"...คำขอโทษของซัคเคอร์เบิร์กต่อหน้าวุฒิสมาชิกและพ่อแม่เด็กในครั้งนี้จะหายไปตามสายลมเหมือนคำแก้ตัวที่กล่าวไว้เช่นกรณีอื่นก่อนหน้าหรือไม่ เวลาและการเอาจริงเอาจังของแพลตฟอร์มจะเป็นเครื่องพิสูจน์คำมั่นสัญญาและศักดิ์ศรีของเขา..."
ข่าวใหญ่ของโลกโซเชียลมีเดียเมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมาคงไม่มีข่าวไหนที่ผู้คนให้ความสนใจมากเท่ากับ ข่าวที่ ซีอีโอของแพลตฟอร์มออนไลน์ชั้นนำ 5 ราย ซึ่งได้แก่ เมต้า ( Meta- บริษัทแม่ของ เฟซบุ๊ก) เอ็กซ์( X- ทวิตเตอร์) ติ๊กต็อก(TikTok) สแนป(Snap - บริษัทแม่ของ สแนปแชท ) และ ดิสคอร์ด( Discord) ได้เข้าให้ปากคำต่อ สภาสูงของสหรัฐอเมริกา ต่ออันตรายที่เด็กต้องเผชิญในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียและถูกตั้งคำถามว่าบริษัทเหล่านี้จะช่วยปกป้องเด็กในโลกออนไลน์ได้อย่างไร ท่ามกลางการประท้วงของพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กที่ตกเป็นเหยื่อที่ต่างโชว์ภาพเด็กที่ตกเป็นเหยื่อบนแพลตฟอร์มเหล่านี้ในห้องประชุมอย่างหนาตา
คำขอโทษจาก มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก
การเข้าให้ปากคำต่อสภาสูงของบรรดาผู้บริหารแพลตฟอร์มทั้งหลายต่อหน้าวุฒิสมาชิกครั้งนี้มิใช่เป็นครั้งแรก ก่อนหน้านั้นบรรดาซีอีโอเหล่านี้ได้ให้ปากคำต่อวุฒิสมาชิกหลายต่อหลายครั้งในเรื่องอื้อฉาวของแพลตฟอร์มกรณีต่างๆกัน แต่ในครั้งนี้เป็นเรื่องของเด็กซึ่งอยู่ในวัยเยาว์และกำลังมีสถิติภัยคุกคามเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งการคุกคามทางเพศที่เรียกกันว่า เซ็กซ์ทอร์ชัน(Sextortion) คือหนึ่งในพฤติกรรมที่นักล่าหลายประเภทมักนำมาใช้กระทำต่อเหยื่อ การคุกคามประเภทนี้เป็นพฤติกรรมที่คนร้ายซึ่งเป็นได้ทั้งคนรู้จัก เพื่อนสนิทที่ไว้ใจ แฟน หรือคนแปลกหน้า มาหลอกล่อเอารูปและวิดีโอที่มีเนื้อหาทางเพศของเราแล้วย้อนกลับมาแบล็กเมล ข่มขู่เอาทรัพย์สินหรือแสวงประโยชน์ทางเพศ(อ้างอิง 2) ซึ่งส่งผลกระทบต่อเหยื่อจนถึงขั้นฆ่าตัวตายหรือไม่ก็เป็นตราบาปที่ล้างไม่หมดและติดตัวเด็กไปตลอดชีวิต
ความล้มเหลวต่อการป้องกันภัยแก่เด็กบนแพลตฟอร์มออนไลน์ทำให้วุฒิสมาชิกจากพรรครีพับริกันถึงกับกล่าวในเชิงประณามบรรดาแพลตฟอร์มว่า “ผมรู้ว่าคุณไม่ได้ตั้งใจให้มันเป็นแบบนี้ แต่มือของคุณเปื้อนเลือดอยู่ คุณมีสินค้าที่กำลังฆ่าคน” (อ้างอิง1) นอกจากนี้วุฒิสมาชิกบางรายยังพุ่งเป้าไปที่อินสตาแกรมที่มีการแจ้งเตือนให้ผู้ใช้งานรับรู้ว่ารูปดังกล่าวอาจแสดงถึงการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก แต่ยังคงอนุญาตให้ผู้ใช้งานสามารถกดดูรูปดังกล่าวได้ คำพูดของวุฒิสมาชิกทั้งสองคนย่อมพิสูจน์ให้เห็นว่าตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา การป้องกันภัยจากการคุกคามทางเพศของแพลตฟอร์มต่างๆไม่เคยได้ผลหรือได้รับความใส่ใจอย่างจริงจังจากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม
ท่ามกลางบรรยากาศที่เคร่งเครียดและการถกเถียงที่เผ็ดร้อน วุฒิสมาชิกของรีพับลิกันได้ขอ(เชิงบังคับ)ให้ซัคเคอร์เบิร์ก ขอโทษต่อครอบครัวของเด็กที่ทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายจากเนื้อหาบนโซเชียลมีเดีย ที่นั่งอยู่ด้านหลังเก้าอี้ของบรรดาซีอีโอพร้อมกับชูรูปของลูกพวกเขาขึ้น โดยซัคเคอร์เบิร์กได้ลุกขึ้นหันหลังกลับและกล่าวว่า เขาขอโทษสำหรับทุกอย่างที่ครอบครัวของผู้เสียหายต้องเผชิญทั้งหมด มันเป็นเรื่องที่เลวร้ายและไม่ควรมีใครต้องเจอกับเรื่องเหล่านี้ พร้อมกับรับปากว่าจะดำเนินการเพื่อป้องกันไม่ให้เรื่องนี้เกิดขึ้นกับครอบครัวอื่นอีก คำขอโทษของซัคเคอร์เบิร์กต่อหน้าวุฒิสมาชิกและพ่อแม่เด็กในครั้งนี้จะหายไปตามสายลมเหมือนคำแก้ตัวที่กล่าวไว้เช่นกรณีอื่นก่อนหน้าหรือไม่ เวลาและการเอาจริงเอาจังของแพลตฟอร์มจะเป็นเครื่องพิสูจน์คำมั่นสัญญาและศักดิ์ศรีของเขา
การให้ถ้อยคำในครั้งนี้วุฒิสมาชิกยังมีคำถามถึงซัคเคอร์เบิร์กว่า หากครอบครัวของ แบรนดอน กัฟฟี (Brandon Guffey) ผู้ซึ่งลูกชายตกเป็นหนึ่งในเหยื่อของการคุกคามทางเพศบนอินสตาแกรมจนถึงกับฆ่าตัวตายจะฟ้องร้องต่อซัคเคอร์เบิร์กได้หรือไม่ ซึ่งซัคเคอร์เบิร์กตอบในทันที่ว่า .”พวกเขาสามารถจะฟ้องร้องผมได้”
โซเชียลมีเดีย โลกที่ไม่สวยงามของเด็ก
เมื่อโลกของอินเทอร์เน็ตเข้ามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คนใครต่อใครไม่ว่าผู้ใหญ่และเด็กสามารถเข้าถึงผู้คนบนโลกออนไลน์ได้อย่างง่ายดายโดยแทบไม่มีข้อจำกัดใดๆเด็กจึงสามารถตกเป็นเหยื่อของนักล่าเหยื่อทางเพศได้ตลอดเวลา การได้สัมผัสกับผู้คนในโลกออนไลน์ทำให้เด็กไปให้ความไว้วางใจเพื่อนหรือคนที่เพิ่งรู้จักในโลกออนไลน์ มากกว่าคนในครอบครัว โดยเชื่อถือคนที่เพิ่งรู้จักหรือพูดคุยกันผ่านแอปพลิเคชัน เช่น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม TikTok หรือแอปพลิเคชันหาคู่และมีความเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อทางเพศได้
การที่เด็กสามารถเข้าถึงโลกออนไลน์ได้อย่างแทบไร้ขีดจำกัดโดยยังไม่มีภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งพอในการใช้ชีวิตในโลกออนไลน์จึงน่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นักล่าเหยื่อสามารถเข้าถึงตัวเหยื่อได้อย่างง่ายดายยิ่งกว่าการเข้าถึงตัวโดยตรงเช่นการล่าเหยื่อแบบเดิม เด็กจำนวนไม่น้อยจึงกลายเป็นผู้ถูกคุกคามทางเพศบนโลกออนไลน์หรืออาจเลยไปถึงการถูกคุกคามทางเพศจริงๆในที่สุดเพราะโซเชียลมีเดียคือพื้นที่ที่ไม่มีเกราะป้องกัน(Safe guard) ใดๆเลยไม่ว่าผู้ใหญ่หรือเด็ก
