"...อย่างไรก็ดี การวิเคราะห์นโยบายโดยการตีความตามที่ฟิสเชอร์เสนอ ไม่ได้มุ่งพิสูจน์ว่าความจริงที่ถูกเป็นอย่างไร เพราะมีฐานคติว่าความจริงเป็นสิ่งที่ประกอบสร้างจากสังคม นักการเมืองเขาก็สามารถสร้างความจริงอันเป็นเหตุผลทางเลือกของเขาขึ้นมาได้เอง ไม่ใช่เฉพาะผู้เชี่ยวชาญฝ่ายเดียวที่ผูกขาดความจริง พูดง่าย ๆ ว่า “ความจริงไม่ได้มีหนึ่งเดียว อย่างที่ครูปรีชาเชื่อ!!” ดังนั้น จึงมักถูกวิพากษ์จากพวกปฏิฐานนิยม (positivism) ที่เน้นการพิสูจน์เชิงประจักษ์ว่า ผลของการศึกษาไม่ถูกต้อง (invalid) หรือไม่มีพยานหลักฐานและข้อพิสูจน์เพียงพอ แต่ก็เป็นการวิพากษ์ที่มาจากคนละจุดยืน..."
ผมเคยเขียนเรื่องหลังความจริงหรือ “Post-Truth” ไปบ้างแล้ว แต่พอดีเจอหนังสือของแฟรงก์ ฟิสเชอร์ (Frank Fischer, 2021) ชื่อ “Truth and Post-Truth in Public Policy: Interpreting the Arguments” ของสำนักพิมพ์เคมบริดจ์ เนื้อในมี 86 หน้า หนังสือเล่มนี้อธิบายการวิเคราะห์นโยบายหลังความจริงหรือ “Post-Truth” โดยตรง เลยขอเอามาปรับกับตัวอย่างนโยบายในบ้านเรา
“Post-Truth” ตรงตัวแปลว่า “หลังความจริง” หมายถึง “ความจริง” ยุคข้อมูลข่าวสารที่มีอยู่มากมาย ซับซ้อนและสับสน พูดง่าย ๆ ว่ามีข้อมูลข่าวสารเยอะแยะไปหมด ไม่รู้อันไหนจริง อันไหนปลอม เช่น บางทีคนเผลอไปกดแอปอะไรเข้า ถูกดูดเงินเกลี้ยงบัญชี
สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะมนุษย์เราพัฒนาโลกอินเตอร์เน็ต อีเมล์และการเชื่อมต่อข้อมูลแบบอื่น ซึ่งเรียกรวม ๆ กันว่า “ไซเบอร์สเปซ” (Cyber Space) เดิมเราคิดว่าเป็นโลกเสมือนจริง (virtual reality) แต่ปัจจุบันมันเป็นจริงกว่าตัวมันเอง เรียกว่า “hyper-reality” หมายถึง มันเป็นจริงและเป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับมนุษย์ เช่น ตื่นมาคนก็กดโทรศัพท์อ่านข่าว ดูเมสเสจที่คนส่งมา หรือใช้เฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรมอวดรูป เสนอเรื่องราวของตัวเองและสื่อสารกับคนอื่น จอง โบดิลยาร์ (Jean Baudrillard) เรียกสิ่งที่คนเราก๊อปปี้หรือสร้างขึ้น แต่ดันสำคัญกว่าตัวจริง ว่า “Simulacrum” เช่น มนุษย์เป็นคนคิดไซเบอร์สเปซ แต่คนคิดชื่ออะไร ตอนนี้ไม่มีใครจำได้ แล้วก็ไม่ใครสนใจมากไปกว่าการใช้ประโยชน์จากมัน!!
