“...นางสาวแพทองธารเป็นแดนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญ แต่ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันคือ นายเศรษฐา ทวีสิน ดังนั้น ขณะนี้จึงไม่มีความจำเป็นใดๆที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี ส่วนปัจจัยที่จะมีผลกระทบกับการปรับเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีคือปัญหาเรื่องเศรษฐกิจโลก ไม่ใช่เสถียรภาพของรัฐบาล เพราะตอนนี้เสถียรภาพของรัฐบาลค่อนข้างเหนียวแน่น…”
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี สรุปภาพรวมการทำงานของรัฐบาล 108 วันและให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในประเด็นต่างๆเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา
@ 3 เดือนแรก แก้เศรษฐกิจเร่งด่วนก่อน / ต่างชาติรุมตอมฐานรถ EV
เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เริ่มต้นว่า ในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลดำเนินการทุกงานอย่างมียุทธศาสตร์ ทุกอย่างถูกบรรจุไว้ในคำแถลงนโยบายของรัฐบาล หากกลับไปดูทุกเรื่องจะถูกขยับจากคำแถลงนโยบายนี้ ดังนั้น 3 เดือนแรก เป็นการเข้ามาเร่งทำงาน เรื่องใหญ่ๆคือเศรษฐกิจประเทศไทยมีปัญหา ตัวชี้วัด อัตราเงินเฟ้อไหลลงมาเรื่อยๆ สวนทางกับหนี้สินของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท/เดือน ล้วนแต่มีหนี้สินทั้งสิ้นและบอกชัดเจนว่า หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนแตะระดับ 91.6% ต่อจีดีพี ดังนั้น รัฐบาลก็เร่งทำงานตั้วงแต่การลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน การดำรงชีวิตและปัจจัยด้านเศรษฐกิจ
ส่วนการหารายได้เข้าประเทศ จะเน้นที่การกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญทั้งการดูแลสนามบินและวีซ่าต่างๆ และไม่ลืมที่บรรดานักเศรษฐศาสตร์แนะนำให้ต้องเพิ่มการลงทุน นายกรัฐมนตรีจึงใช้จังหวะที่ไปภารกิจต่างประเทศบ่อยครั้ง ในการกระชับความสัมพันธ์และเปิดตลาด เพื่อดึงดูดการลงทุน เมื่อประเทศต้องการการลงทุน เชื่อว่าที่รัฐบาลทำไว้ 3 เดือนนี้จะออกดอกออกผลชัดเจน เช่น ยุทธศาสตร์ในการสร้างฐานการผลิตรถยนต์ EV ในไทย เพราะประเทศเราเป็นฐานผลิตและส่งอออกรถยนต์ โดยในระยะหลังยอดตกลงไป อันเป็นผลมาจากกระแสการใช้งานรถยนต์ EV ซึ่งตอนนี้แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าของจีนลงมาไทยแล้วทั้ง 4 เจ้า และจะมีอีก 2 เจ้าจะเข้ามา นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังอยู่ระหว่างชักชวนกลุ่มบริษัท Tesla ของนายอีลอน มักส์เข้ามาลงทุนในประเทศด้วย
