"...ชาวบ้านสะแกโพรง เป็นคนต่างถิ่นที่อพยพเข้ามาเป็นชุมชนมีฐานะยากจน ไม่มีรายได้ที่แน่นอน แต่มีการไปมาหาสู่แลกเปลี่ยนของกินของใช้ระหว่างกัน เช่นข้าวแลกปลา พริกแลกมะนาว ต่อมาพัฒนาเป็นการนำพืชผักหิ้วไปหรือใส่รถมอเตอร์ไซด์ไปขาย ต่อมาขยายเป็นรถมอเตอร์ไซด์พ่วงข้างหลังคาพุ่มพวง และเป็นรถกระบะมีหลังคาพุ่มพวง..."
เป็นพุ่มเป็นพวงห้อย นับเป็นร้อยพวงจัดวาง
มอเตอร์ไซด์พ่วงข้าง เป็นปลาผักถั่วฝักยาว
ผักกะเฉด เห็ดโคน ผักกระโดน มะกรูดมะนาว
จัดแต่งแต้มเต็มราว พร้อมลำเลียงแต่ละวัน
ขับเคลื่อนหาเพื่อนบ้าน เส้นทางใครเส้นทางมัน
ขาดเหลือต่างแบ่งปัน ไม่แข่งขันประชันใคร
สะแกโพรง เพลิดเพลิน เจริญตา เจริญใจ
สีสันอันสดใส เป็นศักดิ์ศรีบุรีรัมย์
ที่มา
งานเขียนของ รศ.ยุวดี ศิริ (ศิลปวัฒนธรรม 4 เมย.66) ชี้ว่ารถพุ่มพวงเร่ขายของ เป็นผลจากยุคเฟื่องฟูของบ้านจัดสรร สมัยรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ (2531-34) ทำให้เกิดไซด์งานก่อสร้าง ตามการตัดถนนสายใหม่ออกไปชานเมือง แรงงานก่อสร้างอยู่ห่างจากของกินของใช้ ในขณะที่ร้านสะดวกซื้อสมัยใหม่เข้ามาราวปี 2532 รุกไล่ร้านโชห่วยให้สลายไป รถเร่ขายของกินของใช้ จึงเกิดขึ้นตอบสนองคนงานก่อสร้าง และเป็นการปรับตัวของร้านโชห่วยไปด้วย ซ้ำเติมด้วยวิกฤตต้มยำกุ้ง ในปี 2540 ทำให้เกิดรถ “เปิดท้ายขายของ” จำนวนมาก รถพุ่มพวงในกรุงเทพฯและเขตเมือง เกิดขึ้นมากมาย ไปไหนก็จะเปิดเทปเพลงของพุ่มพวง ดวงจันทร์ ที่กำลังโด่งดังทั่วฟ้าเมืองไทย เมื่อผนวกกับการจัดวางของขายบนรถใส่ถุงห้อย จึงเรียก “รถพุ่มพวง” ที่ประจวบเหมาะกันได้อย่างลงตัว
ชุมชนยากจนสะแกโพรง
จากข้อมูล TPMAP ประกอบการสอบทานครัวเรือนยากจน (ดร.พิศมัย ประชานันท์ และคณะ มรภ.บุรีรัมย์) พบว่า ต. สะแกโพรง อ. เมือง บุรีรัมย์ เป็นพื้นที่มีครัวเรือนยากจนมากที่สุดใน อ. เมือง มี 26 หมู่บ้าน 3,245 ครัวเรือน ประชากร 13,340 คน อาชีพปลูกข้าว เลี้ยงไหม ทอผ้า ทอเสื่อกก จับปลา แต่ละครัวเรือนหาอยู่หากินกันไปตามประสาคนยากไร้
จากพื้นที่คนยากจนเดิม ในปี 2565 มีการสำรวจพบว่า ไม่มีคนยากจนหลงเหลืออยู่เลย
ผู้เขียนลงพื้นที่ ต.สะแกโพรง เมื่อ 8 ธค. 66 นั่งรถผ่าน ทุกหลังคาเรือนเป็นบ้านช่องเรือนชานที่สร้างขึ้นแบบผู้มีอันจะกิน มีรถปิคอัพประจำทุกบ้าน บ้านติดแอร์ มีตู้เย็น มีบริเวณบ้าน มีแปลงผักของตนเอง คนที่นั่นบอกว่าชีวิตความเป็นอยู่เปลี่ยนแปลงแบบพลิกฝ่ามือ จากครัวเรือนยากจนสู่ครัวเรือนมีอยู่มีกิน โดยไม่ต้องคาดหวังเงินดิจิตัล 10,000 บาท ของรัฐบาล