การที่สังคมไซเบอร์สเปซจำเป็นต่อมนุษย์ แถมเข้าถึงได้ง่ายและสะดวกสบายนี่แหละ ที่ทำให้มีคนร้ายและคนเอาเปรียบ โดยการใช้ข้อมูลข่าวสารหลอกลวงหรือครอบงำ
โลกยุคหลังความจริง (Post-Truth World) จึงหมายถึงโลกที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารมากมายสับสน เต็มไปด้วยเฟก นิวส์ และการบิดเบือน ส่วนนโยบายหลังความจริง (Post-Truth Policy) ก็คล้ายกัน หมายถึง นโยบายสาธารณะที่เต็มไปด้วยการ “ปั่นกระแส” ด้วยกลวิธีทางการตลาดการเมือง จนไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วนโยบายนั้น ๆ คืออะไรกันแน่ เช่น นโยบาย Soft Power ของไทย ทว่า นโยบายดังกล่าวอาจทำให้คนฝันเฟื่องเกินความจริงและมองด้านดีด้านเดียว
ที่จริงนโยบาย Soft Power ของไทยเป็นการประกอบสร้างความจริงทางสังคม (social construction) ขึ้นมาใหม่ โดยนำ Soft Power ของนโยบายต่างประเทศมาปรับใช้ ขณะที่นโยบาย Soft Power ต้นฉบับเขาหมายถึงการใช้ “ไม้นวม” ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศเพื่อให้ประเทศอื่นทำตาม โดยไม่ต้องใช้ “ไม้แข็ง” คือ กำลังทหารบังคับ
ส่วนนโยบาย Soft Power ไทย มีความหมายคลุมเครือ คนสร้างก็ยังไม่รู้ว่ามันคืออะไรกันแน่? จึงอ้างว่า “มูฟออนดีกว่า” อย่าไปพูดถึงความหมายเลย ใจจริงคิดว่ามันเท่และครอบคลุมหลายอย่าง
อิทธิพลการครอบงำของ “Soft Power” มีมาก เริ่มติดปากคน เช่น วันก่อนข้างบ้านผม สาวแซวหนุ่ม ๆ ว่า “แหม ตอนเที่ยงไปกินอะไรกันมา กลิ่นละมุดหึ่งเลย! ใช่ Soft Power หรือเปล่า?”
Soft Power ไม่ได้แปลว่า “พลังละมุน” แล้ว ตอนนี้ไปไกลถึงความหมาย “พลังละมุด” (เอิ๊ก!!)
ประเด็นด้านลบของการประกอบสร้างข้อมูลข่าวสารทางการเมืองเช่นนี้ ฝรั่งเรียกว่า “disinformation” แปลตรงตัวว่า “ข้อมูลบิดเบือน” แต่จริง ๆ ไม่ได้บิดเบือนทีเดียว มันเป็นการ “ปั่นข่าว” หรือ “ปั่นกระแส” เสียมากกว่า ตัวอย่างเช่น คุณถึกโพสต์ในเฟสบุ๊คตัวเองว่าพอเขียนถึง “เศรษฐา” จบปุ๊บ มีคนมาเม้นท์เป็นร้อย แต่ส่วนใหญ่โพสต์ว่า “เศรษฐา” ดีอย่างนั้น ดีอย่างนี้
สมัยก่อนเรียกว่า “โฆษณาชวนเชื่อ” (Propaganda) ไม่นานมานี้เราเคยเรียกว่า “IO” นัยว่าหมายถึงการปั่นข่าวของรัฐ แต่ปัจจุบันไปไกลกว่านั้นมาก ทีมปั่นข่าวของพรรคการเมืองน่าจะมีหลายทีมหลายพรรค? แต่ละพรรคตั้งทีมทำงานประจำกันเป็นเรื่องเป็นราว เราต้องการสร้างข่าวอะไร ก็สร้างพล็อตเรื่อง แล้วให้ทีมงานช่วยกันปั่น บางทีน้อง ๆ ที่รับงาน เธอก็ไม่รู้จักดัดแปลงเป็นข้อความอย่างอื่น จนคนอ่านเขารู้ทัน เช่น กรณีคุณถึก พบว่า ข้อความที่เขียนมาเหมือนกัน โดยมี “ธีม” อยู่ที่คำว่า “พลังนุ่มนิ่ม”
ย้อนมาดูหนังสือฟิสเชอร์ เขียนว่า แนวคิดเก่าซึ่งหมายถึงแนวคิดของสำนักปฏิฐานนิยม (positivism) เห็นว่าเมื่อ “disinformation” ไม่ใช่ความจริง เราก็เอาความจริง (truthiness) ไปสู้เขาสิ!! แต่ฟิสเชอร์ว่าคิดอย่างนั้นไม่ถูก ด้วยเหตุผลสองประการ
ประการแรก การเอาความจริงมาสู้ ต้องพิสูจน์ แล้วเราจะพิสูจน์อย่างไรว่าอะไรมันจริงหรือมัน ไม่จริง ประกอบกับมันมีอิทธิพลต่อคนรับสารไปแล้ว เราเรียกคืนได้ไหมล่ะ?