“ผู้บริหารของ Tesla มาที่ประเทศไทย ผมเองก็มีโอกาสร่วมกับท่านนายกฯช่วงลอยกระทงที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งทาง Tesla ก็พอใจและกำลังสำรวจสถานที่เพื่อจัดตั้งโรงงานอย่างจริงจัง และนอกจาก tesla แล้ว เมื่อเร็วๆนี้ที่กลับมาจากประเทศญี่ปุ่น สิ่งที่สำคัญที่ทำให้เห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงชัด ก็คือการที่ผู้นำของประเทศญี่ปุ่นประกาศชัดว่าจะร่วมมือกับกลุ่มประเทศอาเซียนในการปั้นเป็นฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เพราะทางญี่ปุ่นต้องการปรับตัว โดยนายกรัฐมนตรีได้พูดคุยกับ 7 ผู้ประกอบการด้านยานยนต์ในประเทศญี่ปุ่นแล้ว โดยได้คำมั่นสัญญาว่าจะมาลงทุนจริงๆเพื่อปรับเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าในรอบ 5 ปีมูลค่าเกือบ 2 แสนล้านบาท” เลขาธิการนายกรัฐมนตรีระบุ
นายกรัฐมนตรีพบหารือกับบริษัท Honda Motor Ltd. ณ ห้อง A ชั้น 5 โรงแรมอิมพีเรียลโตเกียว 15 ธันวาคม 2566
ที่มาภาพ: สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล
@Google-Apple พร้อมเข้าไทย จีบ Huawei พัฒนา AI
นพ.พรหมินทร์ กล่าวต่อไปว่า อุตสาหกรรมต่อไปที่จะพูดถึงคือการพัฒนาด้าน Digital Economy ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพไม่น้อย จะเห็นได้ว่าในการเดินนโยบายด้านการต่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยวางตัวไม่เป็นศัตรูกับใคร ถือเป็นจุดเด่นสำคัญเพราะประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ที่ผ่านมาเรื่องสถานการณ์ทางการเมืองทำให้ประเทศไทยไม่เป็นไปอย่างที่คิด ปัจจุบันรัฐบาลกำลังฟื้นจุดเด่นตรงนี้ขึ้นมาใหม่
ปัจจุบัน Google ก็ประกาศแล้วในเว็บไซต์ของ Google เองว่า สนใจที่จะลงทุนในประเทศด้าน Data Center หรือแม้แต่บริษัท Microsoft และอีกบางเจ้า เช่น บริษัท AWS หรือ Apple เองก็ส่งจดหมายเข้ามายืนยันว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่จะลงทุนทางด้านนี้เพิ่มเติม โดยประเทศไทยมีผู้ลงทะเบียนเพื่อพัฒนาแอพพลิเคชั่นประมาณ 300,000 ราย แสดงให้เห็นว่าคนไทยก็มีความชำนาญทางด้านนี้ สิ่งที่รัฐบาลต้องทำต่อคือการปรับปรุงระเบียบต่างๆให้ทันสมัย โดยได้แก้กฎระเบียบต่างๆให้สอดคล้องกับการลงทุนโดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
ขณะเดียวกัน จะต้องคิดถึงกระแสโลก นั่นคือ การใช้พลังงานสะอาด ซึ่งกระทรวงพลังงานจะต้องรับโจทย์ข้อนี้ไปทำด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลทำงานร่วมกันเป็นคณะรัฐมนตรีของประชาชน
ทั้งนี้ ไทยเองก็ไม่ได้จะเอาแต่ชาติตะวันตกอย่างเดียว เมื่อเร็วๆนี้ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ลงนามเซ็นสัญญากับบริษัท Huawei ในการลงทุน Data center ในการเซ็นสัญญาได้มีการผูกเรื่องของการให้มีการพัฒนาคนไทยจำนวน 10,000 คนต่อปี เป็นระยะเวลาติดต่อกัน 5 ปี สำหรับด้านการพัฒนาด้าน AI เพราะโลกข้างหน่า AI จะเกี่ยวข้องกับชีวิตคนมากขึ้น รัฐบาลไม่ต้องการเป็นผู้ล้าหลัง แต่ต้องการที่จะไปยืนอยู่แถวหน้าแถวเดียวกับประเทศเหล่านี้ เพราะประเทศไทยมีศักยภาพ แต่เรื่องดังกล่าวจะยังต้องควบคู่ไปกับการสร้างรายได้ด้วย
เลขาธิการนายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า ส่วนด้านสังคมและกระบวนการความยุติธรรม เน้นการแก้ปัญหายาเสพติด นำผู้เสพยาเสพติดนำมาบำบัดรักษา ตัดตอนผู้ค้า และเผาทำลายยาเสพติดทันทีที่จับกุมได้ รวมถึงเร่งแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อแก้ปัญหาอาชญากรรมในภาพรวม และเร่งจัดการหนี้นอกระบบของประชาชนด้วย
