"...แม้ว่าการคุกคามบนโลกออนไลน์จะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากสำหรับเด็ก เยาวชน และคนทั่วไป แต่ ครอบครัว คนใกล้ชิดและภาครัฐต้องไม่ถือว่าภัยประเภทนี้เป็นความปกติและปล่อยให้เหยื่อต่อสู้แต่เพียงลำพัง นอกจากการเอาใจใส่ต่อภัยของการคุกคามทางเพศจากนักล่าและการสร้างทัศนคติทางสังคมที่ถูกต้องแล้ว รัฐควรต้องจัดสรรงบประมาณจำนวนหนึ่งและบุคลากรที่เพียงพอในการให้ ความรู้ ช่วยเหลือ และรณรงค์ถึงภัยเหล่านี้อย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นเกราะป้องกันและสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็กและผู้ที่มีโอกาสตกเป็นเหยื่อทางเพศจากนักล่าเหยื่อที่อยู่ในมุมมืดของโลกออนไลน์..."
ระยะนี้มีข่าวการคุกคามทางเพศและการหลอกลวงต่างๆในโลกออนไลน์ปรากฏตามสื่ออยู่บ่อยครั้งและเชื่อว่ามีจำนวนไม่น้อยที่ไม่ตกเป็นข่าว ทำให้อดเป็นห่วงไม่ได้ว่า สวัสดิภาพของเด็ก เยาวชนหรือแม้แต่ผู้ใหญ่ที่ชอบท่องโลกออนไลน์กำลังอยู่บนความเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อคนเหล่านี้ได้อย่างง่ายดายถ้ายังรู้ไม่เท่าทันมนุษย์ลวงโลกออนไลน์เหล่านี้และพฤติกรรมคุกคามต่างๆสามารถขยายขอบเขตจากโลกออนไลน์เข้ามาสู่ชีวิตจริงได้
การถูกคุกคามทางเพศบนโลกออนไลน์ทำให้เหยื่อจำนวนมากไม่มีทางออกและพบกับความทุกข์ทรมานทางใจจนถึงขั้นจบชีวิตตัวเอง แต่เหยื่อบางคนเลือกที่จะไม่ยอมแพ้และต่อสู้ทุกวิถีทางเพื่อให้หลุดพ้นจากวงจรของการคุกคามเหล่านี้และยอมสละความอับอายของตัวเองเพื่อเปิดเผยความเลวร้ายของนักล่าในโลกออนไลน์ให้โลกได้รับรู้เพื่อเป็นบทเรียน
เหยื่อของนักล่า
เด็กยุคใหม่เกิดมาภายใต้ความเพียบพร้อมของเครื่องมือเครื่องใช้ทางดิจิทัลและสามารถใช้เครื่องมือและแอปพลิเคชันต่างๆได้อย่างคล่องแคล่ว แต่เด็กจำนวนไม่น้อยยังด้อยประสบการณ์และรู้ไม่เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมและความช่ำชองของนักล่าในโลกออนไลน์และมักเชื่อใจผู้คนที่ได้พบเจอในโลกออนไลน์อย่างสนิทใจโดยไม่รู้เลยว่าโลกออนไลน์นั้นมีนักล่าที่คอยจ้องตะครุบเหยื่ออยู่ตลอดเวลาโดยใช้เทคนิคต่างๆในการหลอกล่อเหยื่อจนบางครั้งตายใจถึงกับยอมเปลื้องผ้าต่อหน้ากล้องทั้งๆที่ไม่รู้จักหัวนอนปลายเท้าของอีกฝ่ายด้วยซ้ำ เด็กเหล่านี้จึงตกเป็นเหยื่อของนักล่าบนโลกออนไลน์โดยคาดไม่ถึงและกว่าจะรู้ตัวก็สายไปเสียแล้ว โลกออนไลน์จึงเป็นช่องทางให้มีการละเมิดสิทธิและโจมตีผู้คนรูปแบบใหม่ผ่านแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันต่างๆได้อย่างง่ายดายโดยไม่ต้องเผชิญหน้ากัน
จากการสำรวจข้อมูลครัวเรือนของ ‘Disrupting Harm’ ซึ่งเป็นโครงการวิจัยเกี่ยวกับการแสวงหาประโยชน์และการล่วงละเมิดทางเพศออนไลน์ (Online Child Sexual Exploitation and Abuse: OCSEA) เผยแพร่โดยสำนักข่าวอิศรา พบว่า ในปีก่อนหน้า (ข้อมูลเผยแพร่ กุมภาพันธ์ 2565) เด็กอายุ 12-17 ปี ที่ใช้งานอินเทอร์เน็ต 9% จากทั้งหมด 967 คน ตกเป็นผู้เสียหายจากการถูกแสวงหาประโยชน์และการล่วงละเมิดทางเพศออนไลน์ เป็นต้นว่า