เช่น กรณี Soft Power ของไทย หมายถึง สินค้าวัฒนธรรมหรืออำนาจวัฒนธรรมไทย? หรือกระบวนการส่งสินค้าวัฒนธรรมไทยไปขายต่างประเทศ? หรือว่าเรามีนโยบายส่งอำนาจวัฒนธรรมไทยออกไปครอบงำโลก? ถ้าหากเราจะขายสินค้าวัฒนธรรมและเราคิดจะครอบงำโลกด้วย เราไปบอกเขาก่อนทำไม? เขาจะยอมให้เราครอบงำง่าย ๆ หรือ? หรือว่าเอาแค่กระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ? หรือแค่ตลาดสินค้าพื้นเมือง? หรือแค่ส่งเสริมการกีฬา ดนตรี หรือเกม?? มันไม่สามารถขีดขอบเขตความหมายที่ชัดเจนได้ แต่ฟังแล้วคล้ายกับว่า “สังคมไทยมีพลังอำนาจอะไรสักอย่างนานมาแล้ว” แต่รัฐบาลก่อน ๆ ไม่รู้จักใช้ รัฐบาลนี้ฉลาดกว่าเยอะ สามารถนำพลังนั้นไปขายเอาเงินเข้าประเทศได้มหาศาล!!
ประการที่สอง วิธีการพิสูจน์เป็นการศึกษาเชิงประจักษ์ (empirical study) นอกจากยาก เพราะมีหลายมิติครอบคลุมไปหมดแล้ว ยังตื้นด้วย เช่น Soft Power ไทยแบ่งได้ 11 ประเภท จึงบอกเนื้อหา ข้างในได้ไม่มาก เนื่องจากมีแค่กรอบโครง ปัจจุบันโลกเราไปถึงยุคหลังปฏิฐานนิยม (post-positivism) แล้ว การศึกษานโยบายสาธารณะอาศัยการตีความเพื่อทำความเข้าใจได้ มิหนำซ้ำได้ความรู้ที่ลึก (insight) กว่าที่ปรากฏอยู่พื้นผิว เพราะเป็นความรู้จากมโนธรรมสำนึกและประสบการณ์ตามปรัชญาปรากฏการณ์นิยม (phenomenology) เลยไปไกลกว่าการศึกษากระบวนนโยบายเชิงเหตุผล ขณะนี้แนวทางการตีความนโยบายสาธารณะเริ่มใช้กันแพร่หลายมากแล้ว
ฟิสเชอร์ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “การปั่นกระแส” ทางการเมืองและนโยบายสาธารณะ เกิดขึ้นมากในประเทศที่การเมืองเป็น “ประชานิยม” เช่น โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ในสหรัฐอเมริกา แล้วก็ประเทศอื่น เช่น บราซิล ฮังการี ฟิลิปปินส์ อิตาลี ออสเตรเลีย โปแลนด์ อินเดีย และที่ขาดไม่ได้ คือ Thailand !