ขณะเดียวกันรัฐบาลยังได้ผลักดันนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ เพื่อดึงศักยภาพของคนไทยมาใช้ในการสร้างรายได้ เหล่านี้ คือเรื่องเก่าที่กำลังจะออกดอกออกผล
นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมบูธ Microsoft และ Boeing ณ ศูนย์ประชุมมอสโคนีเซ็นเตอร์ นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566
ที่มาภาพ: สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล
@ขออย่ามอง รบ.จัดสรรงบ = แบ่งเค้ก
นพ.พรหมินทร์ กล่าวว่า เมื่อเปิดปี 2567 ประเด็นงบประมาณจะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ จะมีข้อท้วงติงบ้างในกรณีที่ประชาชนจับตารัฐบาลแล้วมีการตีความว่า งบประมาณที่มีการจัดสรรคือการแบ่งเค้กนั้น มันไม่ใช่ รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลของประชาชน งบประมาณแผ่นดินคืองบของรัฐบาลที่เก็บจากประชาชน เพื่อเอามาใช้จ่ายในการบริหารจัดการเพื่อให้เศรษฐกิจโต ปัจจุบัน GDP ของประเทศอยู่ที่ 18 ล้านล้านบาท แต่งงบประมาณรายจ่ายประจำปีคิดเป็นแค่ 1 ใน 6 ของ GDP หรือประมาณ 3 ล้านล้านบาท/ปีเท่านั้น ซึ่งรัฐบาลจะต้องใช้เงินจำนวนนี้ในการทำให้เศรษฐกิจโดยรวมโตขึ้น เศรษฐกิจก็จะดีขึ้น การดูแลประชาชนก็จะทำได้ดีขึ้น มีเงินมาใช้จ่ายมากขึ้น สวัสดิการที่จะต้องดูแลก็จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ
@ฉายภาพปี 67 เศรษฐกิจโลกท้าทาย
เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงภาพรวมปี 2567 ว่า ประเทศไทยจะยังต้องเจอภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกไม่ดี จะเผชิญกับความท้าทาย ซึ่งรัฐบาลจะพยายามฝ่าเรื่องเหล่านี้ไปให้ได้ ประเทศเรายังมีศักยภาพอื่นๆซ่อนเร้นอยู่ เช่น เรื่องเกษตรกรรม ที่รัฐบาลมีนโยบายแปลงเอกสารสิทธิต่างๆ เพราะเกษตรกรต้องการที่ดิน ต้องการน้ำ ต้องการพันธุ์พืชที่ดี และต้องการตลาด รัฐบาลจะทำเรื่องเหล่านี้ให้ครบ
การที่นายกรัฐมนตรีไปต่างประเทศ นอกจากการชักชวนให้เข้ามาลงทุนแล้ว ยังมีการหาตลาดสำหรับผลผลิตทางการเกษตร หาการลงทุนในภาคเกษตร รัฐบาลจะกลับมาฟื้นภาคเกษตร โดยนอกจากผลผลิตจำพวกข้าวแล้ว นายกรัฐมนตรีกำลังเร่งรัดในเรื่องของการปลูกถั่วเหลืองเพื่อเป็นอาหารสัตว์และอาหารโปรตีน โดยการปลดพันธนาการบางอย่าง ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีจากร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพราะผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองในปัจจุบันประเทศไทยยังต้องนำเข้าอยู่ รัฐบาลจึงคิดว่า แทนที่จะซื้อจากต่างประเทศ ทำไมไม่ซื้อจากเกษตรกรไทย เพราะฉะนั้นเรื่องถั่วเหลืองได้รับความสำคัญ
ย้อนกลับที่เรื่องที่ดิน ในส่วนของที่ดินประเภท ส.ค.1 (ใบแจ้งการครอบครอบที่ดิน) ซึ่งจะดำเนินการให้เป็นโฉนดที่ดินนั้นเคยทำมาแล้วในปี 2553 แต่หยุดไป รัฐบาลจะเร่งดูแลให้จบภายใน 4 ปี มีกลุ่มเป้าหมายประมาณ 1 ล้านราย ในปีแรกคาดว่าจะออกโฉนดได้ประมาณ 250,000 ราย ขณะที่ที่ดิน ส.ป.ก.กระทรวงเกษตรได้เริ่มไปแล้ว