- การถูกขู่ว่าจะเปิดโปงความลับเพื่อให้เข้าร่วมกิจกรรมทางเพศ
- การส่งต่อรูปภาพทางเพศของพวกเขาโดยไม่ได้รับอนุญาต
- บีบบังคับให้ร่วมกิจกรรมทางเพศ โดยสัญญาว่าจะให้เงินหรือของขวัญเป็นการตอบแทน
หากเปรียบเทียบกับสัดส่วนต่อประชากร จะประมาณการได้ว่าในช่วงระยะเวลาเพียง 1 ปี มีเด็กจำนวน 400,000 คน ตกเป็นเป้าหมายของภัยคุกคามนี้ เด็กที่ตกเป็นเหยื่อระบุว่า “ถูกแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศและการล่วงละเมิดทางเพศผ่านสื่อออนไลน์” ซึ่งได้แก่ เฟซบุ๊ก (Facebook) ทวิตเตอร์ (X) อินสตาแกรม (Instagram) และติ๊กต็อก (Tiktok) (อ้างอิง 1) นอกจากเด็กแล้วข้อมูลจากบางประเทศพบว่ายังมีคนในวัยอื่นๆ ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป จนถึง 30 ปีขึ้นไปที่ตกเป็นเหยื่อซึ่งน่าจะมีจำนวนไม่น้อยและคงได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน(อ้างอิง 2)
รูปแบบของการคุกคาม
พฤติกรรมการคุกคามบนโลกออนไลน์(Online Harassment)หรืออาจเรียกว่าการคุกคามทางไซเบอร์(Cyber Harassment) ของนักล่ามีรูปแบบต่างๆกันและเกิดขึ้นทุกหนทุกแห่งในโลกที่ อินเทอร์เน็ต แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียและแอปพลิเคชันสามารถเข้าถึงได้ เท่าที่มีผู้ทำการศึกษาเกี่ยวกับการคุกคามเอาไว้พบว่าลักษณะการคุกคามบนโลกออนไลน์แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ 3 รูปแบบ ได้แก่ (อ้างอิง3)
1.การคุกคามแบบปกติ (Normalized harassment) การคุกคามประเภทนี้เป็นการรบกวนและสร้างความรำคาญ รวมทั้งผู้ถูกคุกคามเองมีความรู้สึกว่าตัวเองถูกปฏิบัติต่างจากคนอื่นมากผิดปกติ (Emotional taxing) เท่าที่มีการศึกษาพบว่าการคุกคามลักษณะนี้มักไม่เกิดอันตรายทางร่างกายตามมา
2.การคุกคามที่เกิดขึ้นระหว่างคนสองคน(Dyadic harassment) ซึ่งได้แก่เหยื่อกับผู้คุกคาม การคุกคามประเภทนี้มีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับการเกาะติดชีวิตผู้คน(Stalking)และความรุนแรงทางเพศ ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การคุกคามประเภทนี้เกิดได้ง่าย เนื่องจากความเป็นโลกดิจิทัลที่มีการเชื่อมต่อกันจนเป็นเน็ตเวิร์ค(Network) ที่ข้อมูลของใครต่อใครสามารถไปปรากฏบนพื้นที่ออนไลน์สาธารณะทั้งด้วยความตั้งใจและไม่ตั้งใจซึ่งเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของเน็ตเวิร์คจนทำให้นักล่าสามารถนำข้อมูลของเหยื่อมาปะติดปะต่อจนรู้จักตัวตนของเหยื่อและคุกคามเหยื่อได้
3.การคุกคามแบบเครือข่ายหรือคุกคามแบบเน็ตเวิร์ค (Networked harassment) เป็นการคุกคามจากกลุ่มคนจำนวนมากที่รุมคุกคามและโจมตีเหยื่อคนเดียว การคุกคามประเภทนี้อาจเรียกว่า การคุกคามแบบ ด็อกไพล์( Dog pile) หรือการคุกคามแบบบริเกด( Brigade)ได้เช่นกัน การที่เหยื่อถูกคุกคามจากคนกลุ่มใหญ่มักทำให้เหยื่อได้รับความบอบช้ำและเสียหายมากกว่าการคุกคามแบบอื่นๆที่มักกระทำในลักษณะตัวต่อตัว