สำหรับการใช้แนวการตีความวิเคราะห์นโยบายหลังความจริง หรือ “Post-Truth” ฟิสเชอร์อธิบายว่ากระทำโดยการย้อนไปดู subjective arguments/dimensions ที่อยู่ในนโยบาย “Post-Truth” หมายความว่าดูข้ออ้างหรือเหตุผลเชิงอัตวิสัยของการสร้างนโยบาย “Post-Truth” จะทำให้เราเข้าใจการเมืองและการครอบงำของนโยบาย “Post-Truth”
ทว่าเขาอธิบายว่าก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า คนที่ประกอบสร้างนโยบาย “Post-Truth” เขาไม่ได้สนใจ evidence-based หมายถึงเขาไม่สนใจที่จะค้นหาสารัตถะความจริงอะไรตามหลักเหตุผล เช่น กระบวนนโยบายสาธารณะตามหลักเหตุผล ต้องระบุก่อนว่าอะไรคือปัญหา? มีสาเหตุจากอะไร? ทางแก้ล่ะจะทำอย่างไร? แล้วสร้างทางเลือกขึ้นมาหลาย ๆ ทาง ต่อจากนั้น ก็เอามาวิเคราะห์และชั่งน้ำหนัก ทางเลือกนี้ได้อะไร-เสียอะไร? ทางเลือกโน้นได้อะไร-เสียอะไร? เสร็จแล้วจึงเลือกทางเลือกที่ดีที่สุดหรือเหมาะสมที่สุด นำไปกำหนดเป็นนโยบายเพื่อแก้ปัญหาที่สังคมกำลังเผชิญ ถ้ายังแก้ไม่ได้อีก ก็นำปัญหากลับมาเริ่มต้นวิเคราะห์ใหม่และหาวิธีการแก้ใหม่ไปเรื่อย ๆ
สาเหตุที่นโยบาย “Post-Truth” ไม่สนใจหลักเหตุผลมากนัก ก็เพราะหากรัฐบาลสนใจมากและทำตามหลักเหตุผลมาก ก็เสร็จผู้เชี่ยวชาญ ผู้เชี่ยวชาญก็ใหญ่กว่านักการเมือง!! กลายเป็นว่าประเทศหรือโลกถูกครอบงำโดยผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ เรียกว่า “Epistocracy” หมายถึงการปกครองโดยอาศัยความรู้หรือโดยผู้มีความรู้ (knowledge-based rule or rule by knowers) รัฐบาลประชานิยมจึงสนใจหลักเหตุผลในระดับเบาบาง
ยุคปัจจุบัน คนที่พาโลกทำนโยบายหลังความจริงหรือ “Post-Truth ในสหรัฐอเมริกา คือ ทรัมป์ เพราะเขาเป็นคนแรก ๆ ที่ตัดหรือลดอำนาจผู้เชี่ยวชาญ แล้วตัดสินใจด้วยตัวเองว่าทำอะไร จึงจะได้คะแนนเสียงจากคนอเมริกัน โดยเล่นกับ “กระแสความรู้สึก” ของประชาชน คนอเมริกันเขาชอบอะไรก็นำเอามากำหนดเป็นนโยบายสาธารณะ เช่น นโยบายการต่อต้านผู้อพยพหรือหลบหนีเข้าเมือง แล้วก็โหมโฆษณาปั่นกระแส นักวิชาการเรียกการปกครองของทรัมป์ว่าเป็นประชานิยมปีกขวา (Right-Wing Populism) ส่วนบ้านเราคนที่น่าจะทำก่อนทรัมป์เสียอีก คือ ทักษิณ ตรงกันข้ามกับคนที่เชื่อผู้เชี่ยวชาญอย่างสนิทใจ คือ น้าตู่
เพราะฉะนั้น นโยบาย “Post-Truth” เขาจึงโนแคร์-โนสน “นักวิเคราะห์นโยบายมืออาชีพ” ไม่ว่าอยู่ในมหาวิทยาลัยและหน่วยงานอื่น เช่น กระทรวงทบวงกรม สำนักงบประมาณ สภาพัฒน์ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ TDRI เขาคิดว่าผลลัพธ์ที่จะเกิดจากนโยบายเป็นเพียงข้ออ้างที่จะดำเนินนโยบายปั่นกระแส สิ่งที่เขาคำนึงมากกว่าหลักเหตุผล คือ คนที่ลงคะแนนให้เขา (voters) เขาจึงเชื่อทีมงานและผลโพลล์การหยั่งเสียงความนิยมมากกว่า ส่วนพวกมืออาชีพ เขาถือว่าเป็น “หมูในอวย” ยังไงก็ต้องเอาตามผู้มีอำนาจ
อันที่จริง ทีมการตลาดการเมืองของผู้นำสมัยใหม่ทำมากกว่านี้อีก เช่น วิเคราะห์ว่าผู้นำรัฐบาลควรไปงานไหน? ได้คะแนนเท่าไหร่? งานไหนไม่ควรไป? ให้ส.ส.หรือปลัดกระทรวงไปดีกว่า หรือแม้แต่สี จิ้นผิงก็ใช้ลูกไม้นี้ เช่น มีทีมวิเคราะห์เนื้อหาของสื่อโซเชียล แล้วเอามาให้สี จิ้นผิง แสดงบท เช่น การช่วยคนจนที่ปรากฏเป็นข่าวเกรียวกราว !!
