"...สิ่งที่เกิดขึ้นกำลังสะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการของรัฐที่อาจเอื้อประโยชน์ทางภาษี แก่ เอกชน ที่มีกระบวนการออกกฎหมายสนับสนุนกิจการของผู้เสียภาษีด้วยการให้สิทธิเสียภาษีในอัตราศูนย์ และทำให้สินค้าในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตผ่านการแปรรูปหรือแปรสภาพเพื่อให้หลุดจากการเป็นสินค้าควบคุม..."
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org): เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2566 สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การสุรา (สร.สร.) ร่วมกับสมาพันธ์แรงงานแห่งชาตินอร์เวย์ (LO-NORWAY) จัดเวทีเสวนาในหัวข้อ 'เปิดเสรีแอลกอฮอล์ (สุราสามทับ) ผลประโยชน์แสนล้าน ใครได้ใครเสีย' มีรายละเอียด ดังนี้
สุราสามทับ คือ เอทิลแอลกอฮอล์หรือสุรากลั่นที่มีแรงแอลกอฮอล์ตั้งแต่ 80 ดีกรีขึ้นไป เป็นสุรากลั่นชนิดหนึ่งซึ่งระบุอยู่ในบัญชีพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต
โดยคำว่าสุรา "สามทับ" มีพื้นฐานมาจากกระบวนการกลั่นสุราที่ต้องกลั่นถึง 3 ครั้ง จึงจะได้แอลกอฮอล์ที่มีแรงดีกรีสูง มีความบริสุทธิ์ และมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร การแพทย์ ฯลฯ เป็นสินค้าควบคุมที่ต้องขออนุญาตจากกรมสรรพสามิตตั้งแต่การผลิต ติดตั้งเครื่องจักร กรรมวิธีการผลิต ภาชนะบรรจุ ฉลาก และต้องขออนุญาตขายไปจนถึงขออนุญาตขนส่งสินค้า กระบวนการผลิตต้องจัดทำบัญชีประจำวันรายงานแสดงการรับจ่ายวัตถุดิบ การผลิต การจำหน่าย และยอดคงเหลือของสินค้า รวมถึงมีเจ้าหน้าที่สรรพสามิตประจำที่โรงงานเพื่อตรวจสอบการชำระภาษีก่อนนำสินค้านั้นออกจากโรงอุตสาหกรรม
ถึงแม้ "สุราสามทับ" จะดื่มกินไม่ได้เช่นเดียวกับ "สุรา" เพราะมีแรงแอลกอฮอล์หรือดีกรีสูง แต่หากนำสุราสามทับนั้นมาเจือจางน้ำแล้วก็จะสามารถดื่มกินได้เช่นเดียวกับสุราปกติ แต่มีการจัดเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำมากเพียงลิตรละ 6 บาทไปจนถึงการให้สิทธิทางภาษีในอัตราศูนย์บาทหรือไม่เสียภาษีกับอุตสาหกรรมบางประเภทที่นำสุราสามทับไปใช้ด้วย
ในขณะที่ "สุรา" มีการจัดเก็บภาษีในอัตราที่สูงถึงลิตรละ 150-1 500 บาท เพื่อจำกัดหรือควบคุมการบริโภคของประชาชน ซึ่งสุราสามทับถึงแม้จะเข้าข่ายเป็น "สุรา" แต่ก็ไม่สามารถจัดเก็บภาษีในอัตราที่สูงเช่นนั้นได้ เพราะสุราสามทับมีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเพื่อผลิตสินค้าที่มีผลต่อค่าครองชีพของประชาชนไม่ว่าจะเป็นยาและอาหาร