@ต้องรื้อกฎหมาย - ระเบียบ หนุนลงทุน-ธุรกิจให้ง่ายขึ้น
ผู้สื่อข่าวถามถึง 3 เดือนที่ผ่านมา มีอะไรที่ยังไม่พอใจบ้าง นพ.พรหมินทร์ตอบว่า สิ่งที่อยากทำมีมากกว่านี้ แต่ส่วนใหญ่ยังติดเรื่องข้อกฎหมายหรือข้อกำหนดของหน่วยงานราชการ รวมไปถึงการสร้างความเข้าใจระหว่างคน และสำคัญคือ ปัญหาที่ไม่ได้คาดการณ์ไว้ เช่น ปัญหาน้ำท่วมทางภาคใต้, ปัญหาการสู้รบระหว่างประเทศอิสราเอลกับกลุ่มปาเลสไตน์ เป็นต้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีไม่ได้นิ่งนอนใจ เมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆเหล่านี้ขึ้นก็ได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงไปดูแลตลอด
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า แล้ว 3 เดือนที่ผ่านมา มีงานอะไรที่เข้าเป้ามากที่สุด นพ.พรหมินทร์ตอบว่า การกอบกู้เกียรติภูมิประเทศไทยในเวทีโลก ทำให้ประเทศไทยได้เปิดตลาด และสิ่งที่อ่อนด้อยของประเทศตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาคือ การสามารถฟื้นความเชื่อมั่นให้กับบรรดาประเทศต่างๆ ซึ่งทำให้เศรษฐกิจของเราเติบโตได้ วันนี้รัฐบาลไม่ได้ทำงานเฉพาะในประเทศไทย โลกทั้งโลกเชื่อมถึงกันหมด การฟื้นความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยว การฟื้นความเชื่อมั่นด้านการลงทุนจากต่างประเทศ สิ่งเหล่านี้ส่งผลโดยตรงต่อประเทศไทย และความสามารถในการกอบกู้ประเทศจากวิกฤตต่างๆ ซึ่งเท่าที่ประเมินรัฐบาลทำได้รวดเร็ว
“ท่านอาจจะเห็นว่ารัฐบาลนี้อยู่ด้วยกันเป็นพรรคร่วม แต่ที่แท้เราเป็นรัฐบาลของประชาชน เมื่อเช้าเราคุยกันหลายกระทรวง ทุกคนคุยกันโดยเอาปัญหาของประชาชนเป็นที่ตั้ง หากมีข้อจำกัดด้านกฎหมายก็ช่วยกันขจัด แม้กระทั่งการเตรียมการในการแก้กฎหมายก็ได้ตั้งคณะกรรมการที่มี อ.ธงทอง จันทรางศุ เป็นประธาน ซึ่งจะทำให้การทำธุรกิจต่างๆง่ายขึ้น” เลขาธิการนายกฯระบุ
@’ทำ’ ดีกว่า ‘พูด’ ไม่สน ‘ก้าวไกล’ มาแรง
ต่อมา ผู้สื่อข่าวถามถึงประเด็นการเมือง โดยเริ่มต้นถามว่า สิ่งที่รัฐบาลดำเนินการทั้งหมด ได้ประเมินกระแสของนายทักษิณ ชินวัตรบ้างหรือไม่ว่าจะกระทบกับเสถียรภาพของรัฐบาล โดยเฉพาะประเด็น ‘นักโทษเทวดา’ เลขาธิการนายกรัฐมนตรีตอบว่า สิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ในกรอบของกฎหมาย รัฐบาลมีหน้าที่ทำประโยชน์ให้ประชาชน เรื่องราวและประเด็นที่มีการวิจารณ์ถ้าอยู่ในกรอบของกฎหมาย ก็เป็นเรื่องเฉพาะไป
ประเด็นถัดมา ผู้สื่อข่าวถามว่า กับกระแสของพรรคก้าวไกลและนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่มีตลอดมา นพ.พรหมินทร์ ตอบว่า ได้พูดกับได้ทำมันคนละเรื่อง สิ่งต่างๆเหล่านี้ แม้กระทั่งนโยบายการเกณฑ์ทหารโดยสมัครใจ เรื่องของกฎหมายสมรสเท่าเทียม กฎหมาย PM 2.5 รัฐบาลยึดมั่นในสิ่งที่หาเสียงไว้และดำเนินการ สิ่งต่างๆ รัฐบาลจะไปทำให้เป็นจริง ไม่ได้ว่าใช้หาเสียง มันถึงเวลาที่ต้องขอโอกาสเข้ามาทำงานให้ประชาชนจริงๆ
ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า ที่บอกว่าการทำกับการพูดแตกต่างกัน สิ่งที่รัฐบาลทำมาตลอด 3 เดือน หากมีการทำโพลสำรวจความคิดเห็นคิดว่ากระแสของรัฐบาลจะดีกว่ากระแสของพรรคก้าวไกลหรือไม่ นพ.พรหมินทร์ตอบว่า ไม่ได้พูดแบบนั้น รัฐบาลตั้งใจทำประโยชน์ ส่วนกระแสนิยมของรัฐบาล จะใช้ความจริงใจและผลงานในทางปฏิบัติดึงขึ้นมา เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ หากได้เห็นผลการปฏิบัติและความจริงใจของรัฐบาล จะสัมผัสได้ถึงความเป็นรัฐบาลของประชาชน
@ปี 67 ไม่ปรับ ครม. ไม่เปลี่ยนนายกฯ
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า ประเมินสภาวะทางการเมืองหลังเดือนพฤษภาคม 2567 ไว้อย่างไร เพราะเป็นช่วงที่สมาชิกวุฒิสภาชุดเดิมหมดวาระ และน่าจะเป็นสถานการณ์ที่ช่วยให้พรรคเพื่อไทยเข้มแข็งขึ้น เลขาธิการนายกรัฐมนตรีตอบว่า กติกายังเหมือนเดิม แต่วันนี้จะคิดแบบเดิมคือการแบ่งเป็นพวกแบ่งเป็นพรรคไม่ได้ เพราะรัฐบาลก็มาจากการผสมของหลายๆพรรค อย่างที่สื่อมวลชนตั้งฉายาว่าแกงส้มผลักรวม ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นการรวมตัวกันเพื่อประเทศ ส่วนเสียง รัฐบาล 314 เสียงเพียงพอไม่ต้องปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วใช่ไหม ก็ต้องถามกลับว่าการปรับครม.ทำเพื่ออะไร? ถ้าเป็นประโยชน์ต่อประชาชน โดยเป็นการปรับให้ทำงานคล่องตัวขึ้น หรือมีบุคคลที่เหมาะสมกว่าเข้ามา การปรับครม.ก็จะทำภายใต้เงื่อนไขนี้
ช่วงท้าย ผู้สื่อข่าวถามว่า ในวาระ 4 ปีของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย จะได้เห็นนางสาวแพทองธาร ชินวัตรหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่ เลขาธิการนายกรัฐมนตรีตอบว่า นางสาวแพทองธารเป็นแดนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญ แต่ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันคือ นายเศรษฐา ทวีสิน ดังนั้น ขณะนี้จึงไม่มีความจำเป็นใดๆที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี ส่วนปัจจัยที่จะมีผลกระทบกับการปรับเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีคือปัญหาเรื่องเศรษฐกิจโลก ไม่ใช่เสถียรภาพของรัฐบาล เพราะตอนนี้เสถียรภาพของรัฐบาลค่อนข้างเหนียวแน่น
ผู้สื่อข่าวถามย้ำอีกว่า กรณีกระบวนการยุติธรรมสั่นคลอนจากกรณีนายทักษิณ ชินวัตร จะเป็นปัญหาต่อรัฐบาลหรือไม่ นพ.พรหมินทร์ตอบว่า ถ้าอยู่ในกรอบกฎหมายทุกคนมีสิทธิ์แบบเดียวกัน คิดว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องของอยู่ในกรอบกฎหมายหรือเปล่า ซึ่งก็ต้องพิจารณากันตรงนี้ แต่หลักสำคัญคือหลักนิติธรรมที่เกิดขึ้นให้กับประเทศ ทั้งประเทศต้องไม่มี 2 มาตรฐาน ถ้าอะไรที่ปฏิบัติได้กับทุกคนก็เป็นอย่างนั้น
ส่วนปี 2567 จะได้เห็นนายทักษิณเข้ามาให้คำแนะนำหรือมีส่วนร่วมในการบริหารรัฐบาลหรือไม่ นพ.พรหมินทร์ตอบว่า ต้องยอมรับว่าตัวท่าน (ทักษิณ) เป็นคนที่มีความคิด ความเห็นที่ทันโลกและทันความเปลี่ยนแปลง ความคิดเห็นจากทุกทางไม่ใช่เฉพาะนายทักษิณ ถ้าเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย รัฐบาลก็รับฟังทั้งสิ้น