยปรากฏพฤติกรรมเหล่านี้มาก่อน ความกล้าแสดงออกด้วยการประท้วงของเยาวชนกลุ่มหนึ่งทั้งตามสถานที่ต่างๆและบนโลกออนไลน์จึงเป็นความภาคภูมิใจที่พวกเขาเห็นว่าได้ปลดปล่อยสิ่งที่พวกเขาเชื่อว่าถูกกดทับไว้ด้วยอำนาจบางอย่างและมีจำนวนไม่น้อยที่แสดงพฤติกรรมต่างๆโดยการรับรู้จากโซเชียลมีเดีย พวกเขาเชื่อว่าเสรีภาพในการแสดงออก (Free speech) คือเสรีภาพที่ไร้ขอบเขตที่ไม่ควรถูกปิดกั้นด้วยกฎเกณฑ์ใดๆ
การเรียกร้องในเรื่องความเท่าเทียมซึ่งโดยทั่วไปควรเป็นเรื่องที่น่ายกย่อง แต่การกระทำของคนกลุ่มนี้กลับเบี่ยงเบนและเลยเถิดไปจนถึงการคุกคามและละเมิดกฎหมายซึ่งไกลจากข้อเรียกร้องเรื่องความเท่าเทียมออกไปทุกที เพราะความเท่าเทียมอย่างไม่มีเงื่อนไขในอุดมคติที่คนกลุ่มนี้เรียกร้องนั้นไม่มีวันที่จะเป็นไปได้ไม่ว่าจะอยู่ในโลกแห่งความจริงหรือโลกเสมือนในโซเชียลมีเดียก็ตาม ดังนั้นทฤษฎี แมทธิว เอฟเฟกต์ (Matthew effect : ทฤษฎีที่ใช้อธิบายว่าทำไมคนที่เกิดมารวยก็จะยิ่งรวยขึ้นไปเรื่อยๆ ส่วนคนที่เกิดมาจนก็จะยิ่งจนลงไปเรื่อยๆ) จึงติดตามมนุษย์ไปทุกหนทุกแห่ง แม้แต่บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ใครๆคิดว่าเท่าเทียมก็ยังมีความไม่เท่าเทียมจาก แมทธิว เอฟเฟกต์ แฝงอยู่เสมอ
ส่องพฤติกรรม “กลุ่มป่วนเมือง”
ความคลั่งไคล้ในอุดมการณ์ที่คนบางกลุ่มถูกปลูกฝังและมีการแสดงออกตลอดเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา สร้างความแปลกใจกับสังคมไทยอยู่ไม่น้อยเพราะพฤติกรรมเหล่านี้ไม่เคยปรากฏในสังคมไทยมาก่อนและพวกเขามักแสดงออกโดยไม่แคร์ต่อสายตาของผู้ใดทั้งสิ้น ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่แทบจะเป็นเนื้อเดียวกันกับกลุ่มคนตาสว่างทางสังคมหรือพวกโวคที่เคลื่อนไหวอยู่ในต่างประเทศและเหมือนกับนักการเมืองไทยบางคนราวกับโคลนนิ่งกันมา เป็นต้นว่า (อ้างอิง7)
1. พวกเขาเห็นว่า คุณค่าของ สังคม วัฒนธรรม และประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานหรือแม้แต่การเคารพบุพการี คือ ความล้าหลัง ไร้สาระ ไม่มีประโยชน์ หรือเป็นความผิดพลาดของอดีต ที่ต้องแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลง เราจึงมักเห็น การไม่ยืนเคารพธงชาติ การไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีและการก่นด่าพ่อ- แม่ ฯลฯ เกิดขึ้นในสังคมไทยมากจนผิดสังเกต
2. มักใช้คำหยาบคาย ก้าวร้าว กับผู้คนที่พวกเขาตั้งตนเป็นศัตรูด้วยอยู่เป็นนิจไม่ว่าใครคนนั้นจะมีอายุมากกว่าพวกเขาและปฏิบัติต่อพวกเขาด้วยความสุภาพ เมตตาและยับยั้งชั่งใจเพียงใดก็ตาม
3. พวกเขาจะไม่เรียกบุคคลด้วยยศหรือตำแหน่งนำหน้าหรือใช้สรรพนามที่เกี่ยวข้องกับการนับญาติ เช่น ลุง ป้า น้า อา แบบที่คนไทยเรียกกัน แต่มักจะเรียกเพียงชื่ออย่างเดียวเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเท่าเทียมแบบโลกในอุดมคติของพวกเขา
4. มักจะมองทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวด้วยความขุ่นเคืองใจและก้าวร้าว อยู่เสมอจนดูเหมือนว่าพวกเขากำลังต่อสู้กับสิ่งเลวร้ายหรือปีศาจที่วนเวียนอยู่รอบตัวพวกเขาอยู่ตลอดเวลา เราจึงแทบมองไม่เห็นรอยยิ้มอันสดใสของพวกเขาเลย
5. มักแสดงออกถึงพฤติกรรมยกตนข่มท่านอยู่เสมอ เพื่อให้ตัวเองอยู่ในสถานะที่เหนือกว่าใครก็ตามที่ไม่เห็นด้วยกับหลักการของพวกเขาและพวกเขาจะสร้างความหวาดกลัวและหาทางปิดปากคนเหล่านั้นด้วยวิธีของพวกเขาเอง เช่น การใช้ม็อบออนไลน์รุมถล่มความเห็นที่ไม่ตรงใจพวกเขาหรือการรุมประชาทัณฑ์โดยม็อบออนไลน์ (Cancel culture) ใครก็ตามที่พวกเขาไม่ชอบใจ
6. ไม่ชอบความประนีประนอมและขาดความยืดหยุ่น ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับคนที่มองโลกผ่านเลนส์ที่พวกเขาสร้างขึ้นเพื่อให้เห็นเฉพาะ สีดำกับสีขาว ความถูกกับความไม่ถูก ความดีกับความเลว หรือมองโลกในแบบไบนารี (0 กับ 1) เท่านั้น ความตาบอดความหลากสีเขาทำให้พวกเขาขาดโอกาสในการเห็นโลกที่ประกอบด้วยแถบสีอื่นๆอีกนับไม่ถ้วน
7. มองแต่ตนเองเป็นที่ตั้ง ใครที่มีความเห็นที่ต่างจากตนเองหรือพวกพ้องของตนเองจึงมักถูกชี้หน้าว่าเป็นคนผิดเสมอ กฎหมายบางมาตรา ระเบียบแบบแผนบางเรื่องจึงมักเป็นปัญหาของพวกเขาเสมอในขณะที่คนทั่วไปไม่ได้มีความรู้สึกว่าถูกลิดรอนใดๆจากสิ่งที่คนกลุ่มนี้ยกขึ้นมาอ้าง
8. ชอบและถนัดที่จะเรียกร้องความสนใจจากผู้คนโดยการส่งเสียงตะโกนหรือกรีดร้องไปตามที่ต่างๆจนกลายเป็นกระแสบนสื่อและหลายต่อหลายครั้งล้ำเส้นของคำว่ากาลเทศะและกลายเป็นการละเมิดกฎหมายไป
9. ชอบจับผิดและควานหาจุดอ่อนหรือความเสียเปรียบของคนในสังคมมาขยายผลเพื่อโจมตีฝ่ายตรงข้ามและหาประโยชน์ให้กับตัวเองโดยใช้ความไม่เป็นธรรมในสังคมบ้างหรือความไม่เท่าเทียมบ้างเป็นข้ออ้าง แม้ว่าบางเรื่องแทบจะหาสาระอะไรไม่ได้เลยก็ตาม
10. มักเสพติดอารมณ์ทางลบอยู่เสมอ ไม่เคยพอใจสิ่งที่อยู่รอบตัวและมักพยายามหยิบฉวยประเด็นใหม่ๆมาเพื่อเติมเชื้อความก้าวร้าวอยู่ตลอดเวลาและพยายามหาเหตุผลข้างๆคูๆเพื่อรองรับความไม่พอใจที่พวกเขาแสดงออก พวกเขาจึงต้องทำสงครามกับทุกสิ่งทุกอย่างในสังคมตั้งแต่เรื่อง แบบเรียน ภาษา คณิตศาสตร์ ดนตรีคลาสสิก วรรณกรรม กีฬา จนกระทั่งการเลี้ยงสุนัขหรือแม้แต่ตัวสุนัขเองพวกเขาก็ยังตั้งแง่ด้วย
11. มักตั้งตัวเป็นศัตรูกับ องค์กร ตำรวจ ทหาร ข้าราชการ อยู่เสมอ เช่น ไม่ให้ความสำคัญต่อ กองทัพ ข้าราชการ และด้อยค่า องค์กร ราวกับว่าองค์กรที่พวกเขาโจมตีเหล่านี้ไม่เคยทำประโยชน์ใดๆให้กับประเทศชาติเลย
12. พวกเขาเห็นว่าระบบทุนนิยม คือระบบที่เลวร้ายที่สุดที่มนุษย์สร้างขึ้น การโจมตีทุนนิยมประเภททุนใหญ่ จึงมักพบเห็นอยู่เป็นประจำในการทำกิจกรรมของพวกเขา