นักล่าคือใคร
การคุกคามทางไซเบอร์มักจะเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมอย่างน้อยที่สุด 5 ประการ คือ
•การใช้ความรุนแรง
•การละเมิดความเป็นส่วนตัว
•การสร้างความเท็จเพื่อทำลายชื่อเสียง
•การชักจูงให้ผู้อื่นโจมตีหรือทำร้ายร่างกายเหยื่อ
•การใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีในการโจมตีเหยื่อ
จากข้อมูลการศึกษาพบว่าผู้หญิงจะตกเป็นเหยื่อของนักล่าที่เกาะติดชีวิตผู้คนทั้งในโลกออนไลน์และโลกแห่งความจริงจากผู้ชาย(67 เปอร์เซ็นต์)มากกว่าจากผู้หญิง(24 เปอร์เซ็นต์)และมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้คุกคามทางไซเบอร์เป็นเพศชาย (อ้างอิง4)
นักล่าเหล่านี้ใช้ชีวิตปกติดังเช่นคนทั่วไป พวกเขาอาจอยู่ใน โรงเรียน มหาวิทยาลัย วัด หน่วยราชการ บริษัท เป็นคนเร่ร่อน ฯลฯ แต่เมื่อใดที่เข้าไปอยู่ในโลกออนไลน์ที่ปกปิดตัวตน พฤติกรรมของคนเหล่านี้จะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือในทันที ศาสตราจารย์ จอห์น ซูเลอร์(John Suler) นักจิตวิทยาผู้ศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ในโลกออนไลน์ พบว่าพฤติกรรมเลวร้ายของมนุษย์ที่แสดงออกเมื่ออยู่ในโลกออนไลน์ภายใต้การปกปิดตัวตนเป็นเสมือนการได้เข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่ถูกแยกออกจากความเป็นจริงและพฤติกรรมของมนุษย์ในขณะนั้นจะถูกกำหนดด้วยสภาพแวดล้อมและการตัดสินใจภายใต้ความจริงในโลกของตนเอง(Own reality) ซึ่งอาจใกล้เคียงกับความเป็นจริงหรือแตกต่างจากความเป็นจริงได้(อ้างอิง 5) การศึกษาบางการศึกษาพบว่าคนเหล่านี้มีความเลวร้ายอยู่ในตัวเองอยู่แล้วไม่ว่าจะอยู่ในโลกแห่งความจริงหรือโลกออนไลน์ (อ้างอิง2)
การแยกพฤติกรรมของนักล่าออนไลน์แต่ละประเภทค่อนข้างยากเพราะพฤติกรรมของการคุกคามมักใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญได้แยกประเภทของนักล่าจากประสบการณ์ที่ได้รับจากเหยื่อและจากตัวนักล่าเองโดยแบ่งนักล่าออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่
1. นักล่าโรคจิต(Psycho) นักล่าประเภทนี้มักแสดงพฤติกรรม คุกคาม ข่มขู่และเกาะติดชีวิตเหยื่ออย่างไม่วางมือ นักล่าประเภทนี้มักเป็นเพศชายและบางกรณีอาจเคยเป็นคู่รักกับเหยื่อมาก่อน แต่ที่น่าตกใจคือนักล่าบางคนกลับเป็นคนรักปัจจุบันที่เหยื่อกำลังคบหาดูใจกันเสียเองซึ่งกว่าเหยื่อจะรู้ตัวก็แทบใจสลาย หนึ่งในพฤติกรรมที่พบของนักล่าโรคจิตได้แก่ การใช้ภาพถ่ายเหยื่อขณะเปลือยหรือกึ่งเปลือยหรือแม้กระทั่งรูปหรือคลิปการร่วมเพศที่เคยถ่ายไว้และให้คำสัญญาอย่างมั่นเหมาะว่าจะเก็บเป็นความลับ แต่ภายหลังกลับนำไปโพสต์ บนบัญชี เฟซบุ๊กหรือบนเว็บไซต์ ที่สนับสนุนการเผยแพร่ภาพโป๊เปลือยเพื่อแก้แค้นเหยื่อ(Revenge porn) ในบางกรณียังชักชวนให้ผู้ติดตามบนบัญชีของตัวเองซึ่งมักเป็นบัญชีที่ใช้นามแฝงประณามเหยื่ออย่างหยาบคายและเสียหาย สร้างความทุกข์ระทมให้กับเหยื่อเป็นอย่างยิ่ง เพราะทันทีที่รูปเปลือยและรายละเอียดของเหยื่อถูกเผยแพร่ออกไปนอกจากจะสร้างความอับอายและเสื่อมเสียต่อเหยื่อแล้ว เหยื่อยังได้รับการติดต่อมากมายจากคนแปลกหน้าทั้งทาง อีเมล โทรศัพท์ คำขอเป็นเพื่อน ซึ่งแต่ละรายล้วนต้องการมีความสัมพันธ์ทางเพศกับเหยื่อ
คนทั่วไปมักคิดว่าการเกาะติดชีวิตเหยื่อมักเกิดจากคนแปลกหน้าที่เหยื่อไม่เคยรู้จัก แต่จากข้อมูลที่มีการสืบสวนกลับพบว่าเหยื่อจำนวนไม่น้อยถูกเกาะติดชีวิตจากคนใกล้ตัวที่ตัวเองคาดไม่ถึง เป็นต้นว่าจาก นักล่าโรคจิตที่เป็นคู่รักคนปัจจุบันซึ่งคนพวกนี้ สามารถ สอดแนม อีเมล บัญชีโซเชียลมีเดีย และอ่านสิ่งที่เหยื่อได้บันทึกเอาไว้ได้ง่ายกว่าคนแปลกหน้า จึงทำให้นักล่าประเภทนี้มีข้อมูลพอที่จะนำมาใช้คุกคามเหยื่อได้อย่างง่ายดายเพราะคนเหล่านี้รู้รายละเอียดของเหยื่อในแทบทุกแง่มุมทั้งในโลกแห่งความจริงและโลกออนไลน์ เมื่อเหยื่ออยู่ในความทุกข์นักล่าประเภทนี้มักทำทีปลอบใจและเห็นใจเหยื่ออย่างออกนอกหน้าทั้งๆที่เรื่องทั้งหมดเกิดจากฝีมือตัวเองทั้งสิ้น จากข้อมูลที่เปิดเผยโดย ศูนย์เหยื่อทางอาชญากรรมแห่งชาติ(National Center for Victims of Crime) สหรัฐอเมริกา พบว่า 11 เปอร์เซ็นต์ของเหยื่อถูกนักล่าเกาะติดชีวิตเหยื่อนานมากถึง 5 ปี หรือมากกว่านั้น
การจบความสัมพันธ์กับนักล่าโรคจิตไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะทันทีที่พวกเขารู้ตัวว่าเหยื่อจะตีตัวออกห่าง พวกเขาจะทำทุกวิถีทางที่ให้เหยื่อคงความสัมพันธ์กับพวกเขาต่อไปทั้งการใช้วิธีตามตื๊อ ปลอบ ข่มขู่หรือให้ของขวัญที่เหยื่อชอบเพื่อขอโอกาสแก่พวกเขาและความผิดพลาดครั้งใหญ่ของเหยื่อก็คือการตอบตกลงกลับไปคงความสัมพันธ์ตามเดิม
2. นักล่าที่ผู้เชี่ยวชาญเรียกกันว่า แอส'โฮล (Asshole) ซึ่งมักแปลเป็นไทยว่า พวกงี่เง่า พวกโง่เง่า พวกน่ารังเกียจ หรือพวกหยาบคาย โดยปกติของคนทั่วไปเมื่อเห็นใครมีความทุกข์มักจะให้ความช่วยเหลือ แต่คนประเภทนี้กลับทำในสิ่งตรงข้าม พวกเขาใช้โอกาสที่เหยื่อตกอยู่ในภัยคุกคามเพื่อหาประโยชน์จากเหยื่อทันทีที่มีโอกาส พฤติกรรมที่เด่นชัดของนักล่าประเภทนี้คือ ข่มเหงและหาประโยชน์จากเหยื่อจาก ความไม่รู้ ความทะนงตัวหรือต้องการหาผลประโยชน์ด้วยการรีดทรัพย์จากเหยื่อผ่านโซเชียลมีเดียและแอปหาคู่ นักล่าบางคนถือว่าการคุกคามทางเพศเหยื่อคือภารกิจของพวกเขาในการให้บทเรียนแก่เหยื่อ นักล่าประเภทนี้มักมั่นใจว่าตัวเองทำในสิ่งถูกต้องและพวกเขามีทักษะในการประณามและทำให้เหยื่ออับอายบนโลกโซเชียลได้อย่างไม่รู้ร้อนรู้หนาว