รัฐจึงต้องมีการจัดเก็บภาสุราสามทับในอัตราที่ต่ำกว่าสุราหลายร้อยเท่าซึ่งอาจจะเป็นช่องทางของกลุ่มบุคคลที่ซื้อเพื่อนำไปเจือจางน้ำแล้วบริโภคเป็นสุราจนเกิดเหล้าเถื่อนหรือนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ จึงเป็นเหตุให้ต้องจำกัดการจำหน่ายและควบคุมอย่างเข้มงวดโดยรัฐ คือ กฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 การผลิตสุราสามทับเพื่อจำหน่ายในประเทศอนุญาตให้เฉพาะรัฐวิสาหกิจไทยเท่านั้น
ส่วนสุราสามทับที่ผลิตโดยบริษัทเอกชนอนุญาตให้ผลิตและจำหน่ายเพื่อการส่งออกเท่านั้น
แต่ในปัจจุบันมีสินค้าชื่อ "วัตถุเจือปนอาหาร" วางจำหน่ายทั่วไปผ่านทางช่องทางออนไลน์ ที่มีคุณลักษณะของสินค้าเป็นเอทิลแอลกอฮอล์ที่มีแรงแอลกอฮอล์มากกว่า 80 ดีกรี ที่ฉลากจะระบุส่วนประกอบคือ เอทิลแอลกอฮอล์ 95% ผสมกับไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ 1.20 % มีการรับรองสินค้าเป็นเกรดอาหาร (Food Grade) ที่นำไปใช้ในการผลิตอาหาร ยา และอื่นๆ ได้
อีกทั้งยัง มีการโฆษณาว่าเป็นแอลกอฮอล์สำหรับใช้สกัดสมุนไพร รับประทานได้ เป็นเกรดอาหารชนิดที่ใช้ในการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผ่นการรับรองจาก อย.
ปัจจุบัน สินค้าวัตถุเจือปนอาหารดังกล่าว ที่ถึงแม้จะมีแรงแอลกอฮอล์หรือแรงดีกรีกลับมิได้เป็นสินค้าในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต แต่หากตรวจสอบกรรมวิธีการผลิตจะพบว่าสินค้าวัตถุเจือปน อาหารนั้น ใช้วัตถุดิบตั้งต้นที่เรียกว่า "สุราสามทับ" ในการผลิต และเป็นสินค้าที่ถูกผลิตขึ้นในโรงอุตสาหกรรมสุรา แต่มิได้อยู่ในการควบคุมกำกับของกรมสรรพสามิต ซึ่งสินค้านั้นกลับอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แต่เพียงผู้เดียว และไม่จัดเป็นสินค้าควบคุม สามารถจำหน่ายและการโฆษณาได้อย่างเสรีเช่นเดียวกับอาหารทั่วไป
หากตรวจสอบที่มาของสินค้าแอลกอฮอล์วัตถุเจือปนอาหารนี้ จะพบว่าผู้ผลิตคือบริษัทเอกชนที่ได้รับอนุญาตผลิตสุราสามทับ เพื่อการส่งออกจากกรมสรรพสามิต มีกระบวนการนำโรงอุตสาหกรรมสุราสามทับไปยื่นขอตรวจประเมินสถานที่ ผลิตเพื่อขออนุญาตตั้งเป็นโรงงานผลิตอาหารและให้ได้รับใบอนุญาตผลิตอาหารจาก อย. โรงงานผลิตสุราสามทับและโรงงานผลิตอาหารจึงเป็นโรงงานเดียวกัน จากนั้นดำเนินการแจ้งสูตรส่วนผสมต่อ อย.
