"...ที่สำคัญ คนปานกลางต้องทำให้สำเร็จ ไม่ใช่ทำเสร็จ เพราะหากให้องค์กรเลือกระหว่างคนดี หรือคนเก่ง คุณธนาจะเลือกคนทำสำเร็จมากกว่า เพราะเมื่อมอบหมายงานไปแล้ว เขาจะลุยทำงานให้สำเร็จโดยไม่ต้องพูดพร่ำทำเพลง..."
สวัสดีครับ
พวกเราคงทราบกันดีว่า พี่น้องตระกูลไรท์ ออร์วิลล์ ไรท์ (Orville Wright) และวิลเบอร์ ไรท์ (Wilbur Wright) ได้รับการยกย่องให้เป็นผู้ที่สร้างเครื่องบินลำแรกของโลกได้สำเร็จในปี 1903 แต่ชีวประวัติของทั้งสองท่านกลับไม่โดดเด่นอะไร พ่อเป็นบาทหลวงที่ต้องเดินทางไปเทศน์ตามเมืองต่าง ๆ ปล่อยให้การเลี้ยงดูลูกทั้ง 5 คน อยู่ในความรับผิดชอบของแม่ ในขณะที่ทั้งสองจบการศึกษาเพียงแค่ชั้นมัธยม และเปิดโรงพิมพ์และร้านซ่อมจักรยานในเมืองเดย์ตัน รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ทั้งสองเป็นคนไม่ชอบการแข่งขัน หรือห้ำหั่นกับคู่แข่งเพื่อช่วงชิงความเป็นที่หนึ่ง โดยดำเนินชีวิตแบบเรียบง่ายเหมือนคนทั่วไป แต่หันมาให้ความสนใจกับการสร้างเครื่องบินที่นักประดิษฐ์ทั่วโลกต่างพากันยกธงขาว โดยที่หนังสือพิมพ์ The New York Times เขียนอย่างสิ้นหวังว่า “โลกใบนี้จะไม่มีสิ่งประดิษฐ์ที่ทำให้คนสามารถขึ้นไปบินบนท้องฟ้าไปอีกยาวนานเป็นเวลากว่า 10 ล้านปี” ถือได้ว่าทั้งสองเป็น “คนปานกลาง” (average) ที่อยู่ในสังคมเหมือนกับคนส่วนใหญ่ในเวลานั้น[1]
ออร์วิลล์ ไรท์ และวิลเบอร์ ไรท์
คุณธนา เธียรอัจฉริยะ รู้จักกันเป็นอย่างดีในฐานะผู้ค้นคิดแบรนด์แฮปปี้ จนถึง DTAC Feel Good ได้เขียนหนังสือ “วิถีคนปานกลาง” เริ่มต้นเขียนไว้อย่างน่าสนใจว่า ตนเองมาจากครอบครัวชนชั้นกลาง เรียนในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยอยู่ในระดับกลาง ไม่ได้ตั้งเป้าหมายอะไรเป็นพิเศษ เป็นคนคิดน้อย เรียนรู้แบบแป้ก ๆ และยิ่งเมื่อย้อนกลับไปคิดถึงเพื่อนร่วมงานในสมัยแรกเข้าที่มีสถานะภาพ “ปานกลาง” คล้ายกับตน มาวันนี้แต่ละคนมีเส้นทางอาชีพที่แตกต่างกัน บางคนเติบโตในอาชีพตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ บางคนไม่เป็นไปตามคาด ต้องเปลี่ยนงานบ่อยครั้ง แน่นอน การเป็นคนปานกลางต้องลงแรงมากกว่าคนที่เป็นคนเก่ง แต่คุณธนาเชื่อว่า จุดสำคัญที่จะทำให้คนปานกลางเป็นที่ยอมรับ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวเราคนเดียว สิ่งแวดล้อมต้องเอื้อหนุนด้วย มีผู้ใหญ่อุปถัมภ์และมีคนรอบข้างดีช่วยส่งเสริมเรา แต่การที่เราจะมีคนรอบข้างที่ดีได้ “เราต้องนิสัยดี” ซึ่งต่างกับตอนเรียนหนังสือที่เราแย่งชิงกันเป็นที่หนึ่ง แบบต่างคนต่างอมความรู้ไว้ ต่างกับสังคมการทำงานที่ต้องทำงานเป็นทีมทำให้หัวหน้ารัก ลูกน้องรัก และคนรอบข้างรัก