3. นักล่าที่มักถูกเรียกกันโดยทั่วไปว่า พวกเกรียน พวกป่วนเว็บ หรือโทรล(Troll) ซึ่งเป็นหนึ่งในชื่อที่รู้จักกันมากที่สุดในบรรดาตัวร้ายบนโลกออนไลน์ นักล่าประเภทนี้คือผู้ที่ กระตุ้นหรือยุยงให้เกิดความขัดแย้ง ความเกลียดชัง ข่มขู่ให้กลัว รุมโจมตีหรือสร้างประเด็นถกเถียงในสังคมของโลกออนไลน์ รวมทั้งแสดงพฤติกรรมการเป็นนักล่าเพื่อคุกคามทางเพศต่อเหยื่อ เช่น ประณามพฤติกรรมทางเพศของเหยื่อ(Slut-shaming) ซึ่งนำไปสู่ การลงโทษทางสังคม ทำให้อับอายและปิดปากผู้หญิงจากพฤติกรรมทางเพศ เป็นต้น ช่องทางที่นักล่าพวกนี้ใช้ได้แก่ ช่องแสดงความเห็นบนโซเชียลมีเดีย ห้องแชท และเวทีเปิดต่างๆที่ให้แสดงความเห็นสาธารณะ พวกเกรียนเหล่านี้มักปิดบังตัวตนหรือพรางตัวเอง(Anonymity)
4. นักล่าที่เรียกกันว่า พวกลามกหรือพวกบ้ากาม (Perv) ซึ่งเป็นบุคคลที่มักมีพฤติกรรมทางเพศไม่เหมือนคนปกติ นักล่าประเภทนี้มีพฤติกรรมใช้อำนาจควบคุมเหยื่อผ่านโลกออนไลน์เพื่อกิจกรรมทางเพศ พวกเขาอาจใช้เวลานับเดือนหรืออาจนับปีในการล่าเหยื่อ โดยการสร้างความสัมพันธ์เพื่อให้เหยื่อวางใจและเชื่อถือ (Grooming) และควบคุมเหยื่อ ก่อนที่จะบังคับเหยื่อให้ตกเป็นทาสกามารมณ์จนกระทั่งเหยื่อไม่อาจหนีจากวงจรอุบาทว์นี้ได้
ปีศาจในร่างมนุษย์
การคุกคามทางเพศที่เรียกกันว่า เซ็กซ์ทอร์ชัน(Sextortion) คือหนึ่งในพฤติกรรมที่นักล่าหลายประเภทมักนำมาใช้กระทำต่อเหยื่อเพราะสามารถทำได้ง่ายด้วยโทรศัพท์มือถือพร้อมกล้องที่อยู่ในมือของทุกคน การคุกคามประเภทนี้เป็นพฤติกรรมที่คนร้ายซึ่งเป็นได้ทั้งคนรู้จัก เพื่อนสนิทที่ไว้ใจ แฟน หรือคนแปลกหน้า มาหลอกล่อเอารูปและวิดีโอที่มีเนื้อหาทางเพศของเราแล้วย้อนกลับมาแบล็กเมล ข่มขู่เอาทรัพย์สินหรือแสวงประโยชน์ทางเพศ (อ้างอิง 7 ) เราจึงมักเห็นข่าวเกี่ยวกับ เซ็กซ์ทอร์ชัน ตามหน้าสื่ออยู่บ่อยๆ
นักล่าเหยื่อออนไลน์มีทักษะในการจัดการกับเหยื่อและไม่เคยลดละที่จะทำให้เหยื่อตกอยู่ในอำนาจโดยเฉพาะหากเหยื่อเหล่านั้นเป็นเด็ก ข้อมูลจากทนายของเหยื่อการคุกคามทางเพศเปิดเผยว่าเหยื่อบางรายถูกบีบบังคับต่างๆนานาเพื่อความบันเทิงใจของนักล่าบางคน นับตั้งแต่ การถูกบังคับให้เหยื่อ เปลื้องผ้า ฉีกเสื้อผ้า ช่วยตัวเอง(Masturbate) ร่วมกิจกรรมทางเพศหมู่(Group sex) กินน้ำอสุจิตัวเอง บังคับให้ร่วมเพศกับญาติพี่น้องหรือสัตว์เลี้ยงในครอบครัว เป็นต้น แต่พฤติกรรมที่สุดขยะแขยงและไม่น่าเชื่อว่ามนุษย์สามารถกระทำกับมนุษย์ด้วยกันได้เมื่อเด็กหญิงคนหนึ่งถูกบังคับให้เข้าไปในห้องน้ำโรงเรียนเพื่อกินอุจจาระตัวเองซึ่งเป็นพฤติกรรมสุดวิตถารของนักล่าประเภทนี้ เพราะนักล่ามองว่าเหยื่อทุกคนคือทาสที่ตัวเองจะสั่งให้ทำอะไรก็ได้ตามที่อยากให้ทำ (อ้างอิง 2)
อินเทอร์เน็ต-โซเชียลมีเดีย ประตูสู่การคุกคามทางเพศ