นโยบาย “Post-Truth” จึงมีบทบาทสำคัญในการประกอบสร้างความจริงทางเลือก (alternative facts) รัฐบาลสร้างความจริงทางเลือกขึ้นด้วยคำอธิบายต่าง ๆ แล้วก็โหมโรง “ปั่นกระแส” จนกลายเป็นความจริงแท้ และเกิดเป็นวัฒนธรรมใหม่ของสังคม เรียกว่า “Agnotology” มีความหมายคล้ายกับเพลงพรศักดิ์ ส่องแสง ที่ว่า “ไม่อยากจะคิดสงสารสาวจันทร์กั้งโกบ” แต่เปลี่ยนเป็น “ไม่อยากจะคิดสงสัย” คนเกิดวัฒนธรรมใหม่ คือ ไม่อยากจะคิดสงสัยว่ารัฐบาลทำถูกหรือไม่ถูก เช่น คิดแต่เพียงว่าฉันนี่ยังไงคนที่จะได้รับประโยชน์จากนโยบาย
วัฒนธรรม “Post-Truth” มีการปั่นกระแส จึงทำให้เกิดชนเผ่าทางการเมือง (political tribes) หมายถึงการเมืองที่แบ่งเป็นค่ายเป็นแค้มป์—เช่น ฉันนี่แหละค่ายเศรษฐา พวกนั้นค่ายแมลงสาปกับพวกสลิ่ม ส่วนพวกโน้นค่ายด้อมส้ม --แต่ละฝ่ายเซย์โนแก่กัน สังกัดค่ายใครค่ายมัน คนไหนแหลมเข้ามา จะมีพ่อยกแม่ยกหรือทีมปั่นช่วยกันถล่มและป้องกันป้อมค่ายตัวเองสุดฤทธิ์ แต่ละค่ายแสวงหามิตรรักแฟนเพลงและยอด like ยอดแชร์กันคึกคัก ส่วนพวกไม่รู้อีโหน่อีเหน่—มึนตึ๊บ!! ตกลงอันไหนของจริงกันแน่ หรือว่ามัน “ปั่น” ด้วยกันทุกค่าย!!
แต่ฟิสเชอร์บอกว่าในแง่นโยบายสาธารณะ อย่าไปเสียเวลาดูว่าใครปั่น-ใครไม่ปั่น วิธีการศึกษาที่ดีกว่า คือ เราไปดูกระบวนการประกอบสร้างความจริงของเขา แล้วเอามาตีความใหม่ (reinterpret) เริ่มจากใครเป็นตัวแสดง (actors) ของนโยบาย เขาประกอบสร้างความคิดนโยบายนั้นยังไง
ตัวอย่างเช่น ใครเป็นตัวแสดงของนโยบายดิจิทัลเงินหมื่น หรือใครเป็นตัวแสดงของนโยบาย Soft Power—สมมติว่า “เศรษฐา” เป็นตัวแสดงของนโยบายดิจิทัลเงินหมื่น และ “สาวสองออ” เป็น ตัวแสดงของนโยบาย Soft Power
ต่อไปก็ดูว่าสองคนนี้ประกอบสร้างนโยบายขึ้นมายังไง การประกอบสร้างนโยบายก็คล้ายกับการเป็นผู้ประกอบการนโยบาย (policy entrepreneurs) ซึ่งหมายถึงคนที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบาย (policy change) จนกลายเป็นมรดกนโยบายที่สำคัญ (who created major policy legacies) เช่น เคน ลิฟวิงสโตน (Ken Livingstone) นายกเทศมนตรีมหานครลอนดอนนำโนบายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาใช้ในมหานครลอนดอน เขาจึงเป็นผู้ประกอบการนโยบายที่สำคัญคนหนึ่งของอังกฤษ
แต่ต่างกันตรงที่การศึกษาการประกอบการนโยบายเป็นการศึกษาทางบวก เพราะเป็นการศึกษาแบบอย่างของการเปลี่ยนแปลงนโยบายที่มีผลกระทบทางบวกต่อสังคม ส่วนการศึกษาการประกอบสร้างนโยบายเป็นการศึกษาทางลบ เพราะศึกษาแบบอย่างของประกอบสร้างความรู้ด้วยการใช้นโยบายเป็นเครื่องมือครอบงำสังคม
การศึกษาการประกอบสร้างนโยบายดังกล่าว ฟิสเชอร์ได้รับอิทธิพลจากฟูโกต์ (Foucault) เพราะเขาระบุชัดว่าเป็นการวิเคราะห์วาทกรรม (the analysis of discourses) ด้วยเหตุนี้เขาจึงให้ดูความรู้และอำนาจของการประกอบสร้างว่าตัวแสดงประกอบสร้างความคิดอะไรขึ้นมาและสื่อความคิดนั้นออกไปสู่สังคมอย่างไร? และทำไมนโยบาย “Post-Truth” ได้รับการยอมรับจากสังคม?