13. มักเรียกร้องให้ ทำลาย เปลี่ยนชื่อ ฯลฯ สิ่งก่อสร้างทางประวัติศาสตร์ ที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นการส่งเสริม การกดขี่ข่มเหงและความไม่เท่าเทียม ตามสถานที่ต่างๆ เราจึงได้เห็นคนกลุ่มหนึ่งเข้าไปทุบทำลายอนุสาวรีย์ สมเด็จพระราชบิดา สมเด็จย่า กรมหลวงชัยนาทนเรนทร ที่กระทรวงสาธารณสุข ด้วยการสาดสีแดงและเอาเชือกดึงอนุสาวรีย์ให้พังลงมา จนได้รับความเสียหาย
14. เป็นมนุษย์เจ้าปัญหา ความเจ้าปัญหาทำให้คนเหล่านี้ฉวยโอกาส วิพากษ์วิจารณ์ การกระทำ วัตถุ-สิ่งของ และบุคคลที่พวกเขาไม่ชอบ ในแทบทุกแง่มุมและเลือกที่จะไม่เอ่ยถึงปัญหาที่คนส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นปัญหาจริงๆซึ่งก็คือตัวของพวกเขาเอง?
พฤติกรรมที่แสดงออกในช่วงไม่กี่ปีทีผ่านมาจึงเป็นพฤติกรรมที่ไม่ได้สะท้อนถึงสติปัญญาหรือส่งสัญญาณเพื่อการเปลี่ยนแปลงในทางดีแก่สังคมที่มักกล่าวอ้าง เป็นเพียงการแสดงที่ถูกพล็อตเรื่องมาอย่างจงใจเพื่อเรียกร้องความสนใจและแสดงความเกลียดชังโจมตีอีกฝ่ายที่ตัวเองมองเป็นศัตรูเพื่อหวังผลในทางใดทางหนึ่งด้วยการถือหางของนักการเมืองและพรรคการเมืองที่มีแนวคิดทำนองเดียวกัน?
จึงไม่คู่ควรกับการถูกยกย่องให้เป็น ฮีโร่หรือผู้ทรงอิทธิพลหรือเป็นแบบอย่างของนักปฏิรูปแต่อย่างใด อาจเป็นได้แค่ “กลุ่มป่วนเมือง” ซึ่งมีพฤติกรรมที่ควรถูกประณาม ถูกลงโทษและได้รับการอบรมสั่งสอน เพื่อให้สำนึกว่าการนำเรื่องชนชั้น ความเท่าเทียมและปฏิบัติการสุดโต่งไปเป็นเครื่องมือในการ ไล่ล่า ลดทอนคุณค่าและบ่อนทำลายใครต่อใครนั้น มิใช่เป็นแนวทางแห่งความถูกต้องและเป็นสิ่งไม่พึงปรารถนาในสังคมไทย
อ้างอิง
1. ป่วนขบวนเสด็จ https://mgronline.com/onlinesection/detail/9670000011185
2. ป่วนขบวนเสด็จ https://today.line.me/th/v2/article/x2qJ8o8
3. ป่วนขบวนเสด็จ https://mgronline.com/politics/detail/9640000129023
4. การชุมนุม ธรรมศาสตร์จะไม่ทน โดย สถาบันพระปกเกล้า http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title
5. คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ https://www.bbc.com/thai/thailand59217832#:~:text=ศาลรัฐธรรมนูญ%20 วินิจฉัยให้การ,มหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
6. ทฤษฎีแมทธิว เอฟเฟกต์ https://www.eef.or.th/392-2/
7. ตั้งสติ…ก่อนเมืองไทยจะไม่เหมือนเดิม https://www.isranews.org/article/isranews-article/118894-punsak.html
8. การทำลายทำลายอนุสาวรีย์ กระทรวงสาธารณสุข https://mgronline.com/politics/detail/9660000054599
9. ประวัติตะวัน https://mgronline.com/onlinesection/detail/9670000011390
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก khaosod.co.th