ก่อนยุคอินเทอร์เน็ต นักล่าเหยื่อเพื่อคุกคามทางเพศมักจะเข้าหาเป้าหมายของตัวเองโดยตรง เป็นต้นว่า หากเป้าหมายของเหยื่อเป็นเด็ก นักล่าเหล่านี้มักจะมีอุบายเพื่อเข้าหาเหยื่อด้วยการแฝงตัวเป็น ครู โค้ช หรือพี่เลี้ยง ฯลฯ หากเหยื่อเป็นผู้ใหญ่ นักล่าเหล่านี้มักจะเลือกที่จะเข้าหาเหยื่อที่มีโอกาสเป็นเบี้ยล่างของตัวเองได้ง่าย เช่น อายุน้อยกว่า อ่อนไหวต่อการกระทำของผู้อื่นง่าย มีปัญหาทางการเงินหรือเป็นคนที่มีตำแหน่งต่ำกว่า เป็นต้น
เมื่อโลกของอินเทอร์เน็ตเข้ามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คน การล่าเหยื่อทำได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้นและไม่ต้องลงทุนมากเหมือนวิธีดั้งเดิม การล่าเหยื่อผ่านอินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดียและแอปพลิเคชันหาคู่จึงกลายเป็นวิธีที่นักล่ามักใช้ล่าเหยื่ออยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าหาเด็กๆผ่านโลกออนไลน์ซึ่งสามารถทำได้ตลอดเวลาโดยแทบไม่มีข้อจำกัดใดๆ
จากการเปิดเผยของมูลนิธิกระจกเงาพบว่า สถิติการรับแจ้งเด็กหาย ปี 2566 ทั้งสิ้น 296 ราย ซึ่งถือว่าสถิติเด็กหายเพิ่มเติมสูงขึ้นในรอบ 5 ปี โดยสูงกว่าปี 2565 ถึง 17 % โดยสาเหตุหลักกว่า 58 % หรือ 172 ราย คือเด็กที่สมัครใจหนีออกจากบ้าน รองลงมาคือ กลุ่มเด็กที่มีพัฒนาการช้า มีความพิการทางสติปัญญา หรือป่วยทางจิตเวช สูญหายกว่า 19% หรือ 56 ราย และมีเด็กถูกลักพาตัว 5 รายในปีที่ผ่านมา ช่วงอายุเฉลี่ยของเด็กที่หายออกจากบ้าน มากที่สุดคือช่วง อายุ 11-15 ปี รวม 138 ราย รองลงมาคืออายุ 16-18 ปี รวม 96 ราย และช่วงแรกเกิดถึงสิบขวบ รวม 62 ราย
ข้อมูลที่น่าเป็นห่วงตามรายงานคือ กลุ่มวัยรุ่นอายุ 11-15 ปี ถือว่ามีความเสี่ยงในการตัดสินใจหนีออกจากบ้าน โดยเฉพาะเด็กที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว ทำให้เด็กไปให้ความไว้วางใจเพื่อนหรือคนที่เพิ่งรู้จักในโลกออนไลน์ มากกว่าคนในครอบครัว จึงตัดสินใจหนีออกจากบ้านได้โดยง่าย โดยจากข้อมูล เด็กยอมไปกับคนที่เพิ่งรู้จักหรือพูดคุยกันผ่านแอปพลิเคชัน เช่น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม TikTok หรือแอปพลิเคชันหาคู่ (อ้างอิง 8)
การที่เด็กสามารถเข้าถึงโลกออนไลน์ได้อย่างแทบไร้ขีดจำกัดโดยยังไม่มีภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งพอในการใช้ชีวิตในโลกออนไลน์จึงน่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นักล่าสามารถเข้าถึงตัวเหยื่อได้อย่างง่ายดายยิ่งกว่าการเข้าถึงตัวโดยตรงเช่นการล่าเหยื่อแบบเดิม เด็กจำนวนไม่น้อยจึงกลายเป็นผู้ถูกคุกคามทางเพศบนโลกออนไลน์หรืออาจเลยไปถึงการถูกคุกคามทางเพศจริงๆในที่สุด หากเด็กเหล่านี้ขาดภูมิคุ้มกันจาก ครอบครัว สถาบันการศึกษาและนโยบายระดับชาติต่อภัยคุกคามของโลกออนไลน์ เด็กเหล่านี้ก็จะเผชิญกับภัยที่คาดไม่ถึงโดยลำพังและอาจตกเป็นเหยื่อของนักล่าได้ไม่วันใดก็วันหนึ่ง
เหยื่อต้องต่อสู้กับใคร