รถพุ่มพวงสะแกโพรง
“รถพุ่มพวง สะแกโพรง” เป็นทั้งโครงการและเป็นพื้นที่วิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) เป็นหนึ่งในจำนวนนับร้อยแห่งที่หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ของ กระทรวง อว. ซึ่งมี ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา เป็นผู้อำนวยการ ซึ่งมุ่งเป้าวิจัยเชิงปฏิบัติในพื้นที่จริง ไม่ใช่วิจัยใส่กระดาษแล้วนำขึ้นหิ้งแบบทั่วๆไป บพท. ซึ่งเกื้อหนุนการดำเนินงานของทีมงานวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ โดย ดร.เชาวลิต สิมสวย ผู้อำนวยการของคณะ ร่วมด้วย ดร.เอกพล แสงศรี อ.บัญชา นวนสาย ได้ลงพื้นที่ศึกษาวิจัย และค้นพบว่า รถพุ่มพวงเร่ขายสินค้าของชาวบ้านคือต้นทุน ที่ชาวบ้านดำเนินการอยู่แล้ว
ชาวบ้านสะแกโพรง เป็นคนต่างถิ่นที่อพยพเข้ามาเป็นชุมชนมีฐานะยากจน ไม่มีรายได้ที่แน่นอน แต่มีการไปมาหาสู่แลกเปลี่ยนของกินของใช้ระหว่างกัน เช่นข้าวแลกปลา พริกแลกมะนาว ต่อมาพัฒนาเป็นการนำพืชผักหิ้วไปหรือใส่รถมอเตอร์ไซด์ไปขาย ต่อมาขยายเป็นรถมอเตอร์ไซด์พ่วงข้างหลังคาพุ่มพวง และเป็นรถกระบะมีหลังคาพุ่มพวง
สภาพก่อนหน้านี้ ชาวบ้านผู้ประกอบการรถพุ่มพวง ต้องออกจากบ้านตั้งแต่ตีสามไปตลาดค้าส่งซึ่งอยู่ห่างชุมชน 80 กม. (ไป-กลับ 160 กม.) เพื่อซื้อพืชผัก หมู ไก่ ปลา กลับมาถึงบ้านตอน 6.00 น. แล้วคัด ล้าง แยกของตามน้ำหนักที่ต้องการใส่ถุง นำไปห้อยไปแขวนที่รถ แล้วออกเร่ขายตามเส้นทางแบบ “ทางใครทางมัน” ไม่ทับเส้นทางกัน โดยมีวงรอบๆ ละ 3 วัน สินค้าจะหมดคันรถ
รถพุ่มพวงทั้ง 3 แบบ มีกำลังแตกต่างกันไป รถมอเตอร์ไซด์ บรรทุกของได้ไม่มาก มอเตอร์-ไซด์พ่วงข้างบรรทุกได้มากกว่า ขณะที่กระบะหลังคาพุ่มพวง จะบรรทุกได้มากที่สุด
รอบระยะเวลาทำงานคือ 2-3 วัน แล้วมีหยุดพัก กำไรแต่ละรอบนั้นมากถึง 3,500 – 30,000 บาทต่อคัน ต่อรอบ ในขณะที่ต้นทุนต่อคัน ต่อรอบ ตกราว 6,000 – 45,000 บาท
จากการวิจัยเชิงปฏิบัติการของอาจารย์ ทีม มรภ.บุรีรัมย์ พบว่า
1. รถทุกคันมีพื้นที่เส้นทางของตนเอง ทำให้ผู้ประกอบการใหม่เกิดได้ยาก
2. ลูกค้าส่วนใหญ่อายุราว 50 ปีขึ้นไป จึงนิยมจ่ายเงินสด
3. การรับใบสั่งซื้อ ส่วนใหญ่ใช้จดบันทึก ถ้าฝนตกสมุดจดหาย ก็จะเป็นปัญหาในการส่งของ