เช่น ทำไมสังคมไทยไม่ทักท้วงนโยบาย Soft Power ว่าเป็น “symbolic action” หมายถึงดีแต่เท่ เอาเข้าจริง ๆ ไม่ได้ผลอะไร เช่น ไม่มีทางเอาไปขายในระดับโลกหรอก ตัวอย่าง เราจะเอา “หมูกระทะ” ส่งออกไปเกาหลีใต้ได้ยังไง? หรือว่าท้วงแล้ว แต่ไม่มีใครฟัง เพราะคนท้วงไม่มีอำนาจ เนื่องจาก sociology of knowledge ของสังคมไทยเป็นอย่างนั้น หมายความว่าสังคมไทย ความรู้ขึ้นอยู่กับคนมีอำนาจ ใครเป็นใหญ่คนนั้นแหละถูก –เช่น นโยบายเขาต้องถูก คุณเป็นใครมาวิจารณ์เขา --คุณจะไปรู้ดีกว่าทีมงานของรัฐบาลได้อย่างไร? หรือว่าอีกประเด็น บ้านเราไม่กี่ปีที่ผ่านมามีวัฒนธรรมการเมืองใหม่ ได้แก่ การตั้งองครักษ์พิทักษ์รัฐบาล...ด่ามา-ด่ากลับ ไม่โกง --คุณควรอยู่เฉย ๆ “สังคมไทยแค่ทำตามกฎหมายก็จบครับ” !!! คนคิดอย่างนี้มีไม่น้อย...
จุดสนใจของการตีความนโยบาย Post-Truth คือ ความสัมพันธ์ที่ตอบโต้กันระหว่างความหมายทางสังคม (social meaning) กับการประกอบสร้างความรู้ (the creation of knowledge) หมายความว่ามีคนเสนอ-แล้วก็ต้องมีคนสนอง ซึ่งตรงนี้เองที่ทำให้เกิดวาทกรรมกลายเป็นนโยบาย Post-Truth และสุดท้ายก็กลับมาหาแนวคิดของฟูโกต์อีก คือ ศึกษาอำนาจการครอบงำของนโยบาย เพราะสำนักนโยบายสาธารณะเชิงวิพากษ์ถือว่านโยบายก็คือวาทกรรม จึงมีอำนาจทางวาทกรรม (discursive power) หมายถึงอำนาจการครอบงำที่ทำให้สังคมไม่คิดสงสัย—ได้แต่พยักหน้าตามอย่างเซื่องๆ ถัดมาระดับสูงกว่าก็ศึกษาว่านโยบายมีผลอย่างไรในทางการเมือง เช่น การกวาดต้อนผู้คนเข้าแค้มป์เข้าค่ายแต่ละฝ่าย แต่ละค่ายมีความคิดแยกออกจากกันไปเรื่อย ๆ ส่วนที่สูงกว่านั้นอีก ก็ดูผลต่อการเมืองในระบอบประชาธิปไตย (democratic governance) เช่น ส่งผลอย่างไรต่อกระบวนการประชาธิปไตย? การพัฒนาการเมืองหรือการเปลี่ยนประเทศไปเป็นประชาธิปไตย?