ผลสำรวจต่อเนื่องของ ‘Disrupting Harm’ ที่เผยแพร่โดยสำนักข่าวอิศรายังพบว่า เด็กที่เปิดเผยการถูกแสวงหาผลประโยชน์และการล่วงละเมิดทางเพศออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ กลับได้รับประสบการณ์ที่โหดร้ายแทนที่จะได้รับความเข้าอกเข้าใจ เช่น ความรู้สึกอับอาย ถูกตำหนิ และความรู้สึกที่ทำให้พวกเขาไม่ต้องการพูดหรือเปิดเผยเรื่องราวอีก
ขณะที่บางคนก็รู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้ถูกมองว่าเป็นผู้เสียหาย แต่เป็นผู้รับผิดชอบต่อการล่วงละเมิดทางเพศและการแสวงหาประโยชน์ทางเพศทางออนไลน์ซึ่งพวกเขาต้องกล้ำกลืนฝืนทน และเด็กๆ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่าพวกเขาเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายและสาธารณชนมีมุมมองเช่นนั้นต่อพวกเขา นอกจากนี้ ผู้เสียหายยังคงต้องเผชิญหน้ากับผู้กระทำความผิดในศาล โดยเด็กๆ ที่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีเล่าถึงความทุกข์ทรมานใจ ที่ต้องนั่งอยู่ในห้องพิจารณาคดีและเผชิญหน้ากับผู้กระทำความผิด (อ้างอิง 1)
ผลสำรวจข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า นอกจากจะได้รับความทุกข์ทรมานทางใจที่ได้รับจากการคุกคามของนักล่าแล้ว เด็กยังต้องเผชิญกับแรงกดดันรอบด้านจากการขาดความเข้าใจจากสังคมและผู้เกี่ยวข้อง การถูกตำหนิ ทำให้อับอาย คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กไม่กล้าบอกใครแม้แต่คนใกล้ชิด ผลสำรวจดังกล่าวสอดคล้องกับการศึกษาของมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกาซึ่งพบว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงที่ถูกคุกคามทางเพศในที่ทำงานจะไม่ยอมบอกใคร(อ้างอิง 2)
การที่เหยื่อต้องตกอยู่ในสภาวะที่หาทางออกไม่ได้จึงเป็นเหมือนการต่อสู้ระหว่างตัวเองกับความไม่ลงรอยกับสภาพแวดล้อมรอบตัว ซึ่งได้แก่
•เหยื่อต้องต่อสู้กับนักล่าเหยื่อหรือฝูงนักล่าเหยื่อซึ่งแฝงตัวอยู่ทั่วไปในโลกออนไลน์
• เหยื่อต้องต่อสู้กับแพลตฟอร์มเพื่อขอให้ลบคอนเทนต์ที่แสดงการคุกคามทางเพศของตัวเองออกไป
• เหยื่อต้องต่อสู้กับทัศนคติเชิงลบและความไม่เข้าใจของคนรอบข้าง
• เหยื่อต้องต่อสู้กับความไม่รู้หรือการเพิกเฉยของเจ้าหน้าที่
• เหยื่อต้องต่อสู้กับช่องว่างของกฎหมายที่ไม่เอื้ออำนวยให้นำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้
• เหยื่อต้องต่อสู้กับ ที่ทำงาน โรงเรียน มหาวิทยาลัย ฯลฯ ที่ต้องการให้เหยื่อปิดปากเงียบ หยุดเรียนหรือออกจากงาน เพราะไม่ต้องการให้สถานที่ของตัวเองเป็นข่าวในเชิงลบ
• เหยื่อต้องต่อสู้กับตัวเองในการก้าวข้ามความกลัวถูกตำหนิ ประณามและการเสีย ชื่อเสียงของตัวเองและครอบครัว
แรงกดดันต่างๆที่เหยื่อได้รับทั้งจากพฤติกรรมของนักล่าและจากสังคมทำให้เหยื่อจำนวนไม่น้อยจมอยู่ในความทุกข์ บางรายหาทางออกด้วยการทำตัวเองให้สาบสูญไปจากโลกด้วยการหยุดติดต่อผู้คนทุกช่องทาง ย้ายที่อยู่ หยุดเรียน ออกจากงาน เปลี่ยนชื่อ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะถูกคุกคามต่อได้และเหยื่อบางคนหาทางออกไม่ได้จนถึงขั้นจบชีวิตตัวเอง จากการวิเคราะห์คดีของหน่วยงาน เอฟบีไอ สหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2015 จากคดี Sextortion จำนวน 43 คดีที่เด็กตกเป็นเหยื่อของการคุกคามทางเพศ พบว่าอย่างน้อยที่สุดมีคดี 2 คดีที่เหยื่อเลือกที่จะจบชีวิตตัวเองและเหยื่ออย่างน้อยที่สุดอีก10 คนมีความพยายามจบชีวิตตัวเองเช่นเดียวกัน(อ้างอิง2)
โลกไซเบอร์น่ากลัวกว่าที่คิดเพราะนักล่าทั้งสี่ประเภทเหล่านี้จะวนเวียนอยู่รอบตัวของทุกคนโดยเฉพาะผู้หญิงและเด็กที่ท่องอินเทอร์เน็ตกำลังตกเป็นเป้าหมายถูกส่องจากนักล่าอยู่ตลอดเวลาเพื่อรอโอกาสเข้าหาเหยื่อผ่านโซเชียลมีเดียและแอปหาคู่ที่มีอยู่ดาษดื่นและเมื่อใดก็ตามที่เหยื่อเข้าไปติดกับของนักล่าเหล่านี้ชีวิตที่เคยปกติสุขจะเปลี่ยนไปทันที นอกจากทุกข์ทางใจแล้วในหลายกรณีอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตจริง นับตั้งแต่ การต้องหยุดเรียนกลางคันหรือออกจากโรงเรียน สูญเสียอาชีพ ถูกติดตามถึงบ้าน ถูกลวงไปทำอนาจารและถึงขั้นข่มขืน เป็นต้น
แม้ว่าการคุกคามบนโลกออนไลน์จะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากสำหรับเด็ก เยาวชน และคนทั่วไป แต่ ครอบครัว คนใกล้ชิดและภาครัฐต้องไม่ถือว่าภัยประเภทนี้เป็นความปกติและปล่อยให้เหยื่อต่อสู้แต่เพียงลำพัง นอกจากการเอาใจใส่ต่อภัยของการคุกคามทางเพศจากนักล่าและการสร้างทัศนคติทางสังคมที่ถูกต้องแล้ว รัฐควรต้องจัดสรรงบประมาณจำนวนหนึ่งและบุคลากรที่เพียงพอในการให้ ความรู้ ช่วยเหลือ และรณรงค์ถึงภัยเหล่านี้อย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นเกราะป้องกันและสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็กและผู้ที่มีโอกาสตกเป็นเหยื่อทางเพศจากนักล่าเหยื่อที่อยู่ในมุมมืดของโลกออนไลน์
อ้างอิง
1. สถิติการคุกคามทางเพศออนไลน์ของคนไทย https://isranews.org/article/isranews-scoop/106857-isranews-Thailand-a.html
2. Nobody’s victim โดย Carrie Goldberg
3. The Private is political โดย Alice E.Marwick
4. Hate Crimes in Cyberspace โดย Danielle Keats Citron
5. https://fandom-grammar.livejournal.com/59739.html
6. https://edu.gcfglobal.org/en/thenow/what-is-trolling/1/
7. https://www.unicef.org/thailand/th/onlinesafety
8. สถิติเด็กหาย ปี 2566 https://mgronline.com/crime/detail/9670000002995
ข้อมูลประกอบ
1.จับหนุ่มปล่อยคลิปหลุดอดีตแฟนสาว ‘พยาบาลรพ.ดัง’ ขณะมีเพศสัมพันธ์ว่อนโซเชียล https://www.dailynews.co.th/news/3078419/
2. จับ 4 Sex Creator ชื่อดัง ลวงสาว 16 ทำคลิปลามก ว่อน Twitter และ OnlyFans https://www.thairath.co.th/news/crime/2756497
3. ตำรวจ ปทส.ตามรวบหนุ่มพิจิตร ชวนสาวเซ็กโฟน ก่อนแอบอัดคลิป แบล็กเมลข่มขู่รีดเงิน 5 แสนบาท https://mgronline.com/crime/detail/9670000005390