โดยสูตรที่ยื่นนั้นคือเอทิลแอลกอฮอล์ที่มีแรงดีกรีมากกว่า 80 ดีกรี ภายหลังจากได้รับอนุญาตก็จะได้ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับอาหาร พร้อมเลขสารบบอาหารของผลิตภัณฑ์ หรือที่เรียกว่าเลข 13 หลักจาก อย. มาติดที่ฉลาก ซึ่งฉลากที่ปิดภาชนะบรรจุของแอลกอฮอล์จะถูกเปลี่ยนจากคำว่า "สุราสามทับ" เป็น "วัตถุเจือปนอาหาร"
นอกจากนี้ ในส่วนของกรมสรรพสามิต ได้มีการออกประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอใช้สิทธิเสียภาษีในอัตราศูนย์ สำหรับสุราสามทับที่นำไปใช้ในการอุตสาหกรรม โดย 1 ใน 9 อุตสาหกรรมตามประกาศฯ คือ อุตสาหกรรมผลิตวัตถุเจือปนอาหารได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิทางภาษีในอัตราศูนย์เพื่อนำ "สุราสามทับ" มาเป็นวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตสินค้าวัตถุเจือปนอาหารได้
โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ขอใช้สิทธิทางภาษีต้องมีใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับอาหารจาก อย. มาประกอบการขออนุญาต จากกรมสรรพสามิต มีผลทำให้บริษัทเอกชนนำสุราสามทับที่ผลิตไว้เพื่อการส่งออกกลับมาเป็นเป็นวัตถุดิบตั้งตันเพื่อผลิตสินค้าภายในโรงอุตสาหกรรมสุราแห่งนั้นที่ชื่อว่า "วัตถุเจือปนอาหาร" เพื่อจำหน่ายในประเทศ ทั้งที่คุณลักษณะของสินค้าวัตถุเจือปนอาหารที่ผลิตขึ้นและออกจำหน่ายยังคงอยู่ในรูปเอทิลแอลกอฮอล์ที่มีแรงดีกรี 95 ดีกรี ซึ่งไม่ต่างจากสินค้าในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตที่ชื่อว่า "สุราสามทับ" ที่องค์การสุราฯ เป็นผู้จำหน่าย
จึงสามารถสรุปได้ว่าโรงงานผลิตสุราสามทับและโรงงานผลิตวัตถุเจือปนอาหารเป็นโรงงานเดียวกันมีกระบวนการผลิตแบบเดียวกันดังนั้น สินค้าออกจากโรงงานไม่ว่าจะชื่อวัตถุเจือปนอาหาร สุราสามทับ หรือเอทิลแอลกอฮอล์ก็คือสินค้าตัวเดียวกัน
ในขณะที่องค์การสุราฯ ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เนื่องจากประเทศไทยมีกฎหมายที่ควบคุมมาตรฐานคุณภาพ ของแอลกอฮอล์เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคที่ควบคุมกำกับดูแล โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
องค์การสุราฯ จึงต้องนำสุราสามทับรับรองคุณภาพกับ อย.ขึ้นทะเบียนเป็นวัตถุเจือปนอาหารเช่นเดียวกันเพื่อให้การจำหน่ายสุราสามทับให้กับอุตสาหกรรมอาหารในประเทศเป็นไปอย่างถูกกฎหมายตามพระราชบัญญัติอาหาร
นอกจากนี้เพื่อให้การปฏิบัติตามกฎหมายเป็นไปตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต องค์การสุราฯ จึงได้จำหน่ายสุราสามทับในชื่อวัตถุเจือปนอาหารนี้แบบเสียภาษี ตามบัญชีท้ายกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต
สิ่งที่เกิดขึ้นกำลังสะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการของรัฐที่อาจเอื้อประโยชน์ทางภาษี แก่ เอกชน ที่มีกระบวนการออกกฎหมายสนับสนุนกิจการของผู้เสียภาษีด้วยการให้สิทธิเสียภาษีในอัตราศูนย์ และทำให้สินค้าในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตผ่านการแปรรูปหรือแปรสภาพเพื่อให้หลุดจากการเป็นสินค้าควบคุมโดยใช้ช่องว่างของกฎหมายสรรพสามิตจนทำให้กิจการของเอกชนกระทำได้โดยชอบกระบวนการที่เกิดขึ้นไม่ต่างจากกระบวนการเลี่ยงภาษีของสินค้า ที่ทำให้รัฐสูญเสียรายได้มากกว่า 700 ล้านบาทต่อปี และเปรียบเสมือนเป็นการเปิดเสรีสุราสามทับที่เป็นภารกิจหลักของรัฐวิสาหกิจตลอด 60 ปีให้กับเอกชน
สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อการประกอบกิจการขององค์การสุราฯ มีผลกระทบโดยตรงต่อการนำส่งรายได้เข้ารัฐ และรัฐสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีอย่างมหาศาล
ทั้งนี้ ผู้บริหารองค์การสุราฯ และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การสุราได้ร้องเรียนร้องเรียนเรื่องนี้ไปยังกรมสรรพสามิตตั้งแต่ปี 2564 และร้องเรียนอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลากว่า 2 ปีจนถึงปัจจุบัน เพื่อขอให้ตรวจสอบสินค้าวัตถุเจือปนอาหารว่าเข้าข่ายเป็น "สุรา" ที่ต้องมีการควบคุมอย่างเข้มงวดและเสียภาษีสรรพสามิตหรือไม่ เพื่อให้เกิดการสร้างมาตรฐานในการบริหารจัดเก็บภาษีที่เป็นธรรมและรักษาผลประโยชน์ของรัฐ
แต่จนถึงปัจจุบันกรมสรรพสามิตก็ไม่ตรวจพิสูจน์สินค้าวัตถุเจือปนอาหารตามที่มีการร้องเรียนและต้องสงสัยว่าเป็น "สุรา" แต่ตลอดระยะเวลาการถูกร้องเรียนกลับมีกระบวนการแก้ไขขั้นตอนต่าง ๆ ภายในกรมสรรพสามิต ทั้งเปลี่ยนวิธีรายงานผลการวิเคราะห์ทดสอบ โดยไม่รายงานผลการวิเคราะห์สินค้าเพื่อพิสูจน์ความเป็นสุราเหมือนที่เคยรายงาน มีการออกหนังสือสั่งการที่มีการบริหารระบบราชการในลักษณะเลือกปฏิบัติยกเว้นสงวนสิทธิให้กับเอกชนบางรายไม่ต้องตรวจพิสูจน์สินค้า ไปจนถึงการออกหนังสือสั่งการยกเลิกการตรวจสอบสินค้าก่อนการขอใช้สิทธิทางภาษี ที่ส่งผลให้ไม่มีการควบคุมการใช้สุราสามทับที่มีผลต่อการบริหารจัดเก็บภาษีสุราโดยตรงและอาจทำให้ราชการเสียประโยชน์
ปัจจุบัน องค์การสุราฯ เข้าสู่สภาวะขาดทุนเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปี นับตั้งแต่มีการจัดตั้ง และมียอดจำหน่ายสุราสามทับลดลงประมาณ 40-50% ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากลูกค้าไม่ซื้อสุราสามทับจากองค์การสุราฯ แต่เปลี่ยนไปซื้อสุราสามทับในชื่อวัตถุเจือปนอาหารจากบริษัทเอกชนที่ไม่ต้องเสียภาษี ไม่ต้องควบคุมการใช้ ไม่ต้องทำบัญชีรับ จ่าย คงเหลือเพื่อส่งกรมสรรพสามิต หรือที่เรียกว่าเป็นสินค้าที่หลุดจากการควบคุม
หากเป็นเช่นนี้ต่อไปท้ายที่สุดอาจนำไปสู่การที่องค์การสุราฯ ต้องยุติบทบาทหน้าที่ในฐานะหน่วยงานของรัฐที่เป็นผู้จัดทำบริการสาธารณะด้านสุราสามทับ (เอทิลแอลกอฮอล์) ของประเทศ ซึ่งถือเป็นสมบัติของชาติและประชาชน ที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านความมั่นคง และด้านอื่นๆ ของประเทศ
ทั้งนี้ กรมสรรพสามิตต้องมีการตรวจพิสูจน์สินค้าวัตถุเจือปนอาหาร ว่าเข้าข่าย "สุรา"ที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตหรือไม่ เพื่อสร้างมาตรฐานในการบริหารจัดเก็บภาษีที่ไม่ให้รัฐเสียประโยชน์ ยุติการแทรกแซงของภาคเอกชนที่ทำให้รัฐสูญสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่จะนำมาเพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศ สร้างความเป็นธรรมให้กับองค์การสุราฯ ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เพื่อทำหน้าที่ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายภายใต้กรอบของกฎหมายที่เป็นธรรม เพื่อเป็นเครื่องมือของรัฐที่สามารถจัดทำบริการสาธารณะด้านสุราสามทับและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องของประเทศให้เป็นแอลกอฮอล์ที่มีคุณภาพสูงเพื่อประชาชนคนไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป