"...สรุปว่า ซอฟท์พาวเวอร์ไทย ไม่ใช่ซอฟท์พาวเวอร์โลก เป็นกระบวนการทุนนิยมของการนำวัฒนธรรมมาขาย โดยอ้างว่าเป็นการสร้างสรรค์ทางเศรษฐกิจ มีเป้าหมายเพื่อนำเงินตราเข้าประเทศจากการท่องเที่ยว แต่ไม่ได้มีเป้าหมายอะไรที่ชัดเจนว่าจะมีนโยบายต่างประเทศและวิธีการทางการทูตอย่างไร..."
หลักการปกครองของทักษิณ คือ “ฮอลลีวู๊ดโมเดล” (Hollywood Model) หมายถึง รัฐบาลต้องขายความหวือหวาและตื่นเต้น!!! สมัยมีอำนาจ ทักษิณพูดเองว่ารัฐบาลต้องมีอะไรให้คนจดจำเปรียบเหมือนท่อนฮุ๊กของเพลง ร้องซ้ำ ๆ กันจนติดปาก!!
รัฐบาลสมัยทักษิณจึงเด่นในแง่การคิดแก๊ก-คิดมุกให้คนจดจำได้เสมอ เช่น นโยบาย SML ทักษิณอธิบายว่าเป็น “นโยบายเหนือเมฆ” เพราะทักษิณคิดได้ขณะนั่งอยู่บนเครื่องบิน หรือภาพที่ทักษิณไปนอนกับชาวบ้านที่อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด นุ่งผ้าขาวม้าลงมาอาบน้ำ แล้วเล่นกับกล้อง นักข่าวไทยเสียรู้ทักษิณ ช่วยโปรโมทให้ จนภาพนั้นติดตาคนไทย มิรู้ลืม??
พอมาถึงยุคสืบทอด “ฮอลลีวู๊ดโมเดล” ก็กลับมาอีก แม้ซับซ้อนกว่า เพราะมีทั้ง “ผู้สืบทอดออกหน้า” กับ “ผู้สืบทอดต่อคิว” เศรษฐาเป็นผู้สืบทอดออกหน้า ส่วนลูกสาวทักษิณต่อคิว เหมือน นักฟุตบอลที่เล่นตำแหน่งเดียวกัน คนแรกได้ลงเล่นก่อน ส่วนคนหลังรอเปลี่ยนตัว เศรษฐาจึงถูกกดดันให้สร้างผลงาน มิฉะนั้นจะโดนเปลี่ยนออก
หลักฮอลลีวู๊ดโมเดลถูกนำมาใช้บ่อยครั้ง เศรษฐาเคลื่อนไหวเป็นข่าวไม่หยุด ไปโน่นมานี่ มีภาพจับมือกับผู้นำโลก ตัดกลับมาออกไปตรวจงานต่างจังหวัด เตรียมจัดครม.สัญจร เศรษฐาไม่กลัวนักข่าว ถามอะไรก็ตอบได้หมด ไม่ต่างจากคนเล่นกลร้องตะโกนว่า “อับดุลเอ้ย ถามอะไรตอบได้” แล้วมีเสียง อับดุลตอบกลับว่า “ตอบได้” !!
นอกจากเศรษฐาขยัน อย่างน้อยก็ขยันกว่า “น้าตู่ ต้วมเตี้ยม” --แต่น้าตู่ก็ต่อต้านฮอลลีวู๊ดโมเดลอย่างแข็งขัน เพราะน้าตู่คิดตลอดว่า “มันไม่จริงใจ” --เศรษฐายังทำหน้าที่เป็นตัวแทน ส.ส. ของพรรคตัวเอง อันเป็นหน้าที่โดยชอบในฐานะผู้นำรัฐบาล และเป็นหน้าที่โดยนัยในฐานะที่ส.ส.เป็นผู้สนับสนุนทางการเมือง ซึ่งเศรษฐาไม่เคยมีฐานทางการเมืองมาก่อน อันเป็นเรื่องแปลกประหลาดพิสดารมากสำหรับการเมืองไทย ไม่เคยมี “คนนอก” ที่ไม่เคยเล่นการเมืองเลย กระโดดข้ามห้วยมาเป็นนายกรัฐมนตรีในระบอบการเลือกตั้ง เว้นแต่นิทานเรื่องเทวดาประทาน “ขอนไม้” ลงมาให้ “กบ” –หรือว่า นี่จะเป็นเรื่องเดียวกัน???
ข้างฝ่าย “ผู้สืบทอดรอคิว” ถูกจัดวางตำแหน่งให้เป็นหัวหน้าพรรค ทำนองเทวดาประทาน “ขอนไม้” เรื่องเดียวกัน –แปลกมาก ทำไมทุกอย่างของเมืองไทยมันเป็นไปตาม “ทฤษฎีสมคบคิด” คนไทยดูหนังตอนจบ ร้องพร้อมกันว่า “โอ้ กูว่าแล้ว”!!!
“ผู้สืบทอดรอคิว” เคลื่อนไหวคึกคัก มีตำแหน่งเป็นประธาน “ซอฟท์พาวเวอร์” ปัญหาเกิดขึ้นทันทีว่า ไอ้ คำว่า “ซอฟท์พาวเวอร์” ที่ว่ามันคืออะไร??? เพราะตามตำราของโจเซฟ นาย (Joseph Nye) “ซอฟท์พาวเวอร์” มันหมายถึง “การใช้ไม้นวมในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ” เพื่อมุ่งครอบงำประเทศอื่น เพื่อให้เขาทำตาม โดยไม่ใช้ “ไม้แข็ง” คือ กำลังทหารบังคับ เว้นกรณีจำเป็น
วิธีการใช้ไม้นวมตามตำราของโจเซฟ นาย แบ่งเป็น 4 ด้าน
ด้านแรก คือ คุณค่า (value) เช่น สิทธิเสรีภาพ ความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งต้องเป็นคุณค่าสากล
ด้านที่สอง คือ วัฒนธรรม (culture) เช่น วัฒนธรรมแดกด่วน (Fast Food) ที่แพร่ไปทั่วโลก
ด้านที่สาม คือ นโยบายรัฐบาล (policy) เช่น นโยบายสี จิ้นผิง สืบทอดนโยบายเติ้ง เสี่ยวผิงมาเปิดประเทศจีน และเพิ่ม “สีโคโนมิกส์” เข้าไป หมายถึงการพัฒนาด้านอุปทานของอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี เพราะสี จิ้นผิง รู้ดีว่าแม้จีนขายของได้มากมาย แต่ก็ยังเป็นแบรนด์ดัง ๆ ของต่างประเทศที่โยกฐานการผลิตมาที่จีน จีนต้องผลิตสินค้าได้คุณภาพเท่ากับหรือดีกว่าต่างประเทศ วิธีการไม่มีอย่างอื่น นอกจากเร่งพัฒนาเทคโนโลยีให้เท่าทันหรือเหนือกว่าตะวันตก ฝรั่งมองว่า สี จิ้นผิง มีความรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์อุปทาน (supply-side economics) เป็นอย่างดี จึงเรียกความคิดของสี จิ้นผิง ว่า “สีโคโนมิกส์” ตอนนี้ สี จิ้นผิง กำลังรุก “รถไฟความเร็วสูง” ไปทั่วโลก เป็นเครือข่ายใยแมงมุม นอกจากส่งสินค้าจีนไปขายแล้ว คนจีนยังออกไปทำมาหากินตามเส้นทางรถไฟได้ด้วย
นักศึกษาจีนที่แห่มาเรียนเมืองไทยมีสาเหตุใหญ่สองสาเหตุ คือ ตกบันใดการสอบเอ็นทรานซ์ กับการเตรียมการประกอบอาชีพตามเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ส่วนผลพลอยได้ คือ ได้แฟนคนไทย กับพูดภาษาไทยได้ มีอยู่รายหนึ่งเป็นหลานสาวอาลีบาบา ได้แฟนเป็นชาวไทยจีนฮ่อคนเชียงราย ประสบความสำเร็จจากการเอาระบบอาลีบาบามาใช้ตั้งบริษัทขนส่งจนร่ำรวย ได้ “ยูนิคอร์น” ตัวแรก หมายถึงเป็นบริษัท Start-up ที่มีทุนทรัพย์เกินสามหมื่นล้านบาทบริษัทแรกของไทย คือ กลุ่มบริษัทแฟลช นั่นเอง
และด้านที่สี่ คือ การปกครอง (government) เช่น ชัยชนะของการปกครองระบอบเสรีประชาธิปไตยที่มีเหนือคอมมิวนิสต์อย่างเบ็ดเสร็จราบคาบ แต่ก็มีทางเลือกอีกว่าประเทศจะมีจุดยืนทางเศรษฐกิจและสังคมแบบไหน ได้แก่ (1) เสรีประชาธิปไตย (2) สังคมประชาธิปไตย และ (3) ทางเลือก ที่สาม หมายถึงเอาเสรีประชาธิปไตยมาผสมกับสังคมประชาธิปไตย เพื่อเจือจางสังคมนิยมลงอีก
อันนี้ก็แปลกเหมือนกัน—ที่ประเทศไทยไม่เคยเลือก “จุดยืน” ของประเทศ –เราจึงไม่มีทิศทางว่าจริง ๆ เราจะไปทางไหน???
ทางปฏิบัติจึงมี 2 ทาง คือ ขายความหวือหวา!! (ทักษิณ) กับทำตามข้าราชการ แล้วแต่ “พี่” ข้าราชการจะพาทำ!! (น้าตู่)
ส่วนพรรคแนวสังคมประชาธิปไตยในไทย (เสี่ยทอน/พิธา)—คนกลัวมาก โดยเฉพาะฝ่ายอนุรักษ์นิยม ต่อต้านโดยชู “ชาตินิยม” สกัดทุกเม็ด เช่น การกล่าวหาว่าเป็นพวก “ชังชาติ” –ไม่รู้พวกพรี่ๆๆ คิดกันได้ยังไง555 -มันมีด้วยเหรอคนชังชาติ??? พวกที่ถูกจับไปอยู่เกาะน่ะ ใช่ไหม?
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา คณะกรรมการซอฟท์พาวเวอร์ไทย ประกาศนโยบายซอฟท์พาวเวอร์ ตั้งเป้าโกยเงินเข้าประเทศปีละ 4 ล้านล้านบาท มีนโยบายต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ (เห็นหน้ายิ่งลักษณ์ลอยมาทันที!! เจ้าของลิขสิทธิ์ “ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ”)
ต้นน้ำเป็นอบรมคน 20 ล้านคน ส่วนกลางน้ำพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 11 อุตสาหกรรม เช่น อาหาร กีฬา เฟสติวัล ท่องเที่ยว ดนตรี หนังสือ ภาพยนตร์ เกม ศิลปะ การออกแบบและแฟชั่น และสุดท้ายปลายน้ำ ถึงจะเป็นส่งเสริมสู่เวทีโลก โดยนโยบายการทูต
ขั้นต้นตั้งงบปี 2567ให้ 5 พันล้านบาทเศษ แบ่งเป็นเฟสติวัล 1,000 ล้านบาทเศษ ท่องเที่ยว 700 ล้านบาทเศษ อาหาร 1,000 ล้านบาท นอกนั้นก็เป็นศิลปะ ดนตรี ภาพยนตร์ แฟชั่น เกม รวม สี่อย่างหลังนี้ประมาณ 1,700 ล้านบาทเศษ ตบท้ายด้วยหนังสือ จัดงบให้เยอะที่สุด 69 ล้านบาท (อันนี้ประชดนะคร้าบ!!)
ในปี 2567 จะเสนอตั้งหน่วยงานสร้างสรรค์เนื้อหาซอฟท์พาวเวอร์ พร้อมกับระบุชัดว่าเลียนแบบมาจากเกาหลีใต้ คนไทยเลยร้อง “อ๋อ” เข้าใจแล้ว ไทยเราเลียนแบบมาจาก “พี่หลี” นี่เอง!
ซอฟท์พาวเวอร์ไทยจึงมาได้คำตอบจากแผนและนโยบายที่มี “ว่าที่นายกรัฐมนตรี” คนต่อไปเป็นประธาน
คำตอบที่ชัดเจน คือ ซอฟท์พาวเวอร์ไทย หมายถึง เศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยมุ่งนำเอาวัฒนธรรมมาขายนำเงินเข้าประเทศ รัฐบาลวาดหวังว่าจะได้เงินปีละ 4 ล้านล้านบาท ถ้าอยู่ครบสี่ปี รัฐบาลก็นำเงินเข้าประเทศ 16 ล้านล้านบาท!!
การเอาวัฒนธรรมมาขาย (commodification of culture) ไม่ได้เป็นเรื่องเสียหาย ใคร ๆ เขาก็ทำเช่น การท่องเที่ยวเข้าไปอยู่กับชนเผ่าเมารี ป่าอะเมซอน เที่ยวป่าเที่ยวเขา ชมนกชมไม้ ดูเก้งกวาง เสือ ดำน้ำลึก ใช้ชีวิตร่วมกับชุมชน ไม่ได้เป็นเรื่องแปลก—ได้เงินเข้าประเทศ ชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน ดีขึ้น คนเที่ยวก็มีความสุข ได้เปิดหู-เปิดตาและรับรู้สิ่งที่ไม่เคยพบเคยเห็น ได้ภาพและประสบการณ์ไปเก็บไว้เป็นความทรงจำ
ปัญหาของการเอาวัฒนธรรมมาขายอยู่ที่มันเป็นกระบวนการขยายตัวของทุนนิยม ซึ่งทำทุกอย่างให้เป็นสินค้าและเงินตรา ต้องระวังผลกระทบทางลบที่จะตามมา
ด้านหนึ่ง มันทำลายคุณค่าของวัฒนธรรมโดยตัวเอง เพราะเมื่อวัฒนธรรมเป็นสินค้า สินค้าก็จะมีความสำคัญกว่าวัฒนธรรม
ตัวอย่างง่าย ๆ สมมติว่าเหรียญพระมีพุทธคุณ พระสงฆ์ทำพิธีสวดคาถาเอาไว้ให้คนระลึกถึงพระพุทธองค์และอาจมีอิทธิฤทธิ์คุ้มครองคนนับถือที่เอาเหรียญมาห้อยคอ แต่ถ้าหากเหรียญชิ้นหนึ่งมีฤทธิ์มาก เช่น ยิงไม่ออก-ฟันไม่เข้า เหรียญนั้นก็เปลี่ยนสภาพจากพระพุทธคุณกลายเป็นสินค้า คนก็จะพูดกันว่า เหรียญนี่ราคาเป็นล้านเลยนะ!!
เหรียญพระจึงกลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่าในทางรูปธรรมที่เป็นเงินตรามากกว่าอย่างอื่น ภาษาฝรั่งเขาเรียกว่า “reification” หมายถึงเปลี่ยนสิ่งที่เป็นนามธรรมกลายเป็นรูปธรรม หากมากเข้าก็จะกลายเป็นการคลั่งวัตถุ (fetishism) ไม่ต่างอะไรจาก “เงิน” สำคัญกว่า “ความรัก” หรือ “น้ำใจคน”
การเอาศิลปะ ดนตรี กีฬา แฟชั่น วัฒนธรรมพื้นบ้าน มาขายก็ทำนองเดียวกัน เรามุ่งตอบสนองต่อเงินตราจากการท่องเที่ยว ตัวอย่าง บั้งไฟพญานาค นั่นยังไง มันมีจริงหรือไม่จริง ไม่สำคัญเท่ากับคนมาเที่ยว!!
ส่วนอีกด้านหนึ่ง การเอาวัฒนธรรมมาขายตามกระบวนการของทุนนิยมชอบใช้คำรวม เพื่อทำให้คนลืม “คำขาด” หรือกลบ “ความขัดแย้ง” ที่อยู่ในคำรวมนั้น
ตัวอย่างเช่น เราใช้คำว่า “ซอฟท์พาวเวอร์” เป็นคำรวมที่มีความหมายเยอะมาก จนอาจหมายถึงอะไรก็ได้ เหมือนหมอเลี้ยบว่า ไม่ต่างอะไรจากความหมาย คำว่า “ความรัก” ยิ่งภาษาไทย (ไม่รู้ใครอีกแล้ว—หมอนี่มันไม่มีเวียกมีงานหรือยังไง??) บัญญัติศัพท์ว่า “อำนาจละมุน” ยิ่งกินความคลุมไปไกลมาก อาจรวมถึง “การกินละมุด” ด้วยหรือเปล่า? มันกลมกล่อมเหมือนกัน
การที่เราใช้ “คำรวม” มันทำให้เราลืม “ความขัดแย้ง” ที่มีอยู่ในคำรวมนั้น เช่น ซอฟท์พาวเวอร์ไทยอธิบายว่า “อำนาจละมุนหรือละมุด” ของไทย หมายถึง อาหาร กีฬา เฟสติวัล ท่องเที่ยว ดนตรี หนังสือ ภาพยนตร์ เกม ศิลปะ การออกแบบและแฟชั่น
แสดงว่าคนขายอาหารนี่กลมเกลียวกันเป็นเนื้อเดียวใช่ไหม?? แม้แต่คนขายหมูกระทะ ถ้าเกิดมี 2-3 ร้านตั้งใกล้กัน จะไม่ขัดแย้งกันเลยใช่ไหม? แล้วแบรนด์เจ้าไหนละที่เป็นซอฟท์พาวเวอร์ไทย? ผู้อาวุโสท่านหนึ่งเล่าว่าร้านหมูกระทะที่เชียงใหม่ มันเป็น soft killer เพราะปล่อยควันโขมง คนแถวนั้นตาย ผ่อนส่ง!! หรืออาหารไทย รัฐบาลมีโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 เชฟ แสดงว่าเชฟจำนวน 75,000 คน มีตัวตนและอัตลักษณ์ของตัวเองไม่ซ้ำกันเลยใช่ไหม? แล้วเขาทำอาหารขายที่ไหน? ไม่แข่งกับใครเลยใช่ไหม? ขายได้ทุกคนใช่ไหม? แล้วใครตั้งเขาเป็นเชฟประจำหมู่บ้าน กำนันหรือว่าผู้ใหญ่บ้านหรือกรรมการจากอำเภอ??
ระยะใกล้ ๆ เรากำลังจะจัดสงกรานต์ใช้เวลาเป็นเดือน นัยว่าเป็นนโยบาย “เฟสติวัล” ปัญหาคือมันมีเทศบาลไหนบ้างที่มีศักยภาพจัดสงกรานต์เป็นเดือนได้ เช่น เทศบาลนครขอนแก่นมีศักยภาพ แต่เทศบาลตำบลหนองขอนหรือหัวเรือ เมืองอุบลฯ มีศักยภาพไหม? แล้วกระบวนการคัดเลือกเมืองที่จะจัดเฟสติวัลนี่ มันไม่มีระบบพรรคระบบพวกเลยหรืออย่างไร? แล้วเมืองที่ไม่ได้เข้าระบบและไม่ได้งบประมาณล่ะ จะทำยังไง?? แล้วก็ปัญหาเดิม ใครเป็นคนคัดเมืองที่จัดสงกรานต์และสนับสนุนงบประมาณ???
การเอา “คำรวม” มากลบความขัดแย้งนี้ ทำให้เราหลงลืมปัญหาที่แท้จริงของประเทศ เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำ การจัดสวัสดิการสังคมให้กับคนในประเทศ จุดยืนทางด้านประชาธิปไตยของชาติ --มุ่งมองเฉพาะด้านดีอย่างเดียว เช่น เราหวังว่าจัดงานสงกรานต์นาน ๆ แล้วจะมีคนมาเที่ยวเยอะแยะ แล้วได้เงินเข้าประเทศ เศรษฐกิจก็จะดีขึ้น—เป็นการวาดฝันที่เป็นเส้นตรงเกินไปไหม??
แต่การมาเที่ยวของคนจีนหรือฝรั่ง ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับเครือข่ายบริษัททัวร์เหรอ?? หรือว่าเขาสามารถแบกเป้มาเที่ยวได้เอง แล้วทำไมบริษัททัวร์จีนถึงบอกให้ไทยเตรียมประเทศให้พร้อมก่อนแล้วค่อยเปิดให้ทัวริสต์เข้าประเทศ?? อีกทั้งยังมีปัญหาที่ชุมชนอีก เช่น เขามาเที่ยวสงกรานต์ พักโรงแรม แล้วซื้อของกลับเท่านั้นหรือ?? ปัญหาการยอมรับของชุมชนและปฏิสัมพันธ์กับชุมชนเป็นอย่างไร?? การท่องเที่ยวยกระดับเศรษฐกิจจริงไหม แล้วสังคมวัฒนธรรมล่ะ ยกด้วยไหม??
ความขัดแย้งในซอฟท์พาวเวอร์สร้างสรรค์แบบไทย ๆ ยังมีอีกมากมาย เช่น ใครจะได้รับการส่งเสริมแฟชั่น เกม ศิลปะ เช่น ใครเป็นคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนศิลปะและการแสดงร่วมสมัย หมอนั่นกลายเป็น “ยักษ์” มีกระบองขึ้นมาทันที (ทั้งที่เมื่อก่อน “มีความสุขอยู่กับความซึม” เช่น กระทรวงวัฒนธรรม) เพราะมีอำนาจใช้ดุลพินิจเลือกส่งเสริมใครและไม่ส่งเสริมใคร
ทำนองเดียวกัน การส่งเสริมนักดนตรีไทยไปสู่ระดับโลก จะมีนักดนตรีสักกี่คนไปสู่ระดับโลกได้ นอกจากน้อง “ลิซ่า” แล้วมีใคร น้าแอ้ด น้าหงา หรือหมอลำระเบียบวาทศิลป์? น้องลำไย ไหทองคำ หรือก้อง ห้วยไร่ เป็นยังไง??
นักดนตรีไทยที่อยู่ในระดับโลก เขาก็ไม่ได้อยู่ในประเทศไทยตั้งนานแล้ว ไม่ใช่เขาตั้งรกรากอยู่เมืองนอกกันหมดแล้วหรือ??
การพัฒนาสาขา “เกม” สร้างสนามเล่น “เกม” ได้หรือเสียคิดกันแล้วยัง?? พ่อแม่ยังไปปรึกษาหมอว่า “ลูกติดเกม” อยู่ไหม?? หรือว่าสามารถเปลี่ยนเป็นนักคิดสร้างสรรค์เกมได้หมดแล้ว!!
ส่วนนโยบายซอฟท์พาวเวอร์ให้หนังสือไทยออกไปสู่นานาชาติ ก็เห็นมีแต่หนังสืออาจารย์ปวิน เขาก็ขายดีอยู่แล้วนี่?? หนังสือที่กรรมการจะส่งเสริมน่าจะเป็นแนวที่ขายได้เฉพาะบางกลุ่มบางพวกในประเทศมากกว่า เพราะหนังสือไทยที่จะขายในระดับนานาชาติ ต้องมีกรอบแนวคิดที่เป็นสากล!!
มีแต่พวกอาจารย์กับนักเขียนบางคนเท่านั้นที่จะทำได้ แต่ประเทศไทยกลับกด “อาจารย์” เอาไว้เป็นได้แค่ “พนักงาน” ส่วนศาล อัยการ เป็นข้าราชการใหญ่โต แถมต่ออายุได้อีก และขยายสำนักงานออกไปได้เรื่อย ๆ—ที่จริง เป็นความคิดที่ผิดพลาดมากที่ให้อาจารย์เป็นแค่ลูกจ้าง—ทำลายทั้งศักดิ์ศรีและคุณธรรมของความเป็นคนอย่างไม่เท่าเทียมกัน คนไทยเรียกศาล อัยการ ว่า “ท่าน” ทุกคำ แต่เรียกอาจารย์ ว่า “จานๆๆ” (จานมันต้องใหญ่กว่าทั่นอยู่แล้ว เพราะจานมันแบน ส่วนทั่นมันห้วน ๆ สั้นๆๆ แฮ่!!)
สรุปว่า ซอฟท์พาวเวอร์ไทย ไม่ใช่ซอฟท์พาวเวอร์โลก เป็นกระบวนการทุนนิยมของการนำวัฒนธรรมมาขาย โดยอ้างว่าเป็นการสร้างสรรค์ทางเศรษฐกิจ มีเป้าหมายเพื่อนำเงินตราเข้าประเทศจากการท่องเที่ยว แต่ไม่ได้มีเป้าหมายอะไรที่ชัดเจนว่าจะมีนโยบายต่างประเทศและวิธีการทางการทูตอย่างไร จึงจะสามารถสร้างอำนาจและอิทธิพลต่อโลกได้ ความจริงซอฟท์ พาวเวอร์โลกเขามีฐานะเป็นนโยบายระดับโลก (global policy) และมีกระบวนการส่งนโยบายออกสู่ระดับโลกอย่างเห็นได้ชัด โดยผ่านทางนโยบายรัฐบาลและนโยบายการทูต เช่น สีโคโนมิกส์ ที่กล่าวมา
แต่ของไทย ผลักเอาไว้ไปอยู่ที่ขั้นตอนปลายน้ำ ความหมายจริง ๆ คือ ก้อกูยังคิดไม่ออกน่ะ???