4. บางครั้งเกิดอุบัติเหตุบนถนน รถเฉี่ยวชน ส่งของไม่ทันตามที่ลูกค้าต้องการ
5. แม้มีการสั่งสินค้าทางออนไลน์ แต่สัญญาณมือถือไม่เสถียร และลูกค้าบางคนไม่สันทัด
ทีมวิจัย จึงทำประชาคม รับฟังและระดมความเห็น เพื่อแก้ปัญหาและขยายผล ทำให้เกิด
1. จัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าชุมชน มีหน้าที่รวบรวมสินค้าตามใบสั่ง คัดแยกใส่บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม เช่นถุงสำหรับอาหารแช่แข็ง
ทำให้ศูนย์กระจายสินค้า เป็นจุดเชื่อมต่อครัวเรือนยากจนกับรถพุ่มพวง
ที่ศูนย์กระจายสินค้า จะเห็นครัวเรือนเกษตรกรนำพืชผล ซึ่งเกิดจากน้ำพักน้ำแรงของตนเองที่รวมกลุ่มกันทำแปลงเกษตรในพื้นที่สาธารณะของหมู่บ้าน เป็นพื้นที่ซึ่งผ่านการทำประชาคม เพื่อให้คนยากจนไร้ที่ทำกินได้เพาะปลูกพืชผัก
ทุกคนที่เอาผักมาขาย มีแววตาและสีหน้าแจ่มใส แบกกล้วยมาเป็นเครือ เก็บผัก คะน้า กะเฉด มะเขือ พริก โหระพา ใส่เข่งมาส่ง แล้วรับเงินสดกลับไปทันที
ชาวบ้านบอกว่า “แต่ก่อนหาอยู่หากินกันไปวันๆหนึ่ง แต่เดี๋ยวนี้มีรายได้ที่แน่นอน ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ส่งลูกไปโรงเรียน มีเสื้อผ้า มีสมุดดินสอ เรียนกับเพื่อนๆได้ไม่ต้องอายใคร”
ศูนย์กระจายสินค้าชุมชน รับซื้อเงินสดทุกอย่างที่ชาวบ้านเอามาขาย ไม่ว่าจะเป็นรังผึ้ง ปลาแดก พริกแกง กาแฟบรรจุขวด
การจัดรูปเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ทำให้ชาวบ้านเข้ามาร่วม ทำแปลงเกษตรรวม เข้ามาเป็นพนักงานคัดแยก ชั่งน้ำหนักสินค้า รถพุ่มพวงมาถึงก็รับสินค้าไปได้เลย
2. ทำ Application พุ่มพวง จะถูกจริตลูกค้าวัยรุ่น ทำให้รู้ความต้องการสินค้า รู้ปริมาณระยะทาง ตำแหน่งลูกค้า จำนวนเงินที่จะขายได้ เตรียมสินค้าล่วงหน้าได้แม่นยำ
3. กลุ่มวิสาหกิจชุมชน สามารถจัดระบบสวัสดิการ ในรถพุ่มพวงทุกคันที่เข้าระบบได้ประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุแบบเป็นกลุ่ม ได้คุ้มครองกรณีทุพพลภาพ ได้ค่ารักษาพยาบาลอื่นๆ ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยมี ทำให้เกิดความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น
ยังมีการจัดค่าตอบแทนและเงินปันผลให้กับคณะกรรมการ เจ้าหน้าที่ ตามสมควร