ประธานาธิบดี โจ ไบเดน เคยกล่าวถึงเฟซบุ๊ก เมื่อครั้งเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่ง ประธานาธิบดี แห่งสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือน มกราคม 2563 ว่า “มันไม่ใช่เป็นแค่บริษัทอินเทอร์เน็ต มันเป็นการเผยแพร่ความเท็จ ทั้งๆที่รู้ว่าไม่ถูกต้อง……. ไม่มีบรรณาธิการบนเฟซบุ๊ก……ขาดความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง”
ทำไมเด็กจึงตกเป็นเหยื่อได้ง่าย
มีคำถามอยู่เสมอว่าเด็กและเยาวชนมีความอ่อนไหวต่อความเห็นของเพื่อนในระดับเดียวกันหรือผู้ทรงอิทธิพล(Influencer) บนโลกโซเชียลมากน้อยเพียงใด ? คำถามนี้ อธิบายง่ายๆว่า สมองของมนุษย์นั้นมีการพัฒนาในแต่ละช่วงเวลาตั้งแต่เกิดจนถึงวัยผู้ใหญ่ วัยเด็กจะเป็นช่วงวัยที่พบปัญหาพฤติกรรมได้บ่อยเพราะสมองส่วนหน้ายังทำงานได้น้อย เนื่องจากสมองส่วนนี้ยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ทำให้เกิดปัญหาการควบคุมอารมณ์ การคิดแก้ปัญหาไม่เหมาะสม ขาดการรู้จักยับยั้งชั่งใจตนเอง เพราะโดยพัฒนาการปกติแล้ว ในสภาวะสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีความเครียดมากเกินไป สภาวะแวดล้อมที่ไม่วุ่นวายสับสน สมองส่วนหน้านั้นจะค่อยๆ พัฒนาอย่างต่อเนื่องจนพัฒนาเต็มที่เป็นลำดับหลังสุดเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่(อ้างอิง 3)
การพัฒนาของสมองส่วนหน้าที่ยังไม่อยู่ในสภาวะที่สมบูรณ์เต็มที่จึงเป็นจุดอ่อนสำคัญของเด็กเมื่อเข้าไปอยู่ในโลกออนไลน์เพราะสมองในขณะนั้นยังขาดซึ่งประสบการณ์และความรู้ที่มากพอในการคิดเชิงวิเคราะห์ต่อข้อมูล ความเห็น ความคิด ที่หลั่งไหลเข้ามาตลอดเวลาบนโลกออนไลน์หรือพูดง่ายๆว่า ความฉลาดทางการรับรู้(Perception Intelligent) ของเด็กซึ่งยังอยู่ในระดับต่ำอันเกิดจากการพัฒนาของสมองที่ยังไม่สมบูรณ์ทำให้เด็กไม่รู้ทันต่อนักล่าเหยื่อทางเพศจนสามารถตกเป็นเหยื่อได้ทุกเวลาและปัญหาการคุกคามทางเพศเด็กก็จะคงอยู่ต่อไปตราบใดที่แพลตฟอร์มยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างจริงจังตามที่พูดไว้
อย่าโยนบาปให้เด็ก
ผลสำรวจในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยพบว่า เด็กที่เปิดเผยการถูกแสวงหาผลประโยชน์และการล่วงละเมิดทางเพศออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ กลับได้รับประสบการณ์ที่โหดร้ายแทนที่จะได้รับความเข้าอกเข้าใจ เช่น ความรู้สึกอับอาย ถูกตำหนิ และความรู้สึกที่ทำให้พวกเขาไม่ต้องการพูดหรือเปิดเผยเรื่องราวอีกซึ่งหมายความว่านอกจากเด็กต้องต่อสู้กับความทุกข์ทรมานทางใจที่ได้รับจากการคุกคามทางเพศออนไลน์แล้ว เด็กยังต้องเผชิญกับแรงกดดันรอบด้านจากการขาดความเข้าใจจากสังคมและผู้เกี่ยวข้อง การถูกตำหนิ ทำให้อับอาย คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กไม่กล้าบอกใครแม้แต่คนใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการร้องขอให้ลบข้อมูลการคุกคามทางเพศของตัวเองออกจากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียซึ่งเป็นต้นตอของปัญหาเป็นไปด้วยความยากยิ่งหรืออาจเป็นไปไม่ได้เลยหากแพลตฟอร์มอ้างว่าคอนเทนต์นั้นไม่ได้ละเมิดกฎเกณฑ์ของแพลตฟอร์ม