นอกจากนั้น คนปานกลางต้องทำงานที่ไม่มีใครทำ เพราะงานที่อยากทำ คนเก่งทำอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น งานที่คนเมินหน้าคิดว่าไม่สำคัญหรือเป็นงานใหม่ ๆ มีความท้าทายต้องเรียนรู้ เราต้องฉวยโอกาสขันอาสาทำงานเหล่านั้น ยึดแนวคิดที่ว่า “ต้นไม้เล็กที่อยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ไม่มีทางโตอยู่แล้ว” ในขณะเดียวกัน ต้องทำเกิน เพราะคนเก่งไม่อยากทำเกิน ซึ่งการทำเกินจะทำให้เจ้านายเป็นง่อยจนรู้สึกว่า เราทำให้ได้ทุกอย่าง
ที่สำคัญ คนปานกลางต้องทำให้สำเร็จ ไม่ใช่ทำเสร็จ เพราะหากให้องค์กรเลือกระหว่างคนดี หรือคนเก่ง คุณธนาจะเลือกคนทำสำเร็จมากกว่า เพราะเมื่อมอบหมายงานไปแล้ว เขาจะลุยทำงานให้สำเร็จโดยไม่ต้องพูดพร่ำทำเพลง[2]
หนังสือ วิถีคนปานกลาง (The ‘Average’ Tribe)
เขียนโดย ธนา เธียรอัจฉริยะ
อย่างไรก็ดี แม้ว่าเราจะทำตามที่คุณธนาแนะนำแล้ว เราต้องยอมรับว่า ตัวเราไม่ได้เลือกที่จะเป็นที่หนึ่งได้ และบางครั้งเราก็ไม่ต้องเป็น “The best” การเป็นคนธรรมดา ไม่ใช่ไม่เป็นคนสำคัญ เพราะเราอาจจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ดั่งเช่นพี่น้องตระกูลไรท์ ทั้งสองไม่ใช่คนที่เก่งที่สุด แต่เป็นคนที่ได้เปรียบที่สุด ถือเป็นไก่รองบ่อนที่ฝ่าฟัน มุมานะ พยายาม จนกลายเป็นฮีโร่ในที่สุด
นอกเวลาทำงาน ต่อให้เราไม่เก่งมากมาย ไม่โดดเด่น แต่อาจจะเก่งนอกเหนือจากการทำงาน การใช้ความคิดสร้างสรรค์ ทำงานอดิเรก ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ทำให้รู้สึกดี เราอาจจะค้นพบตัวเองว่า เรามีความสามารถในการเรียนรู้ ได้รู้อะไรใหม่ ๆ ซึ่งในอนาคตอาจจะมีความหมาย นอกจากนั้น หากเราสามารถคิดได้ว่า งานที่เราทำเกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือคนอื่น และถึงแม้เราจะไม่สามารถเปลี่ยนชีวิตเขาได้ แต่เราเป็นฟันเฟืองตัวหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ช่วยให้ชีวิตเขาง่ายขึ้น ถือเป็นการค้นพบเป้าหมายในการวัดความสำเร็จและมีความสุขสำหรับคนปานกลางเช่นกัน
ธนา เธียรอัจฉริยะ
การเป็นคนปานกลาง ตามที่คนตะวันตกมักเรียกคนกลุ่มนี้ว่า “average Joe” หรือ “plain Jane” ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่แกร่งที่จะอยู่รอด ไม่ต้องมีความกดดัน ฟาดฟันที่จะได้สู่จุดยอด จุดมุ่งหมายของคนเราไม่จำเป็นต้องมุ่งหน้าตัดสินโดยคนอื่น ทำให้เราเหนื่อยเกินไป “ตราบใดที่เรามีชีวิตอยู่ทุกวัน มีจิตใจที่ดี ไม่ว่าสถานการณ์เป็นเช่นไร ตั้งใจทำให้ดีที่สุดในเวลานั้น ถือว่าเพียงพอแล้ว เราจะรู้สึกภูมิใจกับตัวเองทุก ๆ วัน ต่อให้ดาวของเราไม่ได้เป็นดาวฤกษ์ส่องระยิบระยับในท้องฟ้าก็ตาม” (As long as you act with kindness and aim to do the best you can in every situation, you can be proud of yourself everyday – even if your star doesn’t shine the brightest.)[3]
รณดล นุ่มนนท์
12 กุมภาพันธ์ 2567
แหล่งที่มา :