ดร.เชาวลิต สิมสวย ผอ.งานวิจัย ชี้ว่า “นี่เป็นเศรษฐกิจชุมชนเป็นฐานรากเศรษฐกิจที่ชาวบ้านได้รับประโยชน์ไปเต็มๆ ไม่ต้องไปผ่านยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ไม่ต้องผ่านร้านค้าสะดวกซื้อ ไม่มีร้านค้าปลีกมาแบ่งประโยชน์ ไม่ต้องทำหีบห่อ ไม่ต้องเสียค่าโฆษณา ไม่มีต้นทุนระหว่างทางที่ต้องจ่าย เพราะผู้ผลิตคือชาวบ้านปลูกผัก เลี้ยงไก่เอง ก็เป็นผู้ขายเอง ศูนย์กระจายสินค้าไม่ใช่คนกลาง แต่เป็นผู้อำนวยความสะดวกให้เกิดผลดีที่สุดกับชาวบ้าน”
ในขณะที่ ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ บพท. บอกว่า “รถพุ่มพวง สะแกโพรง ขายของกินในราคาปกติ แต่ทำกำไรดีเพราะไม่มีต้นทุนระหว่างทาง ไม่มีห่วงโซ่ (Supply Chain) หลายช่วงตอนแบบสินค้าทั่วไป ที่เป็นค่าใช้จ่ายเกินจำเป็น พูดง่ายๆ จากผู้ผลิตหรือผู้ขายซึ่งเป็นคนเดียวกันขายผู้ซื้อโดยตรง พูดอีกอย่างหนึ่งจากชาวบ้านถึงชาวบ้านนั่นเอง”
มีผลพวงอันสำคัญยิ่ง คือปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านด้วยกันในการทำแปลงเกษตรร่วมกัน คัดแยก จัดแบ่ง ชั่งน้ำหนัก บรรจุถุง ร่วมกัน การช่วยเหลือเกื้อกูลทั้งภายในครัวเรือน และต่างครัวเรือน แต่อยู่ในกลุ่มงานเดียวกัน เป็นสัมพันธภาพในชุมชนที่นับวันจะตกหายไป อันเนื่องมาจากเทคโนโลยีมือถือ เนื่องจากเป็นยุคสังคมก้มหน้าที่ต่างคนต่างจิ้มหน้าจอไฟฟ้าแบบตัวใครตัวมัน
รถพุ่มพวงเร่ขายของในชุมชนเมืองและชุมชนชนบทนั้น มีทั่วทุกหัวระแหง แต่ที่มีการจัดการอย่างเป็นระบบเพื่อให้เกิดผลทั้งประหยัด มีกำไร เกิดไมตรีจิตใกล้ชิดในชุมชน ต้องยกให้ ต. สะแกโพรง เป็นตัวจริงเสียงจริง ที่พลิกชีวิตความเป็นอยู่จากชุมชนยากไร้ กลายเป็นชุมชนที่มีอยู่มีกิน ที่มีชีวิตชีวาและถักทอกันไว้ด้วยความเอื้ออาทร ที่เป็นจริง
30 กว่าปีต่อเนื่องมา ทุนขนาดใหญ่มีเสรีภาพเต็มที่ในการจัดร้านค้าสะดวกซื้อ รุกคืบไปทั่วทุกหัวระแหง มีผลเบียดขับร้านโชห่วยมากกว่า 300,000 แห่งทั่วประเทศย่อยยับไป สินค้าคุณภาพที่เป็นนวัตกรรมชุมชนและของธุรกิจรายย่อยมากมาย ถูกนำมาปรุงแปลงแล้วแปะยี่ห้อใหม่ลงไป เปลี่ยนสถานะจากคนเลียนแบบกลายเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ สร้างกำไรมหาศาล เป็นปรากฏการณ์ “รังแกทางการตลาด” ที่รับรู้กันทั่วไปในแวดวงการค้าปลีก โดยภาครัฐไม่สามารถทำอะไรได้
“รถพุ่มพวง สะแกโพรง” จึงเป็นการค้าการขายของชุมชน ที่เป็นเสมือนการประกาศอิสรภาพพ้นไปจากอิทธิพลของทุนใหญ่แห่งการค้าปลีก นั่นเอง