แรงกดดันต่างๆที่เหยื่อได้รับทั้งจากพฤติกรรมของนักล่าและจากสังคมทำให้เหยื่อจำนวนไม่น้อยจมอยู่ในความทุกข์ บางรายหาทางออกด้วยการทำตัวเองให้สาบสูญไปจากโลกด้วยการหยุดติดต่อผู้คนทุกช่องทาง ย้ายที่อยู่ หยุดเรียน ออกจากงาน เปลี่ยนชื่อ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะถูกคุกคามต่อได้และเหยื่อบางคนหาทางออกไม่ได้จนถึงขั้นจบชีวิตตัวเอง จากการวิเคราะห์คดีของหน่วยงาน เอฟบีไอ สหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2015 จากคดี Sextortion จำนวน 43 คดีที่เด็กตกเป็นเหยื่อของการคุกคามทางเพศ พบว่าอย่างน้อยที่สุดมีคดี 2 คดีที่เหยื่อเลือกที่จะจบชีวิตตัวเองและเหยื่ออย่างน้อยที่สุดอีก10 คนมีความพยายามจบชีวิตตัวเองเช่นเดียวกัน(อ้างอิง 5)
การกล่าวคำขอโทษของ มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก หนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลของโลกด้านโซเชียลมีเดียต่อหน้าสมาชิกวุฒิสภาและบรรดาพ่อแม่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการคุกคามทางเพศออนไลน์จะด้วยความเต็มใจหรือไม่ก็ตามย่อมแสดงให้เห็นถึงการยอมรับกลายๆ(แม้ว่าจะปฏิเสธความรับผิดชอบ)แล้วว่าแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียคือต้นตอของการคุกคามทางเพศบนโลกออนไลน์ที่เด็กจำนวนมากตกเป็นเหยื่อตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมาและเป็นปัญหาใหญ่ของโลกที่ไม่ได้รับการแก้ไขจากแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างจริงจัง คำมั่นสัญญาจาก มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก จึงเป็นเสมือนความหวังของคนทั้งโลกที่คาดหวังว่าโซเชียลมีเดียจะกลายเป็นแพลตฟอร์มที่สะอาดและเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยในโลกออนไลน์ของผู้ใช้ทุกคนไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตาม
อ้างอิง
1. https://www.matichon.co.th/foreign/news_4403954
2. https://www.unicef.org/thailand/th/onlinesafety
3. สมองส่วนหน้า ส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็ก - โรงพยาบาลแพทย์รังสิต (patrangsit.com)
4. https://edition.cnn.com/tech/live-news/meta-x-discord-tiktok-snap-chiefs-testimony-senate/h_c428b9cc69840ce043ab78c110fabde3
5. Nobody’s Victim โดย Carrie Goldberg