วิธีการตีความนโยบาย Post-Truth ของฟิสเชอร์ เขาสรุปมาจากการวิเคราะห์นโยบายแนวการตีความของยานาว (Yanow, 2000, p. 22) ยานาวแบ่งวิธีตีความ 3 ขั้น ขั้นแรก คือ การระบุภาษา สิ่งประดิษฐ์ การกระทำและวัตถุของนโยบาย ขั้นที่สอง คือ สื่อความหมายการตีความ และขั้นที่สาม ขั้นสุดท้าย การประสานความขัดแย้งโดยการประนีประนอมการตีความที่แตกต่างกัน
ส่วนประเด็นของเหตุผลทางเศรษฐกิจ เช่น จะทำให้เศรษฐกิจดีหรือไม่ดี? หรือเหตุผลทาง รัฐประศาสนศาสตร์ ความสามารถในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลมีมากน้อยแค่ไหน? รู้จักใช้กลไกระบบราชการและกลไกอื่นผสมผสานกันแค่ไหน? เป็นคนละเรื่องกัน อันนั้นต้องแยกออกไปศึกษาอีกส่วนหนึ่งต่างหาก เช่น การศึกษาเรื่องการนำนโยบายไปปฏิบัติ และการประเมินผลนโยบาย
ประโยชน์ของการตีความนโยบาย Post-Truth ซึ่งเป็นนโยบายที่เต็มไปด้วยการปั่นกระแส ตามแนวทางที่ฟิสเชอร์เสนอ จะทำให้ทราบว่า ใครคือ Object ใครคือ Subject ของนโยบาย (หมายถึงใครเป็นคนสร้างวาทกรรม ใครที่ถูกวาทกรรมครอบงำ) และกระบวนการก่อรูปวาทกรรมของ Object ต่อ Subject เป็นอย่างไร (หมายถึงกระบวนการสร้างความรู้และอำนาจการครอบงำของวาทกรรมกระทำอย่างไร เช่น ผ่านทางกระบวนการและกลไกใด เช่น ผ่านการสื่อสารการเมืองประเภทใด หรือผ่านระบบการศึกษาหรือระบบราชการอย่างไร เป็นต้น)
บางทีข้อค้นพบ อาจทำให้เราตกใจก็ได้ เพราะอำนาจของนโยบาย Post-Truth ไปไกลจนเกินกว่าที่จะต้านทาน และยากต่อการแก้ไขภายหลัง เนื่องจากนโยบาย Post-Truth ครอบงำสังคมไปไกลมากแล้ว ยกตัวอย่างเช่น Soft Power หมายถึงอะไรก็ได้ในบ้านเรา
อย่างไรก็ดี การวิเคราะห์นโยบายโดยการตีความตามที่ฟิสเชอร์เสนอ ไม่ได้มุ่งพิสูจน์ว่าความจริงที่ถูกเป็นอย่างไร เพราะมีฐานคติว่าความจริงเป็นสิ่งที่ประกอบสร้างจากสังคม นักการเมืองเขาก็สามารถสร้างความจริงอันเป็นเหตุผลทางเลือกของเขาขึ้นมาได้เอง ไม่ใช่เฉพาะผู้เชี่ยวชาญฝ่ายเดียวที่ผูกขาดความจริง พูดง่าย ๆ ว่า “ความจริงไม่ได้มีหนึ่งเดียว อย่างที่ครูปรีชาเชื่อ!!” ดังนั้น จึงมักถูกวิพากษ์จากพวกปฏิฐานนิยม (positivism) ที่เน้นการพิสูจน์เชิงประจักษ์ว่า ผลของการศึกษาไม่ถูกต้อง (invalid) หรือไม่มีพยานหลักฐานและข้อพิสูจน์เพียงพอ แต่ก็เป็นการวิพากษ์ที่มาจากคนละจุดยืน
งานตีความตามแนวหลังปฏิฐานนิยม (post-positivist approach) ไม่ได้มุ่งพิสูจน์ความจริงแท้ที่มีหนึ่งเดียว แต่เป็นการยกตัวอย่างให้เห็นอำนาจการครอบงำและผลของนโยบายสาธารณะที่เกิดขึ้นอันเป็นความจริงอีกด้านหนึ่ง เหตุผลสำคัญ คือ คนในโลกเข้าใจผิดมานานว่านโยบายสาธารณะเป็นเครื่องมือที่เป็นกลาง แต่ที่จริงนั้นนโยบายสาธารณะเป็นเครื่องมือการครอบงำที่มีอำนาจซึมลึกไปถึงห้องนอน ไม่แพ้อำนาจวาทกรรมอื่นเลย...อำนาจนโยบายนี้แหละที่จะช่วยให้เขาครองอำนาจไปได้อีกนาน...!!!
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก : https://www.wu.ac.th